10.00 น. 22 พ.ย.61 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รวมตัวบริเวณหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ด้านข้างเจดีย์กิ่ว ริมเเม่น้ำปิง เพื่อปล่อย ว่าวฮม ว่าวลม เพื่อปล่อยตามประเพณียี่เป็งดั้งเดิม คือปล่อยทุกข์ลอยโศก และเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของการให้รื้อบ้านป่าเเหว่ง
ว่าวฮม หรือปัจจุบันมักเรียกว่า โคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ บ้างก็เรียกว่า ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน การทำว่าวชนิดนี้ มีความพิถีพิถันในการทำเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นว่าวอาจจะไม่ลอยขึ้นสู่อากาศได้
การปล่อยว่าวฮม ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน ควันไฟที่อัดเข้าไป ทำให้ภายในตัวว่าวมีความร้อนที่จะให้พยุงตัวว่าวให้ลอยขึ้น เนื่องจากอากาศภายนอกในช่วงเดือนยี่ “ยี่เป็ง”(พฤศจิกายน) จะเย็นลงบ้างแล้ว ดังนั้น การปล่อยโคมนิยมปล่อยกันในช่วงก่อนเที่ยง เพราะอากาศกำลังดีสำหรับการปล่อยว่าว ซึ่งต้องทำในที่โล่งกลางแจ้ง
ชาวล้านนาเชื่อ เรื่องการสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮม พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ พระเกศแก้วจุฬามณี
การปล่อยโคมควัน ว่าวฮม ที่ทำเป็นประเพณีนั้นปัจจุบันมีกฎหมายห้ามปล่อยโคม เเต่จังหวัดเชียงใหม่ มีการอนุญาตในช่วงเทศกาลประเพณียี่เป็งนี้โดยให้ปล่อยได้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 10.00น. ถึง 12.00น. ซึ่งผู้ที่ปล่อยจะต้องขออนุญาตปล่อยล่วงหน้าก่อน 15 วัน ซึ่งในปีนี้ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่มีผู้ขออนุญาตปล่อยจำนวน 19 ลูก ประเพณีท้องถิ่นถือว่าเป็นแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมาตัวแทนเครือข่ายของพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ที่ยึดโยงกับกฎหมายส่วนกลาง เช่นเดียวกับโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการหรือหมู่บ้านป่าแหว่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการตัดสินใจที่รวมไว้ที่รัฐส่วนกลางทำให้ขาดการตัดสินใจและการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น