ชี้มติป่าแหว่งเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น ยังคลุมเครือ ขอแจงความจำเป็นอาศัยอาคารชุด 9 หลัง พร้อมขอนายกฯออกคำสั่งปฏิบัติชัดเจน

ชี้มติป่าแหว่งเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น ยังคลุมเครือ ขอแจงความจำเป็นอาศัยอาคารชุด 9 หลัง พร้อมขอนายกฯออกคำสั่งปฏิบัติชัดเจน

ชี้มติป่าแหว่งเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นจากกรรมการ   เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพขอนายกฯออกคำสั่งชัดเจน พร้อมขอแจงรายละเอียดระยะเวลาและความจำเป็นที่ต้องพักอาศัยในอาคารชุดให้ชัดเจน

วันที่ 8  ธันวาคม 2561 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวการประชุมเครือข่ายฯ หลังทราบผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการฯ เชิงดอยสุเทพ  ชุดนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 6  ธันวาคม 2561  โดยสาระสำคัญของการแถลงของเครือข่ายเห็นว่า เป็นมติที่ยังไม่มีรายละเอียดในทางปฏิบัติ เป็นแค่ขั้นตอนระดับกรรมการ ไม่มีอำนาจบังคับและผูกพันในทางปฏิบัติกับหน่วยราชการ กรมกองต่างๆ รวมถึงสำนักงานศาลยุติธรรมที่ไม่ได้สังกัดอำนาจฝ่ายบริหาร  จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนและมีผลบังคับทางกฎหมาย คือ นำเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีรวมถึงออกประกาศหรือคำสั่งที่มีผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยเร็ว  เนื่องจากประเด็นว่าด้วยความชัดเจนในวิธีและมาตรการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญและน่ากังวลที่สุด เพราะลำพังมติของคณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจบังคับผูกพันตามกฎหมายใดๆ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยังระบุความเห็นเพิ่มเติมคือ

​1. เครือข่ายฯ รู้สึกพอใจและขอบคุณ กรณีรัฐบาลยืนยันไม่ให้มีผู้เข้าอาศัยในบ้านเดี่ยว 45 หลังซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันมาแต่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ขอให้เร่งรัดกระบวนการส่งมอบคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์โดยเร็วภายในรัฐบาลนี้ เพื่อให้การฟื้นฟูและการพิจารณารื้อย้ายในอนาคตดำเนินไปโดยราบรื่นและรวดเร็ว

​2.จากมติคณะกรรมการข้อที่ 6 ว่าด้วยอาคารบ้านพัก 9 หลังที่มีผู้อาศัยอยู่แล้ว และให้อยู่อาศัยได้ต่อไปตามความจำเป็น เครือข่ายฯ ขอให้ยืนยันจำนวนครอบครัวที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งปรากฏทั้งในรายงานการประชุมกรรมการสำนักคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( ก.บ.ศ) และการประชุมของคณะกรรมการระดับจังหวัดว่ามีอยู่ประมาณ 30 ครอบครัว ขอให้ภาครัฐคือรัฐบาลและสำนักงานศาลยุติธรรมแถลงรายละเอียดว่ามีความจำเป็นในลักษณะใด จะอนุญาตให้พักอาศัยไปถึงเมื่อไร โดยให้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

​3. เครือข่ายฯและภาคประชาชนจะไม่เข้าร่วมฟื้นฟูใดๆ ตามที่มติคณะกรรมการระบุไว้ เพราะเห็นว่าการฟื้นฟูพื้นที่กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์ได้ จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและถนนคอนกรีตเสียก่อน ทั้งนี้จะติดตามดูการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

​ในเอกสารแถลงข่าวยังระบุด้วยว่า  มติของคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ ยังไม่เบ็ดเสร็จ เปิดโอกาสให้หน่วยราชการหาวิธีการตกลงกันเอง ทั้งระบุว่าการจะรื้อถอนในอนาคตให้เป็นไปโดยกฎหมาย ความคลุมเครือเหล่านี้ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนจำเป็นต้องเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อไปเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์

ทั้งนี้  ผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ  ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ซึ่งมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีสาระสำคัญคือ

ที่ประชุม มีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ

1.กรณีบ้านพักเดี่ยว 45 หลัง จากรายงานผลการศึกษาด้านสังคม – วัฒนธรรม ด้านนิเวศวิทยา-สิ่งแวดล้อม และด้านวิศวกรรม ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ และคณะอนุกรรมการศึกษาการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ (คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด) ประกอบกับความขัดแย้งทางสังคมและข้อกฏหมาย  จึงเห็นสมควรไม่ให้มีผู้เข้าพักอาศัยในบ้านพักดังกล่าว โดยมอบให้จังหวัดเชียงใหม่ กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อดำเนินการฟื้นฟูให้เป็นป่าที่สมบูรณ์

2.การปลูกต้นไม้และฟื้นฟูความสมบูรณ์บริเวณบ้านพักเดี่ยว 45 หลัง และบริเวณโดยรอบ ให้ดำเนินการทันที มอบจังหวัดเชียงใหม่ กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มณฑลทหารบกที่ 33  และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ดำเนินการร่วมกับนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน โดยให้จังหวัดเชียงใหม่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อจัดทำแผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป

3.ขอให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร เร่งรัดการอนุญาตการขอใช้ที่ดินของสำนักงานศาลยุติธรรม บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ถนนเด่นห้า-ดงมะดะ ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย (ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ชร.225)  เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่อยู่อาศัย และขอให้สำนักงบประมาณเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักอาศัยที่จังหวัดเชียงราย โดยคำนึงถึงความเหมาะสม การใช้จ่ายงบประมาณที่ตามความจำเป็น

4.การส่งคืนพื้นที่บริเวณบ้านพักเดี่ยว 45 หลัง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5.กรณีการรื้อถอนบ้านพักเดี่ยว 45 หลัง  หากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในอนาคต ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย

6.กรณีการพักอยู่อาศัยในอาคารชุด 9 หลังที่มีการพักอาศัยอยู่แล้ว จากรายงานผลการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างและฟื้นฟูพื้นที่เพื่อให้เป็นป่าสมบูรณ์ ประกอบกับความจำเป็นและข้อกฏหมาย  เห็นสมควรให้เป็นที่พักอยู่อาศัยต่อไปตามความจำเป็น และให้ดำเนินการปลูกต้นไม้และฟื้นฟูพื้นที่ สำหรับการดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติมด้วยเหตุใดก็ตาม ขอให้จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อกฏหมาย

7.ให้จังหวัดเชียงใหม่ รายงานความคืบหน้า ผลการปฏิบัติงานเป็นระยะให้กับคณะกรรมการฯทราบ

8.ข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐที่อาจมีผลกระบทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อกฏหมาย และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การใช้ที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

9.ให้นำแนวทางทั้ง 8 ประการนี้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามกฏหมายและอำนาจหน้าที่ต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ