ฟังเสียงประเทศไทย I “เว้าจา ไขปัญหาเด็กนอกระบบ”

ฟังเสียงประเทศไทย I “เว้าจา ไขปัญหาเด็กนอกระบบ”

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal พาออกเดินทางมาถึงพิกัดที่ 11 ของภาคอีสานในช่วงสิ้นปี 2565 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ศาลาเอนกประสงค์บึงทามจั๊กจั่น อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนถึงการมีส่วนร่วมออกแบบซึ่งเป็นอีกความร่วมมือเพื่อ “การป้องกันและหาทางออกสำหรับเด็กเปราะบาง และเด็กนอกระบบการศึกษา” ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทาย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษา

ปัจจุบันมีเด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 1.8 ล้านคน ทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 ม.3 และม.6  ที่มักจะหลุดจากระบบใน ช่วงปิดเทอมและอาจจะไม่กลับเข้ามาเรียนอีก

มีข้อมูลเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนกว่า 1,307,152 คน ในทั่วประเทศ โดย 10 จังหวัดแรก ที่มีนักเรียนยากจนพิเศษ อยู่ในภาคอีสานและภาคใต้ โดยที่ จ.ขอนแก่น มีจำนวน 48,738 คน

ข้อมูลรายได้ต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  พบว่า มีเด็กและเยาวชน อายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน อยู่ใต้เส้นความยากจน คือ มีรายได้ตำกว่า 2,762 บาท/คน/เดือน ในภาคเรียนที่ 1 ปี 2565 พบรายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาท/เดือน คิดเป็นวันละ 34 บาท

แหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ

ร้อยละ 59 มาจากรัฐสวัสดิการและเอกชน

ร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนหรือค่าจ้างและรายได้จากการเกษตร

ซึ่งพบข้อมูลว่า กว่าร้อยละ 38 ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และร้อยละ 31 อาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนที่มีสมาชิก 5 คน ขึ้นไป

ข้อมูลการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่น มีโรงเรียน จำนวน 1,272 แห่ง สังกัด สพฐ. จำนวน 1,082 แห่ง

สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา เอกชน จำนวน 126 แห่ง

สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 61 แห่ง และอื่น ๆ 3 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันระดับอุดมศึกษา จำนวน 15 แห่ง โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน จำนวน 11 แห่ง

ข้อมูลนักเรียนเมื่อปีการศึกษา 2560 รวม 266,916 คน อยู่ในวัยก่อนประถามศึกษา กว่า 47,000 คน ระดับประถมศึกษากว่า 120,000 คน มัธยมต้นกว่า 64,000 คน และมัธยมปลายกว่า 36,000 คน

ข้อมูลจำนวนผู้เรียน และนักศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2560 ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 109,956 คน การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต กว่า 14,000 คน  และการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ กว่า 13,000 คน และในปี 2563 จ.ขอนแก่น มีข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำนวนทั้งหมด  24,723 คน 

ข้อมูลจาก TCAS65 ระบุว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษสอบผ่าน จำนวน 20,018 คน ซึ่งแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ของ (วสศ.) ประเมินว่าหาก ทั้ง 20,018 คน เรียนจบปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาท/คน

ข้อมูลระบุงบประมาณด้านการศึกษาระดับประเทศ อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท / ปี เฉลี่ยรายจังหวัดประมาณ 7,800 ล้านบาท/ปี โดยในภาครัฐ 6,500 ล้านบาท/ปี และภาคครัวเรือน 1,300 ล้านบาท/ปี

กลไกการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบในระดับพื้นที่ ทั้งการป้องกันและการแก้ไข เป็นส่วนสำคัญในการหาทางออก เพื่อให้มีโมเดลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานทางการศึกษา กศน. คุณครู นักเรียนและหน่วยงานในท้องถิ่น พร้อมกับทีมงานฟังเสียงประเทศไทยจึงชวนล้อมวงคุยกับชาวขอนแก่น จาก อ.สีชมพู  “เว้าจา” หาทางออก โดยคนในพื้นที่ เพื่อหวังปลดล็อกปัญหานี้ ทั้งป้องกันนักเรียนก่อนหลุดออกจากระบบและแก้โจทย์หาช่องทางสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ลูกหลานของพวกเขา จาก บึงทามจั๊กจั่น อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง การป้องกันและหาทางออกสำหรับเด็กเปราะบาง และเด็กนอกระบบการศึกษา” 

ฉากทัศน์ชุมชนด่านหน้ากับการศึกษาไทบ้าน

•  ครอบครัวและชุมชนเป็นแกนหลักในการสังเกต เฝ้าระวังและรับมือในการดูแลเด็กเปราะบางที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จากปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมทุกมิติตามเงื่อนไขและกำลัง โดยมุ่งเน้นสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการและทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกระดับ ทั้งจากสมาชิกในครอบครัว ครู และผู้นำชุมชน ที่อยู่ใกล้ชิดเพราะจะมีความเข้าใจสภาพปัญหามากที่สุด ในการร่วมดูแลเด็กแบบองค์รวมในชุมชน แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณสนับสนุน องค์ความรู้ และระบบการส่งต่อความช่วยเหลือให้ต่อเนื่องในระยะยาว อาจจะมีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีผู้รับผิดชอบติดตามโดยตรง

ฉากทัศน์ ท้องถิ่นปักหลักกลไกระดับพื้นที่

•      เน้นบทบาทที่ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ตั้งแต่ฝ่ายการศึกษา(ศึกษานิเทศก์) ฝ่ายปกครอง ภาค เอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนหน่วยงานในระดับท้องถิ่นที่ต้องบูรณาการทำงานเชื่อมโยงกันและ   ประสานไปยังสถานศึกษาเพื่อเฝ้าระวังและรับมือในการดูแลเด็กเปราะบางที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จากปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมทุกมิติ  ภายใต้กลไกการทำงานระหว่างองค์กรอย่างเป็นระบบและเชื่อมต่อกันหลายระดับ แต่อาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องการทำงานข้ามหน่วยงาน ความเข้าใจสภาพปัญหาในระดับปัจเจก อาจต้องมีทีมทำงานเพื่อรับผิดชอบโดย ตรง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการติดตามเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการติดตามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง     

ฉากทัศน์มองโลกมองเรา ทลายกรอบห้องเรียน

•      กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักตลอดจนหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย เห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาพรวมเชิงระบบ เพื่อเฝ้าระวังและรับมือในการดูแลเด็กเปราะบางที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาจากปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมทุกมิติ มีการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมจากพื้นที่ เป็นรูปธรรม ภายใต้แนวทางการขยาย “กรอบการศึกษา” สู่ “การเรียนรู้” ทั้งในและนอกห้องเรียน เน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิต เพื่อความอยู่รอด ทำงานได้ เลี้ยงชีพได้ หรือแก้ปัญหาได้ในชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีการจัดสรรงบประมาณอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ในระยะกลาง ระยะยาวอาจต้องรื้อระบบคิดและกฎหมายแนวปฏิบัติที่เกี่ยว ข้องที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว

นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและผลกระทบกลุ่มเด้กยากจนพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

  ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A  

ชุมชนด่านหน้ากับการศึกษาไทบ้าน

คุณสัญญา มัครินทร์ มหาลัยไทบ้าน

“ผมมองว่าด่านแรกคือชุมชน ครอบครัวนี่แหละที่สำคัญมากเลย เมื่อครู่ได้คุยกับท่าน ผอ. ว่าเด็กนอกระบบที่เปราะบางที่จะหลุดออกนอกระบบเป็นกลุ่มที่อยู่ที่บ้าน สิ่งที่เราจะสามารถทำงานร่วมได้คือทำงานกับครอบครัวกับผู้นำชุมชน หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิด จึงเป็นด่านแรกที่ต้องให้ความสำคัญ

การที่เรามีมหา’ลัยไทบ้าน ก็เชื่อว่า “ไทบ้าน” คำว่า การศึกษานอกระบบ มันต้องอิสระ แต่ความอิสระนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของชุมชน ซึ่งเราได้คำตอบแล้วว่า จะไปโรงเรียนหรือไม่ไปโรงเรียน แม้กระทั่งการออกมานอกโรงเรียน คนที่รู้คำตอบจริง ๆ ก็คือเพื่อนบ้านเขานั่นแหละครับ หรือเพื่อนที่อยู่ในชุมชน คราวนี้สิ่งที่เราพยายามจะผลักดันก็คือเราจะทำการศึกษาให้คนในพื้นที่เขามีอำนาจมากพอที่จะลุกขึ้นมาจัดการศึกษา เราไม่อยากเห็นการศึกษาที่ผลักภาระไปที่ครู หรือผลักภาระไปที่ระบบ หรือโรงเรียน เพราะโรงเรียนก็มีเงื่อนไขมากมายที่จะทำงานขับเคลื่อนการศึกษาให้หลากหลายมิติ แต่ว่าคนในพื้นที่คือคำตอบ

สิ่งที่ มหา’ลัยไทบ้าน ทำคือการรวมคนที่มีความเชื่อว่าเรามีอำนาจในการจัดการศึกษา ตั้งแต่เพื่อน ผู้ปกครอง เยาวชนลูกหลาน ที่อยู่ในพื้นที่เราพยายามทลายคำว่า โรงเรียนพยายามชวนน้อง ๆ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา  หรือแม้แต่พี่ ๆ แต่ละโรงเรียนชวนมามองว่า นี่แหละคือบ้านของเรา เรามาสร้างโอกาสในการเรียนรู้ใหม่ ๆ ด้วยกัน โดยการใช้พื้นที่ในบ้านของเรา เรามีทุนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือ แม้แต่ปัญหา เราพยายามยกเอามาในแง่งามเป็นประเด็นในการเปิดโอกาสให้ตัวละครที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ผู้เรียน ผู้ใหญ่ หรือ คนที่มีอำนาจทางการปกครอง ผู้นำ มองตรงนี้ว่าจะเป็นโอกาสในการดึงเอาตัวละครที่หลากหลายให้เห็นว่าบ้านเขามีแหล่งเรียนรู้ มีเพื่อนที่จะดูแลกันอย่างไร เพื่อให้เขาไม่ต้องติดกรอบสำนัก ว่าเขาเป็นเด็กโรงเรียนไหน ฉันคือพี่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่มองว่าเขาคือนิเวศน์หนึ่งที่จะมาเรียนรู้เรื่องการศึกษา หรือมาทำเป็นชุมชนร่วมกันที่จะเชื่อมทุกมิติ ผมเลยมองว่าสิ่งที่มันจะไปต่อได้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากคนในระบบ แหล่งทุนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงฯ หรือ ใด ๆ ก็แล้วแต่ จะทำให้กลไกหรือการจัดรูปแบบการศึกษาโดยชาวบ้าน โดยคนในพื้นที่ให้มันแข็งแรงและมันไปต่อได้จริง รัฐไม่ควรสนับสนุนแค่คนในระบบ หรือคนที่มีองค์กรชัดเจน แต่คนตัวเล็กตัวน้อยควรจะมีโอกาสและมีอำนาจได้ดูแลลูกหลานในบ้านของเราด้วย เพราะลูกหลานเหล่านี้แหละควรเป็นคนขับเคลื่อนชุมชนต่อไป เพราะคนในระบบส่วนใหญ่ก็จะผลักดันไปอยู่ในหัวเมืองใหญ่เพราะโอกาสมันอยู่ที่นั่น แต่เรากำลังพยายามสร้างโอกาสด้วยตัวพวกเราเอง ทั้งโอกาสทางการศึกษา และโอกาสมีอาชีพ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

ท้องถิ่นปักหลักกลไกระดับพื้นที่

คุณกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น

“ต้องบอกว่าของเรามองเด็กในภาพของจังหวัด เนื่องจากตัวเองทำงานอยู่ศึกษาธิการจังหวัด ทำศึกษานิเทศก์

จริง ๆ ทำงานในส่วนวิชาการ แต่หลายคนก็งงว่าทำเรื่องของเด็กได้อย่างไร แต่จริง ๆ มันเกี่ยวข้องกัน เราก็เลยมองภาพ จากการไปนิเทศก์ติดตามในโรงเรียน ไปทำงานกับคุณครู ผู้อำนวยการ ไปเจอว่าเด็ก 1 คนที่ขาดโรงเรียนบ่อย เสี่ยงที่จะหลุดเกิดจากอะไร สิ่งที่เราพบมากกว่าการพูดคุยคือเราไปที่บ้าน มันมีบริบทรอบด้านที่ส่งผลให้เด็ก 1 คนไม่ไปโรงเรียน และเรียนหนังสือไม่ถึงมาตรฐานที่ตั้งไว้ มันทำให้กลับมาที่จังหวัด มองว่าทำอย่างไรไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบแล้วค่อยมาป้องกันหาทางแก้ไข เราก็เลยทำในเชิงป้องกัน จังหวัดขอนแก่นทำมา 3-4 ปี เรามองว่าปัญหาของเด็ก 1 คนไม่ได้เกิดแค่ด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคมมีส่วนเกี่ยวข้อง เลยมาคุยกับท่านผู้ว่าฯ จะแก้ปัญหาเชิงระบบจากใหญ่ไปเล็ก เล็กขึ้นมาใหญ่ ครอบคลุมและแก้ปัญหาให้ยั่งยืน เกิดการทำงาน 4 กระทรวง การศึกษา-พมจ.-สาธารณสุข-ท้องถิ่น เป็นกลไกแรกที่เราตั้งขึ้นมา ซัพพอร์ตหาเงินสนับสนุนคนในพื้นที่ 4-3-3-1 KK โมเดล

4 ตัวแรก คือ 4 กระทรวงหลัก 3 ตัวที่ 2 คือ ผู้จัดการหลัก CM รายบุคคล อาจจะเป็น อสม. , ผู้ใหญ่บ้าน , กำนัน ซึ่งการทำงานของเรามี CM ทุกระดับ เป็น อพม. เป็นคุณครู แต่ในโรงเรียนเป็นคุณครูที่ท่าน ผอ. มอบหมายให้ นอกจาก CM ยังมองว่าชุมชนคือคนสำคัญที่จะให้ข้อมูลเราและส่งข้อมูลมาถึงครูประจำชั้น และภาคเอกชน อันนี้คือ 3 ตัวแรก 3 ตัวต่อมาคือกระบวนการทำงาน จะมีกระบวนการทำงานค้นหากลุ่มเป้าหมาย CM วิเคราะห์ปัญหาเด็กและวางแผนช่วยเหลือ ส่งต่อความช่วยเหลือคุยกับโรงเรียนอาจจะเป็นปัญหาที่แก้ไขยากแล้ว เช่นที่อยู่อาศัยหรือโรคที่ค่อนข้างร้ายแรงก็ส่งต่อไปที่จังหวัด

1 คือ Core ทีม ระดับจังหวัด เราก็มองว่าทำงานกับเขตพื้นที่ ทำงานกับโรงเรียน เหมือนเพลาที่คอยประสานงาน ทำให้รถมันเคลื่อนที่ได้ เราเลยมองว่าการที่จะช่วยเหลือเด็กที่จะออกนอกระบบ เราทำในเชิงป้องกัน โดยใช้ระบบกลไก 4-3-3-1 KK โมเดล วิเคราะห์ ประเมิน และส่งต่อ เรามีทีมจังหวัดเราเรียกว่าทีมสหวิชาชีพของขอนแก่น เพื่อที่จะช่วยเหลือ ด้านสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย นี่คือกลไกในเชิงป้องกันของขอนแก่น”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

มองโลกมองเรา ทลายกรอบห้องเรียน


ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์
  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ผมมองปรากฏการณ์เรื่องนี้เป็นเหมือนกับจังหวัดขอนแก่นที่มีบ้านจัดสรรที่เหมือน ๆ กันทุกหลัง แต่ในขณะเดียวกันรอบ ๆ บ้านจัดสรรมันมีชุมชนอยู่ ถามว่าถ้าเอาคนที่เคยอยู่ในชุมชนไปอยู่ในบ้านจัดสรรผมว่าอยู่ได้ไม่นานห็จะหงุดหงิดเพราะวิถีชีวิตในบ้านจัดสรรมักจะเข้ากับคนประเภทหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันถ้าเอาคนบ้านจัดสรรออกมาอยู่ในชุมชนรอบนอกก็อาจจะหงุดหงิดอีกแบบ ก็คืออยู่ไม่ได้ รู้สึกมันไม่ตอบโจทย์ไม่มีความเป็นระบบไม่มีกรอบ 

ผมมองว่าในเรื่องป้องกันเรื่องของกลไกลในการแก้ไขเชิงเศรษศาสตร์สาธารณะ เด็กมีปัญหา เด็กขาดเรื่องของงบประมาณ เด็กขาดเรื่องของเงินใช้จ่ายในชีวิตก็ดูแลกลไกลแบบประชาสงเคราะห์ไป ผมว่าเรื่องนี้ก็สำคัญเพราะไม่งั้นเขาก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสังคม แต่ในขณะเดียวกันมันมีอีกมิติที่เราควรนึกถึงเรื่องของ วิธีการจัดการศึกษาในระบบบ้านจัดสรรที่ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน มีตัวชี้วัดอันเดียวกันเหมือน อย่างที่ น้อง ๆ บอกว่า คิดนอกกรอบได้ไหม ผมทำนอกกรอบคือผมไม่ต้องทำกับโครงการบ้านจัดสรรได้ไหม อีกคนบอกว่าอยากเรียนรู้ที่เป็นชีวิตไม่อยากเขียน ๆ ตอบ ๆ แล้วสอบไป 

เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรดีที่จะให้กลไกลบ้านจัดสรรมันเข้ากับเด็ก คือมันคงไม่มี One for all วิธีการเดียวแต่ประเด็นคือยอมรับทางเลือกไหม การจัดการศึกษาตามการศึกษาขั้นพื้นฐานตอนนี้ผมก็มองว่าอาจจะสำหรับเด็กที่อาจจะอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยผมว่าเหมาะครับกับคนที่เรียนเป้นบล๊อกเดียวกันในบ้านจัดสรรนั้น แต่สำหรับเด็กที่เขาไม่ได้เรียนต่อไม่อยากคาดหวังจะเข้ามหาวิทยาลัยผมว่าในกลไกลระดับจังหวัดหรือแม้กระทั่งกระทรวงต้องกล้าที่จะเปิดทางเลือกให้กับจังหวัดบ้าง กล้าที่จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเหมือนที่ครูสัญญาบอก ต้องรีโนเวทบ้านบ้าง บ้านที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรไม่ใช่ทุกคนอยากจะเข้าไปอยู่ในบล็อกเดียวกันทั้งหมดนะครับ เอาพ่อแม่ผมมาอยู่ในบ้านจัดสรรแกหงุดหงิดนะครับ แกอยากเดินไปรดน้ำต้นไม้แกอยู่ไม่ได้ ผมคิดเหมือนกันกับลูกศิษย์เราเลยว่าเขาเดินเข้าโรงเรียนที่เดียวกันเราเอาบล็อกบ้านจัดสรรจากกระทรวงมาให้เขาเรียน ในขณะที่เขาอยากเรียนสิ่งที่อยู่ในชุมชนของเขา เขาอยากเรียนจากการประกอบอาชีพ เขาอยากเรียนจากเครื่องมือที่ทันสมัยเพราะมันคือจริตกับการเรียนรู้ของคนยุคนี้ แต่กับวิธีการที่เราอาจจะเคยฝึกทักษะเซตเก่า ๆ ที่เมื่อก่อนมันเคยจำเป็นกับสังคมยุคก่อนหน้านี้เมื่อ 10-20 ปี มันอาจจะไม่ใช่ Set of skill หรือทักษาะที่จะจำเป็นกับวันนี้และโลกหน้าได้อีก คำถามคือเรากล้าคิดออกจากเซตเดิม ๆ ไหม เพราะว่าเซตที่เข้าต้องการกับเซตที่เราอยากให้อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ผมมองเรื่องทางออกจะมีอยู่มิติหนึ่งครับคือ เด็กที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเขาก็คงสามารถเรียนในแพลตฟอร์มเดียวกันได้หมด ตัวชี้วัดตรงเป๊ะบรรลุออกมาเป็นเกรดเป็น GPA ยังไงก็อยากจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่กับเด็กที่อยู่นอกระบบอย่างที่ครูสัญญากำลังพยายามทำอยู่ เราสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้มันปรับเหมาะกับเขาได้ไหม ในเมื่อเป้าหมายเขาไม่ได้อยากอยู่ในบ้านจัดสรร เป้าหมายเขาอยากอยู่ในชุมชนเขาอยากมีคุณค่า อยากเข้าใจชุมชนเขามากขึ้นสามารถที่จะให้เขาใช้ชีวิตซ่อมจักรยานยนต์หรือแม้กระทั่งเลี้ยงฟาร์มแกะหรือเทคดนโลยีต่าง ๆ แล้วสามารถคิดเป้นหน่วยกิจให้เขาได้ไหม มันคือหน่วยกิจชีวิตนะครับ จริง ๆ การเรียนรู้ชีวิตมันอาจจะสำคัญมากกว่าการเรียนรู้ไปสอบด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสามารถที่จะปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับเขาเป็นรายคนได้ไหมในเมื่อ Passion หรือความหลงไหลในชีวิตของเขาไม่เหมือนกัน สองครับถ้าเขาสามารถปฏิบัติชีวิตเขาได้เป็นอย่างดี ไม่ได้เป็นภาระของสังคม สร้างสิ่งดี ๆ ให้ชุมชน คิดเป็นเครดิตให้เขาได้ไหมที่จะเทียบกลับไปที่โรงเรียน ผมเชื่อว่ากลไกลตรงนี้ระดับจังหวัดอาจจะมีโอกาสนำเสนอแนวทางออก การจัดการศึกษาที่ตอบรับความจำเพาะบุคคลมากขึ้น ใครที่ใคร่อยากจะเรียนแบบเข้ามหาวิทยาลัยก็เรียนแบบโครงการหมู่บ้านจัดสรรไป ใครที่จะเรียนแบบเพื่อใช้ชีวิตจริงแล้วก็สามารถดูแลพ่อแม่พี่น้องได้เข้าใจะรรมชาติมากขึ้นก็ปรับเหมาะให้พวกเขานิดนึง ผมเชื่อว่าการป้องกันและหาทางออกแบบนี้น่าจะตอบโจทย์ครอบคลุมทั้งสองแบบได้”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

นอกจากจะมีฐานข้อมูลและความเข้าใจสภาพปัญหาที่มีความเฉพาะในรายกรณีแล้ว ความร่วมมือในทุกระดับ จากครอบครัว ชุมชน หน่วยงานและฝ่ายปกครอง ยังเป็นส่วนสำคัญในการหาทางออก เพื่อให้มีโมเดลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะขยายผลเพื่อร่วมแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่กำลังเผชิญ สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่” ร่วมโหวตฉากทัศน์ “เว้าจา ไขปัญหาเด็กนอกระบบ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ