ภาคประชาสังคมระดมกำลังผู้บริโภค เรียกร้องซูเปอร์มาเก็ตไทยให้ขายอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อคนต้นทางอย่างเกษตรกรและแรงงานมากขึ้น
วันที่ 4 ก.ย. 2561 ทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก โดยการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในประเทศไทย แถลงเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ ส่งเสริมการตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคใส่ใจและตั้งคำถามต่ออาหารที่จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิตของคนต้นทาง ไปจนถึงความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในงาน ‘Confessions of shoppers’ ณ สยามสมาคม กรุงเทพฯ
กิ่งกร นริทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ เปิดเผยว่านอกจากจะเรียกร้องให้เปิดเผยนโยบายทางสังคมมากขึ้นแล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังควรเปิดเผยนโยบายสำหรับคู่ค้า ส่งเสริมคู่ค้าให้ไม่เอารัดเอาเปรียบคนต้นทาง ตลาดจนให้การรับรองมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงานและสิทธิสตรี เพื่อร่วมสร้างเส้นทางอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้นในประเทศไทย
“แน่นอนว่าซูปเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจต่อรองสูง เขาสามารถใช้พลังตรงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มตั้งแต่เปิดเผยและพัฒนานโยบายตัวเองให้ดี ทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคือคนต้นทางอย่างเกษตรกรและแรงงาน แล้วขยายไปสู่การส่งเสริมบริษัทคู่ค้าด้วยในอนาคต ถ้าทำแบบนี้จะเป็นการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง แถมโดนใจลูกค้าด้วย เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลกที่มุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป” กิ่งกรกล่าว
ภายในงานยังมีนิทรรศการ ‘แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?’ ซึ่งสอดแทรกไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหารแต่ละอย่าง เช่น คนงานแกะกุ้งในไทยและอินโดนีเซียจะต้องทำงานกว่า 4,000 ปีถึงจะได้เงินเทียบเท่ากับรายได้ 1 ปีของ CEO ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างคนงานไร่ชาในอินเดียเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 47% กลับไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ หรือถ้าผู้บริโภคซื้อข้าวราคา 100 บาท จะมีเงินเพียง 2.9 บาทเท่านั้นที่ตกไปถึงชาวนา เป็นต้น
นวพร ศุภวิทย์กุล เจ้าหน้าที่งานรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย อีกหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์กล่าวว่า อาหารทุกชนิดล้วนผ่านมือคนต้นทาง คนกินอย่างเราก็ไม่อยากให้อาหารเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ หรือเต็มไปด้วยสารเคมีที่อันตรายทั้งต่อเราเอง คนปลูก และสิ่งแวดล้อม และแม้ผู้บริโภคหลายคนจะรู้ข้อมูลแล้ว แต่คนเมืองที่ต้องพึ่งพาซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีทางเลือกค่อนข้างจำกัด ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นคนกลาง หากไม่ช่วยเลือกของ ที่มีที่มาที่ไปดี ๆ มาขาย จึงนำมาสู่การตั้งคำถามในนิทรรศการและงานนี้ว่าแล้วพวกเราจะเลือกอะไรได้ไหม จะเลือกซื้ออาหารดี ๆ ได้หรือเปล่า
ในกิจกรรมครั้งนี้ มีการพูดคุยจาก 4 นักช็อป ได้แก่ จอห์น – วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ คุณพ่อลูกสองและพิธีกรชื่อดัง, แยม – ฐปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวมืออาชีพจากข่าว 3 มิติ, ยุ้ย – สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และผู้ก่อตั้งป่าสาละและ เอย – วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ change.org ประเทศไทย ร่วมกันเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวกับการเลือกสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตของตนเอง และมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตควรมีส่วนช่วนลูกค้าในการคัดสรรของที่ดีตั้งแต่ต้นทางมาวางขายด้วย
ยุ้ย – สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และผู้ก่อตั้งป่าสาละ กล่าวว่า เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน งานหลักงานหนึ่งก็คือการดูห่วงโซ่อุปทาน เป็นเรื่องต้นน้ำของอาหาร เวลาที่เราตัดสินใจซื้อของก็เหมือนกันการตัดสินใจออกเสียง เมือวันนี้ห่วงโซ่อุปทานอาหารมันมีความซับซ้อน และยาวมาก กว่าที่จะมาเป็นอาหารอยู่บนจานเรา อาจจะผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้บริโภคจะรู้ว่า ที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นอาหารมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
“ยกตัวอย่างความซับซ้อนของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบันเช่น เนื้อสัตว์ที่เรากิน สัตว์เหล่านั้นต้องกินอาหารที่ไม่ได้หมายถึงธัญพืชทั่วไป แต่กินอาหารสัตว์สำเร็จรูป อาหารสัตว์สำเร็จรูปมีองค์ประกอบหลายส่วน ส่วนหนึ่งคือปลาป่น ปลาป่นมาจากไหน ปลาป่นมาจากการเอาปลาที่ไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจมาทำ เพราะว่ามันยังคงความเป็นโปรตีนไว้ ในระยะหลัง ๆ เราอาจจะเคยเห็นข่าวว่า ที่มาของปลาป่นบางส่วน ก็มาจากการทำลายล้าง การใช้เครื่องมือการประมงที่ไม่เหมาะสม และอาจจะมีส่วนเกี่ยวของกับการใช้แรงงานทาส หรือว่าการละเมิดสิทธิแรงงานในทะเล ซึ่งก็เป็นปัญหาทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติด้วย
จากวัตถุดิบเหล่านั้นที่นำมาประกอบเป็นปลาป่น จากเรือประมง มาเป็นปลาป่น จากปลาป่นมาสู่อาหารสัตว์ อาหารสัตว์ก็ค่อยเข้ามาในฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ค่อยเข้ามาในโรงงานแปรรูป แล้วค่อยเข้ามาในซุปเปอร์ แล้วค่อยเข้ามาถึงจานของผู้บริโภคอีกที เราจะเห็นว่าห่วงโซ่ทั้งหมด นับจากจุดเริ่มต้นที่เกิดปัญหา จนถึงปลายทางผู้บริโภคมันกินระยะเวลา 5-6 ขั้นตอน นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมถึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่อยู่ดี ๆ ผู้บริโภคจะสามารถเชื่อมโยง แล้วก็มองเห็นได้ว่าปัญหานี้มันสัมพันธ์กับสิ่งที่เรากินอย่างไร เรื่องนี้จึงกลายเป็นความท้าทาย หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งในแง่ธุรกิจ นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างแน่นอน” สฤณีกล่าว
จอห์น – วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ คุณพ่อลูกสองและพิธีกรชื่อดัง กล่าวว่า ในมุมผมผู้บริโภคยุคใหม่มีอยู่ 2 ส่วน คือ มีคนที่เข้าชอปปิงและได้เห็นสินค้าตรงหน้าเลย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือเรื่องของราคาสินค้า โดยเฉพาะคนที่พึ่งจะมีครอบครัวก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะในยุคของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ก็ทำให้เราต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือในออนไลน์
“ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบสั่งซื้อของออนไลน์ ทั้งซื้อผัก หมู ไก่ และอาหารสด ก็สั่งในออนไลน์ แล้วก็ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ น้ำยาซักผ้า ที่ใช้ในบ้านก็ซื้อจากออนไลน์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรา อยากจะต้องการจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็คือความมั่นใจ ในผลิตภัณฑ์สินค้าที่เขาเลือกมาจำหน่ายให้กับพวกเรา ทั้งเรื่องราคาที่มีความสมเหตุสมผล ไม่ได้สูงจนกระทบเงินในกระเป๋าเรามาก และสินค้าที่เลือกมาให้ผู้บริโภคเป็นของที่ปลอดภัย หรือเป็นของที่ดีจริงไหม ได้ใส่ใจตรงจุดนี้หรือเปล่า สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา ก็ต้องการความมั่นใจมาก ๆ”
“ในบทบาทคุณพ่อลูก 2 ก็คิดเยอะขึ้นกับการซื้อของ แต่เราไม่มีตัวเลือก แม้ว่าจะเดินซูเปอร์มาร์เก็ตกี่ที่ก็ตาม ของก็มาจากแหล่งผลิตเดียวกัน หรือแหล่งที่ไม่ได้มีกรรมวิธีผลิตที่ต่างกันมาก ไม่รู้จะเลือกอย่างไร ก็ลำบากกับสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้า หลีกหนีไม่พ้น แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าเกิดซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการนำสินค้าเหล่านั้นมาขาย ไม่ว่าจะเป็นความแฟร์ในการดูแลผู้ที่ผลิตสินค้าเหล่านั้น แล้วนำมาขายให้กับเรา ไปจนถึงเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก อาหารสด หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก็ตาม เราก็ต้องการการแสดงออกให้เห็นว่า เขาใส่ใจนะ ผมคิดว่าคนที่จะมาซื้อของของคุณเขาจะสบายใจขึ้นเยอะเลย ถ้าได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณที่จะทำให้เห็นว่า คุณใส่ใจในตัวผู้บริโภค เราก็จะได้ชอปปิงของคุณไปยาว ๆ จะได้เป็นลูกค้าและดูแลกันไปยาว ๆ แบบนี้ดีกว่าไหม” วิญญูกล่าว
ปิดท้ายด้วยแถลงข้อเสนอเชิงนโยบายเบื้องต้น 6 ข้อ ต่อซูเปอร์มาเก็ตไทยให้เปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะในกรอบเวลา 1 ปี เป็นข้อเสนอจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ซึ่งหากทำได้จริง นอกจากเส้นทางอาหารในประเทศไทยจะเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคเองก็จะเชื่อมั่นในตัวซูเปอร์มาเก็ตมากขึ้นตามไปด้วย