อยู่ดีมีแฮง : จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์

อยู่ดีมีแฮง : จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์

“สมัยก่อนที่เรามีกองทัพไปตีเมือง อันนั้นเรียกว่า Hard Power ใช่ไหมครับ … Soft Power ก็คือการเข้าไปนั่งในใจคน…”

สุชาติ อินทร์พรหม หรือ เฮียหน่อย นักธุรกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร คณะหมอลำอีสานนครศิลป์ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ อ.เมืองขอนแก่น คณะหมอลำน้องใหม่ที่น่าจับตามองและได้รับความสนใจจากศิลปินหมอลำรุ่นใหม่อย่างมาก ร่วมแลกเปลี่ยนถึงความหมาย Soft Power และแนวทางความร่วมมือในการยกระดับการส่งเสริมพลังสร้างสรรค์จากท้องถิ่น ผ่านเสวนา “จากจักรวาลไทบ้าน สู่พลังอีสานสร้างสรรค์”คน หนัง หมอลำ เพลง ณ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

วงโสเหล่เสวนา ครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่  “ต้องเต” ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับและนักแสดงภาพยนตร์สัปเหร่อ , “อวิรุทธ์ อรรคบุตร” ทีมอำนวยการสร้างภาพยนตร์สัปเหร่อ และจักรวาลไทบ้าน , “อัจฉริยะ ศรีทา” นักแสดงเรื่องสัปเหร่อ และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ , “ขจรเดช พรมรักษา” มือกลองวงบิ๊กแอส โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง , “สมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา” โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือ จิราพร คำภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส และ อังคณา พรมรักษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดย กองบรรณาธิการ Locals Thai PBS สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม  สถาบันการศึกษา และเครือข่ายสื่อพลเมืองในพื้นที่ภูมิภาค ผ่านพื้นที่การสื่อสารของ Thai PBS  ในหลายลักษณะ รวมถึงการทำงานภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือและยกระดับเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถสื่อสาธารณะท้องถิ่น และ Creative Hub & Data  Center ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคอีสาน ซึ่งเบื้องต้นประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (Kalasin PBS) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น TCDC สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมเสนอข้อมูลแก่สังคมผ่านช่องทางสื่อสาธารณะท้องถิ่นและดิจิทัลแพลตฟอร์ม Thai PBS  ในประเด็นที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับคนอีสาน

จากไทบ้านถึงอีสานสร้างสรรค์

กิจกรรมครั้งนี้ ยังร่วมแลกเปลี่ยนถึงปรากฏการณ์ความนิยมภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอีสาน ผลงานสร้างสรรค์การผลิตของทีมอำนวยการสร้าง บริษัท ไทบ้าน สตูดิโอ จำกัด และ บริษัท เซิ้ง มิวสิค จำกัด ซึ่งทีมงานนักแสดง บุคลากรทีมงาน และนักสร้างสรรค์สื่อ ( Content Creator) ในระดับท้องถิ่น อันเป็นภาพสะท้อนการผลิตผลงานสร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศไทย

หลากทัศนะและความหมาย Soft Power

“ มาถึงปรากฎการณ์ของหนังสัปเหร่อ เราได้ยินคำ ๆ นี้ คำว่า “Soft Power” มันคืออะไร แล้วเราจะไปกันอย่างไร เขาบอกว่า “สัปเหร่อ” “อีสาน” เป็น “Soft Power” อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เชื่อว่าไม่สามารถที่จะเดินคนเดียวได้ แต่ต้องมีแรงขับ ผลักดันไปด้วยกัน

ขอถามพี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา) เลยแล้วกัน ในฐานที่มีประสบการณ์ การทำงานในวงการมานาน ถ้าเราทำงานโดดเดี่ยวไปคนเดียว เราไม่รอดหรอก ต้องมีพันธมิตร ต้องมีคนช่วยกันในการขับเคลื่อนในการผลักดันมองตรงนี้อย่างไรบ้าง” จิราพร คำภาพันธ์ ผู้ดำเนินรายการ โยนคำถามชวนแลกเปลี่ยน

“คำถามยากมาก อย่างแรกเลยผมไม่รู้ว่าใครจะช่วยเราบ้าง แต่ผมว่าเราต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุดก่อน … ผมว่าเรื่องพวกนี้มันทำแบบหน้ามือหลังมือไม่ได้ คิดวันนี้ทำพรุ่งนี้ไม่ได้”

ขจรเดช พรมรักษา หรือ กบ บิ๊กแอส ย้ำถึงวิธีการทำงานของนักสร้างสรรค์ในเบื้องต้น ก่อนจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองการทำงานที่ผ่านมา

“แล้วการที่ต้องฝ่าฝันความเชื่อของเราให้ตะโกนไปดัง ๆ มันเหมือนเครื่องบินกำลังจะ Take-Off ด้วยแรงมหาศาล ซึ่งต้องทนกับแรงเสียดทานมากมาย คำดูถูกกว่านี้มันจะคอยฉุดดึงรั้งเรา แล้วไม่รู้ว่าใครจะช่วยเรา

ผมขอยกตัวอย่าง ผมเคยจัดงาน Festival ที่เขาค้อชื่อ Rock Mountain ครั้งแรกที่ผมจัดเป็นธีมปราสาท เหมือนแฮรี่พอตเตอร์ ใหญ่ ๆ และช่วงระหว่างเปลี่ยนวง ผมเอาวงโปงลางที่เป็นของพื้นที่มาเล่น ทุกคนรอบข้างผมทักหมดเลยว่า โปงลางมันเกี่ยวอะไรกับปราสาทแฮรี่พอตเตอร์วะ ผมบอกว่าผมไม่สน ผมสนแค่ว่าจะเอาโปงลาง จะเอาดนตรีพื้นถิ่นเข้ามาเวทีที่ผมจัดงานให้ได้ ผมไม่สนว่ามันจะเข้าหรือเปล่า แต่ผมว่ายิ่งไม่เข้ายิ่งน่าสนใจ

แต่ระหว่างทางน้องบอกผมว่า มีคนดูถูกพี่ไปหมดเลย ปราสาทพี่โคตรฝรั่งเลย แต่เอาโปงลางมาเล่นอ่ะ น้อง ๆ ตอนมาซ้อม จากโรงเรียนหล่มเก่า 30-40 คน จนเขาก็ทำตัวไม่ถูก ทุกที่เขาจะเล่นแต่เวทีแบบเล็ก ๆ พอเขาเจอเขาสั่น แล้วร้องไห้ เขาว่าเขามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง พอตอนโชว์ดนตรีโปงลางขึ้น ผมเหมือนเรื่องสัปเหร่ออ่ะ สะใจ คนเต้นกันทั้งหมด โอเคล่ะ มันอาจจะเป็นซีนเล็ก ๆ ซีนหนึ่งที่ไม่ถึงสิบนาที แต่ความรู้สึกผม กว่าที่เราจะฝ่าฟันมาจนได้ซีนนี้ มันเหนื่อย มันมีเสียงเข้ามา

จนผมไม่รู้ว่าใครจะช่วยเรานะ แต่ผมว่าใครจะมาทำตรงนี้ สิ่งแรกที่ต้องพกไว้ คือ ต้องเชื่อมั่นตนเองมาก ๆ ค่อย ๆ ทำไปแบบนี้ แล้วสักพักรอบข้างจะค่อย ๆ หันมายอมรับเรา จากที่ไม่สนใจก็จะเริ่มสนใจ จากที่ไม่ช่วยก็จะเริ่มมาช่วย ผมว่าเรื่องพวกนี้มันทำแบบหน้ามือหลังมือไม่ได้ คิดวันนี้ทำพรุ่งนี้ไม่ได้  สู้แบบไม่รู้ว่ามันจะเรียกว่าอะไรหรอก แต่สำคัญ คือ ต้องทำ และฝ่าฟันกับเสียงพวกนี้ให้ได้”

จากนั้น ผู้ดำเนินรายการจึงหันมาถามผู้กำกับและนักแสดงภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ “ต้องเต” ธิติ ศรีนวล ถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของหนังสัปเหร่อที่เตรียมไปฉายในต่างประเทศ

“โกอินเตอร์แล้ว ไปประเทศไหนบ้าง กี่ประเทศ จากที่เราเดินทางมา ทีนี้หนังเราบอกว่า เป็น “Soft Power”  ระหว่างทางจากนี้เราจะไปอย่างไร อยากให้เล่าให้ฟังว่าหนังเราจะเดินไปอย่างไร จึงจะรอด”

“โกอินเตอร์ไป 9 ประเทศแล้ว จริง ๆ หนังผมคงจะเดินทางได้สุดแค่ประมาณเท่านี้แหละครับ แต่ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่เรื่องของผม เรื่องต่อ ๆ ไปในวงการอุตสาหกรรม (ภาพยนตร์) เพราะว่าเหมือนเราอาจจะเป็นปรากฎการณ์หรือสร้างให้เป็นกระแสที่ไม่มีคนพูดถึงกลายเป็นกระแสหลัก ทำให้ให้วงการภาพยนตร์รู้สึก ว่า อึ้ย หรือวงการอื่น ๆ อย่างรัฐบาลเข้ามามองเห็น ว่าถ้ามันมีเรื่องอื่นที่มันดีและพาเขาไป คือให้มาซัพพอร์ตจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริง ๆ ก็ได้ แค่มาถ่ายรูปและบอกว่าหนังสัปเหร่อเป็น Soft Power อย่างตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่า Soft Power มันคืออะไร ตอนผมทำหน่ะครับ หนังผมเป็น Soft Power ใช่เหรอ ผมยังไม่รู้เลยอย่างนี้ ถ้าผมได้รู้หรือทำความเข้าใจว่า Soft Power มันคืออะไรหนังมันไปไกลกว่านี้ หนังมี Soft Power จริง ๆ แน่นอนครับ

ดังนั้นมันก็เลย ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาวงการที่คุณจะเอา Soft Power ให้เผยแพร่ต่อต่างประเทศ หรือจะไปหรือพาเขาไป ให้พาไปจริง ๆ ไม่ใช่แค่ อ่ะ หนังเรื่องนี้โกอินเตอร์ อย่างเช่นไป 9 ประเทศนี้ ก็ไม่ใช่เขาพาไป ก็คือหนังมันไปเอง และเราก็ขายเอง ไม่ใช่รัฐบาลพาไป อันนี้พูดตรง ๆ” (ยกมือไหว้)

ขณะที่ อังคณา พรมรักษา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินรายการ ย้ำถึงโอกาสในการแลกเปลี่ยนในวงเสวนา

“ขอบคุณที่พูด เพราะว่าวันนี้ เราอยากให้เสียงที่เราพูดคุยกันมันสะท้อนไปถึงคนที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ คุณมีอำนาจ หรือคุณดูแลตรงส่วนนี้อยู่ ได้โปรดเถอะ เราอยากให้เสียงมันส่งไป เราอยากให้พลังวันนี้ของพวกเรา ไม่ว่าอยู่ในสตูดิโอ หรือกำลังออนไลน์อยู่ โปรดฟังฉัน โปรดฟังกันนิดหนึ่ง”

ต่อด้วย อวิรุทธ์ อรรคบุตร หรือ “โอม” ผู้บริหาร เซิ้ง โปรดักชั่น ทีมอำนวยการสร้างภาพยนตร์สัปเหร่อ และจักรวาลไทบ้าน 1 ใน 4 ของทีมก่อตั้งจักรวาลไทบ้าน และภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ จึงขยายแผนการทำงานภายใต้แนวคิดเรื่อง  Soft Power โดยคำนึงและเชื่อมโยงไปยังชุมชน รวมถึงเชื่อมการทำงานกับเครือข่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ในพื้นที่ภาคอีสาน

“ในฝั่งของทางทีมบริหาร และในฝั่งของอำนวยการสร้างมานั่งคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรในส่วนของ Soft Power และก็กลับมามองชุมชนแล้วล่ะ ว่าหลังจากนี้เราก็จะมีงานคอนเสิร์ต ไทบ้านแลนด์ ที่จะไปใช้ในพื้นที่ เราก็คิดว่าจะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จังหวัดมีการกระเตื้องเรื่องของเศรษฐกิจมากขึ้น เราก็เลยคิดว่าเราจะมีทัวร์เล็ก ๆ อันนี้มันอาจจะเล็ก ๆ อยู่ เป็นไอเดียนิดนึง คือพาเขาไปทัวร์สถานที่ถ่ายทำหนัง และก็ให้คนในชุมชนได้เตรียมสินค้า หอม กระเทียม อะไรที่มันเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เขาได้ไปชมว่าพื้นที่ถ่ายทำเรามีตรงไหนบ้าง อาจจะจัดพาข้าวน้อย ๆ นั่งกินข้างหลุมศพใบข้าว ที่เราถ่ายทำ เราคิดว่าอย่างน้อย ๆ มันอาจจะขับเคลื่อนในชุมชน ให้คนที่เขาอยากมาตามรอยจริง ๆ ได้เข้ามาเห็นสถานที่ถ่ายทำ เป็นไอเดียเล็ก ๆ ประมาณนี้ครับ

และหลังจากนั้น เราก็จะมีการให้โอกาสต่อยอดให้กับผู้ที่อยากจะทำหนัง ส่งเสริม อาจจะมีโครงการหรือผลักดันบางส่วน ได้คุยกันในสมาคมอีสาน มันมีสตูดิโอหลาย ๆ อันที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีผู้กำกับหน้าใหม่ที่อยากทำงาน หรือมีผลงานที่อยากให้เราช่วยให้เราดัน เราก็จะมาแลกเปลี่ยน ประมาณนี้ครับ”

เช่นเดียวกับ อัจฉริยะ ศรีทา หรือ อ.โต้ง ปัจจุบันเป็นประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผลงานที่ผ่านมา อ.โต้ง เป็นหนึ่งในทีมกำกับภาพยนตร์ ขุนแผน 2002 และล่าสุดเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ โดยรับบทเป็น สัปเหร่อศักดิ์ ย้ำถึงการถ่ายทอดเนื้อหาจำเป็นต้องมีความใกล้ชิดกับคนดู

“คนทำหนังในเรื่องต่อ ๆ ไป ก็ควรจะใส่ใจในเรื่องของความใกล้ชิดกับคนดูมากขึ้น เนื้อหาบางอย่างที่มันจับจิตจับใจคนดู อยากที่ปรากฏขึ้นในหนังเรื่องของสัปเหร่อ มันเป็นปรากฏการณ์ที่คนดูหนังที่ไม่เคยเข้าโรง หนัง ก็ได้เข้าไปโรงเป็นครั้งแรก คนที่ดูแล้วก็อยากให้คนในครอบครัว เข้ามาดูอีกครั้ง ก็นั่งรถอัดกันมา 7-8 คน เพื่อมาดูทั้งเด็กตัวเล็กและคุณยาย มันสะท้อนให้เห็นว่า ตัวหนังมันได้ทำงานของมัน ในเรื่องของการถ่ายทอดความสัมพันธ์ในครอบครัว การอยู่ด้วยกัน ความผูกพัน การดำรงอยู่ จากลา สูญเสีย ซึ่งทุกคนมีประสบการณ์ร่วมหมด

วิธีคิดในการทำหนังเรื่องถัดไป น่าจะเป็นเรื่องขอความใกล้ชิด ว่าเขาจะรู้สึกกับเรื่องของอะไรบ้าง น่าจะเป็นการถอดบทเรียนอย่างหนึ่งในการทำหนัง แต่ว่าไม่ใช่จะยึดสัปเหร่อมาเป็นต้นแบบ ไม่ใช่แบบนั้น หลาย ๆ คนอยากทำแบบนั้นซึ่งเป็นวิธีการที่ล้มเหลวมาโดยตลอด หลาย ๆ คนเห็นหนังประสบความสำเร็จ แล้วถอดแบบเขาดีกว่า ทำอะไรบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของตนเอง มันต้องเกิดจากความภาคภูมิใจของตนเอง ต้องศึกษา ค้นคว้า พยายามทำหนังให้สมจริงที่สุด เขาถึงคนมากที่สุด น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังมาไกล”

ต่อด้วยมุมมองจาก สุชาติ อินทร์พรหม หรือ เฮียหน่อย นักธุรกิจหนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร คณะหมอลำอีสานนครศิลป์ ที่แม้ไม่ใช่ชาวอีสาน แต่มีความชื่นชม ชื่นชอบและมองเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจหมอลำ ตลอดจนการต่อยอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านหมอลำให้เป็น “ทูตวัฒนธรรมอีสาน” และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

“ผมว่าวลีนี้พูดกันทั้งประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้มันเห็นชัดดีล่ะ สมัยก่อนที่เรามีกองทัพไปตีเมือง อันนั้นเรียกว่า Hard power ใช่ไหมครับ Soft power ก็คือการเข้าไปนั่งในใจคน พวกเราดูอะไรอยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น Apple มันคือ soft power ใช่ไหมครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ซีรีส์เกาหลี นั่นแหละครับ Soft power เขามานั่งในใจเรา พอเราดูแล้วเราอยากทำอะไร อยากกินกิมจิ อยากพูดเกาหลี ดังนั้น สิ่งที่ผมมองในส่วนของหมอลำ เมื่อกี้อย่างเรื่องหนังชัดเลย ผมคนหนึ่งช้อนขวัญ ผมชอบมาก ประเพณีมันดี มันต้องได้เห็น และผมว่าอันนี้คือ Soft power สำหรับผม คืออีสานตีผมได้ล่ะ มาอยู่ในใจผมละ และเหมือนที่พี่กบบอก ต้องช่วยตัวเองละ

อย่างผมอยากทำหมอลำไอดอล ให้เหมือนทูตวัฒนธรรมอีสาน เอาแค่ตรงนี้ก่อน เวลาเราจะตีกองทัพ เราก็เอาใกล้ ๆ ก่อน ตีให้เจขามาเป็นเราก่อน เพื่อเป็น Soft Power ที่ชัดเจนว่าอีสานทั้งประเทศตะโกนได้แล้ว สุดท้ายแล้วมันก็จะกระจายไปต่างประเทศ ผมชอบภาษาอีสานมาก ทำให้มาอยู่ในใจเราแล้วเราทำได้จริง ๆ”

สมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา

“ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับหนังสัปเหร่อนะ เป็นการสร้างรายได้เป็นหลักการ เหมือนยอดคนดูไทยพีบีเอสไลฟ์นี้สูงเป็นประวัติการณ์ของไทยพีบีเอส ถึงแม้จะออกตัวว่ายังไม่ได้ดูสัปเหร่อ แต่ก็ดูซีรีส์ของจักรวาลไทบ้านแทบจะทุกตอน ตอนล่าสุดก็ดูหมอปลาวาฬ

อยากจะบอกว่าถ้าความสำเร็จของสัปเหร่อคือหนังเรื่องนึงที่ได้ไปโกอินเตอร์แล้วก็จบ แบบนี้อาจจะยังไม่ใช่ Soft Power เพราะ Soft Power มันต้องพาไปทั้งระบบนิเวศ ผู้กำกับ คนเขียนบท วิธีการเล่าเรื่อง มันสามารถถ่ายทอดเรื่องราวพวกนี้ และคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะพาทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปสู่อินเตอร์ได้ ผมอยากจะแยกอย่างนี้ครับ ว่า Soft Power มันมีสองคำ คือคำว่า Soft และคำว่า Power  

Soft ไม่ได้แปลว่าอ่อนโยนอย่างเดียว มันแปลว่าความยืดหยุ่นได้ด้วย ต้องเต กับ โอม ได้เรียนรู้แล้วครับว่าถ้าเล่าเรื่องอย่างเดียวอาจจะไปได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเล่าเรื่องเป็น Universal อย่างที่พี่กบพูดว่า ถ้าไทบ้านอย่างเดียวไม่ได้ดึงดูดไปดู แต่พอเป็นสัปเหร่อในแบบใหม่ ที่มันแตะความรู้สึกของคนต่าง ๆ ได้มากมาย เรื่องความตาย เรื่องความระลึกชาติ เรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ มันเป็น Universal มันเป็นสิ่งที่มันจับต้องได้ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เรื่องพวกนี้มันผ่านกระบวนการเรียนรู้ ผสมผสานระหว่างความรู้กับกระบวนการ

ยกตัวอย่าง ชฎา หรือ เทริด บนศีรษะของ ลิซ่า หรือข้าวเหนียวมะม่วงในมือ มิลลิ ถ้ามีข้าวเหนียวมะม่วงหรือแค่ชฎาอย่างเดียวมันไม่ไปไหน ถ้าไปอยู่บนมือของไอดอล มันเป็นการผสมผสานที่อาจจะเรียกว่า Soft Power ก็ได้ แล้วมันพาไปสู่ว่า เราพอใจกับมัน เราซาบซึ้งกับมัน

คำที่สองคือ Power อาจจะไม่ใช่แค่พลังอำนาจอย่างเดียว มันมีอำนาจต่อรองที่จะทำอะไรบางอย่าง ต้องบอกอย่างนี้คือ เวลาผมดูไทบ้าน มากกว่า 80% ผมไม่รู้ว่าพูดอะไร เพราะผมไม่ใช่คนอีสาน แต่ผมรู้เรื่อง ผมซาบซึ้งได้ ผมรู้ว่า ผกก. กำลังจะสื่ออะไร ผมคิดว่าทั้งหมดเหล่านี้ ผมไม่ต้องเข้าใจภาษาทั้งหมด แต่พอดูแล้วมันเหมือนมีพาวเวอร์บางอย่าง ว่ามันต้องมี เป็นอำนาจต่อรองให้เราต้องดูหนังต่อ

เหมือนอย่างเราดูซีรีส์เกาหลี เราไม่ได้แค่อยากดูพระเอกหล่อ นางเอกสวย แต่เราอยากดูวิถีชีวิตของคนเกาหลี ถ้าใครดูซีรีส์ออฟฟิต เราจะเห็นวัฒนธรรมการเคารพอาวุโส รุ่นน้องต้องโค้งก่อนเริ่มทำงาน หรือไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ของการทำงานเกาหลี คือพอทำงานเสร็จ ก็ไปแฮงเอ้าท์ กินโซจู แต่มันเป็นวัฒนธรรมไงครับ

หรือเราจะเห็นว่าคนเกาหลีแต่งตัวดีมาก ไม่ว่าคุณจะยากจนหรือร่ำรวย คอสตูมของเขา เขาคิดมาแล้วว่าแต่งออกมาดูดี เราจะรู้สึกเลยว่า ไม่ว่าของจะถูกหรือแพง แต่มันดูดีเหมาะกับตัวเขามาก พวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีไม่ได้ในงานเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคำว่า Soft Power ของผม สิ่งที่ผสมความยืดหยุ่น ไปสร้างอำนาจต่อรอง และสามารถสื่อสารเป็นภาษาสากลได้”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมเสวนาในห้องสตูดิโอร่วมแลกเปลี่ยนหลายมุมมอง เช่น ทีมสื่อพลเมืองจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่แลกเปลี่ยน Soft Power  และพลังสร้างสรรค์จากพื้นที่ว่าภูมิใจในการยืนด้วยตัวเอง และหลายเรื่องในวงเสวนาเป็นเรื่องเดียวกัน “การพยายามสร้างตัวตน การพยายามสร้างความเป็นอีสาน การพยายามเล่าความเป็นภาคเหนือ การพยายามเล่าว่า ตัวเองมีความพิเศษ  นั่นคือสิ่งที่รู้สึกได้ จนทำให้เราในสามจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกว่า เราก็กำลังทำสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่อาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลา การเข้าถึงโอกาสยังไม่พบเจอ

ความเชื่อ ความรัก การยืนหยัดด้วย “ราก” และ “ตัวเอง”

อย่างที่อาจารย์จาก ม.ราม บอกว่า คนเริ่มเข้าถึงการศึกษามากขึ้น เรื่องของความเชื่อ พิธีกรรม ที่มันไหลลื่นในแถบเอเชีย มันทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องที่พิเศษ เราควรจะภูมิใจ เลยคิดว่า เพียงความเชื่อ ความรัก ทำให้หนังเรื่องสัปเหร่อ ถูกพูดถึง ภูมิใจที่เรามาร่วมฟังเสวนาครั้งนี้ ได้รู้ว่า การทำด้วยของเราตัวเองมันดีที่สุด การยืนด้วยตัวเองมันมีความน่าภูมิใจที่สุด”

ขณะที่ ดร.พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์หลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) ร่วมแลกเปลี่ยนในช่วงท้ายวงเสวนาถึงความเป็นตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

“ขออนุญาตต่อประเด็นนิดหนึ่งค่ะ ประเด็นที่น้อง (เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้) พูดมาน่าสนใจมาก และประเด็นจากวงเสวนา อยากชวนทุกท่านตั้งข้อสังเกตค่ะว่า พอเราพูดถึง Soft Power หรือวัฒนธรรมอะไรก็ตาม จริง ๆ แล้วตอนนี้เวลาที่รัฐบาล หรือพวกเราเรากำลังคุยกันเนี่ย เราโฟกัสไปแค่ที่ตัวปลายเหตุของมันหรือเปล่า เราดูแต่ว่าหนัง “สัปเหร่อ” เกิดอะไรขึ้น สร้างเงินเท่าไร แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เรากำลังคุยวันนี้ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุด จากทีมคนทำทั้งสามคน จากที่พี่กบพูดมา หรือว่า คุณหน่อยพูดมา จะเห็นว่าสิ่งที่แข็งแรงที่สุดของคนทำคือ “ราก” ใช่ป่าว คุณบอกว่า คุณคือ เราเป็นเด็กสรีสะเกษ เราคุ้นเคยของวัฒนธรรมของอีสาน พี่กบก็มีความฝังใจอะไรบางอย่างกับความเป็นอีสาน เราเห็นว่า “ราก” ของคุณชัดขนาดนี้ มันคือจุดต้นตอ ต้นกำเนิดของ Soft Power ที่แข็งแกร่งที่สุด

อยากชวนทุกท่านตั้งข้อสังเหตว่า เวลาเราพูดเรื่องนี้ เรากำลังติดกับดักอะไรบางอย่าง หรือเปล่ากับจุดจบที่เราอยากให้มันเป็น อยากจะได้มูลค่าเพิ่ม อยากจะให้เราดังไกลเป็นไปทั่วโลก แต่สิ่งที่เราควรจะคำนึงถึงและใส่ใจมากที่สุด มันคือ “รากของเรา” หรือเปล่า เรามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรากของเราชัดขนาดไหน  

ตอนที่ฟังน้องพูด ยังรู้สึกว่าอิจฉาจังเลยอ่ะ ที่เขาดึงรากของเขาที่เขาผูกพันกับรากของเขาจนสื่อสารออกมาได้ ส่วนตัวเป็นคนภาคเหนือ เรายังรู้สึกว่า เราสนใจกับวัฒนธรรมของเขามาก แม้เราไม่รู้จักสิ่งนี้มาก่อนเลย เลยอยากให้ทุกคนมาตั้งข้อสังเกตร่วมกัน ว่า เรามาโฟกัสสิ่งที่มันเป็นเราดีไหม ต่อเนื่องจากของน้อง (เยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้) ว่ามันอาจจะทำให้แล้วสิ่งธรรมดานี้ มันจะกลายเป็นสิ่งพิเศษขึ้นมา สุดท้ายมันก็จะเป็น Soft Power หรือ ไม่ Soft Power ก็ได้ ไม่เป็นไร คำไหนก็ได้ แต่มันคือสิ่งที่เป็นเรานี่แหละ”

“วูบไหว” โจทย์ยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

เช่นเดียวกับ อาจารย์ทิฆัมพร ภูพันนา คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน ที่มีประสบการณ์ผลิตสารคดี และภาพยนตร์ ซึ่งมองว่า นอกจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชน การสนับสนุนจากนโยบายรัฐจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอตุสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ต่อเนื่องได้

“ต้องยอมรับกันก่อนว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์บ้านเรา มันวูบไหวไม่ต่อเนื่อง 10 ปี 20 ปี ก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างสัปเหร่อที่กำลังทำ เมื่อก่อนหน้านั้น เราก็เกิดปรากฏการณ์ผู้บ่าวไทบ้านก่อนหน้านั้น ย้อนกลับไปก็จะเกิดปรากฏการณ์องค์บาก อะไรแบบนี้ วูบไหว แต่ว่าในช่วงความวูบไหว มันกลายเป็นว่า เรา คนในอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ได้รับความจริงใจจากนโยบาย จากภาครัฐ พอเกิดกระแสทีก็หยิบยกวาทกรรม Soft Power , Creative Economy ใช่ไหมฮะ แล้วมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นไฟไหม้ฟาง

ก็เลยอยากจะชวนตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงปรากฏการณ์สัปเหร่อที่กำลังเกิดขึ้นนี้นะครับ ผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวง หรือ แวดวงนโยบายภาครัฐก็ตามแต่ เราจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มันต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามองภาคอีสานเป็นต้นแบบที่มันมี Content มันมีเรื่องราวในเชิงแบบ Creative Economy เยอะแยะมากมายเลย มีการศึกษาในเชิงวิชาการ มีการงานวิจัยอย่างที่เฮียหน่อยได้พูดไป ซึ่งสิ่งพวกนี้มีข้อมูลมากมายในการเอาข้อมูลตรงนี้ ลงมาสู่กระบวนการที่จะพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างให้คนที่ชื่นชมได้จับได้สัมผัสมัน หรือแม้กระทั่งมันจะถูกพัฒนาไปเป็น Soft Power ที่ทำงานครบ จบ ตามความหมายที่หลายคนเข้าใจก็ตามแต่ อันนี้ยังไม่มีกระบวนการตรงนี้เลย

ในภาคอีสานเอง มีผู้ผลิตอิสระเยอะมาก ในแวดวงภาพยนตร์ ผมพูดแบบนี้เพราะว่ามีข้อมูล และมีเครือข่ายได้รู้จกหลายภาคส่วน มีหลายเมือง หลายภาคส่วนที่พยายามทำเมืองให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างการทำเมืองขอนแก่นเอง เขาก็พยายามทำให้เป็นเมืองหนัง แต่ว่า ด้วยความที่มันเป็นการต่อสู้จากภาคเอกชนเอง นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น ความต่าง ๆ ของบ้านเรา มันเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของภาคเอกชน เราต่อสู้กันเลือดสาดเต็มตัว กว่ารีดดอกผลมันจะงอกเงย มันต้องบำรุงรากกันขนาดไหน แล้วพอดอกผลมันงอกเงย มันก็ … มันไม่มีความต่อเนื่อง

แต่จะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเม็ดเงินการลงทุน การเติมนโยบาย กระบวนการจัดการ หรือแม้กระทั่งอะไรต่าง ๆ ก็ตามแต่ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ที่เป็นไฟที่กำลังโหม อาศัยช่วงนี้ทำให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ถ้าเราไม่เปลี่ยน ไม่ทำอะไรในช่วงนี้ อีก 10 ปี เราจะมีปรากฏการณ์หนังแบบนี้ไหม เพราะมุมมอง วิธีคิด วิธีเลือกเสพสื่อก็จะเปลี่ยนไปทุกวัน เหมือนอย่างหมอลำเอง เขาก็มีการปรับตัว ปรับวิธีการนำเสนอ เพื่อให้ทันต่อความยาก ความต้องการของผู้ชม

ไทบ้านเอง ผมก็เชื่อว่าเรื่องต่อไปเขาก็ต้องทำงานหนัก  การทำหนังให้มันตอบโจทย์นอกจากคนในพื้นที่ นอกจากคนในประเทศ คนทั่วโลก มันก็จะทำให้มีเทมเพลตมันอาจจะเป็นให้หลาย ๆ ที่ได้ศึกษา ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากภาครัฐและอะไรต่าง ๆ ครับ”

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ให้ความหมายของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม ซึ่งกองบรรณาธิการเครือข่ายสื่อพลเมืองอีสาน มองว่าการแสดงศิลปะหมอลำอีสาน คือ หนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 15 สาขา คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย และ 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

นอกจากนี้ กองบรรณาธิการ Local Thai PBS ซึ่งมีการพัฒนาการตอบสนองในด้านเนื้อหาท้องถิ่นของสื่อสาธารณะ (Local Content) เพื่อให้ตรงตามความต้องการของประชาชนในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้น อันจะมีส่วนทำให้เกิดการสื่อสาธารณะในทุกระดับที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายสื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งมอบเนื้อหาและบริการที่มีประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ตามเงื่อนไขและคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลายเพิ่มขึ้น

ได้มีการทำงานออกแบบเพื่อยกระดับการพัฒนาและผลิตเนื้อหาจากท้องถิ่นในลักษณะ Interactive longform journal เพื่อสร้างระบบนิเวศการสื่อสารและส่งต่อเนื้อหาให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างการสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นในท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ ภายใต้แนวคิดและการทำงานในพื้นที่ภูมิภาค ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ Digital first ในทุกช่องทางของ ส.ส.ท. โดยยกระดับเนื้อหาการผลิตสื่อจากท้องถิ่นในประเด็นภูมิภาคสู่ระดับชาติ

“จักรวาลหมอลำ” “อีสานม่วนซื่น” คือ หนึ่งในวาระการสื่อสารจากท้องถิ่น ซึ่งได้ต่อยอดข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องหมอลำกับเศรษฐกิจและสังคมของคนอีสาน Morlum (Northeastern – style singers) and socio-economic โดยคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยงานวิจัยระบุว่า การแสดงหมอลำ ศิลปะพื้นบ้านและภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในการแสดงทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง คณะหมอลำได้มีการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา โดยมีข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า ในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 6,615 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ทั้ง ในระบบและนอกระบบ รวมทั้งสิ้น 38,835 คน ในช่วงของสถานการณ์ COVID-19 อุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสาน รวมทั้งสิ้น 1,153 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งสิ้น 6,934 คน

กอปรกับปรากฏการณ์ความนิยม “สัปเหร่อ” ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมไทย นับเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารถึงปัจจัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “คน หนัง เพลง หมอลำ” ในอีสานที่มีความร่วมสมัย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าเนื้อหาเรื่องราว วิถีชีวิต จากชุมชนท้องถิ่น รวมถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นชุมชน การรวบรวมและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงถึงศักยภาพของท้องถิ่นผ่านเนื้อหาจากชุมชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ