Behind bangkok: Behind the urban

Behind bangkok: Behind the urban

 

กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนและความหลากหลาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พลุกพล่านไปด้วยผู้คน หากแต่พื้นที่ของเมืองกรุงเทพมหานครนั้นกลับไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับชีวิตของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความอัดแอ ตึกอาคารผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การก่อสร้างเต็มเมือง รถราเบียดเสียดเต็มท้องถนน ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซ้อน ขณะที่คนในเมืองเองก็มีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เช่น ถนนหนทางการจราจรที่รวดเร็ว ที่จอดรถสำหรับรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น มีพื้นที่สีเขียวท่ามกลางตึกระฟ้า อาคารสูง รวมทั้งการมีสาธารณูปโภคต่างๆ ของเมืองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในเมือง

ปัญหาผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการเติบโตทางด้านต่างๆ และปัญหาต่างๆ ของเมืองเช่นนี้ คือปัญหาของผังเมืองและประโยชน์การใช้สอยที่ไม่สอดคล้องกัน

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้พยายามอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาจัดปรับผังเมืองเสียใหม่ ด้วยการจัดโซนพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองชั้นใน ย่านห้างร้าน ย่านเศรษฐกิจต่างๆ ด้วยเชื่อว่าจะทำให้เกิดบริหารจัดการเมืองได้ง่ายขึ้น การสร้างถนนหนทาง ทางยกระดับเพื่อขยายเส้นทางจราจรด้วยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้น รวมทั้งการพยายามขยับขยายสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองรวมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเมือง

…แต่บนเส้นทางการจัดการดังกล่าว กลับปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในเมืองที่อยู่ในซอกเล็กซอกน้อยของเมือง ที่มักจะต้องเผชิญปัญหาก่อนใคร

 

1.ชุมชนมัสยิดบางอ้อ เขตบางพลัด ความอยู่รอดชุมชนโบราณกับนโยบายที่เปลี่ยนแปลง

ชุมชนมัสยิดบางอ้อ เป็นชุมชนมุสลิม เชื้อชาติต่างๆ เช่น อาหรับ เปอร์เซีย จาม มลายู ฯลฯ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอยุธยา จนเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมนี้ได้ล่องแพอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้แพเป็นที่อยู่อาศัย ทำการค้าขาย (ค้าซุง) และที่ทำการของศาสนาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “แขกแพ”

ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ตั้งชุมชนอยู่อาศัยเป็นแนวยาวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลึกลงไปด้านใน ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้น ประกอบกับมีถนนจรัลสนิทวงศ์ ตัดผ่าน ชุมชนจึงแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนริมฝั่งน้ำ และส่วนที่ขยับขยายสร้างบ้านไม้ทรงสี่เหลี่ยมบนพื้นดิน โดยชุมชนทั้งสองส่วนต่างมีการสืบสายสกุลกันมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานหลายชั่วอายุ โดยสายสกุลต่างๆ ของคนในชุมชนนี้ เช่น โยธาสมุทร บางอ้อ ยูซูฟี มานะจิตต์ เพชรทองคำ มุขตารี บุญศักดิ์ ฯลฯ

ทั้งนี้ ชุมชนมัสยิดบางอ้อเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สืบกันหลายชั่วอายุคน เผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสาธารณะในปัจจุบัน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำสำหรับประชาชน ทั้งเพื่อคุณภาพชีวิต และเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยครอบคลุมพื้นที่ ดังนี้ ระยะนำร่อง 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 จนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แผนแม่บท 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 จนถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร (เขตบางนา) ซึ่งนโยบายสาธารณะนี้ กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ โจทย์สำคัญร่วมกันของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม …

ความอยู่รอดของวิถีชีวิต วิถีชุมชนกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือโจทย์สำคัญที่ท้าทายชุมชน

2.ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร : คนกับพื้นที่สาธารณะในย่านเมืองเก่า

ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณแห่งนี้ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพารที่มีหน้าที่ดูแลวัดภูเขาทองและวัดราชนัดดาที่อยู่ใกล้เคียง พ.ศ.2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยการดำเนินโครงการตามแผนแม่บทฯ นั้นครอบคลุมพื้นที่อาณาบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ 1) กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งได้แก่อาณาเขตที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองคูเมืองเดิม 2) บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก บริเวณที่มีอาณาเขตล้อมรอบด้วยคลองคูเมืองเดิม แม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือคลองรอบกรุง และแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ และ 3) บริเวณฝั่งธนบุรีซึ่งอยู่ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพียง 1 ปี กรุงเทพมหานครตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง มีชาวบ้านบางรายที่มีที่ดินรองรับอยู่แล้ว ยอมรับค่าเวนคืน 100% แล้วรื้อถอนไปปลูกอยู่ที่อื่น ส่วนรายใดที่ไม่ยอมรื้อย้าย ในปี พ.ศ.2538 กรุงเทพมหานครประกาศว่าจะนำรถมาไถทั้งชุมชน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เหลือต้องยอมรับเงินค่าเวนคืน 75% และในช่วงปี พ.ศ.2540 ชาวบ้านจึงนำเงินค่าเวนคืนไปวางดาวน์เพื่อซื้อที่ดินในโครงการของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการการเคหะฯ ฉลองกรุง แถวมีนบุรี ทั้งที่ตอนนั้นชาวบ้านเองก็ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจใดๆ เลย รู้จากการเคหะฯ แค่เพียงว่าสาธารณูปโภคจะพร้อมในอนาคต

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี โครงการดังกล่าวไม่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคดังที่แจ้งไว้ อีกทั้งการสัญจรไปมาก็ลำบาก ไม่มีรถเข้าออก ไม่มีสถานพยาบาล ที่สำคัญคือ ไม่มีแหล่งอาชีพรองรับชาวบ้าน ดังนั้น การที่ชาวบ้านจะต้องรื้อย้ายไปไกลถึงชานเมือง จึงเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวโดยเฉพาะการทำมาหากินของชาวบ้าน

ปี พ.ศ.2545 กรุงเทพมหานครประกาศทำการรื้อย้าย และหลังจากนั้นไม่นานนักปี พ.ศ.2546 ชุมชนป้อมมหากาฬ ปิดป้อม ปิดชุมชน ต่อสู้กับการไล่รื้อที่ไม่ชอบธรรม ชาวชุมชนหลายคนต้องออกจากงานมาเฝ้าระวังดูแลบ้านเป็นเวลากว่า 6 เดือน จนกระทั่งปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬยืนยันต่อสู้เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว เพื่อขอจัดการเมือง จัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม โดยเสนอทางเลือกในการจัดการพื้นที่สวนสาธารณะด้วยการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนคู่ย่านเมืองเก่า ขณะที่ ฟากกรุงเทพมหานครก็ยังยึดแนวทางการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เช่นเดิม โดยมุ่งรื้อทั้งชุมชนออกจากพื้นที่

3.ชุมชนเจริญไชย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย : การรักษามรดกวัฒนธรรมทางการค้ากับการเข้ามาของระบบขนส่งมวลชน

ชุมชนเจริญไชย ตั้งอยู่บนพื้นที่ของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ต่อมาภายหลังจากมีการประกาศขอบเขตพื้นที่ที่จะถูกเรียกคืนเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร ซึ่งจากแผนพัฒนาพื้นที่ส่งผลทำให้เกิดการไม่ต่อสัญญาบ้าน ตึกแถว ที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้เช่า

ผู้เช่าอาคารของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ บริเวณซอยเจริญไชยและพื้นที่ใกล้เคียง ริมถนนเจริญกรุงและพลับพลาไชย จึงได้รวมตัวกัน ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนให้มีความสอดคล้องกับคุณค่าของพื้นที่และให้เกิดความเหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่โดยรวม เกิดการจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย” ที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูสภาพทางกายภาพ และฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนเป็นระยะๆ ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็น “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” ห้องนิทรรศการชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในไชน่าทาวน์ ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ประเพณีชาวจีน

4.ชุมชนท่าน้ำสามเสน เขตดุสิต : วิถีชีวิตริมน้ำกับโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ชุมชนท่าน้ำสามเสน เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งรกรากมายาวนานกว่า 90 ปี ตั้งอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เดิมเป็นท่าทรายที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีตลาดเช้าที่คึกคัก ร้านยาโบราณ ร้านทอง และยังมีบ้านเรือโบราณที่ใช้เป็นพักอาศัย มีท่าเรือข้ามฟากไปที่วัดเทพนารี วัดเทพากร และมีความคุ้นเคยกับชุมชนชาวเรือด้วยกัน คือ ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม มิตตคาม 1 และสีคาม

ชุมชนท่าน้ำสามเสน เป็นชุมชนอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีประมาณ 335 หลังคาเรือน 420 ครอบครัวและมีประชากรประมาณ 1,831 คน โดยสภาพเศรษฐกิจ สังคมและที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างหลากหลาย ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีความหนาแน่นและสภาพทรุดโทรม ในปี พ.ศ.2527 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้พัฒนาชุมชนท่าน้ำสามเสนโดยการสร้างอาคารพักอาศัยสูง 6 ชั้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากชาวชุมชนยังไม่สามารถตกลงรับทราบหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเข้าอยู่อาคารที่สำนักงานทรัพย์สินฯกำหนดให้ได้ จนกระทั่งปี 2548 สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีนโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนอีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย มีกลุ่มสถาปนิกชุมชนเพื่อที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม (Community Architects for Shelter and Environment : CASE) เป็นที่ปรึกษาและร่วมทำงาน และมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน)หรือ พอช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านงบประมาณ การปฏิบัติการมีเป้าหมายให้ได้ผังชุมชน และรูปแบบการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเบื้องต้นที่มาจากความต้องการและการทำงานของชาวชุมชน

ชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น ท่าทรายได้ยกเลิกไป เพราะมีเรือยนต์ขนาดใหญ่ทดแทนเรือไม้ที่เคยขนทราย และรูปแบบการค้าขายวัสดุก่อสร้างเปลี่ยนไป ตลาดสดก็ไม่มีแล้วเหลือเพียงร้านข้าว ร้านขายหิน-ทราย และเริ่มมีกลุ่มคนจากเมียนมาร์เข้ามาเช่าบ้าน และพื้นที่บางส่วนถูกไล่รื้อเพื่อสร้างสวนและทางเดินเชื่อมบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับวังศุโขทัย ส่วนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางเดินอยู่แล้วซึ่งชุมชนใช้สัญจรและทำกิจกรรมบ้าง สำหรับปัญหาของชุมชนที่พบคือ ระดับแนวเขื่อนกั้นน้ำเดิมของกทม. มีความสูงมาก เพราะเสริมความสูงเพิ่มในปี 2557 จนบังลม และทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบัน ชุมชนท่าน้ำสามเสนเป็นหนึ่งในพื้นที่พัฒนาภายใต้ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำสำหรับประชาชน ทั้งเพื่อคุณภาพชีวิต และเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยครอบคลุมพื้นที่ ดังนี้ ระยะนำร่อง 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 จนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แผนแม่บท 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 จนถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร (เขตบางนา) ซึ่งในเวลานี้โครงการพัฒนานี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

5.คนไร้บ้าน (homeless)

คนไร้บ้าน (homeless) เป็นปรากฏการณ์และประเด็นปัญหาที่ปรากฏในสังคมไทย โดยเฉพาะในเขตเมืองมากกว่า 3 ทศวรรษ ทั้งนี้ คนไร้บ้านเป็นเสมือนดัชนีที่ใช้บ่งชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางนโยบาย รวมถึงการไร้ประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการสังคม ที่ทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มคนชายขอบของแต่ละสังคม กลายมาเป็นกลุ่มคนที่ไร้หลักประกันทางสิทธิ ที่อยู่อาศัย และการใช้ชีวิต ส่งผลให้เกิดการให้ความสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลเพื่อความเข้าใจคนไร้บ้าน ทั้งในแง่ของลักษณะทางประชากร ปัญหาทางสุขภาพ ความต้องการพื้นฐาน และกระบวนการกลายเป็นคนไร้บ้าน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเสริมพลัง (empowerment) ให้กับคนไร้บ้าน พร้อมทั้งลดปัจจัยเสี่ยงในการกลายเป็นคนไร้บ้าน รวมถึงการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เหมาะสมต่อคนไร้บ้านและกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้านในอนาคต

คนไร้บ้าน (Homeless) ถือเป็นกลุ่มประชากรเข้าถึงยาก (Hard-to-Reach Population) ทั้งในแง่ของการเข้าถึงเพื่อจัดเก็บข้อมูล และการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการสังคม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลคนไร้บ้านที่มีความสมบูรณ์ รวมถึงไม่มีการสำรวจอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

00000

 

จาก “BEHIND 4 ภาค” มาถึง “BEHIND กลางแปลง”

BEHIND กลางแปลง คือ พื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ใน “BEHIND 4 ภาค” จาก Behind Bangkok สู่ Behind Chiangkhong สู่ Behind Pakbara มาจนถึง Behind Amnatcharoen ที่ได้มารวมตัวกันขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำเสนอเสียงสะท้อนและมุมมองความคิดในฐานะพลเมืองที่มีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และการสื่อสารมุมมองความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมต่อจิ๊กซอร์สถานการณ์เรื่องราวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยความร่วมมือของ โครงการหนุนเสริมพลังเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคสังคม (สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ 4 ภาค (กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มพลเรียน กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ สถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา) สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประชาคมบางลำพู และพิพิธบางลำพู

จนมาสู่การจัดกิจกรรม “Behind กลางแปลง” ขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Behind Old Town หลังม่านย่านเมืองเก่า” ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธ.ค. 2560 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ติดป้อมพระสุเมธ)

ทั้งนี้ “BEHIND กลางแปลง” ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2560 จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.30 – 21.00 น. ไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

  • (Share) Behind My Home: Behind Thailand Mapping นิทรรศการแสดงแผนที่ของประเทศไทย ที่ชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในสังคมและชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงดงามหรือความท้าทายของการพัฒนาที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ
  • (Talk to change) Behind Talk: Behind to Beyond พลังของคนตัวเล็ก การบอกเล่าเรื่องราวพลังของการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวแทนพื้นที่รูปธรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละภาค
  • (Play) Behind Board Game พลังพลเมือง โดยกลุ่มพลเรียน
  • (See) Behind By พลเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และปิดท้ายด้วย Behind กลางแปลง รับลมยามค่ำคืน ชมหนังสารคดีกะเทาะตีแผ่การศึกษา บนดาดฟ้าพิพิธบางลำพู พร้อมแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดร่วมกัน

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในห้องเรียน เราเชื่อว่าการได้เดินออกมาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ คิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบนั่นคือการเรียนรู้ที่ทุกคนทำได้ตลอดชีวิต และมันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อเราได้ออกมาเจอคนที่มีความคิด ความหวัง และหัวใจคล้าย ๆ กัน

มาร่วมกันส่งเสียงเพื่อแสดงความเป็นพลเมือง … เพราะพลังการมีส่วนร่วมอยู่ในมือเรา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ