อยู่ดีมีแฮง : คนจักสานกับงานไม่ไผ่ บ้านม่วง อ.นาหว้า จ.นครพนม

อยู่ดีมีแฮง : คนจักสานกับงานไม่ไผ่ บ้านม่วง อ.นาหว้า จ.นครพนม

ที่นี่ คือ บ้านม่วง ต.นาคูนใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ครับ หมู่บ้านที่อยู่ติดกับ “ลำน้ำอูน” ซึ่งนอกจากอุดมไปด้วยปูปลาอาหารแล้ว 2 ริมฝั่งน้ำอูนยังเต็มไปด้วยต้นไผ่ ซึ่งขึ้นตามธรรมชาติจนแน่นขนัด จึงเป็นโอกาสให้คนในหมู่บ้านม่วง นำไผ่มาทำเครื่องจักสาน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านม่วงมีอาชีพจักสานราว 90 เปอร์เซ็นต์ และสร้างรายได้เสริมเดือนละหลายพันบาทหลังจากฤดูทำนา

“อยู่ดีมีแฮง” เปิดโอกาสให้ผู้เขียนออกเดินทางไปไถ่ถามพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา ได้มีโอกาสสัมผัสรับฟังหลายความฝัน บ้างสำเร็จ บ้างริเริ่ม และบ้างล้มเลิก เพื่อบอกเล่าสื่อสารสู่วงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงข้อเขียนในเว็บไซต์นี้

วันนี้ผม สันติ ศรีมันตะ จะพาคุณผู้ชมเดินทางไปที่บ้านม่วง ต.นาคูนใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ไปคุยกับน้องนักศึกษา สาขาพัฒนาชุมชน ปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ใช้เวลาว่างและหลังเลิกเรียน มาช่วยแม่จักสานไม้ไผ่และนำผลผลิตที่ได้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เกิดรายได้ต่อเนื่องแม้จะเจอสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และพาไปดูงานจักสานในปัจจุบันมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยไปขนาดไหน แล้วจะจักสานอย่างไรให้เกิดรายได้เดือนละหลายพันโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้าน เดี๋ยวเราจะออกเดินทางไปตามดูด้วยกันครับ

จุดเริ่มต้นงานจักสานไม้ไผ่

“ปรียาภรณ์ เคนพะนาน” หรือ “เปิ้ล”  นักศึกษาปี 3 สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลูกหลานคนบ้านม่วงบอกเล่ากับผมว่า เมื่อก่อนหลังจากทำนาเสร็จชาวบ้านที่นี่ก็ว่างงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรทำเลย ชาวบ้านที่นี่เลยเริ่มนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นกระติบข้าว ต่อมาเริ่มมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อไปเร่ขายตามหมู่บ้านอื่น ๆ เลยทำให้ชาบ้านที่นี่หันมาเริ่มทำกระติบข้าวกันเยอะขึ้น และไม้ไผ่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการสานหาได้ง่าย แค่ออกจากเดินไปไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงดงไม้ไผ่ ซึ่งขึ้นกันตามธรรมชาติเรียงรายสองริมน้ำอูน ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านที่นี่ทำงานจักสานไม้ไผ่แทบทุกหลังคาเรือน

จากกระติบข้าวราคาหลักสิบบาท สู่ตะกร้าและพานไม้ไผ่ราคาหลักร้อย

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเริ่มหารูปแบบจักสานใหม่ ๆ เข้ามา โดยเห็นจากตัวอย่างในท้องตลาด จึงได้นำตัวอย่างแบอื่น ๆ มาประยุกต์ และเริ่มฝึกทำแบบใหม่ ๆ กันเองในชุมชน

“ถ้าเป็นกระติบข้าวทั่วไปจะราคา 70 บาท แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนมาเป็นพานไม้ไผ่ จะเพิ่มราคาขึ้น 150-250 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนมาทำตะกร้าไม้ไผ่ ราคาก็จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 250-350 บาท ทั้งที่ใช้วัสดุเท่ากัน”

ไม่มีหูเรียกว่าพาน ถ้ามีหูเรียกว่าตะกร้า

ชาวบ้านที่นี่เริ่มเปลี่ยนจากการสานกระติบข้าวพานและตะกร้า มาราว 2-3 ปี เพราะสิ่งเหล่านี้มันช่วยยกราคาจากสิ่งของมูลค่า 60-70 บาทมาเป็นหลักร้อยบาท

“มันใช้เส้นตอกเท่ากัน ทำง่ายกว่า เสร็จกว่า ได้ราคาที่สูง จึงหันมาเริ่มสานพานและตะกร้า” แม่ของน้องเปิ้ล เล่าให้เราฟังถึงจุดที่เริ่มต้นเปลี่ยนมาทำพานและตะกร้าไม้ไผ่

การเพิ่มขึ้นของราคาทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาทำกันเยอะขึ้นแต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหมู่บ้าน เพราะหลายคนก็ยังถนัดที่จะทำแบบเดิมกันอยู่ ซึ่งแม่ของน้องเปิ้ลได้เล่าให้เราฟังว่าที่ได้เริ่มเรียนรู้สานพานและตะกร้าไม้ไผ่กับเพื่อนบ้าน แต่ก่อนหน้าก็มีทักษะการสานกระติบมาตั้งแต่สมัยเป็นสาวแล้ว พอเปลี่ยนมาทำตะกร้าและพานไม้ไผ่จึงทำได้ไม่ยากนัก ซึ่งตอนนี้แม่สามารถจักสานได้ถึง 20-30 ชิ้นต่อเดือน ถึงแม้จะทำได้ไม่ยากแต่ก็มีหลายขั้นตอนกว่าจะได้มาประกอบเป็นตะกร้าไม้ไผ่

8 ขั้นตอน ก่อนจะเป็นตะกร้าไม้ไผ่

1.นำไม้ไผ่มาตัดเป็นปล้องให้มีความยาวพอดีกับขนาดของตะกร้าที่จะสาน

2.ผ่าไม้ไผ่เป็นริ้วเล็ก ๆ ความกว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปต้ม

3.จากนั้นนำมาจักเป็นตอกเส้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วค่อยนำมามัดเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาจะใช้งานค่อยนำไปแช่น้ำ แล้วค่อยนำมาขูดให้ผิวสวยและมีขนาดพอดีกับที่จะใช้ แล้วนำไปตากก่อนก่อขึ้นรูป

4. ก่อขึ้นรูปค่อยสานด้านข้างให้เต็ม

5.เมื่อได้ขนาดตามต้องการแล้วค่อยตัดส่วนที่เกินออก

6.จากนั้นสานส่วนฐานของตะกร้าและค่อยนำมาประกอบเข้ากับตัวตะกร้า

7.แล้วนำไปรมควัน

8.นำไปประกอบเข้ากับส่วนฐานและหูหิ้วพร้อมทั้งจัดทรงให้สวยก่อนนำไปวางจำหน่าย

อาสาขายออนไลน์ เพิ่มรายได้ ลดการกดราคา

“ปกติหนูใช้โซเซียลออนไลน์เป็นประจำอยู่แล้ว และหนูอยากให้คนอื่นรู้ว่าหมู่บ้านหนูมีของดี ที่สำคัญมันช่วยยกระดับราคาให้สูงขึ้นจากราคาของพ่อค้าคนกลาง 100-250 บาท”

หลังจากงานจักสานเสร็จลง น้องเปิ้ลก็จะมาถ่ายภาพโพสต์ขายทางเฟซบุ๊กทั้งของตัวเองและในกลุ่มงานจักสานต่าง ๆ โดยเธอเริ่มต้นจากขายเครื่องจักสานของตัวเอง แล้วค่อยเข้าไปช่วยขายของให้เพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงโซเซียลมีเดียโพสต์ขายสินค้าอีกด้วย ซึ่งเธอเล่าว่า หลายคนในหมู่บ้านของเธอก็ยังไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ถึงแม้บางคนมีแต่ก็ไม่ถนัดที่จะใช้มัน ด้วยความที่เธอเรียนพัฒนาชุมชนมาและเคยเป็นนักศึกษาอาสาสอนมาก่อน เลยทำให้เธอตัดสินใจเข้ามาช่วยขายสินค้าตรงนี้

ขายทีละ 4-5 ใบ แต่ขายดีจนทำไม่ทัน

“ไม่ค่อยได้หยุดทำ มีแต่ทำไม่ทัน เพราะของไม่พอขาย” สุเมต ดาคำ แม่ของเปิ้ลบอกเล่าผลจากการที่ลูกได้เข้ามาช่วยขายออนไลน์ นอกจากนั้นน้องเปิ้ลยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น พ่อค้าคนกลางไม่ได้เข้ามารับซื้อของ ทำให้หลาย ๆ หลังคาเรือนไม่มีรายได้เลย แต่เรายังโชคดีที่พอได้มีขายทางโลกออนไลน์อยู่เรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะขายได้ทีละไม่เยอะเหมือนขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่มันก็ได้ขายเรื่อย ๆ พอรวมกันแล้วมันก็เป็นเงินที่เยอะอยู่ ส่วนรายได้จากงานจักสานของแต่ละหลังคาเรือนต่อ 1 เดือน ก็จะอยู่ที่ประมาณ 4,000 – 8,000 บาท ขึ้นอยู่กับความเร็วในการจักสาน ซึ่งแม่ยังบอกว่ารายได้เหล่านี้ถึงมันจะไม่เยอะมาก มันก็ทำให้เราได้มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารและค่าขนมเด็ก ๆ ถ้าเหลือก็ยังเป็นเงินเก็บของพวกเรา

หลังการพูดคุย ผมเองมองว่าความอยู่ดีมีแฮงของเรา บางทีก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ความอยู่ดีมีแฮงในบางครั้งคงได้ขึ้นอยู่การที่เราได้ดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คน และภูมิปัญญาของเราให้เหมาะสมอย่างไรมากกว่า หากเราไม่นำไผ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไผ่ก็คงอยู่รก ๆ ข้างลำน้ำอูนรอวันให้โครงการพัฒนามารื้อทิ้งเพราะมีประโยชน์กับผู้คน หรือแม้กระทั่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษถ้าไม่ถูกต่อยอด ไม่มีการถูกขยายความก็คงถูกหยุดอยู่แค่ในอดีต เหมือนกันกับชุมชนเราก็เช่นกัน ถ้าหากคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ไม่หวนคืนมาดูแล ใส่ใจ และพัฒนา ก็คงยากที่ก้าวต่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและความเสมอภาคได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ