องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เผยแพร่ข้อมูล หลัง สปป.ลาวเดินหน้า “โครงการเขื่อนปากลาย” ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 4 ต่อจาก ไซยะบุรี ดอนสะโฮง และปากแบง ชี้ปัญหาการเดินหน้าสร้างเขื่อนใหม่โดยไม่พิจารณาทางเลือกอื่นในการผลิตไฟฟ้า
15 มิ.ย. 2561 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประกาศเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย. 2561) ว่า รัฐบาลลาวได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการฯ ถึงเจตจำนงในการก่อสร้างเขื่อนปากลายในแม่น้ำโขงสายประธาน ขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement – PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เขื่อนปากลายนับเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานลำดับที่ 4 ที่มีการเสนอเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าว
“คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลลาว ยังไม่สามารถตอบสนองข้อกังวลที่สำคัญได้อย่างจริงจัง เกี่ยวกับโครงการเขื่อนที่มีการเสนอเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า การเสนอกระบวนการให้กับเขื่อนใหม่แห่งนี้ จึงเป็นเพียงความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากพันธกรณีที่มีอยู่” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าว
“คาดว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนที่สำคัญเพิ่มเติมต่อชุมชนในประเทศไทยและตลอดทั่วลุ่มน้ำโขง นอกเหนือจากผลกระทบต่อชุมชนในฝั่งลาว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด”
เขื่อนปากลายซึ่งมีกำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านท้ายน้ำต่อจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างจนเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ห่างจากพรมแดนไทยประมาณ 100 กิโลเมตร
“ผมกังวลอย่างยิ่งกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ ที่จะมีต่อนิเวศวิทยาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของอำเภอเชียงคาน” ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคาน จังหวัดเลยกล่าว
“ทุกปีเราได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่ผันผวน ซึ่งไหลมาจากเขื่อนด้านเหนือน้ำในประเทศจีน หากมีการสร้างเขื่อนปากลาย ย่อมจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่ออาชีพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต่างอาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย”
“ชาวบ้านริมฝั่งน้ำโขงในประเทศไทย ต่างรอคอยคำพิพากษามากว่า 5 ปี ในคดีสำคัญเพื่อคัดค้านการตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนปากลายด้านท้ายน้ำจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และทำให้ความหวังที่จะเกิดความรับผิดในคดีนี้เลือนลางไป” เพียรพรกล่าว
“คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลลาวไม่สามารถมองเห็นองค์รวมของแม่น้ำ พวกเขาเพียงแต่ต้องการแบ่งซอยแม่น้ำเป็นส่วน ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ เราจึงได้เห็นวิบัติภัยที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในทางสังคมและนิเวศวิทยา”
การแจ้งตามขั้นตอนของเขื่อนปากลายเกิดขึ้น หลังขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากเบง เขื่อนแห่งที่ 3 ที่สร้างในแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง ต่อจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 แม้ว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากแบง มีการพัฒนากว่าขั้นตอนการปรึกษาหารือของเขื่อนก่อนหน้านี้ แต่คุณภาพของข้อมูลและการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้น ยังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่
นอกจากนั้น รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกิจที่เห็นชอบในระหว่างกระบวนการโดยพวกเขาได้เคยเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) เพื่อตอบสนองข้อกังวลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากผลกระทบของโครงการนี้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าว กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากเบงยังส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองของไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้เผยแพร่ ‘ผลการศึกษาของคณะมนตรี’ ซึ่งเริ่มการศึกษาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โดยให้มีการประเมินผลกระทบเชิงสะสม และผลกระทบในระดับลุ่มน้ำของโครงการเขื่อน ผลการศึกษาของคณะมนตรี ซึ่งใช้งบประมาณจัดทำ 4.7 ล้านเหรียญ และใช้เวลา 7 ปีในการดำเนินงาน ทำให้เกิดข้อค้นพบว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 11 โครงการ ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างในแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่างและลำน้ำสาขา 120 แห่ง เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบนิเวศและความมั่นคงของเศรษฐกิจในภูมิภาค[1] โดยจะส่งผลให้ความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภาพทางการเกษตรลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดความยากจนมากขึ้น และทำให้เกิดความเสี่ยงยิ่งขึ้นด้านสภาวะภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังไม่ประกาศ หรือรับรองอย่างเป็นทางการ ต่อผลการศึกษาของคณะมนตรี หรืออธิบายว่า การศึกษาครั้งนี้มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างไร
“รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงและภาคีการพัฒนา ได้ใช้เงินหลายล้านเหรียญในการศึกษา จนพบว่ามีผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ร้ายแรง และจำเป็นต้องมีการพิจารณาทางเลือกอย่างจริงจัง การเดินหน้าสร้างเขื่อนใหม่แห่งนี้โดยไม่พิจารณาทางเลือกอย่างแท้จริง จึงถือเป็นการใช้งบประมาณสาธารณะอย่างสิ้นเปลือง” เมารีน แฮร์ริส (Maureen Harris) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าว
“แม้จะมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงกระบวนการปรึกษาหารือ การแสดงเจตจำนงในการศึกษาเพิ่มเติมและการปรึกษาหารือที่ได้รับการปรับปรุง กลับไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อกระบวนการตัดสินใจ และยังทำให้ชุมชนต่างมีความเสี่ยง”
ในการเสนอเขื่อนปากลายเข้าสู่ขั้นตอนการทบทวน มีการระบุว่า คาดว่าโครงการขนาด 770 เมกะวัตต์นี้จะไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้จนกว่าจะถึงปี 2565 แม้คาดว่าจะมีการจัดส่งไฟฟ้าจากโครงการนี้เพื่อขายให้กับประเทศไทย แต่ในเอกสารโครงการไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อไฟฟ้าหรือผู้พัฒนาโครงการ
ในเดือนมีนาคม กฟผ.ยืนยันว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอให้การทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยอยู่ที่ระดับสูงมาก โดยคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นไม่มากนักในการเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งใหม่
การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคพลังงานของไทย และการนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในตลาดพลังงานโลก
ในข้อเสนอหลักตามรายงานผลการศึกษาของคณะมนตรี มีการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาอย่างจริงจังถึงผลกระทบของโครงการเขื่อนที่เสนอและให้พิจารณาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น และเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนเพื่อทดแทนไฟฟ้าพลังน้ำ
เรากระตุ้นรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ไม่ให้เดินหน้าตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาต่อไป และให้หาทางตอบสนองข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่อย่างโปร่งใส เรายังเรียกร้องต่อไปให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง แสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามผลการศึกษาของคณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยควรมีการจัดทำบันทึกความตกลง เพื่อชะลอการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมในลุ่มน้ำโขง จนกว่าจะมีการศึกษาระดับภูมิภาคถึงเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และมีการประเมินทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำจนสมบูรณ์
……………….
[1] การศึกษาได้พยากรณ์ว่า หากเดินหน้าตามแผนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในปัจจุบันต่อไป จะทำให้ต้องเลือกระหว่างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับน้ำ พลังงาน และอาหาร โดยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2583 ได้แก่ ปริมาณสัตว์น้ำเพื่อการประมงในแม่น้ำโขงลดลง 30-40% หรือคิดเป็นการสูญเสียปริมาณสัตว์น้ำประมาณหนึ่งล้านตันต่อปี และการลดลงของการสะสมตะกอนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอย่างมากถึง 97%