นัดแรก เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านป่าแหว่งไม่รื่น

นัดแรก เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านป่าแหว่งไม่รื่น

นัดแรก เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านป่าแหว่งไม่รื่น สำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตั้งแง่เลือกอนุญาตให้คณะอนุฯกรรมการฯเข้าตรวจสอบพื้นที่เฉพาะบางคนเท่านั้น เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพกังขา เอาเกณฑ์อะไรคัดประชาชน ระบุธุรการศาลฯ ยังไม่เข้าใจหลักการทำหน้าที่ ขณะที่การก่อสร้างเสร็จไม่ทันส่งมอบ 18 มิ.ย.นี้

วันนี้ (12 มิถุนายน 2561) คือกำหนดนัดหมายแรกที่ คณะอนุกรรมการศึกษาการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้พื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ จำนวน 30 คน รอคอยที่จะเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ โดยกำหนดการนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน และธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นฝ่ายประสานงานได้ทำหนังสือขออนุญาต พร้อมแนบรายชื่อตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ ไปยังสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้า นายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ได้รับการประสานว่า สำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้คณะอนุกรรมการฯ เข้าพื้นที่ได้เท่าที่จำเป็น คือข้าราชการและนักวิชาการ ส่งผลให้คณะอนุกรรมการฯ ตัวแทนเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพทั้งฝ่ายนักวิชาการและประชาชนที่มารออยู่บริเวณหน้าสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตั้งคำถามถึงเกณฑ์การแบ่งแยกประชาชน และตัดสินใจไม่เข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในวันนี้ จนกว่าจะได้ทำความเข้าใจถึงหลักการ และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ให้ชัดเจนก่อน

นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายทวงคืนผืนป่า หนึ่งในตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า รายชื่อตัวแทนจากภาครัฐ วิชาการ และประชาชนที่แนบไปในการขออนุญาตเข้าพื้นที่ ล้วนเป็นคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ ที่ได้รับการเเเต่งตั้งโดยชอบตามกฎหมาย จากคณะทำงานชุดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรี แต่พอถึงขั้นตอนการปฏิบัติงาน กลับอนุญาตให้เข้าเพียงเเค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกคน

“นี่คือหลักการที่จะต้องเข้าใจก่อนว่า นี่คือหน้าที่ของเราที่เราได้รับแต่งตั้งมา ให้มาศึกษาข้อเท็จจริง ก็ต้องให้เราศึกษาข้อเท็จจริงทั้งเอกสารและเข้าดูสภาพจริงในพื้นที่ แต่ท่านบอกว่า ให้คนนี้เข้าได้ คนนี้เข้าไม่ได้ ก็เท่ากับไม่ใช่การศึกษาข้อเท็จจริง หลังจากนี้จะต้องกลับไปหารือกัน และเเจ้งให้กับทางคณะทำงานชุดใหญ่ทราบสถานการณ์ในพื้นที่ และพิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เราผิดหวังในการตัดสินใจของฝ่ายธุรการของศาล ที่ใช้วิธีการแบบนี้ เพราะคณะกรรมการฯ ได้วางแผนการทำงานและระบุระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจนตามกรอบการทำงานที่ได้ประชุมกันมาเเล้ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้อาจจะทำให้การทำงานเลื่อนออกไป”

นายบัณรสกล่าวว่า ในวันนี้ ประชาชนที่มา ไม่ได้มาในฐานะประชาชนผู้เรียกร้อง แต่มาในฐานะคณะทำงานอย่างเป็นทางการของจังหวัด เป็นชุดเล็กที่ลดหลั่นกันมาจาก คณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีแถลงลงนามและประกาศให้มีคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริง ซึ่งมีการประสานล่วงหน้าผ่านเอกสารอย่างเป็นทางการ ถ้ากังวลเรื่องใดฝ่ายธุรการศาลก็สามารถประสานสอบถามมาก่อนได้ หลังจากนี้ต้องประสานงานใหม่ รอให้เข้าใจว่านี่คือหลักการของการทำงานร่วมกัน

 

นายบัณรส กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้รับแจ้งล่าสุดจากนายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายฯที่ประสานกับผู้รับผิดชอบโครงการว่า ตามกำหนดการก่อสร้างและส่งมอบโครงการจะแล้งเสร็จในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นั้น ปรากฏว่า ทางผู้รับผิดชอบโครงการยืนยันว่าไม่เสร็จอย่างแน่นอน และได้สอบถามถึงการมีผู้อยู่อาศัยในโครงการแล้วว่า มีแผนงานหรือคำสั่งที่จะย้ายออกหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไม่มีแผนงานอะไร ทำให้เครือข่ายฯรู้สึกว่า ผู้รับผิดชอบโครงการเพิกเฉยต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนที่มีภาพปรากฏเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ปรากฏแสงไฟส่องสว่างทั้งโครงการนั้น คาดว่าอาจจะเป็นการทดสอบระบบส่องสว่างของโครงการที่จะต้องเร่งทำงานให้เสร็จก็เป็นได้

ด้าน รศ.สุจิตร พิตรากูล นักวิชาการด้านธรณีวิทยา หนึ่งในตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ได้เตรียมอุปกรณ์จะเข้าร่วมสำรวจพื้นที่ในวันนี้ เช่น ฆ้อน เข็มทิศ เพื่อสำรวจเจาะลึกดูโครงสร้าง ดูการยืดตัวของดินและหิน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดชันเกิด 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างหรือกิจกรรมใดในเขตป่า เพราะเสี่ยงต่อการพังทลาย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

“ผมตั้งใจจะตรวจวัดความลาดเอียงของพื้นที่ในระดับองศา ถ้ามีรอยร้าว รอยแตกต่างๆ ที่มีผลต่อการพังทลายของพื้นที่ จะสามารถวัดทิศทางได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่นัดหมายปลูกต้นไม้ ผมได้เข้ามาครั้งหนึ่งและดูสภาพเบื้องต้นไว้แล้ว”

นางคำศรีดา แป้นไทย ตัวแทนเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า ฝากถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้เราเข้าหรือไม่ว่า เราไม่ได้ตั้งใจทำลายภาพจน์ท่าน พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาให้สำเร็จอย่างสง่างาม รักษาสถาบันหลักที่สำคัญขอาติไว้ด้วย สิ่งที่ทำคือต้องการทำให้ท่านตระหนัก เป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาธรรมภิบาล เป็นแบบอย่างแก่องค์กรรัฐและเอกชน โดยใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ที่สุด ประชาชนทำงานภารกิจนี้หนักมาก ทำทุกวัน ไม่มีเวลาว่างเลย ขอให้เห็นใจ…

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ตัวแทนคณะทำงานฯ บางส่วน ซึ่งเป็นข้าราชการและนักวิชาการ ได้เข้าสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น ถ่ายรูป และกลับออกมาร่วมหารือกับคณะอนุกรรมการภาคประชาชน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นกำหนดนัดหมายการเข้าทำรังวัดที่ดินที่ทำการศาลอุทธรณ์อุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทำการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนตามมติที่ประชุมร่วมกันระหว่างนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนั้น ตัวแทนจากภาคประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชี้แนวเขตหรือสังเกตุการณ์แต่อย่างใดเช่นกัน

เอกสารประกอบการขออนุญาตเข้าพื้นที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ