ปัจจุบันการศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในหลายมิติ และมักจะอยู่ในระบบที่รัฐเป็นผู้ควบคุม เช่น ต้องเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือต้องสอบให้ได้คะแนนสูง ๆ ในแต่ละวิชา เพื่อให้คนในสังคมนั้นยอมรับ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาไทย ทั้งในเรี่องของการแข่งขันและแบ่งชนชั้นทางการศึกษาเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการเลือกที่จะเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวิชาเรียนเองหรือการได้เลือกจัดการเวลาเรียนของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น เพราะอิสระในการเลือกอนาคตคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ
จากงานเสวนาหัวข้อ “การศึกษากับอนาคตสังคมไทย: มุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม” จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ได้ให้ปรากฏการณ์ต่อการศึกษาในเรื่องของการเข้าถึงและมีอิสระในการเลือกของผู้เรียน ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยนั้นได้มีการพัฒนาให้มีการเข้าถึงตัวผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากสถิติผู้จดทะเบียนการเรียนการสอนแบบครอบครัว หรือเรียกว่า Home School ในจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2559 พบว่า ปี 2557 มีจำนวน 42 ครอบครัว 64 ผู้เรียน ส่วนปี 2558 มีจำนวน 43 ครอบครัว 72 ผู้เรียน และในปี 2559 มีจำนวน 71 ครอบครัว 88 ผู้เรียน ถ้าคิดตามร้อยละในปี 2559 จะมีจำนวนครอบครัวเพิ่มขึ้น 65.12% และมีจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้น 22.22% จะเห็นได้ว่า จำนวนครอบครัวและผู้เรียนที่มาจดทะเบียนการเรียนการสอนแบบครอบครัว (Home School) มีปริมาณร้อยละเพิ่มขึ้นสูงมาก ที่มา: ละอ่อนนิวส์
ซึ่งการศึกษาทางเลือกเป็นการเรียนรู้ที่เน้นตามความสนใจของผู้เรียน และมีครอบครัวหรือผู้ปกครองคอยดูแลหรือช่วยเหลือ ชี้แนะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งเรื่องการค้นหาข้อมูลเชิงลึก การจัดการเวลา หรือการเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น ภาษาต่างประเทศ ก็ทำให้เด็กนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน
ดร.อาวุธ ธีรเอก คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ดร.อาวุธ ธีรเอก คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงการใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาไทยว่าจากข้อสมมติฐานแล้ว เราสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ ซึ่งอาจมาจาก 2 ส่วนใหญ่ คือถ้าเราได้อยู่ในสังคมหรือบริบทที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เราจะได้เรียนรู้ ฝึกฝน เป็นทักษะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น นักวอลเลย์บอลหญิงได้ไปเล่นกีฬาในสโมสรอาชีพที่ตุรกี มีโอกาสได้ฝึกฝน และได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่ปัญหาก็คือ โอกาสที่เราจะได้อยู่ในสังคมหรือได้ใช้ภาษาที่สองยังเป็นส่วนน้อย
เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ การเรียนรู้จึงต้องพึ่งพาการศึกษาในห้องเรียนในระบบ เพราะโอกาสที่ได้ศึกษาผ่านการฝึกฝนทักษะยังมีน้อย และต้องใช้ความพยายามมาก เหมือนที่คนส่วนใหญ่รู้กันก็คือ ถ้าได้อยู่โรงเรียนดี มีครูที่เก่ง ก็มีโอกาสที่จะได้พัฒนาความรู้ความสามารถมากตามไปด้วย ดังนั้นการศึกษาจะต้องควบคู่กันทั้งความพยายามและการพึ่งพาระบบการศึกษาที่ดีที่มีคุณภาพ
อย่างที่สอง โรงเรียนที่ดี และมีครูเก่งมักจะมีความสัมพันธ์กับระบบตลาด เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าเราอยากสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในสังคมสองภาษา โรงเรียนจะต้องมีรูปแบบการจัดตั้งเป็นอิงลิชโปรแกรม เพื่อให้ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ซึ่งจะมีแนวโน้มในการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาของเรา
ดังนั้นการศึกษาอย่างน้อยต้องมี 3 สูง คือ มีความพยายามสูง ต้องพึ่งพาระบบการศึกษาสูง และต้องมีการลงทุนสูง แต่อาจจะไม่มีแค่นี้ เพราะต้นทุนที่สูงมักจำกัดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา คนที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ จึงมีแค่ชนชั้นที่สูง
สุดท้ายคือเราก็คงนึกเรื่องของระบบการศึกษาต่อไปว่า ข้อ 1 การศึกษาเป็นแบบเดิม ก็คือการใช้ทุนนิยมในการศึกษา ซึ่งภาษาอังกฤษจะเกิดขึ้นเฉพาะชนชั้นสูง ข้อ 2 เกิดจากการที่รัฐเข้าแทรกแซงเพื่อให้เกิดคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เรียนไปเพื่อเรียนแล้วได้คะแนนสอบ 100 คะแนน หรือได้ 20 คะแนน แต่อาจมีการลงทุนสูงแล้วได้คุณภาพสูง และมีโอกาสในการศึกษาที่ทั่วถึง ข้อ 3 คือทำให้เราได้ประโยชน์จากโลกโลกาภิวัตน์หรือสังคมเครือข่าย เรียนรู้จากการศึกษาและฝึกฝน เพื่อพัฒนาการฟังหรือการใช้ภาษาอังกฤษได้ต่อไป
แดนไท สุขกำเนิด ผู้เรียนในระบบการศึกษาทางเลือก
แดนไท สุขกำเนิด เป็นหนึ่งในผู้เรียนที่เลือกจะออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง เนื่องจากเมื่อได้ลองเข้าไปเรียนแบบการศึกษาในระบบแล้วรู้สึกว่า การศึกษาแบบนี้ยังไม่ใช่แนวทางของตนเอง เขาจึงตัดสินใจปรึกษากับคุณพ่อ (อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด) เพราะรู้สึกว่าการศึกษาทางเลือกนั้นสามารถลงลึกในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจได้ โดยไม่จำกัดขอบเขตในการศึกษา
เหตุผลที่เลือกมาเรียนแบบโฮมสคูล ก็มี 3 เหตุผลคือ อย่างแรกสามารถสืบค้นเนื้อหาที่ต้องการต่าง ๆ แบบเชิงลึกได้ เพราะถ้าอยู่ในโรงเรียนเวลาหาข้อมูลก็จะหาเพื่อตอบการบ้านและทำโครงงานเท่านั้น แต่การเรียนแบบโฮมสคูลนั้นทำให้เรามีเวลาในการค้นหาข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้น อย่างที่สองก็คือเรื่องของเวลา การที่มีเวลามากขึ้นทำให้มีเวลาในทำงานเสริม หาเงินได้ หรือมีเวลาอยู่บ้านเพื่อทำงานอย่างอื่นร่วมกับครอบครัว เพราะสามารถจัดการเวลาได้เอง และอย่างสุดท้ายก็คือ จะไม่มีกรอบที่ขึงเวลาและความคิด เพราะถ้าไปโรงเรียนก็ต้องเรียนตามระยะเวลาหรือตามหลักสูตรที่กำหนดไว้เท่านั้น
โดยการศึกษาทางเลือกของโฮมสคูล เราสามารถเป็นคนกำหนดเองได้ว่าเราจะเรียนเมื่อไหร่ เรียนอะไรและสามารถจัดการเวลาเรียนเองได้ ทำให้มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น อีกทั้งไม่เสียเวลาในการเดินทาง นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้จากการทำงานพิเศษได้ด้วย
อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการการศึกษาทางเลือก
อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการศึกษาที่อยู่ในห้องเรียนคือความไม่เป็นธรรมชาติ เหตุผลที่อนุญาตให้ลูก (แดนไท สุขกำเนิด) เลือกเรียนการศึกษาทางเลือก เพราะตนเองไม่ได้มีประสบการณ์จากการเป็นพ่ออย่างเดียว แต่ด้วยความที่เป็นอาจารย์จึงเข้าใจดีว่านักศึกษาในห้องเรียนนั้นต้องการอะไร อยากได้ห้องเรียนแบบไหน ทำให้นักศึกษามีความรู้สึกว่าตนเองได้มีสิทธิ์เลือกเรื่องที่ตรงกับเขา ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่
ในปัจจุบันปัญหาการเรียนการสอนของไทยเรา คือการที่คิดว่ากระบวนการศึกษาคือการถ่ายทอดเนื้อหา แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาอาจจะเป็นการที่ผู้เรียนได้เป็นเจ้าของกระบวนการคิดมากกว่า
อ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับการศึกษาในสังคมไทยว่า การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการไปโรงเรียน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไปโรงเรียนเป็นกลไกพื้นฐานที่สุดที่รัฐจะทำหน้าที่ในการดูแลพลเมืองของตัวเอง เพราะเราคงจะหาครอบครัวที่มีความพร้อมในการดูแลให้ลูกหลานเรียนที่บ้านเองได้ 100 เปอร์เซ็น เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถจะปล่อยให้พลเมืองพึ่งตัวเองได้ทั้งหมด บทบาทของรัฐในการดูแลเรื่องการศึกษาให้กับพลเมืองจึงเกิดขึ้น
ถ้าพลเมืองเป็นอย่างแดนไท สุขกำเนิด ที่รู้แล้วว่าตนเองสนใจอะไร และมีครอบครัวดูแลได้อย่างนี้ เราก็คงจะสบายใจ แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริง เด็กอีก 7 ล้านกว่าคนมาจากครอบครัวฐานะยากจนก็ต้องการการดูแลโดยรัฐ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ปฏิเสธโรงเรียนไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ยกหน้าที่การศึกษาไปให้โรงเรียนทั้งหมด แล้วไปคาดหวังให้โรงเรียนทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ โดยที่เราไม่เป็นเจ้าของการศึกษาของตัวเอง คือเราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตทางการศึกษาของเราด้วย
ดังนั้น การศึกษาจะต้องพาตัวเราไปค้นพบสิ่งที่เป็นตัวเราเช่นกัน ไม่ใช่แค่รอหลักสูตรโรงเรียน แต่โรงเรียนต้องมีคุณภาพให้ได้ เพราะคือการการันตีสิทธิพื้นฐานที่คนจะเข้าถึงการดูแลโดยโครงสร้างสังคมที่สำคัญที่สุด และต่อสถาบันการศึกษา ไม่ว่าหลักการศึกษาจะเป็นไปด้วยเป้าหมายใดแต่ละคนล้วนมีคำตอบที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญที่จะช่วยทำให้คนมีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น ก็เป็นเรื่องของการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันจากการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ครบถ้วน ได้เรียนสำเร็จในสิ่งที่ตนเองสนใจ และได้เริ่มทำงานเป็นบุคลากรที่มีความหมายของสังคมต่อไป ถ้าการศึกษามีความหมายขนาดนั้น อาจทำให้การศึกษาเกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้น และช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วยเช่นกัน