ที่เห็น เข้าใจ เรียนรู้ รู้สึก กับดอยสุเทพศึกษา วิชาของทุกคน

ที่เห็น เข้าใจ เรียนรู้ รู้สึก กับดอยสุเทพศึกษา วิชาของทุกคน

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เม.ย.ผ่านมา ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใจบ้านสตูดิโอ ฮอมสุขสตูดิโอ สภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อลมหายใจเชียงใหม่ Chiang Mai Learning City และ Greening Up Public Space ร่วมกันจัดงานเสวนา “ดอยสุเทพศึกษา วิชาของทุกคน”ชวน ครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ภาคประชาสังคม คนทำงานและสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันความผูกพันกับดอยสุเทพ และการเรียนรู้เรื่องดอยสุเทพควรจะมีอะไรเพิ่มเติม และแต่ละคนจะช่วยเติมเต็มอะไรได้บ้างในการเรียนรู้

แอม วิรตี ทะพิงค์แก นักเขียนนิทาน ป่าดอยบ้านของเรา เล่าว่า บ้านอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพ ตอนเด็ก ๆ มีความรู้สึกว่าดอยสุเทพเป็นเหมือนสวนสาธารณะที่ผักผ่อนที่ใกล้เมืองมาก พ่อทำงานกรุงเทพแต่ถ้าช่วงไหนพ่อกลับมา วันเสาร์อาทิตย์ก็จะชวนไปเล่นน้ำตกมณฑาธาร เราก็จะซื้อส้มตำไก่ย่างไปนั่งกิน มันปลูกความรักธรรมชาติไปแบบไม่รู้ตัว พอเราเป็นแม่ก็พาลูกเดินป่าโดยไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะที่แบบนี้มันดีกับใจของ

พอเป็นนักเขียนก็จะใช้สายตาอีกแบบในการมองเห็นความงามเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายครั้งที่เคยฟังสัมมนาเรื่องพืชพันธุ์หรือสัตว์บนดอยสุเทพ มันมีจำนวนเยอะมากที่คนเชียงใหม่อาจไม่รู้ ในมุมของนักสื่อสารคิดว่ามีเรื่องเล่าอีกเยอะมาก

“น่าเสียดายเหมือนกันที่ผ่านมา ดอยสุเทพถูกทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว คนเชียงใหม่ก็รู้สึกว่ามันเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวไปกัน เพราะส่วนใหญ่เขาก็ไปแต่พระธาตุดอยสุเทพ ถ้าเราไม่อยู่บนดอย ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำกัน ทำอย่างไรที่เราจะริเริ่มความผูกพันของตัวเรากับดอยสุเทพได้”

แอม เสนอว่า อยากเห็นพื้นที่สื่อสารที่คนเชียงใหม่เข้าไปแชร์ความสุข หรือร่วม Co-create คล้าย ๆ เป็นสะพานวางเอาไว้ให้คนหรือเยาวชนที่อาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทางไหนก็สามารถเข้ามาทางนั้นได้

ดอยสุเทพอยู่ตรงไหน ในความเข้าใจของเยาวชน

“เคยขึ้นดอยสุเทพไปไหว้พระธาตุ ข่าวสารที่ได้ยินล่าสุดเกี่ยวกับดอยสุเทพคือการรุกพื้นที่ป่า คิดว่าตัวเยาวชนไม่ค่อยรู้สึกว่าดอยสุเทพจะเป็นพื้นที่เยาวชนสักเท่าไหร่ เลยอยากให้ดอยสุเทพเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่คนในพื้นที่รู้จักมากกว่าการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว”

“บ้านไม่ได้อยู่แถวดอยสุเทพ ตอนเด็ก ๆ ก็จะมาสวนสัตว์หรือศูนย์เรียนรู้ที่มช.บ้าง ขึ้นไปไหว้พระบ้าง พอโตขึ้นมาก็ยอมรับว่าไม่ได้สนใจว่าเชียงใหม่จะมีอะไรบ้าง พอโตขึ้นก็เริ่มเรียนอะไรมากขึ้นพอฟังทุกคนในวันนี้ก็เริ่มรู้สึกสนใจ ได้หวนกับไปคิดว่าเชียงใหม่ก็มีดีนะ”

ดอยสุเทพศึกษา วิชาที่เพื่อเห็น เข้าใจ เรียนรู้ รู้สึก

ตี๋ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชน ใจบ้านสตูดิโอ ตั้งต้นประมวลไอเดีย รวบรวมมาจากการฟังกลุ่มต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอแก่คณะทำงานของศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพ และหากใครอยากร่วมแบ่งปันความถนัดหรือความรู้ต่าง ๆ ในการพัฒนา “ดอยสุเทพศึกษา” ก็สามารถแจ้งได้เช่นกันนะครับ ทางศูนย์ดอยฯ ยินดีเป็นจุดเชื่อมประสานความร่วมมือให้นะครับ

  1. ห้องเรียนธรรมชาติของเด็ก ๆ Forest School ทั้งแบบจัดโดยโรงเรียน หรือ ครอบครัว เพราะเด็กทุกคนควรจะได้สัมผัสและเรียนรู้ผ่านธรรมชาติ และคนที่สำคัญคือคุณครูและพ่อแม่ที่จะเปิดประตูนี้ให้เค้า
  2. เส้นทางจาริก Pilgrimage Trials ประวัติศาสตร์และเส้นทางศรัทธาที่ยึดโยงคน ศรัทธากับธรรมชาติ ซึ่งมีร่องรอยของประวัติศาสตร์เยอะมาก ๆ สายนักประวัติศาสตร์ ลุง ๆ ป้า ๆ ที่มีประสบการณ์จากเรื่องเล่าในอดีตน่าจะอินและสนุกมาก ๆ 
  3. ห้องเรียน Nature Connect เพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผ่านเครื่องมือและกิจกรรมกลุ่ม ผ่านศิลปะ การเรียนรู้ สังเกต และชื่นชม ต้นไม้ สัตว์ป่า นก แมลง หรือ องค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีชีวิตในธรรมชาติ
  4. ห้องเรียนเรื่องอาหาร สมุนไพร Forest Herb & Food เพราะว่าเวลาเดินไปกับพี่เจ้าหน้าที่ทุกครั้ง แกจะให้ชิมนั้น ดมนี่ ซึ่งเราไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการจดจำชื่อได้เลย น่าจะดีถ้าในแต่ละฤดูเรามีกิจกรรมการเรียนรู้ป่าผ่านมิติการทำอาหารและการกิน อย่าง เห็ด หน่อ สมุนไพรต่าง ๆ
  5. ห้องเรียนภูมิสถาปัตย์และนิเวศวิทยา Ecological Landscape ต้นไม้บนดอยทั้งในป่าเต็งรังและป่าดิบเขาสวยมาก ๆ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งลูกไม้ชั้นดีในการเก็บมาเพาะ และใช้ในงาน landscape อย่างเข้าใจ แทนการใช้ไม้ล้อมและไม้ต่างถิ่น
  6. ห้องเรียนการเยียวยาตนเอง Forest Healing น่าจะดีกับผู้ป่วยบางกลุ่มในช่วงฟื้นฟูที่จะใช้ป่าเป็นที่ฟื้นฟูกายใจ ซึ่งกิจกรรมในลักษณะนี้ อาจจะต้องการบุคลากรทางแพทย์เข้ามาช่วยแนะนำ 
  7. ห้องเรียนการอยู่ร่วมระหว่างคนกับป่า Forest & Community ชุมชนทั้งเชิงดอยและบนดอยอยู่ร่วมกับพื้นที่มานาน หลายชุมชนต้องเผชิญกับการจัดการอย่างไฟป่า และบางปัญหาก็ยากจะจัดการด้วยตนเอง อย่างเรื่อง การจัดการขยะ การจัดการพื้นที่เชิงการท้องถิ่น หรือการขยายตัวของชุมชน ซึ่งห้องเรียนร่วมนี้น่าจะช่วยประสานความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน และคนในเมืองได้ดีขึ้น
  8. ห้องเรียนการจัดกิจกรรมในป่าที่เหมาะสม Forest and Outdoor Activities ทั้งวิ่งเทรล จักรยานวิบาก เพราะหลายปีมานี้ เราเวลาไปเดินป่าอย่างเส้นดอยปุย หรือ ห้วยคอกม้า จะเห็นจักรยานวิบากสวนลงมา และเส้นด้ายสีๆมัดตามกิ่งไม้ทิ้งไว้รวมทั้งขยะ น่าจะดีไม่น้อยจาก เราได้วางแผนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อกำหนดเส้นทางว่าตรงไหน เหมาะกับกิจกรรมอะไร และแต่ละกิจกรรมต้องระมัดระวังกับความเปราะบางทางนิเวศเรื่องใดบ้าง 
  9. ห้องเรียนดอยสุเทพ 101 อันนี้น่าจะเป็นพื้นฐานสำหรับทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการทุกคนที่ทำงานในพื้นที่นี้ให้ได้เห็นถึงความสำคัญของดอยสุเทพ แบบมีประสบการณ์ตรงและความรู้สึก เวลามีโครงการอะไรที่ต้องพิจารณาหรืออนุมัติ จะได้มีข้อมูลเชิงความรู้สึกในการตัดสินใจ 

บทต่อไปของดอยสุเทพศึกษา

ปุ๋ ดอยสเตอร์ คนโคราชผลัดถิ่นที่ทำมาหากินและใช้ชีวิตในเชียงใหม่ เล่าว่า ตอนแรกที่เข้ามาอยู่ที่นี่ก็ใช้ดอยสุเทพเป็นจุดหมายในการทำความเข้าใจสภาพของเมืองเชียงใหม่ ดูภูมิทัศน์ของเมือง พอได้อยู่แถววัดอุโมงค์ก็ทำให้เข้าไปสนใจทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์

ในฐานะคนทำงานพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวชุมชนก็อยากประชาคมเชียงใหม่ทำห้องเรียนดอยสุเทพศึกษาให้สำเร็จและเป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่นได้ ก่อนหน้านี้เคยทำ forest school ไว้ที่ห้วยตองก้อ จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มทำวิชาสีสันจากขุนเขา มีวิชาทอผ้า ตอนนี้กำลังเตรียมวิชาไร่หมุนเวียน อนาคตก็อยากทำวิชาป่าไม้ เพื่อจะทำให้ชุมชนใช้พื้นที่ของตัวเองได้ เชื่อว่าอนาคตก็จะมีชุมชนอื่น ๆ ที่จะกลับมาตระหนักถึงความพิเศษในพื้นที่ของตัวเอง เช่น เขาแดงของสงขลา เป็นต้น

“ก็มาเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ ชวนเพื่อนมาวาดการ์ตูน ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับดอยสุเทพ”

รศ.ดร.ประสิทธิ์​ วังภคพัฒนวงศ์ หัวหน้าศูนย์​ธรรมชาติ​วิทยา​ดอ​ยสุ​เทพ​เฉลิม​พระ​เกียรติ​ฯ​ กล่าวว่า พื้นฐานผมเป็นนักนิเวศป่าไม้ ช่วงหลัง ๆ เวลานักนิเวศพูดถึงธรรมชาติจะมีคำว่า นิเวศบริการ เป็นแนวความคิดที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่อยากให้สื่อสารเรื่องนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นและแปลงออกมาเป็นค่า เขามองว่านิเวศธรรมชาติมีคุณค่า 4 อย่าง 1.ให้บริการโดยตรง มีต้นไม้มีสมุนไพรก็สามารถใช้ได้ 2. บริการควบคุม อากาศที่เราหายใจก็เกิดจาก 3. บริการสนับสนุน เช่น การทำเกษตรต้องมีดิน มีต้นพันธุ์ 4. บริการทางวัฒนธรรม คือสิ่งต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว

ศูนย์ดอยฯ อยากจะเป็น first stop service ไม่ใช่ one stop service แต่จะรวบรวมบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ หลังจากนี้จะทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ ในการทำให้ข้อเสนอและสิ่งที่ทุกคนแบ่งปันในวันนี้เป็นกิจกรรมต่อไป

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่าย 8 องค์กร ได้แก่ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ, โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก สถาบันวิจัยสังคม, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย, สภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม เพื่อจัดทำหลักสูตรวิชาดอยสุเทพศึกษาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดอยสุเทพครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งมิติทางสิ่งแวดล้อม มิติสังคม มิติประวัติศาสตร์ และมิติทางวัฒนธรรม รวมทั้งหารือเรื่องการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้ชุดความรู้นี้ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงรูปธรรมที่ชัดเจน และการขับเคลื่อนความรู้เกี่ยวกับดอยสุเทพเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชนจังหวัดเชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ