ฟังเสียงประเทศไทย: เช็ก (บิล) ค่าไฟ ใครพร้อมจ่าย

ฟังเสียงประเทศไทย: เช็ก (บิล) ค่าไฟ ใครพร้อมจ่าย

“ค่าไฟแพง” จากค่า Ft พุ่ง แม้ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ราคากลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน

ด้วยความแรง และความแพงของค่าไฟ รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงชวนทุกตัวแทนประชาชน 30 คน ที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยชุดข้อมูล เพื่อถอดรหัสบิลค่าไฟที่เราต้องจ่ายกันในแต่ละเดือน

“ที่บ้านใช้ไฟเท่าเดิม เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ไม่ค่อยได้เปิดอะไรเท่าไหร่ ประหยัดมากขึ้น แต่บิลค่าไฟมาดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น เพิ่งมารู้ว่าเป็นเพราะค่า Ft ขึ้น”

“ค่าไฟแพงเรารู้สึกว่า มันแพงมาตั้งนานแล้วนะ ไม่ใช่แค่ช่วง 2-3 เดือนนี้ เรารู้สึกว่า ค่าไฟแพงน่าจะเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้หรือเปล่า บางยี่ห้ออะไรอย่างนี้ สมมติแอร์คอนดิชั่น ที่เขียนว่า เบอร์ 5 ประหยัดไฟ เราก็ใช้เบอร์ 5 ประหยัดไฟ แต่พอเราใช้จริง ๆ มันไม่ใช่ ค่าไฟมันขึ้นมาตลอด”

“ผมก็สังเกตว่าที่บ้านผมค่าไฟมันแพง มันมีค่าอะไรบ้าง วันนี้ก็เอาบิลค่าไฟมาดู ไม่ทราบว่าท่านพอสังเกตไม่ครับ ว่ามันมีค่าบริการอยู่ 38.22 บาท ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไรบ้าง วันนี้ก็จะอยากจะมาฟังเสียงประเทศไทยดูนะครับว่า ค่าบริการ 38.22 บาท มันประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง”

นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องค่าไฟแพงจากผู้ร่วมวงเสวนาของเรา และก่อนที่เราจะเริ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยชุดข้อมูล ทางรายการได้เปิดให้ผู้คนบนโลกออนไลน์ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง และนี่คือความคิดเห็นจากคนบนโลกออนไลน์ที่ส่งเข้ามาหาเรา

“ใช้ไฟให้น้อยลง” “เลิกสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม” และ “เลิกนำเข้าก๊าซ ใช้เท่าที่มีในประเทศ” นี่เป็นข้อเสนอบางส่วนที่คนบนโลกออนไลน์มองว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟแพงได้ แล้วคุณละ คิดว่า ปัญหาค่าไฟแพง สามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ส่งข้อเสนอแนะมาที่ด้านล่างนี้ได้เลย

ท่ามกลางความพยายามของผู้บริโภคที่หาวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับตัวเอง รายการฟังเสียงประเทศไทยเรามี 3 ฉากทัศน์ ที่อยากจะชวนทุกคนร่วมกันมองภาพอนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย และหาทางออกในเรื่องของค่า Ft ไปพร้อม ๆ กัน

00000

ฉากทัศน์ที่ 1 รัฐดูแล สร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าของชาติ

รัฐเป็นผู้ลงทุน และเป็นผู้เล่นหลัก แบกรับต้นทุน ทั้งการผลิต โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการส่งเสริมการลงทุนของเอกชน เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับทุกภาคการผลิต ในราคาที่ประชาชนจ่ายได้

รัฐทำหน้าที่วางแผนและตัดสินใจ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงานในประเทศ โดยมีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็กร่วมผลิตไฟฟ้าทางเลือกตามโควตาที่รัฐให้ แต่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน

ขณะที่การพยายามหาแหล่งพลังงานมาใช้ภายใต้โจทย์ความมั่นคงพลังงาน ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนต้องยอมเสียสละทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งต้องได้รับการชดเชยที่เหมาะสมจากรัฐ

มีการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพการผลิต และลดต้นทุนจากเชื้อเพลิงพลังงานที่มีราคาแพง

ค่า Ft แปรผันตามการเมืองของประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

00000

ฉากทัศน์ที่ 2 เอกชนแข่งขัน สร้างทางเลือกการใช้ไฟ

รัฐรับบท Regulator ผู้ควบคุม และเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และร่วมแบกรับภาระความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้า

รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลระบบ ทั้งด้านการผลิต จำหน่าย และกำหนดกลไกราคาค่าไฟ พร้อมทำแผนการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เป็นทิศทางร่วมของประเทศ และการไม่ต้องแบกภาระต้นทุนไฟฟ้า ทำให้รัฐสามารถขยายการบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในระดับท้องถิ่น ลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย และพัฒนาพลังงานทางเลือกได้

มีการปรับปรุงกฎหมาย ส่งเสริมให้เอกชนแข่งขัน กระตุ้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษาวิจัย พัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า แต่เอกชนรายใหญ่ สายป่านยาวอาจยังเป็นผู้ครองสัดส่วนตลาด

ค่า Ft แปรผันตามต้นทุนการผลิตบวกกับกำไรที่เอกชนลงทุน ในช่วงแรกรัฐอาจเป็นผู้อุดหนุน แต่ระยะกลาง ระยะยาวต้องปล่อยให้สะท้อนต้นทุนการผลิต

00000

ฉากทัศน์ที่ 3 กระจายการจัดการ ผลิตไฟใช้เองในระดับชุมชน

กระจายอำนาจให้เอกชนและประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้ผลิต เปลี่ยนการบริหารจัดการโครงข่ายและการกำกับกิจการไฟฟ้า จากผู้เล่นรายเดียวเป็นผู้เล่นหลายราย หลายระดับ ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาพรวมของประเทศ

หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดูแลกำกับกติกา และส่งเสริมองค์ความรู้ แต่ประชาชนต้องลงทุนสูงในครั้งแรก ขณะที่เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ หรือต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่การผลิตไฟฟ้า

ปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อดูแลไม่ให้การประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่

มีเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่สามารถบริหารจัดการ ทั้งการผลิต จัดเก็บ และนำส่งพลังงานไฟฟ้าตามความต้องการใช้และช่วงเวลา

ค่า Ft ถูกบริหารจัดการใหม่ ให้สะท้อนต้นทุนการบริหารจัดการไฟฟ้าในระบบ

จุดเริ่มต้นของการมีไฟฟ้าในประเทศไทย

ก่อนที่เราจะพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ลึกยิ่งขึ้น ชวนทุกท่านย้อนกลับไปดูสถานการณ์ของค่าไฟที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกันสักนิดนึง

ประเทศไทยเรามีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปี พ.ศ. 2427 โดยผู้ที่ให้กำเนิดไฟฟ้า คือ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี หรือเจิม แสงชูโต โดยได้ติดตั้งโคมไฟดวงแรก ที่กรมทหารหน้า หรือกระทรวงกลาโหมในปัจจุบันนั่นเอง

ต่อมากิจการไฟฟ้าได้เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อบริษัทจากประเทศเดนมาร์กได้สัมปทานผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินรถราง และขยายการผลิตไฟฟ้าเพื่อแสงสว่าง โดยติดตั้งระบบผลิตที่มั่นคงถาวรขึ้นที่วัดเลียบ

ความสำคัญของการมี “ไฟฟ้า”

“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” นี่คืดสโลแกนติดหูจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนโฉมจากประเทศเกษตรกรรม ไปเป็นเมืองใหม่ที่เติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบัน “ไฟฟ้า” ถือเปฺ็นสาธารณูปโภคสำคัญในฐานะปัจจัยการผลิตที่สร้างการเติบโตของ GDP รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกว่า 66 ล้านคน

ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าปี 2564 มีปริมาณรวม 190,469 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 45 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.2 จากการขยายตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคที่ใช้ไฟเยอะรองลงมา คือ ภาคครัวเรือน ใช้ร้อยละ 29 และภาคธุรกิจ ใช้ร้อยละ 22 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 4

ความต้องการใช้ไฟฟ้า กับ การผลิตไฟฟ้าที่มีในไทย

ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ปริมาณ 31,023 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 50,883 เมกะวัตต์

โดย กฟผ. มีสัดส่วนกำลังการผลิต ร้อยละ 32 เป็นการนำเขาและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 11 และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และเล็กมาก ร้อยละ 57

ซึ่งในอดีตประเทศไทยมี กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดียว ดูระบบสายส่งไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่วนการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะทำหน้าที่ส่งไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า

แต่ในปี 2537 รัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เพื่อมส่งเสริมการแข่งขัน จึงมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ Independent Power Producer (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ Small Power Producer (SPP)

หลังจากนั้น รัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จึงมีผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ Very Small Power Producer (VSPP) เข้ามาร่วมในการผลิต โดยที่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน มีผลพวงที่ตามคือ ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย

ในส่วนของการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. สะสม ในเดือน กรกฎาคม 2565 สูงที่สุดมาจากก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 54.04 รองลงมา คือ ถ่านหินและลิกไนต์ ร้อยละ 21.82 พลังงานหมุนเวียน อย่างพลังน้ำและอื่น ๆ ร้อยละ 18.84 นอกจากนี้ยังมีน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และอื่น ๆ เช่น การนำเข้าจากต่างประเทศอย่างประเทศลาว และประเทศมาเลเซีย

ซึ่งตัวเลขนี้ต่างจากปี 2564 อย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน พลังงานน้ำ และพลังงานหมุนเวียน แต่การนำเข้าลดลง

ก๊าซธรรมชาติ ตัวแปรหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้าไทย

ก๊าซธรรมชาติ คือ หนึ่งในพลังงานตั้งต้นหลักของประเทศ ไม่เฉพาะการผลิตไฟฟ้า แต่ยังสำคัญกับกิจการปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีบริษัทในกลุ่ม ปตท.เป็นเจ้าใหญ่ในการจัดหา

แม้ไทยจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ 13 แหล่งผลิต โดยแหล่งใหญ่ คือ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกชเหนือและแหล่งบงกชใต้ในอ่าวไทย แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าเพิ่มเติมจากพม่า รวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

ขณะที่แหล่งถ่านหิน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออก ส่วนมากเป็นถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ

ในสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่อ่อนค่าลง เมื่อต้นปี 2565 กฟผ. ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใหม่ โดยเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินออกไป 1 ปี และเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางโรงด้วนน้ำมันเตา-ดีเซล แทนการใช้ก๊าซฯ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

อีกทั้งเตรียมแผนรองรับอื่น ๆ เช่น ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเติมจากสัญญาเดิม และจัดตั้ง War Room เพื่อติดตามข้อมูลราคาเชื้อเพลิง

ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันแบกรับผ่าน บิลค่าไฟ แล้วอะไรคือส่วนประกอบที่ซ่อนอยู่ในราคาที่เราต้องจ่ายในทุก ๆ เดือน

1 บิลค่าไฟ มีค่าอะไรที่เราต้องจ่ายบ้าง

ในบิลค่าไฟ มีค่าใช้จ่าย 4 ส่วน คือ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน คือ การคำนวณต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ดินที่ใช้ก่อนสร้างโรงไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงพลังงาน ค่าสายส่งไฟฟ้าที่ส่งมาในสถานีจ่ายไฟต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะมีการปรับทุก ๆ 3 – 5 ปี
  2. ค่า Ft คือ กลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยในการคำนวฯสูตร Ft ให้เหลือเพียงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ.
  3. ค่าบริการรายเดือน ค่าใช้จ่ายในการบริการจำหน่ายไฟฟ้า เช่น การจดหน่วย การจัดพิมพ์ จัดส่งบิลและการบริการ
  4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราร้อนละ 7

ค่าไฟฟ้าราคาแพงจากการขึ้นค่า Ft

ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงที่เกิดจากการขึ้นค่า Ft กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับจากปี 2565 เป็นต้นมา ค่า Ft มีการปรับขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ได้รับผลกระทบจากปรับขึ้นค่า Ft เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 โดยบ้านที่ใช้ไฟ 100 หน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟ 4.34 บาท/หน่วย

ส่วนบ้านที่ใช้ไฟ 1,000 หน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟ 5.17 บาท/หน่วย ทั้งนี้ กฟผ. ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจรับภาระ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ราว 83,010 ล้านบาท นี่คือภาษีที่ทุกคนต้องเข้ามาแบกรับ

ราคาที่ทุกคนต้องร่วมแบกรับมาจากภาระที่รัฐ สำรองพลังงานไฟฟ้าไว้มากกว่าความต้องการใช้จริง รวมถึงมีความพยายามให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น และยังมีการรับประกันผลตอบแทนให้กับภาคเอกชน ที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ค่าเงินกินเปล่าที่ต้องจ่ายให้ภาคเอกชนที่มาร่วมผลิตไฟฟ้า

ค่าไฟไทยอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ในอาเซียน

ข้อมูลจาก Brand inside asia ระบุว่า ค่าไฟของไทยแพงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน หากมีการปรับราคาขึ้นอีก ค่าไฟต่อหน่วยที่คนไทยจะต้องจ่าย อยู่ที่ 4 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยของค่าไฟในอาเซียน อยู่ที่ 2 บาท

อีกด้านข้อมูลจากเว็บไซต์ Global Petro Price รายงานข้อมูลค่าไฟของ 9 ประเทศในอาเซียน ยกเว้นบรูไน ซึ่งพบว่า ค่าไฟฟ้าของไทย อยู่ลำดับที่ 4 จาก 9 ประเทศ

นี่คือสิ่งที่คนไทยเผชิญ ภายใต้โจทย์ร่วมของประชากรโลก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3 มุมมองเรื่องค่าไฟไทย

หลังจากที่ได้ดูข้อมูลสถานการณ์ของค่าไฟที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไปแล้ว ชวนทุกคนมองประเด็นนี้ไปพร้อมกันต่อกับแขกรับเชิญทั้ง 3 ท่าน

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในสมัยก่อนมี กฟผ. เป็นเจ้าเดียวในการผลิตไฟ สังคมก็กล่าวหาว่า กฟผ. เป็นเสือนอนกิน เพราะยังไงผลิตมาก็มีคนซื้อ ชาวบ้านต้องซื้อไฟแน่ ๆ แต่พอเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟแล้วขายให้ กฟผ. ซึ่งกฟผ. ก็ยังเป็นผู้ซื้อรายเดียว แต่เปิดไปเปิดมาตอนนี้ กฟผ. เหลือแค่ 30%

ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าอยู่ในระบบทั้งหมด ทั้งของกฟผ. และเอกชนประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ เกิดขึ้นเพียงแค่เสี้ยววินาที เมื่อเดือนเมษายน ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นปริมาณที่มันล้นเกินในระบบคำนวณออกมาแล้ว อยู่ที่ 53% – 55% แต่ฐานจริง ๆ มันอยู่ที่ 15% เท่านั้น นี่คือสิ่งที่คนต้องแบกรับภาระ

และที่สำคัญ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา โรงไฟฟ้าของเอกชนที่มีลิสต์รายชื่อออกมา มีทั้งหมด 13 โรงไฟฟ้า และมีอยู่ 7 โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามา 8 เดือนแล้ว แต่ตามที่เราทราบมันยาวนานกว่านี้ 1-2 ปี ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า เพราะเราไม่ได้ใช้ไฟขนาดนั้น แต่ได้เงินที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย ไปกินแบบฟรี ๆ ในฐานของการคำนวณของค่า Ft ในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม ที่ออกมาเป็นค่า Ft กว่า 90 สตางค์ของเราอยู่ตรงนี้

อีกทั้งยังมีการประเมินว่า ค่า Ft ที่เราโดนกันอยู่ปัจจุบัน ที่ทำให้ค่าไฟโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาท ยังไม่พอ ปีถัดไปจะมีการเชือดจริงอีกครั้ง ซึ่ง กฟผ.ก็มีการเปรย ๆ ออกมาให้เราทำใจ ว่าค่าไฟเฉลี่ยของพี่น้องเราจะไม่ได้อยู่ที่ 4.70 บาท แต่จะขยับไปอยู่ที่ประมาณ 6 บาท

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทุกหน่วยไฟฟ้าที่เราจ่ายไป ให้รู้เลยว่า เราจ่ายไปประมาณ 1 สลึงให้กับนายทุนโรงไฟฟ้าที่เขาไม่ได้เดินเครื่อง เพราะว่าเบื้องหลังค่าบิลไฟฟ้ามันมีนายทุนอยู่ข้างหลัง เป็นกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตอนนี้เราจ่ายค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์กับเจ้าสัวที่รวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย มันคือธุรกิจพลังงานไทย

เบื้องลึกอีกอันหนึ่งก็คือ มันมีค่าผ่านท่อก๊าซที่ไม่มีก๊าซผ่าน เพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้วิ่ง แต่เขาต้องไปทำสัญญาซื้อก๊าซกับ ปตท. ล็อกไว้แล้วว่า ปตท. ต้องส่งก๊าซให้ แต่พอโรงไฟฟ้าไม่วิ่ง กลายเป็นประชาชนต้องมาจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้า จ่ายทั้งค่าผ่านท่อก๊าซที่ไปทำสัญญาไว้ อย่าลืมว่า คนที่ได้ตรงนี้ก็คือ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ คลังถือหุ้นอยู่ 51% ก็เลยเป็นคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่เจรจา

แต่ต่อให้โรงไฟฟ้านั้นจะเดินเครื่อง ปตท. ก็ไม่มีก๊าซให้ เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน ดังนั้นก๊าซในอ่าวไทย ที่บอกว่าเราต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่ม เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานก็เป็นกลุ่ม ปตท. ที่เข้าไปรับช่วงต่อและไม่สามารถผลิตก๊าซออกมาได้ทันตามความต้องการ ผลพวงทั้งหมดก็เกิดจากการที่รัฐบาลบอกว่า ทำตามสัญญา ทำตามนโยบายของรัฐที่วางไว้ โดยไม่ได้คิดไปเจรจา

วิธีคิดของผมคือ ลด ละ เลิกการผูกขาด ยิ่งเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่ง ประชาชนเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย อันนี้เป็นประโยชน์ที่สุด ส่วนรัฐมีหน้าที่กำกับสนับสนุน โดยเปิดให้โครงข่ายระบบไฟฟ้า มีการซื้อขาย หรือเช่าได้ ซึ่งต้องอาศัยศักยภาพของรัฐที่มากขึ้นมารองรับตรงนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า การศึกษาของ UN เขาสรุปมาว่า ฉากทัศน์ที่สำคัญของโลก ที่จะทำให้พ้นวิกฤตโลกร้อน มีอยู่ 3 ข้อเสนอ คือ

  1. เป็นการเป็นผู้ใช้ที่ฉลาด หรือ Smart Consumption
  2. เป็นเป็นผู้ผลิตที่ฉลาด หรือ Smart Generation
  3. เป็นการกระจายที่ฉลาด หรือ Smart distribution

เพราะระบบโครงสร้างปัจจุบันของเราที่เป็นอยู่มันไม่ฉลาด สิ้นเปลืองและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้การผลิตไฟฟ้าและการบริโภคไฟฟ้าอยู่ใกล้กัน ไม่ใช่เดินทางคนละประเทศ หรือใช้ระบบส่งที่มันรั่วไหล และการผลิตไฟฟ้าอยู่จะอยู่บนฐานของเชื้อเพลิงที่หาได้ในท้องถิ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อันนี้คือ ฉากทัศน์ที่สรุปมาว่า ถ้าเราจะพ้นจากภาวะโลกร้อนได้ เราต้องไปสู่ตรงนั้น โดยรูปธรรมที่ใหญ่ที่สุด คือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะวนกลับมาที่ผู้ใช้ ต้องเริ่มทวงอำนาจ โดยไม่ขึ้นตรงกับผู้ผลิต เริ่มจากหันมาดูว่า ที่เราใช้ไฟ และต้องจ่ายแพง ๆ เรามีอะไรที่ไม่ฉลาดพอ

ต่อจากนี้ไป สิ่งที่เราต้องคิด ต้องมีการวางแผนว่า 30 ปีจะทำอย่างไร ไม่ใช่เอาภาระมาโยนให้ประชาชน เป็นหนี้ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เทคโนโลยีจะตอบคำถามให้คุณ อย่าไปคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เรื่องไฟฟ้าต้องเป็นเรื่องของวิศวะ ต้องสร้างโรงงานใหญ่ ๆ ไม่จริงแล้ว มันก็เหมือนโทรศัพท์มือถือ จะกลายเป็นสิ่งที่มีประสิ่ทธิภาพในการช่วยคุณ

ผมไม่รู้ว่าในทางการเมือง จะมีส่วนในการช่วยคุณได้อย่างไร เพราะมันมีความซับซ้อน แต่พลังงานของผู้บริโภคสำคัญ ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนด้วยมือของตัวเอง และต้องคิดถึงอนาคตที่ยั่งยืนของลูกหลาน

ดูคลิปเต็มวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย : เช็ก (บิล) ค่าไฟ ใครพร้อมจ่าย https://fb.watch/gy7wZEA4MY/

หลังจากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว “ภาพอนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย” ที่คุณอยากให้เกิดขึ้นเป็นแบบไหน สามารถโหวตได้ที่ด้างล่าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ