แม่แจ่มโมเดลพลัส … หยุดปลูกข้าวโพดเเล้วจะฟื้นป่าอย่างไร

แม่แจ่มโมเดลพลัส … หยุดปลูกข้าวโพดเเล้วจะฟื้นป่าอย่างไร

ฟังเสียงคนในพื้นที่เเม่ขี้มูก ต.บ้านทับ อ.แม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านหักดิบ
ปลูกข้าวโพด เพื่อปรับทิศและคิดต่อ และค้นหาคำตอบ เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน

อำเภอเเม่เเจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ และใน 1.7 ล้านไร่นั้น 98.5% อยู่ในเขตป่า
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนในอำเภอแม่แจ่มถูกมองเป็นต้นเหตุสำคัญของหมอกควันและการรุกป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว
.
2-3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างเข้มข้น ในการที่จะชักชวนชาวบ้านให้หยุด ปลูกข้าวโพด โดยอาศัยจังหวะที่ราคาลงและชาวบ้านอยากเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากการเป็นหนี้ อย่างเช่นชาวบ้านจากบ้านแม่ขี้มูกนี้ ยอมที่จะร่วมโครงการหักดิบหยุดปลูกข้าวโพดทันที

ระยะหยุดปลูกข้าวโพด มีหลายหน่วยงานมาชักชวนชาวบ้านให้ทำหลายอย่าง ทั้ง ปลูกป่าประโยชน์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ ให้องค์ความรู้ มีแนวทางพักชำระหนี้ เป็นต้นข้อเสนอเหล่านี้ เกิดขึ้นเพื่อที่จะพลิกฟื้นทั้งชีวิตป่าและชีวิตคน แต่ด้วยตัวบทกฎหมายที่ทับและซ้อน การขยับยังจะดูล่าช้า โดยเฉพาะการถอดสลักบางอย่างที่เขามองว่าเป็นทางออก คือ เงื่อนไขทางข้อกฎหมาย มาตรา19 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
.
มาตรา 19 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507เขียนไว้ว่า [เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าสงวนแห่งชาติ อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้]

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ชาวบ้านเสนอการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบ ”แปลงรวม” อย่างกรณีของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง โครงการปิดทองหลังพระ ที่มีการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนได้ ซึ่งการอนุญาตแบบนี้จะทำให้ชาวบ้านสามารถทำตามเจตนาของการฟื้นป่าได้ โดยไม่ขัดกับกฎหมายตามที่ระบุใน พ.ร.บ. ทั้งการปลูกพืช ทั้งต้นไม้ ไม้ผล ไม้หวงห้าม รวมถึงการทำปศุสัตว์ วิธีนี้ผลลัพท์ก็จะทำให้พื้นที่บริเวณนั้น มีป่าที่หลากหลายสมบูรณ์ อีกทั้งชาวบ้านยังสามารถใช้ประโยชน์ในการเก็บผลผลิต สร้างรายได้ได้อีกทางด้วย

ระหว่างความชัดเจนของข้อกฎหมาย ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่าน ชาวบ้านได้ทดลองปลูกพืชผสมผสาน อย่างไผ่ กาแฟ และพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ตามศาสตร์พระราชา เช่น พื้นที่ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง พื้นที่ทำแนวซับน้ำ ซึ่งระหว่างการนี้ คำถามใหญ่ที่ชาวบ้านยังกังวล คือ เรื่องการรองรับของตลาด ที่จะรับซื้อผลผลิตที่กำลังจะออกในอนาคต และอีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือ เรื่องแหล่งน้ำ แม้หลายจุดจะเป็นป่าต้นน้ำก็จริง แต่ทำอย่างไรที่จะให้น้ำ สามารถน้ำมากักเก็บไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรที่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาแบบนี้

พ่อหลวงบุญมา แหลมคม ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ขี้มูก ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เล่าว่า พื้นที่บ้านของเขาอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมานานมากแล้ว ซึ่งการอยู่ของชาวบ้าน อยู่มาก่อนที่กฎหมาย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับนี้จะประกาศใช้ด้วยซึ่งพื้นที่ในหมู่บ้านทั้งหมดทำการเกษตร ปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริม แต่ละคนในหมู่บ้านปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ส่วนตัวเองปลูกมาตั้งแต่ปี 2541 แต่ปัจจุบันเลิกปลูกมาเข้าปีที่ 3 แล้ว สาเหตุหลักที่เลิก เนื่องจากเป็นหนี้ ข้าวโพดราคาดีก็จริง แต่ก็ลงทุนสูงเหมือนกัน ยิ่งปลูก ยิ่งเป็นหนี้ ซึ่งในหมู่บ้านที่พ่อหลวงดูแลอยู่ เป็นหนี้ถึงครัวเรือนละ 500,000 บาท

ปีนี้ชาวบ้านทยอยกันหยุดปลูกข้าวโพดตามคำแนะนำ ของหลายหน่วยงานที่เข้ามาแนะนำ ถามว่า แล้วหนี้ที่มีอยู่จำทำอย่างไร และรายได้จะมาจากไหน พ่อหลวงก็ตอบสั้นๆ คือ เมื่อหยุดปลูกข้าวโพดแล้ว เราไม่ต้องไปกู้หนี้มาเพิ่มแล้ว 3 ปีนี้หลายคนพยายามเปลี่ยนอาชีพอื่น เช่น เลี้ยงวัว ผู้หญิงก็ทำทอผ้า ซึ่งก็พอจะมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็ไม่พอใช้หนี้ทั้งหมด บางสวนก็พยายามเปลี่ยนตัวเอง ปลูกพืชทดแทนแบบผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา แต่ด้วยสภาพพื้นที่ ที่เป็นป่าสวงน การหาแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกพืช ก็ติดเงื่อนที่หน่วยงานราชการ เช่นกรมน้ำบาดาลที่จะมาสนับสนุนชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องหนี้สิน มีธนาคารของรัฐได้เข้ามาคุยแนวทางบ้าง ในเรื่องการพักชำระหนี้ โจทย์ใหญ่ของชาวบ้านที่นี้ จึงมี อยู่ 2 น. คือ น.น้ำ และ น.หนี้
คำถามคือ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ “รัฐบาล” ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารประเทศ จะสามารถใช้เงื่อนไหน ที่จะเอื้อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับผืนป่ากลับมาได้

นายสมพล อนุรักษ์วนภูมิ นายก อบต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม บอกว่า เงื่อนไขที่จะเอื้อให้ชาวบ้านฟื้นชีวิตและฟื้นป่า ได้ก็คือ การแก้ระเบียบกฎหมาย หรือ ให้อธิบดีกรมป่าไม้ ใช้อำนาจตาม มาตรา 19 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ อนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่บางส่วนในป่าสงวน ในการปลูกพืช และทำการปลูกป่าประโยชน์แบบวนเกษตร ซึ่งจะทำให้ป่าฟื้นกลับมาเร็ว และชาวบ้านหยุดบุกรุก เพราะเขาจะได้ประโยชน์จากป่าที่เขาปลูกโดยตรง ขณะที่ตัวกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน ที่ประกาศมาเมื่อปี 2507 นั้น ประกาศมาทับสิทธิชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านไปทับสิทธิกฎหมาย ตัวแทนที่จะพอจะยืนยันการอยู่ในพื้นที่มานาน คือบ้านแม่ขี้มูกนี้ มีกำนันคนแรก ที่เขาอยู่ในหมู่บ้าน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2450 จนตอนนี้คนในตำบลบ้านทับ มีถึง 6,000 กว่าคน
ถามว่าทุกวันนี้ทุกคนในพื้นที่ผิดกฎหมายไหม?…. ก็ผิดกฎหมายทั้งหมด ก็อยู่กันไป ซึ่งหน่วยงานในระดับปฏิบัติการก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาดำเนินการอะไรได้ แม้แต่จะส่งเสริมอาชีพใหม่ให้ชาวบ้าน
.
นี่คือส่วนหนึ่งของรากแก้วของต้นปัญหาและแนวทางหนึ่งที่คนพื้นที่คิดเป็นทางออก
.
สามารถติดตามเรื่องราวการพูดคุยฉบับเต็มในรายการ ThailandLive ฟังประเทศไทย ทาง ThaiPBS วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค.61 เวลา 21.10 น.เป็นต้นไป

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ