“เด็กๆ รู้ไหมคะว่า ป่าเบญจพรรณมีเสน่ห์มาก โดยเฉพาะหน้าแล้ง ใครคิดว่าหน้าแล้ง ใบไม้ร่วงโกร๋น ป่าไม่สวย ไม่จริงนะคะ ป่าเบญจพรรณมีเสน่ห์ที่สุดในหน้าแล้ง เพราะป่าประเภทนี้จะมีดอกกล้วยไม้เยอะมาก ดอกไม้ในป่าจะบานเต็มไปหมด สวยมาก”
น้ำเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำ และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกชื่นชมยินดีในความเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ของคุณ จิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ทำให้ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเธอร้องบอกเรื่องราวพืชพรรณชนิดไหน ทุกคนก็ต้องหยุดฟังและอมยิ้มตาม
“อุ้ยจิ” หรือ จิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16
เพราะโลกมีอากาศ มีน้ำ – ผืนดินบนโลกจึงมีสิ่งมีชีวิต
และดินแต่ละลักษณะ ก็กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมและความพร้อมของชีวิตนั้นๆ ว่าจะสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ใดได้
ป่าเต็งรัง คือ ป่าประเภทหนึ่งของการจำแนกลักษณะผืนป่า
ป่าเต็งรังไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แต่เป็นป่าที่มีลักษณะของพืช ดิน ความลาดชัน ที่มีความเป็นเฉพาะสำหรับบ่งบอกชนิดป่า ต้นไม้อย่าง ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ไม้พลวง เป็นไม้ยืนต้นที่บอกถึงวงศ์วานป่าเต็งรัง
ป่าเต็งรังมีไม้ยืนต้นที่มีส้มสูกลูกไม้มาก นั่นแปลว่า ป่าเต็งรังมีต้นไม้ที่มีชนิดดอกมากด้วย
หลายดอกของไม้ยืนต้นในป่าเต็งรัง มักมีกลิ่นหอมด้วยสิ อย่าง ต้นยอ จะมีดอกสีขาว ส่งกลิ่นหอม ต้นคำมอกหลวง ดอกสีเหลือง โชคดีที่การเดินสำรวจป่าเต็งรังเชิงดอยสุเทพครั้งนี้ เราพบต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้ด้วย
การมีผลไม้ ทำให้สัตว์ได้กินเป็นอาหาร สัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์กินพืชจึงรักชอบป่าเต็งรัง มิเพียงแต่ไม้ยืนต้น แต่ความเป็นป่าที่มีหน้าดินตื้น หินแยะ พืชคลุมดินจึงก่อเกิดขึ้นมาเพื่อดูแลหน้าดินในชั้นแรกก่อน หญ้าชนิดต่างๆ ไม้เลื้อย พืชตระกูลว่าน จึงกลายเป็นอาหารของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย
การอธิบายความสัมพันธ์ของระบบนิเวศนั้น อย่าว่าแต่วันเดียวไม่มีวันจบเลย จะให้อธิบายเป็นปี หรือหลายๆ ปีก็ยากจะอธิบายได้หมดถึงรายละเอียดของห่วงโซ่อาหาร หรือวงจรชีวิต
แต่ คุณจิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ (ชำนาญการ) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติ และ คุณจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยากรหลักในการนำเด็กๆ ชมป่าเต็งรังบริเวณเชิงดอยสุเทพก็พยายามเต็มที่ที่จะให้ทุกคนได้มองเห็นว่าทุกชีวิตในป่านั้นล้วนมีความหมาย
20 พฤษภาคม 2561 ต้นฝนของฤดูกาลใหม่ กลุ่มเชียงใหม่เขียวสวยหอม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้จัดกิจกรรมพานักเรียนและผู้สนใจเดินป่าชมความสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งเส้นทางเดินป่าไม่จำเป็นต้องเป็นป่าดิบ ลึก มีต้นไม้ใหญ่ ร่มครึ้ม รกชัฏ แต่ป่าชนิดหนึ่งที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเป็นป่าเพื่อพัฒนาตนเองไปเป็นป่าดิบในวันข้างหน้า อย่างป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณก็นับว่าเป็นชนิดป่าที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
เส้นทางเดินป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง เชิงดอยสุเทพครั้งนี้มีความผสมผสานระหว่างป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งน้องๆ เยาวชน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นประถม (ป.6) โรงเรียนเชิงดอยสุเทพ ได้รับมอบหมายจากคุณครูและวิทยากรให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้มาให้ได้มากที่สุด เพราะเมล็ดพันธุ์ไม้เหล่านี้เองที่จะช่วยกระจายพืชพันธุ์ให้งอกเงยเติบโต สร้างป่าให้มีไม้ยืนต้นปกคลุมผืนดินมากขึ้น เมื่อมีไม้ยืนต้นมากขึ้น ก็มีใบไม้ร่วงหล่นเป็นปุ๋ยดินมากขึ้น มีซากพืชซากสัตว์ทับถมมากขึ้น ดินก็จะอุดมสมบูรณ์ในที่สุด
ลูกยาง เมล็ดประดู่ ลูกส้าน ลูกมะเม่า และอีกหลายๆ ชนิดที่ทุกคนเก็บไว้ในขวดพลาสติกที่รีไซเคิลเป็นกระป๋องเก็บเมล็ดพันธุ์ครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ว่าเป็นป่าประเภทหนึ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ตามชนิด ตามประเภทของของมัน
“ป่าดอยสุเทพมีถึง 4-5 ประเภทด้วยกันนะคะ มีทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง แล้วก็มียิบย่อยเข้าไปอีก เช่น เต็งรังผสมเบญจพรรณ เต็งรังผสมสน ซึ่งแต่ละประเภทแต่ละชนิดก็จะมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของเขาเอง”
ต้นไม้ต้นใหญ่ที่เด็กๆ พบเจอมีหลายชนิดมาก เช่น ต้นตาเป็ดตาไก่ พลองเหมือด ส้าน มิกกี้เมาส์ พลับพลา ต้นตีนนก และต้นไม้ที่จำได้ดี อย่าง ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้เหียง ไม้รัง ไม้พลวง (คนท้องถิ่นเรียก ตองตึง) มินับถึงกาฝาก อย่างกล้วยไม้ หรือพวกเฟิร์นต่างๆ หรือพืชคลุมดิน อย่างกลุ่มไม้เลื้อย ว่าน ถ้าแยกย่อยลงมาถึงพืชเล็กๆ ทั้งหมดนี้ ศึกษากันแค่รัศมีร้อยเมตรก็นับได้ไม่หวาดไม่ไหว
คุณจิราภรณ์ มีวาสนา บอกกับทุกคนว่า เวลามีพื้นที่ป่าตรงไหนที่ถูกตัดฟันหรือถูกทำลายลงไปและเราอยากฟื้นฟู อยากปลูกป่า เราควรจะคิดถึงกลุ่มไม้เลื้อยด้วย หรือกลุ่มไม้โตเร็ว(ประจำถิ่น) เพราะพืชเหล่านี้ช่วยดูแลรักษาหน้าดิน
ในป่าที่นี่ปรากฏพืชคลุมดินหลายชนิดด้วยกัน เช่น ดอกเข้าพรรษา หงส์เหิน กระเจียว หนอนตายหยาก บุก (คุณจตุภูมิ มีเสนา เล่าว่า สามารถกินได้ กินได้ทั้งหัวและดอก) ดอกกระเจียว ต้นสาบเสือ ฯลฯ
การเดินป่าครั้งนี้ใช้เวลาเดินราว 3 ชั่วโมง ผ่านลำธาร น้ำตกเล็กๆ ที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์และต่อเนื่องเป็นผืนป่าเดียวกันของดอยสุเทพ-ปุย ผ่านเสียงนกร้องชนิดต่างๆ ผ่านตัวหนอนตัวบุ้ง แต่แค่เบี่ยงตัวหลบ ก็ไม่มีอะไร ผ่านต้น คำมอกหลวง ที่ได้ชื่อว่า เป็นพืชสกุลดอยสุเทพ หรือมีการค้นพบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ ผ่านลานหญ้า มีดอกหญ้าเล็กๆ ขึ้น ซึ่งหากแถวนี้มีพวกสัตว์อย่างเก้ง กวาง ก็นับว่าเป็นอาหารที่ดีของพวกมัน
ระยะทางเดินราว 2 กิโลเมตร เดินวนเป็นวงกลมกลับมาที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงอันเป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด ก็พอดีได้เหงื่อและกินข้าวเที่ยงกำลังอร่อย…รอยยิ้มและความสนุกสนานของเด็กครั้งนี้แทรกแฝงไปด้วยความรู้ แต่มากกว่าความรู้ คือความตระหนักและความรักในผืนป่า ป่าที่ว่ากันว่า คือปอดของโลกเรา
— ไม่มีป่า คนก็อยู่ไม่ได้ —
บันทึกโดย… สร้อยเเก้ว คำมาลา