“ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ประเมินนโยบายสาธารณะ 7 ห้างดัง คะแนนด้านสิทธิสตรีน้อยสุด  

“ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ประเมินนโยบายสาธารณะ 7 ห้างดัง คะแนนด้านสิทธิสตรีน้อยสุด  

 

เปิดคะแนนนโยบายสาธารณะด้านสังคม 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยปีแรก พบนโยบายส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยคะแนนมากสุด แต่ด้านสิทธิสตรียังมีน้อย เครือข่ายเพื่อผู้บริโภคชี้ช่องทางเว็บไซต์เพื่อสื่อสารกับผู้ประกอบการฯ ด้านเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกเผยตั้งเป้าประเมินให้ครอบคลุมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม-สิทธิผู้บริโภคด้วย

 

 

วันที่ 5 ก.ค. 2561 องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดแถลงข่าวเปิดผลคะแนนการประเมินนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเชิงบวกในระบบผลิตอาหารผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในตลาดอาหารที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภค เกษตรกรรายย่อย และแรงงาน ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์กรอ๊อกแฟม กล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะเข้าสู่การประเมินนโยบายสาธารณะนั้นจะพิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มบริโภค ซึ่งประเทศไทยมีทั้งหมด 8 แห่ง แต่มี 1 แห่งที่ขอสงวนสิทธิการเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้ ในปีแรกการประเมินนโยบายนี้จะมุ่งเน้นไปที่มิติทางสังคม โดยกรอบการประเมินมีตัวชี้วัด 4 ด้าน ดังนี้ 1.ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ 2.แรงงาน 3.ผู้ประกอบการรายย่อย (เกษตรกร, ผู้ผลิตรายย่อย) 4.ด้านสตรี (สิทธิระหว่างชายหญิง บทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน)

ผลคะแนนการประเมินพบว่า มิติด้านเกษตรกรรายย่อยเป็นด้านที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนมากที่สุด เนื่องจากมีการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเพิ่มขึ้นจากการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร แต่ก็มองว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตจะสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้มากกว่านี้ หากมีการจัดทำข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม และสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ในขณะเดียวกันพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อด้านแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่นโยบายที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือนโยบายด้านสิทธิสตรี ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรีหรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี แต่ประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจน ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบาย ที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้า และซัพพลายเออร์ต่าง ๆ

สรุปตารางผลคะแนน มีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายที่ได้รับผลการประเมิน ในขณะที่อีก 3 รายนั้นยังไม่ได้รับคะแนนเนื่องจากขาดข้อมูลสาธารณะที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน

ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการส่งเสียงออกไปเพื่อบอกกับผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยว่าผู้บริโภคต้องการแบบนี้ ต้องการเห็นผู้ประกอบการฯ มีมิติทางสังคมมากขึ้น จึงเปิดเว็บไซต์สาธารณะขึ้นมาในชื่อ dearsupermarkets.com เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะต่อผู้ประกอบกิจกการฯ ได้ หรือการที่ผู้บริโภคสามารถสอบถามกับคนขายหรือกับพนักงานในห้างได้เลยว่ามีนโยบายแบบนี้ในห้างหรือไม่ ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าวางใจได้ว่าสินค้ามีที่มาที่ไปแบบที่ไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหากระทบกับผู้ที่เขาเป็นซัพพลายเชนของห้าง ผู้บริโภคก็สามารถที่จะเลือกได้ เปรียบเทียบได้ 

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก เสนอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อย และแรงงานนั้น ควรจะปรับเปลี่ยนส่วนแบ่งทางการค้าให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีไม่ถึง 5% เพราะจะยกระดับคุณภาพชีวิตหรือรายได้เกษตรกรรายย่อยหรือแรงงานได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยในครั้งต่อไปเครือข่ายฯ ตั้งเป้าว่าประเมินนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยองค์การอ๊อกแฟมสากลปี 2561 ชี้ว่า เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหารเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหารมากที่สุด สาเหตุจากรายได้ที่ได้จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ ขาดอำนาจการต่อรอง ในขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต้องทำงานล่วงเวลากว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนทำให้เกิดปัญหายากจนแม้ว่าจะมีงานทำ

ที่สำคัญยังพบว่า มากกว่า 30% ของราคาสินค้าที่จำหน่ายนั้นตกอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกกว่า 20% ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ ในขณะที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตรายย่อยได้รับผลประโยชน์รวมกันไม่เกิน 15% ของราคาสินค้าที่จำหน่าย หรือพูดง่าย ๆ ว่าจากเงิน 100 บาทที่ขายสินค้าได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตได้ส่วนแบ่งมากกว่า 30 บาท บริษัทผู้ผลิตได้มากกว่า 20 บาท ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยได้ไม่ถึง 15 บาทเท่านั้น

นอกจากโครงการในประเทศไทย องค์การอ็อกแฟมในประเทศอื่นๆ ก็ได้มีการดำเนินการจัดทำการประเมินผลนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศของตนเองและเพิ่งเปิดเผยผลการประเมินไปเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

  • ลิงค์ดูผล scorecard ของซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร: https://oxfamapps.org/behindthebarcodes/?intcmp=HPWWLWP_grid_BehindBC
  • ลิงค์ดูผล scorecard ของซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาเหนือ: https://www.oxfamamerica.org/take-action/campaign/food-farming-and-hunger/behind-the-barcodes/

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ