“ตามหาพิกัดทีมหมูป่า” เชื่อมข้อมูลทุกภาคส่วน ยังจำเป็น !!

“ตามหาพิกัดทีมหมูป่า” เชื่อมข้อมูลทุกภาคส่วน ยังจำเป็น !!

ภารกิจตามหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ในถ้ำหลวง ที่ถือว่าเป็นถ้ำที่ยาวติด 1 ใน 5 ของประเทศไทย ในเขตวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์นั้น  จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติการอย่างรอบด้าน  “ข้อมูลภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ”จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ความยากลำบากในการเข้าพื้นที่ ทั้งห่างไกล  สภาพโดยรอบของเทือกเขาและภายในตัวถ้ำ จำเป็นที่คนในพื้นที่และหน่วยงานความช่วยเหลือจากภายนอกจะต้องประสานเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้กันเพื่อออกแบบ วางแผนการช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างระมัดระวังและราบรื่นที่สุดแข่งกับเวลา

ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บัญชาการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หากแต่ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์และหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่มาจากหลายภาคส่วนที่ประเมินหน้างานที่เข้าไปร่วมปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามได้มี Active Citizen ผู้รู้  นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ที่มีจิตอาสาพยายามร่วมสื่อสารองค์ความรู้ ข้อมูลร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ผ่านเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ให้ถึงมือผู้ปฏิบัติงานและสร้างการเรียนรู้ให้สังคมได้ด้วยเช่นกัน

24 มิ.ย. 61 เพียงข้ามคืนที่ข่าวการหายตัวไปถ้ำหลวงของทีมหมูป่า “อนุกูล สอนเอก  นักภูมิศาสตร์ที่เคยสำรวจถ้ำหลวง โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Anukoon Sorn-ek   แสดงรูปภาพแผนที่ภายในถ้ำหลวง พร้อมระบุข้อมูลที่สำคัญต่อการประเมินสถานการณ์ของทีมค้นหาว่า ถ้ำมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และระบุการคาดการตำแหน่งที่เด็กๆจะอยู่  พร้อมยังได้แนะนำความช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำออกอย่างถูกวิธี  แผนที่ถ้ำของเขาได้จาก Martin Illis นักสำรวจถ้ำจากอังกฤษที่ส่งมาให้ใช้ในการค้นหา และ Vern Unsworth ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางในถ้ำนางนอนหลวงที่พาทีมออกค้นหาผู้ติดอยู่ในถ้ำ “

ข้อความจากเฟซบุ๊คของ อนุกูลถึงมือผู้บัญชาการเหตุการณ์  และเขายังได้ร่วมประเมินวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

26 มิ.ย. อ.นิอร สิริมงคล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (จ.เชียงราย) ผู้ซึ่งมีบทบาทด้านการเชื่อมประสานหน่วยงานและพยายามแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภาคเหนือ ทั้งกรณีแผ่นดินไหว และสถานการณ์หมอกควัน  ได้โพสต์เฟซบุ๊ค นิอร สิริมงคล การประสานงานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” เพื่อส่งข้อมูลภาพดาวเทียมความละเอียดสูงในระยะ 50 เซนติเมตร เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการค้นหาเหล่า ทีมหมูป่า 13 คนซึ่งข้อมูลชุดนี้ถูกส่งไปยังป้องกันจังหวัดเชียงราย เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนร่วม

แผนที่โครงข่ายถ้ำ กับแผนที่ดาวเทียมภูมิประเทศมีการซ้อนทับกันในสเกลที่เหมาะสม คุณอนุกูล โพสต์ข้อมูลอีกครั้ง ถามหานักภูมิศาสตร์ที่จะสร้างแผนที่ในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาเส้นทางเข้าสู่ส่วนในสุดของถ้ำ  …. ใต้โพสต์นั้น มีข้อมูล ความคิดเห็น และแผนที่มาร่วมวิเคราะห์มากมาย

หนึ่งในนั้นคือ อ.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานทางเลือกและระบบแผนที่ภูมิศาสตร์

27 มิ.ย. วันที่ฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และทุกคนเต็มไปด้วยความกังวล อ.สมพร ได้โพสต์ข้อความ ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Somporn Chuai-Aree    ตรวจสอบแนวโน้มฝนระบุให้ทราบเบื้องตนถึงแนวโน้มฝนจะตกว่าจะถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2561 และเว้นช่วง โดยแนะนะเว็บในการตรวจสอบคือ  https://www.windy.com/?rain,20.375,99.868,14,m:ee6aiVC และภาพเรดาร์ตรวจฝนสถานีเชียงราย  http://weather.tmd.go.th/criLoop.php

และอาจารย์ยังใช้แผนที่เส้นทางหลักของถ้ำ  จากโพสต์ของคุณ Anukoon Sorn-ek  ทาบไปตามแนวผิวพื้นที่ภูมิศาสตร์ และคำนวนจุดพิกัดต่างๆ ตามทางแยกบอกระยะทางคร่าวๆ  และได้ทำไฟล์ kmz ที่สามารถเปิดด้วยโปรแกรม Google Earth หรือ Earth3D บนมือถือได้ โดยดาวโหลดไฟล์ได้จาก http://www.pbwatch.net/ThamLuang/ThamLuangChiangRai.kmz(เป็นจุดพิกัดต่างๆ ที่ไม่รวมแผนที่)

และ http://www.pbwatch.net/ThamLuang/ThamLuangChiangRai2.kmz (รวมแผนที่ชั้นความสูง)

พร้อมทั้งสอบถามหาข้อมูลแผนที่การสำรวจถ้ำเพื่อร่วมวิเคราะห์ช่วยกันเพิ่มเติม…

04.00 น. วันเดียวกัน (วันที่ 27 มิถุนายน 2561) Facebook : Nuinui Lannamap ได้โพสต์ภาพ/คลิปวีดีโอ กราฟฟิกพื้นที่ของถ้ำหลวงในบริเวณด้านนอก โดยจำลองแบบทาบแผนที่ของ Anukoon Sorn-ek พร้อมระบุข้อความว่า  “ เมื่อวานตอนประมาณ 4 ทุ่ม ผมได้เห็นข้อความของรุ่นพี่ภูมิศาสตร์ มช. ที่ผมรู้จักซึ่งพี่เค้าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในภารกิจตามหาน้องๆ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ณ ขณะนี้  พี่เค้าโพสในกลุ่ม GEOCMU ของเพื่อนพ้องน้องที่ภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าต้องการข้อมูลแผนที่เส้นทางถ้ำ เส้นชั้นความสูงที่สามารถเอาไปเปิดในโปรแกรม Google Earth ได้ แล้วก็มีรุ่นพี่รุ่นน้องพร้อมใจกันช่วยอย่างมากมายมหาศาล ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศได้หลั่งไหลไปยัง Facebook พี่

ผมนี่ห่างหายจากวงการไปก็สองปีกว่า ตั้งแต่ภาควิชาไม่ค่อยมีเด็กมาเรียน มาเมืองจีนทุกครั้งก็แอบติดข้อมูลภูมิสารสนเทศ +เอาโปรแกรมติดฮาร์ดดิสก์มาด้วย เพราะคิดว่าสักวันคงต้องได้ใช้

รับข่าวจากพี่กื๋อ อนุกูล สอนเอก ตอน 4 ทุ่ม ตอนนี้ตี 4 กว่าแล้วยังไม่ได้นอนเลย เพราะนั่งทำแผนที่ที่เผื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการตามหาน้องๆ ถ้าได้ใช้ก็ดีใจ ไม่ได้เอาไปใช้ก็ดีใจ ตอนนี้ลามมาถึงการสร้างอนิเมชั่นเล็กๆเพื่อเล่าเหตุการณ์สรุปผ่านแผนที่ให้ทุกคนได้เข้าใจ (จะได้ไม่ต้องขับรถไปให้รถติดเกะกะเจ้าหน้าที่)

นั่งทำแผนที่ไปก็รู้เลยว่า น้องๆทุกคนปลอดภัยแน่นอน เงื่อนไขอย่างเดียวในตอนนี้คือ “เวลา””

27 มิ.ย. อนุกูล สอนเอก  ยังได้โพสต์เฟซบุ๊คขออาสานักภูมิศาสตร์ที่เชี่ยวชาญแผนที่ภาคสนามมาร่วมประเมินสถานการณ์และจัดการข้อมูลด้วย

ล่าสุด บ่ายวันที่ 27 มิ.ย.61 Facebook : ดร.นิอร สิริมงมล ได้โพสต์ภาพจำลองสามมิิติที่สมบูรณ์ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเเล้วด้วย

 

ผู้รู้ ผู้มีจิตอาสา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์ที่หลากหลายจากทุกที่ ต่างพยายามทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อบูรณาการข้อมูล ส่งถึงมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและกองอำนวยการโดยตรงแข่งกับเวลา   ด้วยหวังสิ่งเดียวคือ  ตามหาทีมหมูป่าให้กลับบ้านมาโดยเร็ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ