Behind Amnatcharoen: ใครว่าอีสานแล้ง?

Behind Amnatcharoen: ใครว่าอีสานแล้ง?

อีสาน – แล้ง

“อีสาน” นิยามของความแห้งแล้ง แผ่นดินแตกระแหง ความลำบาก ความยากจนข้นแค้น เริ่มได้รับการพลิกฟื้นให้ชุ่มชื้นจนกลายเป็นแผ่นดินที่เขียวชอุ่ม เริ่มต้นในปี พ.ศ.2530 โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ในการหาทางช่วยเหลือภาคอีสานอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการอีสานเขียว”

แต่ความเจริญที่ถาโถมเข้ามาอย่างมากมายและต่อเนื่องย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตระหนักและมีมาตรการในการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคงความเป็นตัวตนของภาคอีสานไม่ให้สูญหายไป

จังหวัด – อำนาจเจริญ

จ.อำนาจเจริญ เป็นจังหวัดตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แยกตัวออกจากจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นจังหวัดขนาดเล็กมีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,975,780 ไร่ หรือ 3,161.248 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ทิศเหนือ ติดเขต อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ทิศตะวันออก ติดเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงด้าน อ.ชานุมาน และติดเขต อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น และอ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานีทิศตะวันตก ติดเขต จ.ยโสธร ที่ อ.ป่าติ้ว และ อ.เลิงนกทาทิศใต้ ติดเขตจ.อุบลราชธานี ที่อ.ม่วงสามสิบ

ประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยมีลำน้ำสายสำคัญ คือ ลำน้ำเซบกและลำน้ำเซบาย ที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี อาชีพเกษตรกรรมและผลผลิตทางการเกษตรจึงเป็นรายได้หลักของจังหวัด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีขึ้นชื่อ

จ.อำนาจเจริญ อยู่ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของจังหวัดอื่น ๆ ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม และมักปรากฏเสมอว่าฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ระยะเวลาการทิ้งช่วงมักจะไม่เหมือนกันในแต่ละปี และในช่วงปลายฤดูฝน มักจะมีพายุดีเปรสชันฝนตกชุกบางปีอาจมีภาวะ น้ำท่วมแต่ภาวการณ์ไม่รุนแรงนัก

ฤดูหนาว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภูมิภาคอื่น อุณหภูมิจะเริ่มลดต่ำลงตั้งแต่เดือนตุลาคมและจะสิ้นสุดปลายเดือนมกราคม

ฤดูร้อน ถึงแม้ว่าเคยปรากฏบ่อยครั้งว่าอากาศยังคงหนาวเย็นยืดเยื้อมาจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วอากาศจะ เริ่มอบอ้าว ในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งอาจจะมีฝน เริ่มตกอยู่บ้างในปลายเดือนเมษายน แต่ปริมาณน้ำฝนมักจะไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

นอกจากนั้นลักษณะภูมิอากาศทั่วไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จะมีอากาศร้อน ในฤดูหนาวค่อนข้างหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีฝนตกประมาณ 106 วัน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 1,297.3 มิลลิเมตร

คน – อำนาจเจริญ

ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นคนท้องถิ่นเชื้อสายไทย – ลาว และมีคนกลุ่มอื่นที่มีหลายเชื้อสาย และภาษาพูดต่างออกไปได้แก่ ชาวภูไท พบในเขตอ.ชานุมาน และอ.เสนางคนิคม ส่วยและข่า พบในอ.ชานุมาน ในชุมชนที่มีการค้าขายหรือในเขตเมืองจะมีคนไทยเชื้อสายจีนและญวนปะปนอยู่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย

ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนับถือพระพุทธศาสนา ร้อยละ 97.50 มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ 266 แห่ง นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 2.30 และนับถือศาสนาอิสลามน้อยมาก

ภาษาชาวอำนาจเจริญส่วนใหญ่ใช้ภาษาอีสาน เช่นเดียวกับชาวอีสานในจังหวัดอื่น ภาษาอีสานจัดเป็นประเภทภาษาถิ่นของภาษาไทย ส่วนภาษาเขียนใช้ภาษาไทย และอักษรไทย ถ้าเป็นเอกสารโบราณ เช่น หนังสือออก หนังสือก้อน บทสวด และตำนาน นิยมบันทึกด้วยตัวอักษรธรรม เป็นภาษาอีสาน ภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาขอม และภาษาไทย ภาษาอีสานถิ่น

อำนาจเจริญ มีอยู่สามสำเนียง ได้แก่ สำเนียงอุบล ฯ สำเนียงบ้านน้ำปลีก และสำเนียงชายแดน

ก่อนที่จ.อำนาจเจริญจะเติบโตเข้มแข็งในกระบวนการพัฒนานั้น จ.อำนาจเจริญก็ไม่ต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ยิ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นฐานการผลิตสำคัญด้วยแล้ว ย่อมได้รับผลจากแผนพัฒนาฯ เฉกเช่นจังหวัดอื่น ๆ ที่การเติบโตของระบบเศรษฐกิจ การผลิตเชิงเดี่ยวนั้นนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงรอบด้านในสังคมจ.อำนาจเจริญ ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาสังคม ครอบครัว เด็กเยาวชน สตรี

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญนี้ ทำให้คนไทบ้าน คนท้องถิ่นบางคน บางส่วนเริ่มตื่นตัวกับปัญหาจนนำมาสู่การรวมตัว รวมกลุ่มกันหลวมๆ เพื่อหาแนวทางจัดการ

คน – ไทบ้าน

จากคำบอกเล่าของ วิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน จ.อำนาจเจริญ เดิมพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างแนวความคิดประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ดังกล่าวทำให้คนไทบ้านมีความคิดความอ่านที่เข้มข้นทางด้านการเมืองและการมีส่วนร่วม

ดังนั้นเมื่อการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จบสิ้นลง ชาวบ้าน นักศึกษา ปัญญาชนที่เคยอาศัยอยู่ตามป่าเขาก็กลับมาเข้าเมือง มีชีวิต มีอาชีพอย่างปกติทั่วไป และหลายๆ คนก็กลายมาเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชน ด้วยมองเห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ จนอดรนทนไม่ไหว

คนไทบ้านที่ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นเหล่านี้ คือ ดอกผลของกระบวนการทางการเมืองในยุค 2516 – 2519 ซึ่งในเวลาต่อมานั้น นำมาสู่การเกิดกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมของคนอำนาจเจริญในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เริ่มต้นจากปัญหาสตรีและขยายประเด็นไปสู่เรื่องอื่น ๆ ตามมา

ชุมชน – ท้องถิ่น

การเริ่มต้นรวมกลุ่มของชุมชนท้องถิ่น จ.อำนาจเจริญขยับไปโดยอาศัยการคลำทิศคลำทางและยังไม่มีภาพของการรวมกลุ่มก้อนอย่างชัดเจน รวมทั้งชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆ ก็ยังกระจัดกระจาย ต่างคนต่างอยู่ไม่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมภายในชุมชนแต่อย่างใด

ความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2540 เมื่อสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม หรือ SIF เข้ามาทำงานในพื้นที่ มาสนับสนุนชาวบ้านให้รวมกลุ่มเขียนโครงการพัฒนาขึ้น ซึ่งถือว่าโครงการเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ การจัดการตนเอง และสร้างแกนนำให้แก่ชุมชน

ช่วงปี พ.ศ.2540 – 2543 จึงเกิดการรวมตัวกันของขบวนชุมชนที่ชัดเจนมากขึ้น ภายใต้ฐานประเด็นการพัฒนาที่หลากหลาย เช่น เศรษฐกิจชุมชน อาชีพ เครือข่าย การจัดสวัสดิการ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ โดยภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกิดการจัดโครงสร้างและกลไกในการดำเนินงาน เช่น มีคณะทำงานระดับจังหวัดที่มาจากผู้แทนองค์กรชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีบทบาทเฉพาะอีกด้วย เช่น คณะทำงานฝ่ายกลั่นกรองโครงการ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพโครงการ ฝ่ายประเมินโครงการ ฝ่ายพิจารณาโครงการ และคณะทำงานพิจารณาโครงการระดับภาค ที่กล่าวได้ว่า ช่วงการทำงานร่วมกับ SIF ภาพของขบวนองค์กรชุมชนภายในจังหวัดอำนาจเจริญเริ่มก่อรูปชัดขึ้น ทั้งในเรื่องประเด็นการทำงานและการจัดโครงสร้างการทำงาน การดำเนินการต่าง ๆ ของขบวนชุมชน

7 ยุทธศาสตร์ : อำนาจเจริญ เมืองธรรมเกษตร (พ.ศ.2559-2561)

1.ส่งเสริมการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ วางเป้าหมายว่า เกษตรกรในพื้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด นำสู่วิธีผลิตแบบธรรมเกษตร ช่วยสร้างสมดุลกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย และมีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์

2.อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ วางเป้าหมายว่า ประชาชนจะต้องมีสิทธิในที่ดินทำกิน บริหารจัดการน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต วางเป้าหมายว่า คนในชุมชนท้องถิ่นต้องมีความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุม เยาวชนต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพบนพื้นฐาน วัฒนธรรมอันงามของชุมชนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต้องส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างสร้างสรรค์

4.ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการบริหารจัดการจังหวัดจากทุกภาคส่วน วางเป้าหมายว่าจะส่งเสริมให้ภาคประชาชนสามารถเข้าร่วมในกระบวนการบริหารจัดการจังหวัดผ่านสภาประชาชนที่มาจาก 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายเชิงประเด็น กลุ่มการเมือง กลุ่มอาชีพ และกลุ่มข้าราชการ

5.ส่งเสริมและพัฒนาความรู้วิชาการและการสื่อสาร วางเป้าหมายว่า จะส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ กระทั่งสามารถเผยแพร่สู่ที่สาธารณะในวงกว้าง

6.ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี บนเป้าหมายว่าอำนาจเจริญต้องเป็นสังคมแห่งสติปัญญาและการเรียนรู้ สังคมแห่งความสุข สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี เชื่อมโยงการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ในพื้นถิ่นเพื่อนำสู่สังคมที่สมดุลและยั่งยืน

7.การสร้างความเสมอภาคกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม วางเป้าหมายว่า ประชาชนต้อง เข้าถึงกฎหมายตามสิทธิหน้าที่ รู้เท่าทันกฎหมายที่บังคับใช้สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ ทนาย และตุลาการ ด้วยการจัดตั้งโครงข่ายอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมายอันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (http://www.isaanbiz.com/971)
พื้นที่เรียนรู้

1.ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

ต.น้ำปลีก พื้นที่ส่วนใหญ่อุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ริมลำเซบาย และมีปากน้ำแยกปลีกออกจากกันจึงเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “น้ำปลีก” ชุมชนน้ำปลีกมีขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ต.น้ำปลีกบางส่วน จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1,2, และ 9 อยู่ในเขตเทศบาลทั้งหมด จำนวน 1 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 8 ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 6 หมู่บ้าน คือ บ้านดงบัง หมู่ที่ 3 บ้านคำสร้างบ่อ หมู่ที่ 4,5 บ้านยางคำ หมู่ที่ 6 บ้านดอนดู่ หมู่ที่ 7 และบ้านดงบัง หมู่ที่ 10

เขตพื้นที่ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.นาหมอม้า อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.นาจิก อ.เมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

2.เซบาย: เกษตรริมน้ำ/ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน

ลำน้ำเซบายเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูน มีความยาวประมาณ 223 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานบริเวณรอยต่อของจังหวัดยโสธร จ.อำนาจเจริญ และจ.มุกดาหาร ลำเซบายมีพื้นที่รับน้ำ 3,990 ตารางกิโลเมตร ได้แบ่งลำดับของลำน้ำและลักษณะการไหลของลำน้ำ เป็นลำดับที่ 6 หมายถึงมีน้ำไหลต่อเนื่องตลอดปี ประมาณ 9-12 เดือน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในพื้นที่ลุ่มน้ำ ประมาณ 1,530 มิลลิเมตร/ปี ต้นน้ำของลำเซบายประกอบด้วยลำน้ำขนาดเล็ก 2 สาย สายแรก เริ่มจากเทือกเขาบริเวณเขต อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และอ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ไหลผ่าน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มาบรรจบกับลำห้วยโพง ที่ไหลมาจากเทือกเขาบริเวณอ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด อ.กุดชุม จังหวัดยโสธร รวมกันเป็นสายน้ำลำเซบาย ไหลผ่านพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

และอีกฝั่ง ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ไหลผ่านรอยต่อของอ.คำเขื่อนแก้ว และอ.หัวตะพาน โดยเป็นเส้นแบ่งการปกครองของ จ.ยโสธร และจ.อำนาจเจริญ ผ่านอ.เขื่องใน อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูน บริเวณบ้านทุ่งขุนน้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวเฉพาะลำน้ำเซบายตอนกลาง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร อีกฝั่ง ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ

ในส่วน ต.เชียงเพ็งจะมีชุมชนที่อาศัยบริเวณริมฝั่งในลำน้ำเซบาย มีวิถีชีวิตในการเข้าใช้ทรัพยากรจากดิน น้ำ ป่า ดังนี้

ประการแรก ในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าทาม พื้นที่ทุ่งนาทาม และริมฝั่งลำน้ำเซบาย ในการประกอบอาชีพรอง คือ การเลี้ยงวัว-ควาย ในพื้นที่ทุ่งนาทาม และการหาขุดหอย การปลูกผักริมฝั่งลำน้ำเซบาย การจับปลาในลำน้ำเซบาย การเข้าไปเก็บหาของป่า การทำนาปรังโดยได้ใช้น้ำจากลำเซบายเป็นหลัก และใช้ลำน้ำเซบายในการอุปโภคบริโภคหรือน้ำประปาของชุมชนตลอดทั้งปี

ประการที่สอง ช่วงต้นฤดูฝน ชาวบ้านบริเวณริมฝั่งลำน้ำเซบายจะมีวิถีที่สัมพันธ์กับฤดูกาลนั้นหมายถึง การหาของป่า การเก็บเห็ด เป็นต้น

ประการที่สาม ในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นอีกช่วงของพรานปลาในลำน้ำเซบายที่จะเตรียมเครื่องมือหาปลาเพื่อจับสัตว์น้ำ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้จะเหมาะสมกับนิเวศนั้นๆ เช่น เบ็ดราว ลอบ ตุ้ม จิบ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าลำน้ำเซบายตอนกลางยังมีทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ชุมชนเข้าไปสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ชุมชนมีรูปแบบการเข้าใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประโยชน์ รู้คุณค่าและเข้าใจ นั้นย่อมหมายถึงการที่บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มาตั้งถิ่นฐานริมลำน้ำเซบาย เนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร มีความเชื่อทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดอาชีพที่สอดคล้องกับฤดูกาล และยังสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวและชุมชน โดยการพึ่งพาฐานทรัพยากรของชุมชน เช่น การทำนาปี การทำนาปรัง การหาปลา การปลูกผักริมลำเซบาย การเลี้ยงวัว-ควาย การหาของป่า เป็นต้น (http://www.ryt9.com/s/tpd/2596827)

3.ต.ปลาค้าว อ.เมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

ชุมชนบ้านปลาค้าว ม.10 ต.ปลาค้าว อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ หมู่บ้านตั้งอยู่ท่ามกลางลำห้วย มีหนองน้ำ มีสัตว์ป่า หมู่ปลาชุกชุมมาก ในลำห้วยที่เป็นคุ้งน้ำลึก เรียกว่า “กุด” มีปลาค้าวเนื้ออ่อนจำพวกหนึ่ง ตัวใหญ่ มีจำนวนมากมาย ซึ่งต่อมาจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ปลาค้าว” นั่นเอง

บ้านปลาค้าว เป็นหมู่บ้านเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา มีทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้าน มีป่าสาธารณะโคกบ๋าใหญ่ จำนวน 718 ไร่ หน้าฝนเขียวขจีไปด้วยต้นข้าว หน้าแล้งร้อน ทุ่งนาว่างเปล่ามีแต่ตอซังข้าว ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านทำงานหัตถกรรมในครัวเรือน ว่างๆ จะซ้อมแสดงหมอลำ จัดงานบุญประเพณีตามจารีต 12 เดือนของอีสาน

หมอลำของหมู่บ้านปลาค้าวได้รับความสนใจอย่างยิ่ง จนปัจจุบันหมู่บ้านปลาค้าว ได้นามเรียกขานเป็น “หมู่บ้านหมอลำ” เพราะคนทั้งชุมชนเกือบ 3,000 คน ล้วนเป็นหมอลำกันทุกคน สามารถฟ้อน ร้องรับส่ง แก้เกี้ยวกันได้ในทุกกระบวนท่า เป็น ต.ที่ร่ำรวยหมอลำมากที่สุดในเมืองไทย ประกอบไปด้วยคณะใหญ่และคณะกลางกว่า 20 ประมาณว่า ต.ปลาค้าวมีรายได้จากการแสดงหมอลำถึงปีละ 20 ล้านบาท

สิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ชาวบ้านปลาค้าวมีประเพณีสวดสรภัญญะ ใครไปเที่ยววัดเก่าแก่จะได้ยินเสียงเหล่าสตรีพากันสวดสรภัญญะน้ำเสียงไพเราะ นับเป็นประเพณีที่ไม่เหมือนใคร นอกการการแสดงหมอลำแล้ว

ชาวบ้านปลาค้าวยังได้เก็บรักษาโบราณวัตถุอันเป็น เอกลักษณ์พื้นบ้านไว้อย่างดียิ่ง อาทิ วิหารช่างญวน ตั้งอยู่ที่วัดศรีโพธิ์ชัย พระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย ที่มีอายุราว 200 ปี พระพุทธรูปแกะสลักไม้ พระยานาค (รางสรงน้ำพระ) มีงานฝีมือผลิตเครื่องดนตรี อาทิ พิณ แกะสลักลวดลายต่าง ๆ งานแกะสลัก การทอผ้า และมีระบบการจัดการนำเที่ยว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

รวมทั้ง ชุมชนยังมีทำวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มยุวเกษตร กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มทอผ้า กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มเย็บผ้า เป็นต้น

4.ศูนย์แพทย์แผนไทยพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ

ศูนย์แพทย์แผนไทยพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับ ผู้ที่ปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก ตามร่างกายทั้งหลาย ที่นิยมการบีบนวดแบบโบราณ เพื่อคลายอาการปวดเมื่อย ไม่ว่าจะเป็นการนวดฝ่าเท้า การประคบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การอบสมุนไพรด้วยกระโจม ฯลฯ โดยเปิดบริการ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์

จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ แห่งนี้ มาจาก โรงพยาบาลพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ได้ดำเนินการด้านการแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2536 โดยนำเอาระบบการแพทย์แผนไทยเข้ามาผสมผสาน กับระบบการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชน ได้มีทางเลือกในการรักษา ซึ่งได้ให้บริการ การแพทย์แผนไทย ควบคู่กับการผลิตยาสมุนไพร ที่ผ่านมา มีผู้เข้าไปใช้บริการและซื้อยาสมุนไพร อย่างต่อเนื่องนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ปัจจุบัน ศูนย์แพทย์แผนไทย มีบริการนวดที่หลากหลายวิธี เช่น การนวดแผนไทย (Thai traditional Massage) ถือเป็นศาสตร์และศิลปะที่ได้รับการสืบทอดกันมานาน ซึ่งช่วยในเรื่องสุขภาพ สามารถบรรเทาอาการปวด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การนวดฝ่าเท้า (Foot massage) เป็นศาสตร์ที่ช่วยลดความตึงเครียด ทำให้เกิดความผ่อนคลาย กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ฟื้นฟูระบบสมดุลของร่างกายให้สดชื่นมีชีวิตชีวา การประคบสมุนไพร (Thai Herbs compression) การประคบสมุนไพร

นอกจากนี้ โรงพยาบาลพนา ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายสมุนไพรแก่ประชาชนทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่วางจำหน่าย เช่น – ขมิ้นชัน แก้โรคกระเพาะ บรรเทาอาการท้องอืด – ครีมล้างหน้ามะขาม ผลัดเชลล์ผิว เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับใบหน้า – ชาชงกระเจี๊ยบ แก้ไอ ขับปัสสาวะ – ชาชงขิง ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ชาชงชุมเห็ดเทศ แก้ท้องผูก – ชาชงตระไคร้ ขับลม ขับปัสสาวะ – ชาชงใบหม่อน ลดไข้ แก้ร้อนใน – ชาชงมะตูม ขับลม บำรุงกำลัง – ชาชงรางจืด แก้ไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา – ชาชงหญ้าดอกขาว ลดความอยากสูบบุหรี่ – ชุดอบสมุนไพร แก้ปวดเมื่อย เพิ่มการไหลเวียนโลหิต – น้ำมันจมูกข้าวหอมมะลิ บำรุงร่างกาย – น้ำมันไพล แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ บวม – ผงขมิ้นอ้อย แก้ผดผื่น บำรุงผิวพรรณ ฯลฯกล่าวได้ว่า สมุนไพรพื้นบ้าน ภูมิปัญญาพื้นถิ่นไม่เคยเป็นเรื่ิองไกลตัว

วันนี้ คนอำนาจเจริญได้ร่วมกันกำหนดอนาคต กำหนดชีวิตที่มีสุขภาพดี ภายใต้วาระจังหวัด “อำนาจเจริญ เมืองสมุนไพร” เครือข่าย สร้างสรรค์ ปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำ(ผู้ปลูก) กลางน้ำ(ผู้ผลิต/ผู้ให้บริการ) และปลายน้ำ(ผู้บริโภค/ผู้รับบริการ) ภายใต้การขับเคลื่อนโดย “ศูนย์แพทย์แผนไทยพนา”

… มากกว่าการมีสุขภาพที่ดี ปลอดสารเคมีในกระบวนการเพาะปลูก คือ โครงข่ายความสัมพันธ์ของคนไทบ้าน ที่มุ่งหมายดูแลกันและกัน ครบวงจร … ตลอดชีวิต

00000

 

จาก “BEHIND 4 ภาค” มาถึง “BEHIND กลางแปลง”

BEHIND กลางแปลง คือ พื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ใน “BEHIND 4 ภาค” จาก Behind Bangkok สู่ Behind Chiangkhong สู่ Behind Pakbara มาจนถึง Behind Amnatcharoen ที่ได้มารวมตัวกันขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำเสนอเสียงสะท้อนและมุมมองความคิดในฐานะพลเมืองที่มีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และการสื่อสารมุมมองความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมต่อจิ๊กซอร์สถานการณ์เรื่องราวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยความร่วมมือของ โครงการหนุนเสริมพลังเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคสังคม (สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ 4 ภาค (กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มพลเรียน กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ สถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา) สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประชาคมบางลำพู และพิพิธบางลำพู

จนมาสู่การจัดกิจกรรม “Behind กลางแปลง” ขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Behind Old Town หลังม่านย่านเมืองเก่า” ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธ.ค. 2560 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ติดป้อมพระสุเมธ)

ทั้งนี้ “BEHIND กลางแปลง” ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2560 จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.30 – 21.00 น. ไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

  • (Share) Behind My Home: Behind Thailand Mapping นิทรรศการแสดงแผนที่ของประเทศไทย ที่ชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในสังคมและชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงดงามหรือความท้าทายของการพัฒนาที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ
  • (Talk to change) Behind Talk: Behind to Beyond พลังของคนตัวเล็ก การบอกเล่าเรื่องราวพลังของการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวแทนพื้นที่รูปธรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละภาค
  • (Play) Behind Board Game พลังพลเมือง โดยกลุ่มพลเรียน
  • (See) Behind By พลเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และปิดท้ายด้วย Behind กลางแปลง รับลมยามค่ำคืน ชมหนังสารคดีกะเทาะตีแผ่การศึกษา บนดาดฟ้าพิพิธบางลำพู พร้อมแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดร่วมกัน

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในห้องเรียน เราเชื่อว่าการได้เดินออกมาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ คิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบนั่นคือการเรียนรู้ที่ทุกคนทำได้ตลอดชีวิต และมันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อเราได้ออกมาเจอคนที่มีความคิด ความหวัง และหัวใจคล้าย ๆ กัน

มาร่วมกันส่งเสียงเพื่อแสดงความเป็นพลเมือง … เพราะพลังการมีส่วนร่วมอยู่ในมือเรา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ