ทำไมต้องทวงสัญญาป่าแหว่ง  26 ส.ค.

ทำไมต้องทวงสัญญาป่าแหว่ง  26 ส.ค.

26 ส.ค.2561 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นัดหมาย  รวมพลังหัวใจสีเขียว ทวงสัญญาป่าแหว่ง’ 2561  หลายคนสงสัยทำไมต้องนัดอีก   เราลองมาย้อนดูว่าสัญญาอะไรไว้และเกิดอะไรบ้าง

สัญญาอะไรไว้ ?

6 พ.ค. 2561 มีสัญญาร่วมกันระหว่างตัวแทนนายกรัฐมนตรี คือ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ว่า

1.จะไม่มีผู้อยู่อาศัย ในแนวเขตป่าดั้งเดิม โดยได้ให้ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่เข้าไปรังวัดพื้นที่ให้เกิดความชัดเจนโดยยึดแนวที่ภาคประชาชนเสนอ  จากนั้นส่วนของพื้นที่ของธนารักษ์ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  ส่วนรัฐจะรับภาระในการหาพื้นที่ใหม่และงบประมาณจัดสร้างใหม่ให้ทางศาล

2.ด้านการฟื้นฟู นายกรัฐมนตรีให้ทำทันที โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนการฟื้นฟู ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ซึ่งดำเนินงานให้ประชาชนร่วมหารือและดูแลร่วม โดยให้มีกรรมการระดับจังหวัดเข้ามาดูแล

  1. มีแผนดูแลป่าดอยสุเทพที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงผืนเดียวกัน เช่น การจะทำให้เป็นป่าสมบูรณ์ หรือทำอะไรกับสิ่งปลูกสร้าง ให้ตั้งกรรมการมาดำเนินการ เพื่อให้เป็นป่าสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ต่อไป

สด ! ผลการหารือ “บ้านพักตุลาการ” ระหว่างเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.เชียงใหม่คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดที่ https://www.facebook.com/thaithenorth/posts/2009886472672389

โพสต์โดย The North องศาเหนือ เมื่อ วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2018

 

5 เดือนผ่านไป เกิดอะไรขึ้นบ้าง

หากนับจากการชุมนุมใหญ่ครั้งแรก อันนำมาสู่การเจรจากำหนดสัญญา รวมระยะเวลากว่า 5 เดือน ได้เกิดกิจกรรม การพูดคุย การหาแนวทางตามสัญญาหลายครั้ง ดูจากลำดับเหตุการณ์  https://thecitizen.plus/node/24258

-มีความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะสำคัญ เช่น

10 พ.ค. สำรวจ รังวัดแนวเขตเพื่อขอคืนพื้นที่ป่าตามแนวเขตดั้งเดิม (เครือข่ายประชาชนไม่ได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 เข้าไปในพื้นที่ศาลฯ) แต่การชี้แนวเขตได้ข้อยุติแล้ว

-27 พ.ค. ภาคราชการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ (เครือข่ายฯเข้าร่วมงาน  แต่ไม่ร่วมปลูกต้นไม้ เปลี่ยนเป็นทำกิจกรรมสร้างฝาย เพื่อลดผลกระทบจากน้ำหลากแทน และยืนยันมติเดิมให้จัดการกับสิ่งปลูกสร้างก่อนฟื้นฟู)

28 พ.ค. หลังระดับจังหวัดได้รับแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในส่วนของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าจากกรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุม  มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด  จากนั้นตัวแทนประชาชนเข้า – ออก ศาลากลาง เข้าร่วมประชุม ออกความเห็น ไม่น้อยกว่า 9 ครั้ง

-17 มิ.ย. กำหนดวันผู้รับเหมาส่งมอบงาน  ปรากฏยังมีการก่อสร้าง  เครือข่่ายฯเรียกร้องให้ไม่ต่อสัญญากับผู้รับเหมาและยุติการก่อสร้าง   ยังไม่มีคำตอบ

-16 สิงหาคม  มติที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในส่วนของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าจากกรณีก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ดังนี้

1.เห็นควรให้ดำเนินการรื้อย้ายในส่วนบ้านพัก 45 หลัง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาโดยเร่งด่วน

2.เห็นควรให้ดำเนินการรื้อย้ายในส่วนอาคารชุด 9 หลัง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาและมีเงื่อนไขให้ผู้พักอาศัยอยู่เดิมในส่วนอาคารชุด 9 หลัง ย้ายไปพักอาศัยในอาคารชุด 4 หลัง นอกแนวเขตที่สำนักงานธนารักษ์จังหวัดเชียงใหม่รังวัดไว้ให้เต็มเสียก่อน  หากไม่เพียงพอให้ขยายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

3.เห็นควรให้มีการส่งมอบพื้นที่ตามข้อ 1 และ 2 ให้แก่กรมธนารักษ์

ช่วงเวลานี้ เครือข่ายฯ ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ ได้ขอข้อมูลข่าวสาร และสืบค้น และตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็นของการปลูกสร้าง แต่ยังไม่ได้รับคำอธิบาย  ตลอดจนมีผู้ทะยอยเข้าพักอาศัยในอาคารชุดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลังมีสัญญา

ย้ายแทนรื้อ ?

11 ส.ค. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมสัญจร (กบศ.) มีมติว่า ขอใช้ที่ดินจากกรมวิชาการเกษตร บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย และขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล  เพื่อย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จากที่ริมดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ มายังพื้นนี้ทั้งหมดทั้งที่ทำการและที่พักอาศัย ขณะที่พื้นที่เดิมผู้รับเหมาจะส่งมอบงานงวดสุดท้ายในวันที่ 24 ส.ค. ส่วนการคืนพื้นที่เดิมจะต้องประสานงานรัฐบาลว่าจะต้องทำอย่างไร

ขณะที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพระบุ ที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เดิม ไม่ได้เป็นจุดที่มีปัญหาเพราะอยู่ในพื้นที่ราบ และไม่ได้เป็นจุดที่เรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ อย่างไรก็แล้วแต่การย้ายเป็นการตัดสินใจของท่าน แต่ประเด็นสำคัญคือจะดำเนินการอย่างไรกับสิ่งปลูกสร้างเดิมที่อยู่ในพื้นที่ป่าดอยสุเทพและคนที่เข้าอยู่อาศัยซึ่งไม่เป็นไปตามมติที่ตกลงไว้กับรมว.สุวพันธ์

จะมีอะไร ในวัน  ‘รวมพลังหัวใจสีเขียว ทวงสัญญาป่าแหว่ง’

“เราขอวิงวอนให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ทั้งการย้ายข้าราชการที่ไปอยู่ในอาคารชุด 9 หลังลงมาอยู่ในอาคารชุด 4 หลังที่ไม่รุกล้ำแนวป่า การคืนพื้นที่กลับมาให้ธนารักษ์ และการรื้อย้ายบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลังตามมติคณะกรรมการ”  คือข้อเรียกร้องของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่มองว่าถูกยื้อมายาวนาน และยังไม่เป็นไปตามข้อตกลงสำคัญที่มีร่วมกันคือ คืนป่าศักดิ์สิทธิ์ให้สมบูรณ์ดังเดิม

ส่วนกิจกรรมยืนยันว่าเป็นพลังบริสุทธ์ที่จะมาย้ำเจตนาขอป่าศักดิ์สิทธิ์คืนมาโดยจะเป็นวันแม่น้ำร้อยสายไหลรวมเป็นหนึ่ง ณ ประตูท่าแพ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2561 ดังนี้

07.00 น. ขบวนจักรยาน และรถตุ๊กๆ ออกแจกจ่ายผ้าเขียว รณรงค์รอบคูเมืองเชียงใหม่

08.00 น. ขบวนแม่น้ำร้อยสายมุ่งสู่ประตูท่าแพ

– ทิศเหนือ เริ่มจากลานประตูช้างเผือก

– ทิศใต้ เริ่มจากลานประตูเชียงใหม่

– ทิศตะวันออก เริ่มจากสวนสาธารณะริมแม่น้ำปิง ตรงข้ามคริสตจักรที่ 1

– ทิศตะวันตก เริ่มจากหน้าวัดสวนดอก

09.09 น. ณ ประตูท่าแพ

– กลองสะบัดชัย และฟ้อนเจิงต้อนรับขบวนแม่น้ำร้อยสาย

– กิจกรรมปักธงเขียว

– อ.จำเหลาะ สมจิตต์ อาจารย์อาวุโส กล่าวต้อนรับประชาชนที่มาร่วมทวงคืนป่าฯ

– ตัวแทนเครือข่ายฯ จากทั่วประเทศ ปราศรัยสลับกับดนตรีเพื่อป่าดอยสุเทพ

– กิจกรรมกราฟฟิตี้

-นิทรรศการดอยสุเทพ

-จุดถ่ายรูปเช็คอินป่าแหว่ง

-เขียนคำสาปแช่งลงในกระดาษ

ฯลฯ

10.00 น.เป็นต้นไป การชุมนุมเรียกร้อง ทวงสัญญาป่าแหว่ง แถลงการณ์ และ พิธีกรรม

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ