ชาวบางกลอยขอ กก.มรดกโลกร่วมแก้ 3 ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน

ชาวบางกลอยขอ กก.มรดกโลกร่วมแก้ 3 ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน

ชาวบางกลอยวอน กก.มรดกโลกช่วยดันแก้ 3 ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน เผย กก.ชุด “ธรรมนัส”ไม่คืบ คนเมืองเพชรระดมทุนช่วยกะเหรี่ยงต้นน้ำ นักวิชาการเชื่อยูเนสโกฟังเหตุผลชุมชนมากกว่ารายงานสวยหรู

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เขียนหนังสือด้วยรายมือส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งได้จัดประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 20 กรกฎาคม โดยมีเนื้อหาระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามผลักดันให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยแล้วเสร็จโดยมีการให้การของนายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าได้แก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยโดยอ้างถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทางพวกเราชุมชนบ้านบางกลอยตามความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ที่ดินทำกิน การกลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ยอมรับวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเราชุมชนบ้านบางกลอย การทำไร่หมุนเวียน

หนังสือระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564  ชาวบ้าน 26 ครอบครัวได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเราชาวบ้านบางกลอยบุกรุกแผ้วถางป่าตามความเป็นจริงแล้วพวกเรากลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน ฉะนั้นพวกเรามีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนที่จะขึ้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 1.ให้พวกเราได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เรียกว่าบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน 2.ขอให้ยกเลิกคดีของพวกเราชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน 3.ให้จัดการพื้นที่ทำกินให้กับพวกเราส่วนหนึ่งที่มีความประสงค์อยากอยู่บางกลอยล่าง

“พวกเราชาวบ้านบางกลอยหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอของพวกเรา ก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ” เนื้อความในหนังสือระบุ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม หรือเมื่อราว 4 เดือนก่อน โดยคณะกรรมการ 28 คน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมา 5 ชุด อย่างไรก็ตามชาวบ้านไม่ได้รับรู้ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาใด ๆ เลยทั้ง ๆ ที่เป็นความหวังสุดท้ายของชาวบ้านบางกลอย จนทำให้หลายคนเกิดท้อใจและชาวบ้านเตรียมหาช่องทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอีกครั้ง

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าที่ผ่านมา กสม.ได้มีข้อเสนอแนะในระดับนโยบายให้หยุดการจับกุมชาวบ้านบางกลอย เพราะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมพร้อมทั้งขอให้ตั้งกลไกในการแก้ปัญหา แต่จากการติดตามข้อเสนอแนะ ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด รวมทั้งมีข่าวว่าชาวบ้านบางกลอยเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนอาหาร จนต้องกลับไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่เดิม  และมีการจับกุมชาวบ้านกลุ่มนี้ ดังนั้น กสม.  จึงได้หยิบยกเรื่องบางกลอยขึ้นมาติดตามอีกครั้ง เพราะปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีเรื่องร้องเรียนจากกะเหรี่ยงบางกลอย ต่อ กสม. ชุดใหม่เพิ่มเข้ามา รวมทั้งเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม นี้  กสม. จึงได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี และ ประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ยืนยันว่า กสม. เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของผืนป่าแก่งกระจาน แต่รัฐบาลควรแก้ปัญหาชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมให้ได้ก่อน

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าในความเป็นจริงยังไม่มีการกระทำใดที่จะช่วยปรับปรุงแก้ไขความสัมพันธ์กับชุมชนให้ดีขึ้น ในทางกลับกันรัฐยังทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเพราะคิดเสมอว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบุกรุกป่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมายังบังคับขับไล่เขาออกจากที่ทำกินในถิ่นฐานเดิม และจับกุมดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงถึง 28 คน ซึ่งรวมทั้งสตรีและผู้สูงอายุที่พิการในข้อหาทำลายป่า ทั้งที่เขาปลูกข้าวกินแบบไร่หมุนเวียนตามประเพณีในที่เดิมที่เขาเคยทำมา ผู้ต้องหาทั้ง  28 คนถูกเงื่อนไขการประกันตัวของศาลไม่ให้เข้าพื้นที่ทำกิน พวกเขาจึงตกอยู่ในสภาพอดอยากยากแค้น ต้องขอรับบริจาคอาหารและของใช้จำเป็นจากบุคคลข้างนอก ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งและละเมิดสิทธิมนุษยชนในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรเพื่อการยังชีพอีกด้วย

“ผมเชื่อว่ายูเนสโกจะฟังเหตุผลของชุมชนผู้รักษาป่าและพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์กับชุมชนในการจัดการผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกด้วยข้อมูลตามความเป็นจริงจากผู้รักษาป่าตามวิถีวัฒนธรรมที่แท้จริง มากกว่าคำพูดสวยหรูในรายงานที่ปราศจากความเป็นจริง” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นางสาวอัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ชาวบุเพชรบุรี รู้สึกเห็นใจชาวบ้านบางกลอย เนื่องจากพบว่าขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยมีอาการเจ็บป่วยโดยเฉพาะการขาดสารอาหาร จำนวน 34 คน โดยมีอาการมือเท้าสั่น ใจสั่น ปวดหัว ไม่มีเรี่ยวแรง และมีเด็กเล็ก 13 คนต้องกินน้ำข้าวแทนนมแม่เนื่องจากร่างกายแม่ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ ชาวเพชรบุรีจึงรู้สึกเห็นใจและต้องการช่วยเหลือตามหลักของมนุษยธรรม โดยมองข้ามข้อกังขาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จนโดนคดี เพราะมองว่ามนุษยธรรมต้องมาก่อน เด็ก ๆ ควรได้รับการดูแล

นางสาวอัญชลีกล่าวว่า ขณะนี้คนเพชรบุรีได้ร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 70,000 บาท รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อโควิด โดยเป็นเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังมีนมกล่อง ข้าวสารและอาหารแห้ง เช่น กุนเชียง หมี่โคราช โดยเงินบริจาคนั้นได้นำไปซื้อผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปจากชุมชนชาวเล ที่กำลังมีปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากไม่สามารถขายปลาได้

“หลังจากนี้จะนำเงินบริจาคไปซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแห้งและพืชผักจากชาวบ้านโดยตรง โดยเน้นชุมชนที่กำลังมีความเดือดร้อน และเกษตรกรในพื้นที่แก่งกระจานและจังหวัดเพชรบุรีก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนด้วยกันเองใน” นางสาวอัญชลี กล่าว

หนังสือของชาวบ้านบางกลอยถึงคณะกรรมการมรดกโลก
 
เรียนคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องการแก้ปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กรณีการขอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามผลักดันให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยแล้วเสร็จโดยมีการให้การของนายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าได้แก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยโดยอ้างถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทางพวกเราชุมชนบ้านบางกลอยตามความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ที่ดินทำกิน การกลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ยอมรับวิธีชีวิตดั้งเดิมของพวกเราชุมชนบ้านบางกลอย การทำไร่หมุนเวียน

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564  ชาวบ้าน 26 ครอบครัวได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเราชาวบ้านบางกลอยบุกรุกแผ้วถางป่าตามความเป็นจริงแล้วพวกเรากลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน ฉะนั้นพวกเรามีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนที่จะขึ้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
 
1.ให้พวกเราได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เรียกว่าบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน
2.ขอให้ยกเลิกคดีของพวกเราชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน
3.ให้จัดการพื้นที่ทำกินให้กับพวกเราส่วนหนึ่งที่มีความประสงค์อยากอยู่บางกลอยล่าง พวกเราชาวบ้านบางกลอย


หวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอของพวกเรา ก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
 
ณ บ้านบางกลอย วันที่ 20 ก.ค. 2564
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ชาวบ้านบางกลอย
———————-


Letter from Bangkloi villagers
Dear World Heritage Committee,
 
Regarding the resolution of Ban Bangkloi community in Huay Mae Phiag, Kaeng Krachan, Phetchaburi. In the case of the Kaeng Krachan Forest Complex to be listed by UNESCO as the World Natural Heritage, the Thai government, by the Department of National Park, has been advocating for the approval this year. The Thai government claims to have solved the problems of Ban Bang Kloi community, with the testimony of Mr. Warakut-Silpa-archa referring to the appointed committee for solving the problems signed by General Prayuth Chan-O-cha. However, the real problems have not been solved such as land allocation for rotational farming, and lack of respect and acceptance in our Karen ethnic traditional way of life. We are not allowed to return to our ancestral land in Upper-Bangkloi or Jai Paen Din.
On January 8, 2021, 26 families returned to farming in their community’s land in the forest but all of us were arrested and prosecuted by the authorities. The officials claimed that we trespass and burn the protected forest. As a matter of fact, we only went back to live and continue our traditional way of life in our homeland where our ancestors used to live.
Therefore, we would like to provide a proposal to World Heritage Committee before listing Kaeng Krachan Forest Complex as one of the UNESCO natural world heritage sites

1.         Allow us, Bang Kloi villagers to return to our homeland called Bang Kloi Bon or Jai Phean Din.
2.         Withdraw charges against 26 Bang Kloi villagers.
3.         Allocate agricultural land for some of us who wish to continue live in Bang Kloi Lang.

We, Bang Kloi villagers hope you will consider our proposal before listing Kaeng Krachan Forest Complex as a natural world heritage site.
 
Bang Kloi Village, 20 July 2021
 
Regards,
Bang Kloi Villagers

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ