ส่งผ่านความสวยสู่ “สาวหลังกำแพง” ผู้หญิงมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะสวย

ส่งผ่านความสวยสู่ “สาวหลังกำแพง” ผู้หญิงมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะสวย

เรื่อง : สุวนันท์ อ่ำเทศ, สาริศา รักษา / ภาพ : ดาริกา ฉ่ำวัฒน์

“เครื่องสำอางและผู้หญิง” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เป็นสิ่งที่เราต่างให้การยอมรับและเข้าใจกันดีว่า มันเป็นสัญชาตญาณของเพศหญิง เช่นเดียวกับเรื่องของ “สิทธิ” ที่ควรจะอยู่คู่กับกับมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วยเช่นกัน

“เราสวย เรารักความสวย แล้วเราอยากให้คนที่ขาดแคลนด้านนี้ได้สวยด้วย คนที่มาขอก็เป็นคนที่อยู่ในเรือนจำ แล้วเรามีลิปสติกเยอะ ผู้หญิงคนหนึ่งมีลิปสติกเกิน 10 แท่ง เราถามกลับไปว่าคนในเรือนจำมีเท่าไร มีเป็น 10,000 เลยเหรอ งั้นแจกสัก 100 แท่งแล้วกัน เราก็หวังว่าเราจะได้สัก 100 แท่งมาหลอมเหลว ปรากฎว่าเราได้มาเป็น 10,000 แท่ง เยอะกว่าตรงนี้ที่เห็น 3 เท่า” พี่หลี วาทินี ชัยถิรสกุล แอดมินเพจ SisWalk SisTalk เล่าให้ฟังถึงแนวคิดแรกเริ่มที่ทำโปรเจกต์ “ส่งความสวยสู่สาวหลังกำลัง” ให้ผู้เขียนฟัง โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่พี่หลีเปิดรับบริจาคลิปสติกจากสาว ๆ ที่ต้องการส่งต่อความสวยไปยังคนอื่น

พี่ไม่เคยสนใจพวกเขาเลยพี่พูดตรง ๆ พี่ไม่เคยมีเขาอยู่ในหัวเลย มันห่างไกลจากเรามาก จนกระทั่งวันที่เราได้รู้จักน้องที่เคยอยู่ในนั้น ที่ต้องไปติดคุกในเรื่องทางการเมืองและเรารู้ว่าเขาไม่ใช่คนเลวร้าย พอเราทำโปรเจกต์เขามาทำร่วมกัน เริ่มคุยกันเขาก็เริ่มเล่า

พอเขาเริ่มเล่าเราก็เริ่มสะเทือนใจ โลกสวย ๆ ของเรามันหม่น พอมันหม่นมันมีนางฟ้าในใจที่เราจะต้องช่วยเขาได้สักนิดก็ยังดี ในฐานะประชาชนธรรมดาที่ทำอะไรเล็ก ๆ ให้กับคนเล็ก ๆ เหมือนกัน นั่นก็คือที่มาที่ทำให้เราทำต่อในปีนี้ด้วย

ทำไมต้องเป็นลิปสติก

เพราะว่าลิปสติกเราทดสอบได้ว่าหมดอายุ เราทดสอบกลิ่นได้ ถ้าเป็นอายแชโดว์เป็นแป้งอันตรายกว่าอาจจะมีราอยู่ในนั้นมากกว่า ลิปสติกแบบน้ำก็ไม่ได้ ต้องเป็นแบบครีมเท่านั้น เพราะมันตัดหัวตัดล่างก็ใช้ได้ มันสามารถหลอมเหลวผ่านความร้อน พาสเจอไรซ์ผ่านความร้อน เป็นการฆ่าเชื้อในระดับหนึ่งที่จะเป็นการ hygiene ทำให้ปลอดภัยในระดับหนึ่ง ซึ่งมันไม่ที่สุดหรอก แต่สาว ๆ ด้านในบอกว่ามันช่วยได้เยอะกับการที่เขาได้ตรงนี้

ปีที่แล้วมัน success ที่สุดคือ โปรเจกต์พี่หลีก่อนที่จะส่งเข้าไปมันทำลายตลาดมืดในนั้น เมื่อก่อนลิปสติกห้ามขายในร้านค้า แต่ปีที่แล้วก่อนที่เราจะส่งลิปสติกเข้าไป ท่านผู้อำนวยการเรือนจำหญิงกลางอนุญาตให้ขายลิปสติกแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนมันเป้็นของแพงในนั้นและต้องแอบ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว

ผลตอบรับต่างจากปีที่แล้วไหม

ครั้งแรกทีมทำงานเขาจะรู้จักกันหมด แต่ครั้งนี้เขาไม่รู้จักกันเลย ต้องมาแนะนำกันใหม่เดี๋ยวก็ต้องมีเบรค ทานอาหาร ให้รู้จักกัน

ความยากในการทำงานส่งต่อลิปสติกในครั้งแรก ถามว่ายากไหมก็ยาก แต่ปีนี้ก็ไม่ได้ยากลดลง ปีนี้เดือนมกราคมติดต่อไว้หมดแล้ว 8 ที่ ปรากฎว่ามีการโยกย้ายผอ.เดือนไหนไม่รู้ ต้องเริ่มประสานใหม่หมดเลย แล้วพอเริ่มใหม่ลิปสติกเราได้น้อยลงเราก็ต้องมาจำกัดเหลือแค่ 5 ที่

ปีนี้พิเศษตรงที่เราจะไปเรือนจำพิเศษพัทยา ซึ่งเน้นทางด้านเคยนำร่อง (pilot) เรื่อง LGBT จะเอาลิปสติกไปให้สาวข้ามเพศ (transgender) ที่อยู่ในนั้น ซึ่งเพิ่งโทรไปคุยกับเขา เขาโอเคให้ทำหนังสือเข้าไป มันเป็นเรือนจำที่ดูแล transgender เป็นพิเศษ กระเทยเขาจะโดนรักษา (treat) แยกจากผู้ชาย อยู่ในเรือนจำชาย แต่ถ้าแปลงเพศแล้วคือเบื้องล่างแปลงเพศเป็นหญิงจะได้ไปอยู่เรือนจำหญิงเลย แต่ถ้ายังไม่ได้มีการแปลงเพศแต่มีหน้าอก เขาจะมีห้องพิเศษให้ เราจะนำลิปสติกไปให้สาว transgender โดยเฉพาะ

ปีนี้จะไปเรือนจำไหนบ้าง

ตอนนี้ที่จะไปแน่นอนคือเรือนจะหญิงกลางกรุงเทพเหมือนเดิม มีเรือนจำขอนแก่นที่จะไป มีเรือนจำตราดที่จะไปและสุดท้ายเรือนจำธนบุรี 5 ที่

แล้วก็ที่เคยจำเพาะเจาะจงกันไว้ก็ปฏิเสธหลายที่อยู่อย่างเช่น ธัญญบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลกปฏิเสธเรา เขาบอกไม่ให้นักโทษหญิงแต่งหน้า เขาไม่บอกด้วยเหตุผลเลย เขาไม่ให้ผู้หญิงแต่งหน้า มันทำให้เรารู้ว่ามันไม่มีนโยบายรัฐในการห้าม มันไม่มีกฎห้าม มันแล้วแต่วิจารณญาณของผอ.แต่ละเรือนจำนั้น ๆ ว่าจะให้หรือไม่ให้ และที่สำคัญกว่านั้น เรือนจำที่ให้ยกเว้นทัณฑสถานหญิงกลางเรือนจำที่ไม่ให้ส่วนใหญ่เป็นเรือนจำที่ผอ.เป็นผู้ชาย แต่เรือนจำที่ให้ผอ.เป็นผู้หญิงอันนี้แปลกมาก เราไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ว่าเป็นวิจารณญาณเฉพาะบุคคลที่เขาจะไม่ให้

*อัปเดตความคืบหน้าการส่งมอบลิปสติก ตอนนี้พี่หลีแจ้งว่า ไปมอบให้เรือนจำมา 3 ที่แล้ว 1.เรือนจำหญิงกลาง กทม.  2.เรือนจำธนบุรี  3.เรือนจำขอนแก่น ของที่ได้มาก็กระจายตามความต้องการของแต่ละเรือนจำ ลิปสติกเน้นให้เรือนจำที่เรียนแต่งหน้า กับกิจกรรมละคร ส่วนโลชั่นที่ได้มาก็มอบให้เรือนจำที่มี ผู้หญิงท้องกับคนแก่เยอะ ตอนนี้เหลืออีก 2 ที่ ที่กำลังจะนำของไปมอบให้คือ เรือนจำจังหวัดตราด กับเรือนจำพิเศษพัทยา ที่มีผู้ต้องขังเพศที่ 3 ด้วย แต่ปีนี้จากการประสานงานไป เรือนจำส่วนใหญ่ต้องการน้ำยาฆ่าเหา พี่หลีบอกว่าปีหน้าก็วางแผนจะรับบริจาคน้ำยาฆ่าเหาจริงจังเหมือนกัน

แผนต่อไปส่งมอบความสวยครั้งต่อไป

พี่กะจะทำ 5 ปี จากที่ปีแรกเป็นคนไม่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์เลย มันตอบคำถามเยอะ แล้วเราเรียนรู้จากสาว ๆ ในเรือนจำเยอะ เราเริ่มรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิ และเราเริ่มรู้แล้วว่าการให้แบบนี้ และการเรียกร้องจากคนมาบริจาคเขาได้เรียนรู้เรื่องสิทธิ และการที่เราพูดผ่านสื่อมันเป็นการกระจายความคิด

เราเริ่มรู้ว่านี่คือ soft power อย่างหนึ่ง ในการทำให้คนรู้จักสิทธิมนุษยชน (Human Right) ถึงแม้เขาจะอยู่ในเรือนจำ แต่เขามีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะสวย เขาแค่โดนกักกันทางร่างกายที่ไม่ให้ออกไปไหนทั้งนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องโดนกักกันทางด้านอื่น

เพราะฉะนั้นการที่เราเป็น soft power ด้านนี้ ในการที่จะส่งสารพี่ถึงพยายามหาสื่อในการให้สัมภาษณ์เพื่อกระจายความคิดทางด้านนี้ เพื่อกระจายพลังกับคนรุ่นใหม่ต่อ ๆ ไป เราจะได้ไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องสิทธิ พอคุยเรื่องนี้คนมันก็ขี้เกียจฟัง ทำดีกว่า ง่าย ๆ ไม่ต้องเป็น NGO ด้วย (หัวเราะ)

นอกจากพี่หลีแล้วก็ยังมี พี่ปัด ณัฐวรนิชย์ เลอกีรติกุล ทีมแอดมินอีกหนึ่งคนที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมส่งความสวยในครั้งนี้ด้วย พี่ปัดเล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกหลังทำโปรเจกต์นี้ออกไป ว่านอกจากจะรู้สึกดีมากแล้ว ยังรู้สึกถึงแรงต้านจากสังคมภายนอกอยู่บ้างด้วย

เรากำลังคิดว่าสังคมไทย เข้าใจคอนเซ็ปต์ของเรือนจำผิด สังคมไทยจะมองเรือนจำว่าเป็นเรื่องที่ต้องลงโทษผู้กระทำผิด แต่จริง ๆ แล้ว คอนเซ็ปของเรือนจำที่ดี มันควรจะเป็นที่ที่บำบัดคนที่ผิดพลาด แล้วคืนคนดีกลัวมาสู่สังคม แล้วที่นี้ส่งความสวยให้เขาเยียวยาจิตใจ ทันเป็นเรื่องหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ต้องขัง ช่วยในเรื่องของจิตใจแล้วก็ทำให้เขาสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้ ด้วยสภาพจิตใจที่ดี

ส่วน พี่ปอ กรกช แสงเย็นพันธ์ 1 ใน 7 นักศึกษาคดีประชามติ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เสนอว่า “ควรจะเพิ่มความควบคุมไปถึงนักโทษชายว่าขาดเหลืออะไรบ้าง เพราะตัวเองเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เคยเข้าไปอยู่ข้างในมาสักพักหนึ่งเหมือนกัน และเห็นว่ามันก็ลำบาก มีความแออัดด้วย ความสะอาดอะไรต่าง ๆ ก็ต้องรณรงค์เรื่องนี้แบบอะไรที่ช่วยเหลือได้ เพราะว่ามันเป็นส่วนที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงตรงนั้นอยู่แล้ว ก็คิดว่าถ้าขยายโครงการนี้ออกไปเป็นช่วยเหลือทางด้านอื่น ๆ ด้วย คิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งเราที่อยู่ข้างนอกเอง ก็ไม่จำเป็นต้องบริจาคด้วยการเสียเงินเสียทอง ของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันก็มีประโยชน์เหมือนกัน”

ของผู้ชายเองความต้องการก็จะคล้าย ๆ กัน เป็นพวกแปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม เพราะว่าบางส่วนผู้ต้องขังที่เข้าไปไม่มีญาติหรือไม่ได้ติดต่อ หรือบางคนไม่มีญาติมาเยี่ยมเลย ก็ไม่มีเงินที่จะซื้อของพวกนี้ บางทีก็ต้องไปยืมเขา บางทีก็ไม่ได้อาบ พอไม่ได้อาบ ไม่ได้ทำความสะอาดมันก็สกปรก พอสกปรกมานอนรวมกันก็อาจจะเกิดเรื่องโรคระบาดได้เหมือนกัน หลาย ๆ ครั้งคนก็มองว่าก็อยู่ในคุกแล้วทำไมจะต้องเอาไป เราก็มองว่า

เขาแค่ถูกขังเพราะเขาทำผิด เขาไม่ได้ไม่ใช่มนุษย์ เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เราคิดว่ามันแค่ขังเพื่อรับโทษในสิ่งที่เขาผิด ไม่ได้ไปขังให้เขาไม่ใช่มนุษย์

คิดว่าโครงการแบบนี้ทำให้เขารู้สึกมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สำคัญคือคนข้างนอกมีทัศนคติต่อเขาดีขึ้น ไม่ใช่เราจะมองว่าผู้ต้องขังต้องออกไปทำงานที่คนทั่วไปไม่ทำอย่างเดียว เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคมเราคิดว่ามันเหมือนไม่ได้มองว่าคนบางคนเท่ากัน

ด้านที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมสาวสวยอย่าง ปลื้ม ไปรยา อุรานุกุล 1 ในผู้เข้าร่วมโปรเจกต์ครั้งนี้ ได้แบ่งปันมุมมองของการให้ทั้งต่อตัวเองและคนอื่นให้เราฟังว่า “เอาจริง ๆ ถ้าต่อตัวเองจะมองแค่ว่าเปิดโลกก่อน ความเป็นจริงถ้าถามว่าจะให้ของบริจาคเราก็คงคิดว่าให้หนังสือ ให้อะไรที่มันแบบ คือเป็นเด็กเนิร์ดที่จะไม่สนใจอะไรลิปสติกทั้งนั้น ก็เลยไม่คิดว่ามันจะทำอะไรได้ พอมาจริง ๆ เราได้มาเห็นว่าลิปสติกมันก็สร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงได้

จริง ๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง ให้ใครก็ได้ที่ได้ ถ้าเขาชอบสี ถ้าเขาใช้แล้วมันสร้างเสริมความมั่นใจตัวเอง เราก็คิดว่าเขามีพลังที่จะพัฒนาได้แล้วก็เติบโตได้ ถ้าคุณให้คุณค่ากับความรู้ คุณก็ไม่มีสิทธิมาตัดสินว่าคุณต้องให้อะไรเขา ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ ว่าลิปสติกมันคือการให้ความมั่นใจคนจริง ๆ

ส่วนการให้คนอื่นเรารู้สึกว่าเพราะว่าเราเข้าใจว่าของที่ให้มันให้ได้หลายอย่าง ทำให้เขาก็มีโอกาสได้ของหลาย ๆ อย่าง เหมือนที่ผ่านมาคนที่ให้ชอบคิดแทนคนที่ได้รับ แต่ ณ จุดนี้คนที่ให้ได้เห็น ว่าคนที่ได้รับเขาก็อาจจะเปิดรับหลาย ๆ อย่าง เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นลิปสติก ซึ่งเราเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่สำหรับคนที่ได้รับมันเป็นเรื่องใหญ่มาก มันทำให้คนที่ได้รับมีโอกาสได้อะไร อื่น ๆ มากกว่าเดิมเยอะ

มันทำให้คนที่อยู่ในบ้านทั่วไปได้พิจารณา (consider) สิ่งที่เราเห็นที่เรามีมันจุกจิกไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ ความจริงมันมีค่ากับคนอื่นได้อย่างไร เราก็เลยคิดว่าในแง่ของคนที่ได้รับเขาก็มีโอกาสได้รับอะไรอีกหลาย ๆ อย่างมากมายเลย แทนที่จะได้แต่ของแบบเดิมซ้ำ ๆ

Q : แล้วตอนนี้เราอยากให้ของอย่างอื่นกับเขาไหม
เราอะเหรอ อยากกกกกก ตอนนี้เราเปลี่ยนใจแล้ว ตอนแรกเรากะว่าจะส่งอะไรที่เรามีอยู่ในบ้าน เสื้อผ้า อันนี้เราคิดว่าเราจะไปถามที่เรือนจำก่อนว่าเขาอยากได้อะไร แล้วเขาขาดอะไรก่อน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นการเข้าหา (approach) ที่ต่างกัน แล้วก็ตอบโจทย์เขาจริง ๆ ด้วย ไม่ใช่คิดเอาเอง

เราคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วก็สภาพจิตใจที่ดีแบบความเป็นอยู่ที่ดี (well being) เลย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าในจุดหนึ่ง การให้เครื่องสำอางค์แบบนี้ ความจริงมันส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็เชื่อมโยงกับสุขภาพกายโดยตรงเลย เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่ามันเป็นสิทธิของเขา เพราะว่าคำว่าทรมานก็แรงไป คำว่าทำร้ายหรือทรมาน คนอาจจะชอบมองว่ามันเชิงกายภาพ (physical) แต่ความจริงทางจิตใจ (mentally) ก็มีได้เหมือนกัน และคิดว่าการที่เราหยิบของอย่างนี้ให้เขา มันสร้างเสริมความมั่นใจ เป็นสิทธิในการที่จะสวย สิทธิในการที่จะมั่นใจแล้วก็เติบโต

 

6 ขั้นตอนการทำลิปสติก

1.ตรวจสอบวันหมดอายุด้วยการ “ดมกลิ่น” หากสาว ๆ ลองดมลิปสติกของตัวเอง แล้วมีกลิ่นเหม็นหืน นั่นแสดงว่าลิปสติกของเราหมดอายุแล้วนะคะ ต้องจำใจหย่อนลงถังขยะแล้วไปซื้อแท่งใหม่ดีกว่าค่ะ เพื่อความปลอดภัยต่อริมฝีปากของเราเอง *ลิปสติกจะหมดอายุภายใน 2 ปี หลังจากเปิดใช้งานครั้งแรก

2.คัดแยกเฉดสี โดยการแยกในโปรเจกต์ของพี่หลี จะแยก 3 เฉดหลัก ๆ ด้วยกันคือ 1.สีแดง 2.สีนู้ด 3.สีชมพู

3.ตัดเนื้อลิปสติกออกจากแท่ง ใส่ภาชนะทนความร้อน เพื่อนำไปละลายในขั้นตอนต่อไป

4.ละลายลิปสติกให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยจะใช้ภาชนะทนความร้อนวางบนหม้อ แล้วค่อย ๆ คนเนื้อลิปสติกให้เข้ากัน *ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะไม่ได้ใช้ความร้อนสูงนัก

5.เทลิปสติกใส่ตลับใสตามเงื่อนไขของเรือนจำ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ

6.รอให้ลิปสติกเซ็ตตัว ตามอุณหภูมิห้อง หลังจากนั้นก็สามารถนำลิปสติกส่งความสวยสู่สาวหลังกำแพงได้เลย

……………………….

ชมคลิปวิดีโอได้ที่

Human is human ไม่ว่าใครก็มี “สิทธิสวย”

"แม้เขาจะอยู่ในเรือนจำ แต่เขามีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะสวย" หลี วาทินี ชัยถิรสกุล ***ขออนุญาตแก้ไขชื่อจาก วาทิณี ชัยฐิรสกุล เป็น วาทินี ชัยถิรสกุล นะคะ เนื่องจากในคลิปพิมพ์ชื่อ-นามสกุลผิด แอดต้องขออภัยด้วยนะคะ 😢.โปรเจกต์ "ส่งความสวยให้สาวหลังกำแพง" ที่เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนเคยผ่านตาอยู่บนโซเซียล ทั้งเปิดรับบริจาคลิปสติกของสาว ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว และอาสาสมัครทำส่งให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งตอนนี้กำลังทะยอยส่งมอบให้เรือนจำแต่ละที่.แจ่มก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรม และพูดคุยกับเจ้าของโปรเจกต์ Lily Watinee Chaithirasakul เจ้าของบล็อกเกอร์เพจ SisWalk SisTalk พูดถึงการมีสิทธิของผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำ.Human is human ไม่ว่าใครก็มี “สิทธิสวย” .#สิทธิสวย #สิทธิมนุษยชน #เรือนจำ #ผู้หญิง #Jamชวนแจม #ThaiPBS

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ