โอกาสและแรงผลักดัน จะช่วยให้คนที่เขาไม่กล้า มีจุดยืน : อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์

โอกาสและแรงผลักดัน จะช่วยให้คนที่เขาไม่กล้า มีจุดยืน : อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์

โอกาส แรงผลักดัน และความท้าทายของการพยายามเล่าความเป็นจริงของอีสาน สนทนากับ โอม – อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ คนรุ่นใหม่ทำสื่อในอีสาน

‘โอม – อวิรุทธ์ อรรคบุตร’ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสนทนา “หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน : อุดมการณ์ ความฝัน และการขับเคลื่อนสังคมของคนรุ่นใหม่” ที่คณะวิทยาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา

JAM สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดวงสนทนาวงชวนคนรุ่นใหม่ (น่าจะ) วัยเดียวกัน ทั้ง อาทิตย์ โกวิทวรางกูร สมาชิกเครือข่ายมักกะสัน – โอม อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ – ฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ Newground และน้องแบม – ปณิดา ยศปัญญา ต้นแบบคนรุ่นใหม่ต้านโกงที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

แจ่มจึงถือโอกาสถอดบทสนทนาบางส่วนที่ได้แลกเปลี่ยนในวงมาฝากทุกคนกัน

จากเรื่องราวของ “น้องแบม – เปิดโปงทุจริตเงินคนจน” โอมมองความร้าวรานตรงนี้อย่างไร

โอมเสพสื่อทางโซเชียลเยอะ ก็ค่อนข้างสนใจประเด็นนี้ ถือว่าน้องก็คงจะเจอศึกหนักพอสมควรในอายุที่ยังน้อย ซึ่งเราก็เคยผ่านในจุด ๆ หนึ่งที่พยายามที่จะเอาความบันเทิงในส่วนของอีสานเข้าไปในกรุงเทพ แต่น้องจะผ่านศึกหนักกว่าตรงที่น้องพยายามเสนอความจริงให้คนได้รู้ทั่วขึ้น หมายความว่าน้องจะเจอภัยหลายรูปแบบเข้ามา ชื่นชมน้องในฐานะของนักการบันเทิงก็เอาใจช่วย

นอกเหนือจากเรื่องโกง ในมุมมองของคนทำสื่อเราเห็นความร้าวรานอะไรนอกเหนือจากเรื่องทุจริตเรื่องการโกงในสังคมอย่างนี้

ความร้าวรานเพิ่มเติม เรื่องของการทำสื่อคือ การแทรกแซงของระบบบางอย่าง ที่เข้ามาควบคุมในเรื่องของสิ่งที่เราต้องการจะเล่า ในสื่อบันเทิง จริง ๆ แล้วมีหลายแบบ แล้วก็เรื่องของการยอมรับ จริง ๆ แล้ว ผมจะทำเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ในการทำผลงานแต่ละอย่าง เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังยอมรับและปฏิบัติกันค่อนข้างยาก เรื่องการยอมรับของความผิดบางอย่างที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ จริง ๆ กฎข้อบังคบก็มีนานแล้ว แต่ยังถูกบังคับใช้ไม่ได้

แล้วเรื่องเนื้อหา ที่เป็นส่วนสำคัญของสื่อสารมวลชน กรณีอาจจะคล้ายคลึงของแบม เนื้อหาของข้อเท็จจริงที่น้องเจอ อาจจะถูกบอกว่า ใจเย็น ๆ ไว้ก่อนแล้วก็ชะลอ เรียกง่าย ๆ ว่าถึงขั้นเซ็นเซอร์ แล้วโอมเจอไหม สื่อโดนบ้างไหม

ภาพยนตร์ของผมก็วิ่งตรวจเซ็นเซอร์ตั้งสองสามรอบ เรื่องที่โดนส่วนมากของพวกผมจะเรื่องของการเล่าความจริง ที่อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องบวกซักเท่าไหร่ เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของคนใช้ชีวิตชนบท กินเหล้า เรื่องที่คนอีสานพูดคุยปกติ เขาคุยอะไรกัน ก็จะโดนแทรกซึมในบางอย่างที่เขายังรับไม่ได้ ที่ล่อแหลมเกินไป แต่ของโอมยังโชคดีหน่อย ภาคแรกเราทำไปเรายังไม่ค่อยมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ เขาก็เลยอาจจะมองข้ามในส่วนนี้ ภาคสองก็ค่อนข้างที่จะดุหน่อย


ในบริบทของภาคอีสาน สำหรับ“พื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ของคนรุ่นใหม่”เป็นอย่างไร อยากให้โอมร่วมแชร์

จริง ๆ ในอีสานเราถ้าย้อนกลับไปตอนสมัยเด็ก เราอยู่บ้าน บริเวณหมู่บ้านเราจะรู้จักกันหมด เหมือนเราทำกับข้าว เราก็จะมีการสุ่มกันกิน เป็นลักษณะเชิญชวนกัน แบ่งปันกัน เวลาเรามีพื้นที่เสวนาหรือคุยกัน เราจะใช้เวลาช่วงเย็นในการคุยกัน เป็นลักษณะคนในหมู่บ้านมาคุยกัน เดินเลาะหากัน ออกกำลังกายในหมู่บ้าน จะมีพื้นที่ส่วนของการแลกเปลี่ยนคุยกันเยอะหน่อย แล้วทุกคนก็รู้จักกันในหมู่บ้าน

ในมหาวิทยาลัย คือจริง ๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็มีตัวเลือกว่า จะไปเรียนกรุงเทพฯ หรือเรียนในอีสานดี พวกผมมีกลุ่มที่ทำงานด้านสื่อแล้ว เราก็คุยกันว่า ถ้าสมมติเราเรียนในกรุงเทพเราจะได้อะไร แล้วเรามาเรียนในอีสานเราได้อะไร ผมเลยวิเคราะห์กันกับเพื่อน ก็คือคุยกันว่าถ้าไปกรุงเทพฯ จากที่เราทำงานเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง ในกรุงเทพฯ คนเก่งเยอะ แล้วจะไปแข่งขันกันแบบไหน ผมไปคงจะมีกำลังสู้เขาลำบาก เนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยที่เราจะไปในกรุงเทพฯ ใช้เงินเยอะ เราเลยเลือกมาเรียนสารคาม เพราะเรามองว่าต้นทุนของการทำงานในส่วนอีสานจะใช้น้อยกว่า พูดง่าย ๆ คือ เวลาเราทำงานกับเพื่อน การขยับตัวอยู่ในกรุงเทพฯ คือนิดเดียวก็เป็นเงินแล้ว แต่พอเราทำในอีสาน เรารวมกลุ่มกับเพื่อนนั่งตรงสวนสาธารณะ เราก็สามารถทำงานออกมาเป็นงานได้แล้ว

เรื่องของการรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เราเปิดใจกันมากกว่า เพราะแต่ละคนมีต้นทุนเท่า ๆ กัน เรามาช่วยเสริมกัน เลยเกิด Teamwork ในการทำงาน ผมมองว่าในอีสาน พื้นที่ในการทำงานมีมากกว่า ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะว่าพอเราโตขึ้น เราจะรู้ว่าเราทำงานในกรุงเทพฯ การขยับตัวของการทำงานโปรดักชั่นหรือการทำงานด้านสื่อผลิต นิดเดียวก็เป็นเงินมหาศาลด้วย ซึ่งถ้าอยู่ในอีสาน สมมติจะถ่ายทำในหมู่บ้าน เราใช้เงินน้อยมาก ในอีสานมันมีพื้นที่ที่จะเล่นได้มากกว่า แล้วก็ได้เกิดการคุยได้มากกว่าอยู่ในกรุงเทพ

เห็นบึกบึนอย่างนี้ โอมเคยมีความกลัวอะไรไหม

กลัวครับ อันดับแรกทำหนังเรากลัวเซ็นเซอร์ก่อน เพราะเรื่องที่เล่าใหม่เกี่ยวกับที่ในอีสานที่เล่าตรง ๆ จริง ๆ เพราะว่าเราเคยเห็นหนังอีสานที่เล่าในมุมมองหลอกมาตลอด หนังอีสานที่เล่าเรื่องเวลาอาบน้ำใส่กระโจมอก ซึ่งในปัจจุบันมันไม่ใช่ กลายเป็นการล้าหลัง เราเลยเล่าเรื่องใหม่ ๆ เล่าวิธีการใหม่ ๆ เล่าความเป็นจริง เรื่องของจริง เราก็เลยกลัวเรื่องเนื้อหาในส่วนที่เราเล่า เราพยายามสอดแทรกเรื่องของชนชั้นที่เราเคยทำในภาคแรก ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนคิดบทเขาคิดมาเยอะพอสมควร เกิดการวิเคราะห์ผ่านสังคม ที่ออกมาในหลายรูปแบบมาก ๆ จนบางทีเกินสิ่งที่เราคิด เช่น การแบ่งชนชั้นเรื่องครูกับภารโรงที่รักกัน แบ่งชนชั้นเรื่องของเด็กที่โตอยู่บ้านนอกไปเรียนกรุงเทพฯ แล้วกลับมา อยากมาเปิดเซเว่น ซึ่งพ่อเขาพยายามยัดเยียดว่าเขาต้องทำนาก่อนนะ สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นแรงผลักดันเล็ก ๆ ในชุมชนว่า จริง ๆ แล้ว เราส่งเด็ก ส่งลูกเราไปเรียนกลับมา เราต้องการอะไรจากลูกมา เกิดการขับเคลื่อนในส่วนนี้

ย้อนกลับไปดูว่าการทำนาโยน จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในชุมชนหรือเปล่า ความสบายจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่เอาเทคโนโลยีเข้าไป แต่อยู่ที่วิธีการคิดในการทำมาหากินของแต่ละคนมากกว่า

อยากรู้ข้อเสนอ สิ่งที่เราต้องการ ถ้าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้า ยังมีอะไรที่เราต้องการ แล้วควรจะ Support อะไร ควรต้องมีอะไรในสิ่งที่ ณ วันนี้ยังไม่มี

โอมมองว่า อยากจะได้โอกาส โอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะอยู่สายเรื่องของความบันเทิง ภาพยนตร์ เพราะว่าจริง ๆ การที่โอมเข้าไปแรก ๆ ใช้โอกาสในเรื่องของกระแสสังคมมากกว่า กระแสในออนไลน์ เราถึงได้ฉายในโรงภาพยนตร์ เราถึงมีจุดยืน เพราะว่าเรามีกระแสออนไลน์มา เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ไปวัดว่า โอเค คุณได้ฉายอะไร ตอนนี้ยังขาดโอกาสในส่วนของการฉาย

ถ้าคนภายนอกจะไม่ค่อยทราบเรื่องการเสียค่าโรงฉาย ในโรงฉายภาพยนตร์หนังไทยหลาย ๆ เรื่อง ทุกเรื่องต้องเสียค่าโรงฉาย ต่างจากหนังต่างประเทศ ที่เข้ามาก็มีสัดส่วนการแบ่งรายได้แล้ว อย่าถามว่าทำไมหนังไทยไม่ก้าวไปข้างหน้า

ถ้าพูดรวม ๆ โดยไม่เจาะรายละเอียด หนังต่างประเทศเขาจะได้มาตราฐานสัดส่วนการแบ่งรายได้ก็คือ ครึ่ง ๆ ซึ่งต่างจากไทย เจรจาได้น้อยก็ได้น้อยลง

อาทิตย์ โกวิทวรางกูร : ก็คือหนังต่างประเทศ เช่น ค่าตั๋ว 200 ก็โรงเอาไป 100 หนังเอาไป 100 แต่ถ้าหนังไทยอาจจะได้น้อยกว่านั้น
โอม -อวิรุทธ์ อรรคบุตร : ผมอาจจะได้ 80 เขาได้ 120 ซึ่งเขาไม่ได้จ่ายค่าโรงด้วยซ้ำ
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร : ซึ่งคนไทยยังต้องจ่ายค่าโรงอีก หมายถึงต่อรอบเหรอ
โอม -อวิรุทธ์ อรรคบุตร : ใช่
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร : ถ้าเผื่อไม่มีคนมาดูเลยเก็บค่านี้ แพงไหมค่าต่อรอบ
โอม -อวิรุทธ์ อรรคบุตร : ก็ 200 กว่า ๆ ถึง 300 บาท ซึ่งก็หลายรอบต่อวัน แล้วถ้าฉายหลาย ๆ โรงก็คูณไปได้เยอะ ลักษณะนี้ทำให้เห็นว่ายังขาดโอกาส แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าไปทำในจุดนั้น ผมว่าถ้าเขามีโอกาส อาจจะมีกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นใหม่ แล้วสามารถจะมีพื้นที่ในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งผมว่ายังขาดโอกาสในจุดนี้

ทำกิจกรรมแต่ไม่มีเงินทุน ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ถ้าเผื่อไปเจอคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ แต่ว่าอาจถูกพลังบางอย่างเบียดขับ ทำให้ไม่กล้าลุกมาทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เราจะ upgrade power เขาอย่างไร

ถ้ามาปรับใช้กับทางผมนะครับ ผมเป็นผู้กำกับที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ตัวเองมากคือ ดั้นด้นอย่างเดียวที่จะเอาหนังเรื่องนี้เข้าฉาย แก๊งค์ผมจะมี 4 คน 3 คนจะบอกเสมอว่า ขายไม่ได้เลย เพราะไม่มีดารา ขายไม่ได้จริง ๆ แต่ก็มีอุดมการณ์ยึดมั่นที่อยากจะทำจริง ๆ อยากนำเสนอจริง ๆ ถ้าสมมติเรามีเพื่อนที่เก่ง แต่ไม่กล้า

คำเดียวสำหรับผมคือ โอกาสและแรงผลักดัน จะช่วยให้คนที่เขาไม่กล้า มีจุดยืน แล้วกล้าที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ หรือกล้าที่จะทำงานที่เขาคิดว่ามันดี วัยพวกเราเป็นเพื่อนก็จะคุยกันมากกว่า ช่วยกันคิด ตกผลึกกัน คุยกันให้มาก มองคนละมุม ถึงจะขัดแย้งในการคุยกัน แต่จริง ๆ เราก็เป็นเพื่อนกัน คุยกันเพื่อที่จะให้งานเดินหน้าต่อไป

……………………………………………………………………..

ชมวงสนทนา “หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน : อุดมการณ์ ความฝัน และการขับเคลื่อนสังคมของคนรุ่นใหม่” ย้อนหลังได้ที่

Live [สด] สนทนา หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน

Live [สด] JAM สัญจร จ้าาาาพบกับวงสนทนา หนุ่มสาวผู้ (ไม่ทน) ร้าวราน : อุดมการณ์ ความฝัน และการขับเคลื่อนสังคมของคนรุ่นใหม่ .พร้อมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ประกอบด้วย1. ฟิล์ม – เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แอดมินเพจเกรียนการศึกษา และหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในนามองค์กรนิวกราวด์2. แบม – ปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม3. โอม – อวิรุธ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์4. อาทิตย์ โกวิทวรางกูร หนึ่งในคนเล็กเปลี่ยนเมือง สมาชิกเครือข่ายมักกะสันดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ประกาศข่าว ไทยพีบีเอส.ที่ ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม6 เม.ย. 61 เวลา 13.30 น. .มาร่วมแลกเปลี่ยนอุดมการณ์ ความฝัน และขับเคลื่อนสังคมของคนรุ่นใหม่ไปกับเรา.JAMชวนแจม #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ