ฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องยุติการดำเนินคดี ‘ไทยพีบีเอส-ผู้สื่อข่าว’ หมิ่นประมาทบริษัทเหมืองทอง

ฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องยุติการดำเนินคดี ‘ไทยพีบีเอส-ผู้สื่อข่าว’ หมิ่นประมาทบริษัทเหมืองทอง

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าว กรณีการรายงานข่าวของเยาวชนนักข่าวพลเมืองพาดพิงบริษัทเหมืองทอง ชี้เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

21 พ.ค. 2561 องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าว ใน คดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ฟ้องร้องต่อไทยพีบีเอสและบุคคลากรรวม 5 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

โดย 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา นัดพร้อมเพื่อสืบคำให้การจำเลย และกำหนดนัดเพื่อไกล่เกลี่ยในวันที่ 13 ก.ค. 2561

รายละเอียดแถลงการณ์ :

ประเทศไทย: ยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าว

การพิจารณาคดีหมิ่นประมาททางอาญาจะเริ่มขึ้นในวันนี้

(กรุงเทพฯ 21 พฤษภาคม 2561) ทางการไทยและบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเหมืองทองคำ ควรถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาโดยทันที ต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) และผู้สื่อข่าวชาวไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ ศาลอาญามีกำหนดเริ่มการพิจารณาคดีอีกครั้งต่อสำนักข่าวและผู้สื่อข่าว หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้กลับคำตัดสินเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 โดยก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณายกคำร้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

“เสรีภาพของสื่อในประเทศไทยกำลังถูกคุกคาม ผู้สื่อข่าวยังคงถูกโจมตีเพียงเพราะการทำหน้าที่ของตน” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “คดีนี้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและส่งผลเชิงคุกคามการรายงานข่าวของสื่อ ในประเด็นที่เป็นข้อกังวลของสาธารณะในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ศาลพิจารณาถูกต้องแล้วที่ไม่รับฟ้องคดีนี้”

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งมีกิจการเหมืองแร่ในจังหวัดเลยที่ยังมีข้อกังขา ได้ฟ้องคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวสี่คนในขณะนั้น รวมทั้งนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม นายสมชัย สุวรรณบรรณ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และนายโยธิน สิทธิบดีกุล โดยกล่าวหาว่า เป็นการละเมิดมาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 และ 16 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่น ๆ

การฟ้องคดีนี้เป็นผลมาจากคลิปข่าวของนักข่าวพลเมือง ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างการเข้าค่ายเยาวชน ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในคลิปดังกล่าว เด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปีจากหมู่บ้านใกล้กับเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาว่าหมู่บ้านในบริเวณนั้น “ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ” บริษัท ทุ่งคำ จำกัดได้ฟ้องคดีต่อเด็กนักเรียนหญิง รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานีเนื่องจากรายงานข่าวชิ้นนี้

ในการฟ้องคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานี ทางบริษัทได้เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท เนื่องจากการเสียชื่อเสียงของตน และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นเวลาห้าปี

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ยกคำร้องของโจทก์ต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานี โดยเห็นว่าคดีไม่มีมูล เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานีปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ และใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งผลการสำรวจของหน่วยงานของรัฐและของชาวบ้านในท้องถิ่น

ในวันที่ 20 มีนาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นชอบกับคำพิพากษาก่อนหน้านี้ และระบุว่ามีพยานหลักฐานมากเพียงพอในการดำเนินคดีตามมาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นการดำเนินคดีตามมาตรา 14 และ 16 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

หากถูกตัดสินว่ามีความผิด จำเลยยังอาจได้รับโทษจำคุกสองปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

บริษัท ทุ่งคำ จำกัดได้ฟ้องคดีอาญาและแพ่งอย่างน้อย 19 คดีต่อชาวบ้านจังหวัดเลย 33 คน รวมทั้งสมาชิกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด องค์กรสิ่งแวดล้อมระดับชุมชนที่ประท้วงต่อต้านเหมืองทองคำในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายรวมกันทั้งหมด 320 ล้านบาท

เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 34 และ 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และข้อ 19 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอาจกระทำได้ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ต้องได้สัดส่วน และจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ชอบธรรม การกำหนดโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาทถือเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายนี้ ทางการไทยควรลดการเอาผิดทางอาญา ถอนฟ้องคดีอาญาต่อผู้ซึ่งใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของตนอย่างชอบธรรม และดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรธุรกิจใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างมิชอบและปฏิบัติมิชอบต่อชุมชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

“ระบบยุติธรรมของไทยควรส่งสัญญาณที่หนักแน่นอีกครั้งให้กับภาคธุรกิจว่า การพยายามข่มขู่และคุกคามผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์” เอมี สมิธกล่าว “ทางการควรยุติการดำเนินคดีอาญาใด ๆ โดยพลการและไม่เหมาะสมต่อผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ