09.30 น. วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 บริเวณด้านหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่. กลุ่มคนผู้ติดตามสถานการณ์บ้านพักข้าราชการตุลาการในเชียงใหม่ นัดรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปั่นทวงป่าแหว่ง”ซึ่งมีนักปั่นจักรยานมากกว่า 100 คน และผู้ที่ร่วมขี่รถจักรยานยนต์ เข้าร่วมเคลื่อนขบวนจากหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ มุ่งไปยังบริเวณหน้าสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งกิจกรรมเป็นการแสดงความเคลื่อนไหวของคนในเชียงใหม่ เพื่อส่งไปถึงรัฐบาล และสำนักงานศาลยุติธรรม ให้มีการรีบตัดสินใจรื้อบ้านพักข้าราชการตุลาการ 45 หลังและอาคารพักชุดอาศัย 9 หลัง ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐในพื้นที่โดยมีมติในที่ประชุมสรุปส่งไปยังรัฐบาลว่าให้มีการรื้อบ้านพักและอาคารชุด เพื่อที่จะได้มีการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในลำดับถัดไป ในขณะที่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะมีการตัดสินใจภายใน 30 วันต่อจากนี้ว่าจะรื้อ หรือไม่รื้อ
โดยการเคลื่อนขบวนปั่นทวงป่าเเหว่งในวันนี้ได้เคลื่อนขบวนมาถึงที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลอุทรธ์ภาค 5 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ริม และตำรวจนอกเครื่องแบบ คอยอำนวยความสะดวกและสังเกตการณ์มากกว่า 10 นาย ซึ่งตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ประกาศเจตนารมณ์และมีการร่วมถ่ายรูปกับนักปั่นที่บริเวณด้านหน้าป้ายสำนักงานศาลอุทรธ์ภาค 5 ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนต่อไปยังลานดินพื้นบริเวณด้านข้างอาคารชุดพักอาศัยและมีการประกอบพิธีกรรมฌาปนกิจศพจำลอง นายป่าแหว่ง อยุติธรรม
นอกจากพิธีกรรมฌาปนกิจศพจำลองขึ้นเหมือนกับการฌาปนกิจจริงแล้วตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่ายังได้อ่านประวัตินายป่าแหว่ง อยุติธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
กำเนิดจาก นาย อำนาจ อยุติธรรม กับนาง บารมี อยุติธรรม (นามสกุลเดิม เจ้ายศ) บิดากับมารดา ได้หมั้นหมายกันเมื่อปีพ.ศ. 2546 และสมรสเข้าห้องหอโดยสมบูรณ์เมื่อพ.ศ. 2549 จากนั้นเมื่อพ.ศ.2556 จึงได้ถือกำเนิดนายป่าแหว่งออกมาละแวกเชิงดอยสุเทพ เขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่มีชาวบ้านได้รู้เห็น กระทั่งเจ้าหน้าที่อบต.ดอนแก้ว ก็ไม่ได้รับแจ้ง
นายป่าแหว่งเติบโตขึ้น พร้อมๆ กับการกินต้นไม้เป็นอาหาร กินน้ำจากลำธารห้วยชะเยืองจนเติบใหญ่ ไล่ทำร้ายนกกาสัตว์น้อยใหญ่ที่เคยอาศัยในเชิงป่าละแวกนั้นเสียหมดสิ้น ในที่สุดจึงมีชาวบ้านไปพบเห็นเมื่อราวพ.ศ. 2558 พฤติกรรมของนายป่าแหว่ง อยุติธรรม ไม่เป็นที่สบอัธยาศัยของประชาชนชาวบ้าน แรงแช่งชักของชาวบ้านชาวเมืองที่ก่นด่าดังก้องไปทั่ว ยิ่งนานก็ยิ่งดังขึ้น ๆ จนที่สุด นายป่าแหว่ง อยุติธรรม ไม่สามารถทานทนต่อเสียงอันชอบธรรมของประชาชนและชุมชน เป็นอันต้องจบสิ้นถึงกาลมรณะลง
วันนี้ ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้พร้อมใจมาสวดส่ง บังสุกุล ให้นายป่าแหว่ง อยุติธรรม ได้ไปสู่ภพภูมิเหมาะสมของตนต่อไป
ภายหลังการฌาปนกิจศพจำลองแล้วเสร็จ ตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่า นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ภาพหมู่บ้านปากแหว่งสะท้อนให้เห็นความขึดบ้านขึดเมืองในภาษาล้านนา โดยทางเครือข่ายยืนยันชัดเจนว่าไม่ต้องการเอาชนะองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้องเพียงแต่ต้องการพื้นป่าที่สมบูรณ์กลับคืนมาเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางเครือข่ายพยายามเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้สามารถเข้าไปปลูกป่าและฟื้นฟูป่าซึ่งบัดนี้บ้านพักและอาคารชุดด้านไหนได้มีการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยและทางคณะกรรมการฟื้นฟูป่าฯ ได้มีการประชุมในระดับจังหวัดซึ่งสรุปว่าจะต้องมีการรื้อบ้านพักและอาคารชุดแต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อที่จะทำการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าได้ ซึ่งอาคารชุดได้มีข้าราชการตุลาการเข้าพักอาศัยแล้ว จำนวน 30 ครอบครัว ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด 3 ข้อ คือ ให้มีการย้าย 30 ครอบครัวที่เข้าพักอาศัยในอาคารชุดออกจากพื้นที่ และส่งคืนพื้นที่ให้ กลับกรมธนารักษ์ และสุดท้ายให้หรือย้ายบ้านพักทั้ง 45 หลังและอาคารชุดอีก 9 หลัง ตอนนี้ทางเครือข่ายรอฟังคำตอบจากทางรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอีก 30 วันนะครับว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แต่หากภายใน 30 วันยังไม่มีคำตอบจากทางรัฐบาลที่ชัดเจนเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งผ่านเครือข่ายจะมีการยกระดับและเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงนโยบายกับการรื้อย้ายนี้ด้วย”
ซึ่งนอกจากกิจกรรมปั่นจักรยานและฌาปนกิจนายป่าแหว่งเเล้ว ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่ายังเชิญชวนประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างบ้านพักฯ ได้ร่วมกันเขียนข้อความแสดงความห่วงใยและเจตนาร่วมของคนเชียงใหม่ที่มีต่อกรณีบ้านพักดังกล่าวลงไปในไปรษณียบัตร เพื่อส่งตรงไปยังนายกรัฐมนตรีอีกด้วย