จี้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อย-น้ำตาล และแผนพัฒนาไบโอฮับอีสาน ชี้เอื้อนายทุนไม่สอดคล้องนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

จี้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อย-น้ำตาล และแผนพัฒนาไบโอฮับอีสาน ชี้เอื้อนายทุนไม่สอดคล้องนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

เครือข่ายภาคประชาชนอีสานอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 50 ร้องทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราพ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ชี้การผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพของกลุ่มทุนในภาคอีสาน เป็นการวางแผนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภูมินิเวศ วิถีและวัฒนธรรมท้องถิ่น

27 ส.ค. 2561 กป.อพช ร่วมกับ เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งละว้า เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ภาคอีสาน จัดแถลงข่าวผลกระทบจากอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าววันนี้ (27 ส.ค. 2561) มีการร่วมอ่านแถลงการณ์โดยผู้แทน ประกอบด้วย นายเธียรชัย สุนทอง นายประมวล ทิ่งเทพ นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ และนายอกนิษฐ์ ป้องภัย และในวันพรุ่งนี้จะมีการพูดคุยที่ จ.ร้อยเอ็ด และวันที่ 9 ก.ย. 2561 จะมีการจัดเวทีในระดับภาคเพื่อยื่นข้อเสนออีกครั้ง

https://web.facebook.com/esanbiz/videos/319737805440887/

สำหรับแถลงการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์

ผลกระทบจากอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน

หลายปีที่ผ่านมามีการปรับตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังถูกบีบคั้นจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยที่ต้องเผชิญกับสภาวะผันผวนของราคาน้ำตาลโลก และยังถูกบราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกว่าไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ

ความชัดเจนเริ่มปรากฎชัดจากแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่ถูกกำหนดและผูกขาดโดยทุนรายใหญ่ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายและระเบียบของภาครัฐให้เอื้อต่อการลงทุน เพิ่มกลไกให้กลุ่มทุนขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของประชารัฐ และสามารถวางกรอบนโยบายไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ

ผ่านการผลักดันของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือ คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ หัวหน้าทีมภาคเอกชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ควบตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หัวหน้าทีมภาคเอกชน  นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) ทั้งสองคณะได้ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมหลัก ๆ ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ผลักดันให้ประกาศ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี และผลักดันให้เกิด ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ โดยใช้อีสานเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบป้อน EEC

ตัวอย่างโครงการการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามเป้าหมายระยะสั้นที่มีผู้ลงทุนคือ มิตรผล ร่วมกับ ปตท. ได้แก่ การใช้ชีวมวลจากชานอ้อยผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 MW/ปี เป็น 1,800 เมกะวัตต์ การใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านลิตร/ปี เป็น 2,000 ล้านลิตร/ปี โดยลูกค้าคือ รถขนส่งสินค้าของ ปตท.และ SCG และ การสร้างโรงงานผลิตพลาสติก และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ลงทุนคือ มิตรผล ร่วมกับ PTTGC และบริษัทแปรรูปพลาสติก เป็นต้น

สอดรับกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2555 – 2564 และ (AEDP 2015) กำหนดเป้าหมายเพิ่มพลังงานชีวมวล 1,879 เมกะวัตต์ เอทานอล 11 ล้านลิตรต่อวัน และมติ ครม. ในปี 2556 ที่เห็นชอบมาตรการ ส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ใหม่ โดยคัดเลือกพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อยถึงไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเป็นพื้นที่ตั้งต้น จากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด พื้นที่ 4 ล้านไร่โดยเลือกพื้นที่ปลูกข้าวในเขตเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ภายใต้นโยบาย ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยไม่ได้มีการประเมินศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ภาคประชาชนสามารถพัฒนาในด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจสูญเสียไปหรือได้รับผลกระทบจากการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเข้มข้น

เพื่อรองรับการขยายฐานการผลิตครั้งใหม่ของของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมน้ำตา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่มสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 รวมแล้วในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน โดยแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2558 – 2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์ จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ เสนอให้ คสช. ใช้ มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ.2518 ในโรงงานน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาลให้สามารถก่อสร้างได้ในพื้นที่การเกษตร มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ให้กลุ่มโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อย เพื่อใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานของผู้ประกอบการ และมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมจากอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

แต่จากการศึกษาข้อเท็จจริง การผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพของกลุ่มทุน โดยวางเป้าหมายฐานการผลิตในภาคอีสานนั้น เป็นการวางแผนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภูมินิเวศ วิถีและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประการแรก ปัจจุบันภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาล 20 โรงงาน พื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อย 58.612 ล้านตัน เชื้อเพลิงชานอ้อย 15.825 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าชีวมวล 631 เมกกะวัตต์ เอทานอล 1.4 ล้านลิตร/วัน ผลผลิตอ้อยทั้งหมดในภาคยังไม่พอสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเดิม

การเพิ่มขึ้นของโรงงานน้ำตาล 27 โรงงาน จะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างน้อย 7 ล้านไร่ โดยไม่ได้นับรวมผลผลิตจากชานอ้อยที่ต้องใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่พ่วงมากับโรงงานน้ำตาล

การเพิ่มเอทานอลจาก 511 ล้านลิตร/ปี เป็น 1,100 ล้านลิตร/ปี ในไบโอฮับ หมายความว่าอาจจะต้องเพิ่มโรงงานผลิตเอทานอลจาก 5 โรงงาน เป็น 15 โรงงาน

นอกจากนั้นมีการศึกษาที่ชี้ชัดว่า มีศักยภาพชีวมวลในภาคอีสานอยู่ที่ 1,136 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งที่ 631 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่ขาย 403 เมกะวัตต์ ขณะที่ ไบโอฮับวางเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าชีวมวล 1,800 เมกะวัตต์ เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 1.1 ล้านไร่ เพื่อป้อนวัตถุดิบน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมเข้มข้น แต่ข้อเท็จจริงคือเฉพาะการผลิตไฟฟ้าชีวมวลตามจำนวนดังกล่าวจะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยถึง 7.5 ล้านไร่

ส่วนเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 4 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยเพิ่มขึ้น 2,458 เมกะวัตต์ ในปี 2569 ข้อเท็จจริง คือ จะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่

แผนการพัฒนาไบโอฮับ และแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรา พ.ศ. 2558 – 2569 จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงพื้นที่ที่จะต้องปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าชีวมวล 1,800 เมกะวัตต์ มีการประเมินถึงความคุ้มค่าแล้วหรือไม่ ซึ่งหากเชื้อเพลิงจากชานอ้อยหรือวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรในภาคอีสานไม่เพียงพอ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่อนุญาตให้ใช้ถ่านหินได้ร้อยละ 25 ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในไบโอฮับที่มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและนำเข้าถ่านหินของประเทศไทย แนวโน้มการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน ก็คงเป็นทางเลือกที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภาค เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ได้ออกแบบระบบกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารโลหะหนักอื่น ๆ ที่อาจจะปนเปื้อนในอากาศ และยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในกรณีที่โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงผิดประเภท

ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในคราวเดียวกัน 27 โรงงาน และแผนพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งจะต้องมีผลผลิตจากการปลูกอ้อยหลายล้านไร่ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรของแต่ละโรงงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบว่าโรงงานแต่ละแห่งนั้นควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากพื้นที่แหล่งอาหาร และแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งน้ำที่จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน หรือเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ

ยิ่งเมื่อพิจารณาการศึกษาที่ชี้ว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคอีสานมีต้นทุนการผลิตอ้อย 1,218.83 บาท/ตัน เฉลี่ยแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยจะขาดทุนประมาณ 2 พันบาท/ไร่/ปี อีกทั้งยังเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นสูงซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และยังทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในภาคมาแล้วอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุดังนี้ พวกเราขอเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และ มาตรา 58 ที่บัญญัติไว้ว่า การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยา ความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

พวกเราขอย้ำว่า การดำเนินการอนุมัติอนุญาตใด ๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการต้องยุติไว้ก่อน จนกว่ารัฐจะใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

และขอให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม มีการวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมอีสานทีไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป

ลงนามเครือข่าย

กป.อพช

เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งละว้า

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ภาคอีสาน

ผู้แถลงข่าว

นายเธียรชัย สุนทอง

นายประมวล ทิ่งเทพ

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ