ทางออกของปัญหาป่าแหว่ง: ทำตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

ทางออกของปัญหาป่าแหว่ง: ทำตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

ทางออกของปัญหาป่าแหว่ง: ทำตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

สมโชติ อ๋องสกุล

ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

1.ความเดิมตอนที่แล้ว

                1.1 ผืนป่าดอยสุเทพ

ดอยสุเทพเป็นดอยหนึ่งในทิวเขาถนนธงชัยสูง 1,601 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของเชียงใหม่ และเป็นป่าเขตร้อนที่มีพืชไม้และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์

พศ.2495 กรมป่าไม้เริ่มสำรวจเพื่อปักเขตแดนเตรียมจัดพื้นที่ป่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยก่อนหน้านั้น    กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสำคัญบนพื้นที่ดอยสุเทพแล้วตั้งแต่ พศ.2478 (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีค.2478 ) ขณะที่ทหารบกที่ขึ้นมาประจำการในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้กันเขตทหารบริเวณป่าเชิงดอยสุเทพเกือบตลอดแนวจากอำเภอเมืองไปทางด้านอำเภอแม่ริม จำนวน 23,787 ไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ   กรมธนารักษ์ยกให้ทหารบกใช้ในราชการตั้งแต่ พศ.2500

พศ.2507 เป็นต้นมาผืนป่าดอยสุเทพถูกแบ่งโดยกฎหมายเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น

เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ-ปุย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 25 พศ.2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 124 วันที่ 31 ธันวาคม 2507 อีกส่วนเป็นเขตป่าในการดูแลของวัดและทหารบก   โดยเขตทหารมีพื้นที่จำนวน 23,787 ไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ มีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังกำกับตาม พรบ.ที่ราชพัสดุ พศ.2518

                1.2.พื้นที่ป่าในเขตทหาร

                ทหารบกได้ใช้พื้นที่ป่าในเขตทหารจำนวน 23,787 ไร่ ตั้งค่ายทหาร เช่นกองพันสัตว์ต่าง  สนามฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ฯลฯโดยรักษาสภาพป่าผืนเดิมส่วนใหญ่ของเชิงดอยสุเทพ

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พศ.2504-2509)กรมชลประทานขุดคลองชลประทานแม่แตง จากอำเภอแม่แตงผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอเมืองไปอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง  แบ่งพื้นที่ป่าเขตทหารเชิงดอยสุเทพเป็น 2 ฝั่ง ต่อมาริมคลองชลประทานพัฒนาเป็นถนน เกิดบ้านจัดสรรในพื้นที่ที่เอกชนกว้านซื้อจากชาวนา (ดู สมโชติ อ๋องสกุล  เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)

กลางทศวรรษ 2520 กระทรวงมหาดไทยขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของกองทัพสัตว์ต่าง เป็นที่ตั้งศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่ เปิดใช้ตั้งแต่ พศ.2527 เป็นต้นมา การเติบโตของภาคราชการก็ได้เกิดขึ้นในป่าเขตทหาร ตั้งแต่นั้นมา   โดยเฉพาะช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 (พศ. 2535-2539) เชียงใหม่เตรียมรับกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 (18th SEA GAME ’95) สร้างสนามกีฬาเมืองหลัก 700 ปีเชียงใหม่ บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพในเขตทหาร 270 ไร่ ตั้งแต่ พศ.2536  พื้นที่ป่าบริเวณนั้นได้แหว่งขนาดใหญ่รอบแรก ได้กลายเป็นสนามกีฬาและบ้านพักข้าราชการในปัจจุบัน (ดู สมโชติ อ๋องสกุล  เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)

การใช้พื้นที่ป่าเขตทหารครั้งใหญ่รอบสอง เกิดขึ้นในช่วง พศ.2541-2557 เชียงใหม่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย(พศ.2541-2550)พรรคพลังประชาชน(พศ.2550-2553)และพรรคเพื่อไทย(พศ.2554-2557)  รัฐบาลอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุและส่วนหนึ่งเป็นเขตทหารหลายโครงการเช่น โครงการสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ บริเวณหนองฮ่อหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โครงการสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร บริเวณศูนย์ฝึกวิชาทหาร หนองฮ่อ  โครงการสวนสัตว์กลางคืน (Night Safari) ที่ตำบลแม่เหียะ ฯลฯปัจจุบัน (ดู สมโชติ อ๋องสกุล  เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559 และบทความในพลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ช่วง พศ.2544-2549)

2.โครงการก่อสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักผู้พิพากษา

วันที่ 25 กค.2540 อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 5 กระทรวงยุติธรรมขอใช้ที่ดินเขตทหารเชิงดอยสุเทพจำนวน 106 ไร่  เพื่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา    ฝ่ายทหารเงียบ

ต่อมา พศ.2543 ศาลยุติธรรมแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรมตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระในฐานะนิติบุคคลเป็นหน่วยงานธุรการ ได้ทำหน้าที่เร่งรัดจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาคและบ้านพักผู้พิพากษาในแต่ละภาค (ดู บทความของสุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.กระทรวงยุติธรรมใน โพส์ตทูเดย์  23 เมษายน 2561  หน้า B 10)

พศ.2546 ช่วง ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี(พศ.2544-19 กย.2549) พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก (พศ.2546)ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(พศ.2547-2548)  สำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือยืนยันขอใช้ที่ดินในเขตทหารโดยขอเพิ่มเป็น 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา

4 มีนาคม 2547 มทบ.33 มีหนังสือแจ้งไม่ขัดข้อง     สำนักงานศาลยุติธรรมสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม (พศ.2548) มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สมัยนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (พศ.2546-2549) ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุจำนวน 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา

พศ.2549 กรมธนารักษ์และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สมัยนายวิชัย ศรีขวัญ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเชียงใหม่ 2549-2550  อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินราชพัสดุ    ตามมาตรา 5 พรบ.ที่ราชพัสดุ พศ.2518

พศ.2556-2557 รัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี(พศ.2554-7 พค.2557 )อนุมัติงบประมาณกว่า 1,017 ล้านบาทเพื่อโครงการก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพัก

โครงการนี้ประกอบด้วยโครงการแรกสร้างบ้านพักระดับประธานศาล 9 หลังและอาคารชุดข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย โครงการที่สองบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หลัง อาคารชุดข้าราชการตุลาการ 16 หน่วยและอาคารชุดข้าราชการศาลยุติธรรม 36 หน่วยและโครงการที่สามที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 โดยใช้งบประมาณกว่า 1,017 ล้านบาท(โพส์ตทูเดย์ วันที่ 2 เมย.และ   25 เมย. 2561 หน้า V2)

โครงการสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5   เริ่มก่อสร้างเมื่อ 8 กย.2557 โดยบริษัทพี.เอ็น.เอส ไซน์ เป็นผู้รับจ้าง และหจก.เอนจิเนียริ่ง ดีไซน์ คอนซัลแตนท์เป็นผู้คุมงาน แล้วเสร็จเมื่อ พศ.2560  เริ่มโครงการสร้างบ้านพักต่อมา

  1. ไม่ผิดกฎหมายแต่ขึด

โครงการก่อสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ตั้งบนพื้นที่ลาดชันเชิงดอยสุเทพ ดำเนินการทุกขึ้นตอนตามกฎหมายโดยมีงบประมาณรองรับ เริ่มดำเนินการปรับพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ พศ.2557  ประธานชมรมร่มบินเชียงใหม่ได้มีหนังสือคัดค้านถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เงียบ  ขณะที่การก่อสร้างโดยบริษัทพี.เอ็น.เอส ไซน์ ดำเนินไปเรื่อยๆ ตลอดช่วงงานพระราชพิธีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9   จนโครงการสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5   แล้วเสร็จเมื่อ พศ.2560 และเริ่มโครงการสร้างบ้านพักระดับประธานศาล 9 หลังอาคารชุดข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย  บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หลัง อาคารชุดข้าราชการตุลาการ 16 หน่วยและอาคารชุดข้าราชการศาลยุติธรรม 36 หน่วย โดยภายในต้นปี พศ.2561 งานก่อสร้างเดินหน้ากว่า 84 % กำหนดเสร็จภายใน พศ.2561

ต้นปี พศ.2561 ภาพพื้นที่การก่อสร้างบ้านพักหรูในเขตป่าเชิงดอยสุเทพ ได้ปรากฎในสื่อออนไลน์ เกิดวาทะกรรม “ป่าแหว่ง”  หรือหมู่บ้านป่าแหว่ง  สื่อทุกช่องแพร่ภาพ  เป็นข่าวใหญ่กลบข่าวเดิมคือเสือดำและหวยแห่งเมืองกาญจน์     ก่อกระแสการคัดค้านและไม่เห็นชอบอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง  สำนักงานศาลยุติธรรมออกมายืนยันดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย แต่โดยเหตุที่บริเวณที่ตั้งโครงการเป็นเชิงดอยสุเทพที่สูงลาดชัน ถือเป็น ข้อห้ามของล้านนาตามคติความเชื่อเรื่อง “ขึด”

ภาพ “บ้านป่าแหว่ง”ที่ปรากฎในสื่อ คือ “รานพนม”  หนึ่งในขึดหลวง ตามคติความเชื่อของล้านนา  เป็นการ “รื้อดอย”เพื่อปลูกเรือนอยู่  และ “สัพพะทุกกล้ำมารอม” (ห้ามปลูกเรือนที่ปากห้วย หรือปลูกเรือนด้านตะวันตกของเชิงดอย) (ดู สมโชติ อ๋องสกุล “ป่าแหว่ง:ไม่ผิดกฎหมายแต่ขึด” เมษายน 2561)

  1. โครงการอื่นก็ใช้พื้นที่ป่า แต่ไม่ก่อขึด “รานพนม”

ช่วง พศ.2544-2557      สถาบันการศึกษาที่ต้องการขยายพื้นที่ขนาดใหญ่ต่างได้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าตามขั้นตอนของกฎหมายและได้รับอนุมัติแล้วเช่น (1)มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้ใช้เขตป่าที่ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม (2) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ใช้เขตป่าผืนใหญ่ใกล้ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด (3)มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ในเขตป่าอำเภอดอยสะเก็ด (4)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์หริภุญไชย ในเขตป่าแม่ทาจังหวัดลำพูน รวมทั้งที่ตั้งแห่งใหม่ของศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน แต่พื้นที่ป่าที่ได้รับอนุมัติทุกแห่งอยู่ในพื้นที่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูนไม่ได้อยู่บนดอยหรือเชิงดอย  จึงไม่ได้ก่อขึด ข้อรานพนม และมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบ

  1. ความขัดแย้งในสถานการณ์พิเศษ

5.1 ภายใต้การควบคุมสถานการณ์ของ คสช.และกฎหมายควบคุมการชุมนุม  ภาคประชาชนในเชียงใหม่สามารถรวมตัวเป็น เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และดำเนินกิจกรรมก่อกระแสคัดค้านทั้งในพื้นที่เขตเมืองและในสื่อออนไลน์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถกรองของแท้-ของเทียมได้ทันที    โดยมีสื่อใหญ่ทุกช่องขานรับ โดยเฉพาะ TPBS เป็นสื่อหลักที่มีรายละเอียดทุกเรื่องทุกกรณี รวมทั้งเรื่องดีๆในป่าดอยสุเทพเช่นรายการนักสืบธรรมชาติ ที่บ่งบอกคุณค่ามากมายของป่าดอยสุเทพที่ทุกคนควรทราบ

5.2 นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการให้ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขานุการ คสช.เป็นเจ้าภาพรับเรื่อง  เปิดค่ายทหาร มทบ.33 เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุม   มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับภาคประชาชนหลายรอบ เป็นการดำเนินการสนองตอบท่าทีของภาคประชาชนอย่างรวดเร็วกว่าทุกยุคทุกสมัย

โดยนายกรัฐมนตรีวินิจฉัยเบื้องต้นว่าส่วนของอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ใช้ได้ตามโครงการ แต่ส่วนพื้นที่บ้านพักในบริเวณ “ป่าแหว่ง” ที่ทุกฝ่ายเห็นว่ามีปัญหา ต้องหาทางออกร่วมกันต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นป่าบริเวณนั้นทันทีโดยไม่ต้องรอปัญหายุติ และแต่งตั้งคณะกรรมการและส่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชุมร่วมกับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ในวันที่ 6 พค.2561

5.3 สำนักงานศาลยุติธรรมและฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ไม่เคยยอมใคร ในฐานะเจ้าของโครงการไม่ขัดข้อง  พร้อมสนองแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล ลดกระแสการเป็นคู่ขัดแย้งกับภาคประชาชน

6.ทางออกของปัญหา

6.1 ทำตามกฎหมาย คือ (1)ให้บริษัทผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อไม่ต้องเกิดคดีความระหว่างบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างกับสำนักงานศาลยุติธรรม (2)งานก่อสร้างเสร็จตามสัญญา สำนักงานศาลยุติธรรมรับงานตามระเบียบทางราชการ (3) แต่กรณีนี้ เกิดกรณีข้อขัดแย้ง ไม่สามารถใช้พื้นที่ที่รับงานได้   รัฐบาลต้องอนุมัติพื้นที่แห่งใหม่ในเชียงใหม่ที่เหมาะสมสำหรับสร้างที่พักแห่งใหม่   (4) สำนักงานศาลยุติธรรม เจ้าของโครงการตั้งงบประมาณ“ย้าย” บ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการตามโครงการเดิมสู่พื้นที่แห่งใหม่         โดยใช้คำว่า “ย้าย”  แทนคำว่า “รื้อ”  (เทขว้าง ออกเสียง “เตขว้าง”)   เหมือนครั้ง “ย้าย”น้ำพุหน้า ประตูช้างเผือก แทนการทุบทิ้งน้ำพุหน้าประตูช้างเผือก  (5) บริเวณพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักแห่งเดิมที่มีปัญหา สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการส่งคืนธนารักษ์  ตามขั้นตอนของกฎหมาย

6.2 ทำตามข้อเสนอของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ    โดย (1)  “ย้าย” บ้านพักส่วนหนึ่งในโครงการซึ่งประกอบด้วย บ้านพักระดับประธานศาล 9 หลังอาคารชุดข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย  บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หลัง อาคารชุดข้าราชการตุลาการ 16 หน่วยและอาคารชุดข้าราชการศาลยุติธรรม 36 หน่วย เท่าที่สามารถดำเนินการได้  (2)วัสดุใหม่ๆที่ยังใช้ได้ดีเช่นกระเบื้องหลังคา และไม้บางส่วน   บริจาคโรงเรียนรอบนอกของเชียงใหม่ เช่น รร.ตชด.ซึ่งยังต้องการอาคารเพิ่มเติม   (3)วัสดุก่อสร้างบางอย่างที่นำใช้งานได้ เช่นไม้ ปูน กระเบื้องฯลฯ  บริจาคกลุ่มคนจนที่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือจากรัฐแต่ถูกคนใน พม.เบียดบังดังข่าวใหญ่   (4) บางอาคารที่ไม่ต้องการ “ย้าย” นำใช้งานสาธารณะ  เช่น สถานีรถไฟฟ้าที่มีโครงการสร้างผ่าน ฯลฯ

6.3 ทำตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9  ซึ่งเป็น “ศาสตร์ของพระราชา” เช่น

(1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธค.2547 ตอนหนึ่งว่า   “ทิ้งป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่า การปลูกป่านั้นสำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง”

(2) กรณีพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เป็นพื้นที่ต้นน้ำและกลายเป็น “ป่าแหว่ง” ถือเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ทรงมีพระราชดำริตอนหนึ่งว่า “ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสี่ยมโทรม หรือพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้น ควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อนเพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆทวีขึ้น แผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งดงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่าย หากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป  ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก  ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี”  ที่สำคัญคือ พระราชดำรัสเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปหน่วยงานต้นน้ำพัฒนาทุ่งจือ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พศ.2514  “ควรปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้น ก็จะพากันปลูกป่าลงบนแผ่นดินและรักษาป่าไม้ด้วยตนเอง”      (ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา ตีพิมพ์ใน วารสารลูกโลกสีเขียว ปีที่ 12 ฉบับที่ 47  กค.-กย.2560)

ทั้งหมดขอฝากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ    นำเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นลูกช้างที่ มช.ภาคภูมิใจ  และเป็นมือนักกฎหมายคนหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไว้วางใจ เพื่อพิจารณาต่อไป      (4 พค.2561 )

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ