ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น นักข่าวพลเมืองมหาวิทยาลัยนครพนม
นครพนม ( 1 มี.ค.61) ชาวนครพนมพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมผลักดัน “พระธาตุพนม” ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม หลังมีชื่อในบัญชีเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า Tentative List เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก และถูกขึ้นทะเบียนของยูเนสโกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ดร.เกรียงไกร ผาสุตะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนครพนม หนึ่งในคณะกรรมการผู้ดำเนินงาน โดยระบุว่า ในช่วงปี 2559 ทางจังหวัดนครพนม ,วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และภาคประชาชน ได้เสนอแนวทางขอยกพระธาตุพนมสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยทางจังหวัดนครพนมได้มีการแต่งแต่งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอพระพระธาตุพนมเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า Tentative List เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก จึงทำให้บัญชีของพระธาตุพนมถูกขึ้นทะเบียนของยูเนสโกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้นำเสนอตอนนั้นใช้ 3 หลักเกณฑ์ คือ หลักเกณฑ์ที่ 1 เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ , หลักเกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งทางวัฒนธรรม และหลักเกณฑ์ที่ 3 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
จากนั้นทางจังหวัดนครพนมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ว่าด้วยการจัดการมรดกโลกทางศาสนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ขึ้นในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยนครพนม และวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการมรดกโลกที่เกี่ยวกับศาสนาจาก 15 ประเทศ ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงศึกษาสถานที่สำคัญภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญมาประกอบจัดทำเอกสารให้ครบถ้วนและรอบด้าน โดยมีผู้แทนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก),ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก,ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม,กลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์,สำนักสถาปัตยกรรม,กรมศิลปากร,ผู้แทนจังหวัดนครพนม และนักวิชาการมหาวิทยาลัยนครพนม
จากการสอบถามถึงความคืบหน้า ขณะนี้กระบวนการต่างๆยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ (The Nomination File) เพื่อรับประเมินจากคณะกรรมการมรดกโลก(ยูเนสโก) ในการเสนอชื่อเพื่อขอขึ้นบัญชี World Heritage List Nominations Process ตามขั้นตอนที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ถึงจะทราบผล เนื่องจากจะต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ เอกสารวิจัยด้านประวัติศาตร์และโบราณคดี การบริหารจัดการความเสี่ยง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายหลังชื่อบัญชีถูกประกาศเป็นแหล่งมรดกโลก
ถึงแม้จะต้องรอกระบวนการพิจารณาในอีกหลายประเด็นจากคณะกรรมการของยูเนสโก แต่ถ้าหากพระธาตุพนมถูกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัดพระธาตุพนมฯ ทันที ซึ่งประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงจะต้องเตรียมตัวรับมือในการเป็นเจ้าบ้านต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วมุมโลกที่จะเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้ความประทับใจและความทรงจำเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่มา ซึ่งผู้นำจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเร่งกันวางแผนบริหารจัดการระบบในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นโดยเร็ว