Behind Pakbara: อนาคตโหม๋เราเอาพรือดี?

Behind Pakbara: อนาคตโหม๋เราเอาพรือดี?

ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนา

ทรัพยากรธรรมชาติ กับการพัฒนาจากวิกฤติสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้แปรเป็นวิกฤติโลกร้อนที่ซ้อนด้วยเรื่องการปนเปื้อนของสารต่าง ๆ วิกฤติความแปรปรวนของสภาพอากาศ เราไม่ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เรากำลังเผชิญกับความแปรปรวน รวมทั้งวิกฤติเรื่องอาหาร และวิกฤติภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศชั้นนำของโลก จะเห็นได้ว่า วิกฤติต่างๆ เหล่านี้ครอบเราอยู่และยังไม่มีการแก้ไข และยังมีแต่การเพิ่มน้ำหนักเข้าไปอีก มาดูที่ประเทศไทย เราเผชิญทุกวิกฤติ ราคาอาหาร ข้าว น้ำมัน แปรปรวนตลอดเวลา สิ่งแวดล้อม ความปนเปื้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งความแปรปรวนในทุกที่ รวมทั้งในภาคเกษตรที่เกิดขึ้นมากมาย นี่คือบริบทที่เราเผชิญอยู่

หากพิจารณาถึงสถานการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทย ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาด้านสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการพัฒนาที่ชาวบ้านพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พวกเขาไม่เคยแม้แต่จะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการพัฒนา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เช่น มาตรา 66 และมาตรา 67 ก็ดี หรือ รัฐธรรมนูญพ.ศ.2554 ก็ดี ต่างรับรองสิทธิชุมชนไว้หลายมาตรา ที่ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมในการรักษาดูแล

สิทธิดังกล่าวนี่เอง เป็นปัจจัยสำคัญและอำนาจอันชอบธรรมที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งในชุมชนและผู้ได้รับกระทบจากการพัฒนาได้รวมตัวกันคัดค้าน และต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ประชาชนพึงมีพึงได้ ขณะที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว คัดค้าน แต่แผนพัฒนาต่างๆ ก็หาได้ชะลอหรือยุติลง กลับยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยไม่รับฟังต่อเสียงทักท้วง คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด

ในภาคใต้รัฐมีนโยบายพัฒนาหลายโครงการ เช่น การจัดทำเขื่อน, โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านดิน การละเมิดสิทธิในการศึกษาของโรงเรียนในชนบทด้วยการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ตามชุมชน, อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ ที่ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติแส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน, กรณีปัญหาการปฏิรูปที่ดินไม่เป็นธรรม กรณีโครงการท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย – มาเลเซีย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรงที่ชุมชนลุกขึ้นมาสู้, โรงไฟฟ้าท่าศาลา หัวไทร ที่จะสร้างเป็นมาบตาพุดสอง แต่ท้ายที่สุดแล้วชาวบ้านก็ไม่ยอม ลุกขึ้นมาสู้

รวมทั้ง ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล หวังทำแลนด์บริดจ์ อันดามันเป็นแหล่งรายได้ประเทศ หากเรือน้ำมันแตกลำเดียว รีสอร์ทต่างๆ ก็เจ๊งหมด นักธุรกิจจึงรวมตัวกัน จากแลนด์บริดจ์ที่สร้างเสร็จแล้วตอนบน ก็ขยับลงมาข้างล่าง จนทำให้พี่น้องปากบาราลุกฮือกันขึ้นมาต่อสู้

สถานการณ์วันนี้ที่สตูล

สตูล เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย (ทางชายฝั่งทะเลอันดามัน) คำว่า สตูล มาจากคำภาษามลายูเกดะห์ว่า ซะตุล (ستول) แปลว่ากระท้อน ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่นี้ โดยชื่อเมือง นครสโตยมำบังสการา (มลายู: Negeri Setoi Mumbang Segara) นั้นหมายความว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งในเขตเมืองไทรบุรี เรียกว่า มูเก็มสะตุล (مقيم ستول) ประวัติความเป็นมาของเมืองสตูลจึงเกี่ยวข้องกับไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า “ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแยกกันเป็นสองพวกคือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล และฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น”

เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลนั้นยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี โดยเมืองสตูลได้แยกออกจากไทรบุรีอย่างเด็ดขาดตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องการปักปันดินแดนนะหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ.127 (พ.ศ.2452) จากหนังสือสัญญานี้ยังส่งผลให้เมืองไทรบุรีและเมืองปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนเมืองสตูลยังคงเป็นของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปักปันดินแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2453) ในปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของประเทศไทย พื้นที่จังหวัดสตูลทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน โดยมีทิวเขาที่สำคัญแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย คือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาสันกาลาคีรี พื้นที่ของจังหวัดค่อย ๆ ลาดเอียงลงสู่ทะเลด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ โดยยังมีภูเขาน้อยใหญ่อยู่กระจัดกระจายในตอนล่าง ภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาจีน เขาบารัง เขาใหญ่ เขาทะนาน และเขาพญาวัง และมีที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบลงไปเป็นพื้นที่ป่าชายเลนน้ำเค็มขึ้นถึง อุดมไปด้วยป่าแสมและป่าโกงกาง สตูลเป็นจังหวัดที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คงมีแต่ลำน้ำสั้น ๆ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด

การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 36 ตำบล 257 หมู่บ้าน โดย 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอท่าแพ อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอมะนัง ทั้งนี้ จังหวัดสตูลเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดของประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีมากถึงร้อยละ 67.8 ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู มีมัสยิดกลางประจำจังหวัดคือ มัสยิดมำบัง รองลงมาคือชาวพุทธซึ่งมีอยู่ร้อยละ 31.9 มีวัดทั้งหมด 30 แห่ง และที่เหลือคือศาสนาคริสต์ ซึ่งศาสนสถานอยู่ 3 แห่งในเขตอำเภอเมืองสตูล ทุ่งหว้า และละงู

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ในจำนวนนี้มีประชากรร้อยละ 9.9 สืบเชื้อสายมาจากชาวมลายู โดยชาวไทยเชื้อสายมลายูในสตูลมีความแตกต่างจากชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบปัตตานีแต่จะมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับชาวมลายูในรัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) และได้รับการผสมผสานกับอิทธิพลของวัฒนธรรมไทย (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

อำเภอละงู

อำเภอละงูมีอาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอทุ่งหว้า ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง และอำเภอท่าแพ ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอท่าแพและทะเลอันดามัน และทิศตะวันตก จรดทะเลอันดามัน

อำเภอละงูแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 61 หมู่บ้าน ได้แก่1. กำแพง (Kamphaeng) 12 หมู่บ้าน 2. ละงู (La-ngu) 18 หมู่บ้าน 3. เขาขาว (Khao Khao) 7 หมู่บ้าน 4. ปากน้ำ (Pak Nam) 7 หมู่บ้าน 5. น้ำผุด (Nam Phut) 11 หมู่บ้าน 6. แหลมสน (Laem Son) 6 หมู่บ้าน

ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล “ปากน้ำเมืองถ่าน” นามที่แปลมาจากคำว่ากัวลาบารา (Kualabara) ในอดีตคือชื่อดั้งเดิมของเมืองท่าเรือ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใน อ.ระงู จังหวัดสตูล ด้วยเหตุที่เป็นเมืองท่าส่งออกถ่านไม้โกงกางในสมัยนั้น แต่ในเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชนก็มักมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น อีกเรื่องราวซึ่งบอกเล่ากล่าวกันว่าบ้านปากบาราที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบันนั้น “ปากบารา” มาจากคำว่า “ กัวลาปารา” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่าหินที่ชุกชุมของปลาแดง ซึ่งเป็นปลาที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาปารา จะพบมากในบริเวณนี้ จึงเพี้ยนมาเป็นปากบาราในปัจจุบัน

หมู่บ้านนี้มีความเป็นมาของชื่อและความเป็นมาในอดีตที่น่าสนใจ และวันนี้ ณ หมู่บ้านแห่งนี้กำลังเกิดเหตุการณ์ที่กำลังระอุอึกทึกครึกโครมอยู่ในหน้าสื่อมวลชนในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา และเริ่มระอุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยพี่น้องภายใต้การเคลื่อนไหวของคนสตูลและพันธมิตรที่เกาะติดการพัฒนาต่างๆ ในภาคใต้ ได้ผนึกกำลังกันลุกขึ้นแสดงพลังไม่เห็นด้วยและขอตรวจสอบความเป็นมา และเป็นไปของโครงการดังกล่าวอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจัง คงต้องติดตามว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นที่นี่

ถ้าเราจะมาทำความรู้จักชุมชนบ้าน “ปากบารา” กันสักนิดก็น่าจะทำให้ได้เห็นภาพจากอดีตเพื่อเชื่อมต่อกับปัจจุบันได้บ้าง กล่าวกันว่าชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยที่ปากบารา คือ “ ชาวเล (ชาวน้ำหรืออูรักลาโว้ย)” ซึ่งอพยพมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งในขณะนั้นบ้านปากบารายังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ปัจจุบันเมื่อมีคนเมืองเข้ามาอาศัยจำนวนมากขึ้นทำให้ชาวเลกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ก่อนอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่ที่ 1 ในปัจจุบัน (เดิมชื่อ ลากาตูโยะห์)

ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนประมงชายฝั่งบริเวณอ่าวปากบารา กล่าวกันว่าในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากทางราชการเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น จึงเตรียมกำลังไว้ป้องกันรักษาประเทศ ดังนั้นบ้านไหนที่มีลูกผู้ชายจะถูกทางราชการเกณฑ์ไปเป็นตำรวจ เป็นทหาร มีชาวบ้านจำนวนมากได้หนีการเกณฑ์ตำรวจและทหารในครั้งนั้น มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งหนีมาจากจังหวัดระนอง มาอาศัยอยู่ที่อ่าวตะโล๊ะอูดัง บนเกาะตะรุเตา โดยได้มาทำสวนยาง ทำสวนมะพร้าว ทำไร่ข้าว เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว ต่อมาก็ได้มีผู้คนจากถิ่นอื่นๆ ได้แก่ จากสุราษฎร์ธานี กระบี่ อพยพเข้ามาอยู่อาศัยที่เกาะตะรุเตาเพิ่มมากขึ้น และคนที่อพยพมาอาศัยอยู่บนเกาะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกันนักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรค์ต่อการหลบหนี จึงได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโล๊ะว่าว และอ่าวตะโล๊ะอุดัง

ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการนำนักโทษชุดแรกประมาณ 500 คน มายังเกาะตะรุเตา และทยอยเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมือง 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดังด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 จากภาวะสงครามญี่ปุ่น (สงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้นักโทษถูกทางการตัดเสบียงอาหารและยารักษาโรค เกิดภาวะอดอยาก นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมชาวบ้านและเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำใกล้เคียงและบริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น ประกอบกับได้เกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันต่อแพไม้ไผ่ อพยพข้ามฝั่งมาอาศัยอยู่บริเวณชายหาดปากบารา หาเลี้ยงครอบครัวโดยการทำประมงชายฝั่ง โดยใช้เรือแจวเป็นพาหนะในการออกทะเล

จากประมาณปี พ.ศ.2489 รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมาลายูอยู่ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตรัฐบาลไทยในการส่งกองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาและได้ทำการปราบปรามจนสำเร็จ และกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ชาวบ้านบางส่วนก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่เกาะตะรูเตาดังเดิม

ต่อมาในปี 2517 ทางราชการได้ประกาศให้พื้นที่เกาะตะรุเตาเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติและขับไล่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะให้ออกจากพื้นที่เกาะตะรุเตา และประชาชนจำนวนหนึ่งก็มาอาศัยปลูกบ้านเรือนอยู่ที่อ่าวปากบาราในปัจจุบัน ชุมชนประมงปากบาราจึงขยายและเติบโตขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของบ้านเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเกาะกว่า 100 เกาะในทะเล มีอุทยานแห่งชาติอย่างเกาะตะรุเตาที่ท่าเรือปากบาราคือประตูสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพื้นที่

เหตุก็เพราะว่าสถานที่อันเป็นท่าเรือประวัติศาสตร์แห่งนี้กำลังถูกกำหนดเป้าหมายให้เป็นท่าเรือน้ำลึกสำคัญของภาคใต้ ภายใต้โครงการสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา หรือแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบนโยบายเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2524-2525 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาปัดฝุ่น และสานต่อด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปัจจุบัน จากการติดตามข้อมูลก็พบว่าพื้นที่ตรงนี้ถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์สำคัญๆ ในทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

และเราอาจจะต้องสูญเสียพื้นที่ทางทะเลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,730 ไร่ อันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ที่ชาวบ้านใช้จับกินและจับขายหาเลี้ยงชีพ ภูเขาต้องถูกระเบิดถึง 8 ลูก และทรายชายฝั่งกว่า 20 ล้านคิวจะถูกขุดเพื่อนำไปถมทะเลใช้สร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ดินถูกเวนคืนในราคาถูกเพื่อใช้ขยายถนนและสร้างรถไฟรางคู่ แถมพื้นที่ชายฝั่งก็ถูกเวนคืนไปทำคลังน้ำมันขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ภาษีของประชาชนเองก็จะถูกนำไปลงทุนกับโครงการเหล่านี้ในจำนวนมหาศาลเป็นหลายแสนล้านบาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับตกอยู่กับกลุ่มไหนบ้างคนในพื้นที่มีคำถาม และการจะเดินหน้าโครงการนี้โดยใช้วิธีการปกปิดพูดความจริงไม่หมด ใช้อิทธิพลมืดข่มขู่ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงมีส่วนกดดันให้ผู้คนในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาชน จับมือกันลุกขึ้นสู้และตั้งคำถามมากมายต่อโครงการ

เสียงคัดค้านและมีคำถามมากมายต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า พี่น้องชาวบ้านปากบารา ที่มีอยู่กว่า 1,173 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 4,010 คน ซึ่งประกอบอาชีพหลักคืออาชีพทางการประมงและอาชีพที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริเวณอ่าวปากบารา โดยเฉพาะบ้านปากบารา หมู่ที่ 2 ยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญของอำเภอละงู ซึ่งได้เปลี่ยนจากปากน้ำเมืองถ่านในอดีต มาเป็นท่าเรือประมง และท่าเรือท่องเที่ยวสำหรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆ ทั้งตะรุเตา เกาะเภตรา และเกาะอื่นๆ และที่สำคัญวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของชุมชนประมงดั้งเดิมบริเวณอ่าวปากบารา ก็ยังคงต้องฝากไว้กับท้องทะเลดังเช่นในอดีต การจะกำหนดให้ที่นี่เป็นท่าเรือน้ำลึกเพื่อตอบสนองคำว่า “เพื่อการพัฒนา” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบคำถามทุกคำถามที่เกิดขึ้น (ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000056820)

โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard : SSB) เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจค” มีโครงการย่อยๆ ที่เป็นองค์ประกอบมากมาย ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ภูเก็ต สตูล ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศหลายอย่างเช่น ท่องเที่ยว ขนส่งทางทะเล ปิโตเคมี และ พลังงาน โดยหัวใจสำคัญในโครงการ คือ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมสองฝั่งทะเลไทยคืออ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เข้าด้วยกัน โครงพื้นฐานพวกนี้ก็ใด้แก่ รถไฟทางคู่สำหรับลำเสียงสินค้า ถนมมอเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึก ท่อส่งก๊าช-น้ำมัน เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยง สองฝั่งทะเลไทยเข้าด้วยกันนี้ว่า Land Bridge เป็นสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงไปทั้งโลก

เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด เกิดขึ้นจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เริ่มต้นแนวคิดและกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 โดยได้ว่าจ้างบริษัท Hunting Technical Service เพื่อศึกษาการใช้ทรัพยากรในภาคใต้ ต่อมา สศช.ได้กำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2523 ส่งผลให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อย่างเป็นรูปเป็นร่างในปี พ.ศ.2536

โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในช่วงแรก มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดประตูการค้าแห่งใหม่

เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมและการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน หรือนโยบายการสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ประกอบด้วย ทางด่วน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลที่ปลายสะพานเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้พื้นที่ 5 จังหวัดเป้าหมายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม การขนส่งทางทะเล ธุรกิจบริการ และการเงินการตลาดของภูมิภาค รวมทั้งการท่องเที่ยวระดับชาติ

แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ประกอบด้วยแผนหลัก 6 แผน ได้แก่

1.สร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ คือถนนหมายเลข 44 กำหนดไว้ 3 เส้นทางคือ ระนอง-ชุมพร-บางสะพาน, สงขลา-สตูล และ กระบี่-ขนอม (นครศรีธรรมราช) โดยถนนสายกระบี่-ขนอม สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปี พ.ศ.2546 แต่ยังไม่ได้ใช้เพื่อการอุตสาหกรรม

2.พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตรครบวงจรบนเส้นทางเศรษฐกิจใหม่

3.พัฒนาฐานอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี

4.พัฒนาท่าเรือน้ำลึก

5.พัฒนาศูนย์กลางให้บริการกระจายสินค้าและระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ระดับโลกตอนปลายของสะพานเศรษฐกิจทั้งสองฝั่งทะเล

6. พัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภาคใต้ในเชิงนิเวศ-วัฒนธรรม

โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ซึ่งรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ 3 โครงการที่สำคัญ กล่าวคือ

1.โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มีแผนก่อสร้างท่าเรือที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มีแผนก่อสร้างที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยจะมีโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกจากสองฝั่งทะเลด้วย เป็นโครงข่ายคมนาคมเต็มรูปแบบ ทั้งถนน เส้นทางรถไฟ และระบบท่อส่งน้ำมันโครงการนี้ผ่านการศึกษาและผลักดันมาหลายรัฐบาล โดย สศช.ตั้งเป้าให้ภาคใต้เป็นทางเลือกในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (การขนส่ง) ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยตอนล่างด้วยระบบคมนาคมที่ทันสมัยและได้มาตรฐานแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันนั้น

เป้าหมายอยู่ที่ จ.สงขลา เนื่องจากอยู่ในโซนพัฒนาของกลุ่มจังหวัดชายแดน ประกอบด้วย สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดย สศช.วิเคราะห์ว่าพื้นที่นี้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ระบบรถ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 1 เขื่อนบางลาง โรงแยกก๊าซจะนะ (475 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) โรงไฟฟ้าจะนะ (700 เม็กกะวัตต์) ศูนย์ธุรกิจการค้า (ที่ อ.หาดใหญ่) และมีมหาวิทยาลัยถึง 8 แห่ง

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และองค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะโครงการที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ เคยจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นกันมาแล้วหลายครั้ง มีการนำเสนอข้อมูลการกัดเซาะของน้ำทะเลบริเวณชายหาดฝั่งอ่าวไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤติ เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างไรก็ดี ภาคเอกชนในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างสุดตัว เพราะเห็นว่าถ้าโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูลไม่เกิดขึ้น จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาการก่อความไม่สงบอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะโครงการผลักดันให้ จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล

2.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แผนงานก่อสร้างทั้งระบบมีจำนวนถึง 8 โรง เพื่อจัดหาไฟฟ้าป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ ไม่ติดขัด พื้นที่สำคัญที่มีแผนจะก่อสร้างคือ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 1 โรง และใน จ.นครศรีธรรมราช 2 โรงกล่าวเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช สถานที่ก่อสร้างจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึกเพื่อความสะดวกในการขนส่งถ่านหิน ต้องมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และการคมนาคมสะดวก ปัจจุบันมีการสำรวจสถานที่สำหรับก่อสร้างอยู่ 2 แห่ง คือที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลานอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติซึ่งก่อสร้างและเดินเครื่องอยู่แล้วที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยในอำเภอเดียวกันนี้ยังมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งด้วยส่วนที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีความพยายามผลักดันให้ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แต่ถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้านจนโครงการต้องชะงักไป

3.โครงการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทได้สิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันและแหล่งปิโตรเลียมในทะเล แปลงสำรวจโครงการนี้ส่วนใหญ่อยู่นอกชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี โดยมีพื้นที่สำรวจหลายพันตารางกิโลเมตรอย่างไรก็ดี ขอบแปลงสำรวจหลายจุดอยู่ใกล้กับ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังอื่นๆ จึงถูกต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่มากพอสมควรนอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ปากน้ำคลองกลาย บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย (ข้อมูลจาก https://www.isranews.org/south-news/academic-arena/1944-q-q-sp-1224679361.html)

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้เป็น Southern Seaboard ในรูปแบบเดียวกับ Eastern Seaboard คือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ โดยมีท่าเทียบเรือเป็นเสมือนก้าวแรกของการพัฒนา แต่หน้าตาของภาคใต้อาจจะแตกต่างจากระยองออกไปสักนิด เพราะมี ‘แลนด์บริดจ์’ สะพานแผ่นดินที่เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ผ่านการขนส่งโดยรถไฟ เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องอ้อมช่องแคบมะละกาอีกต่อไป

โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กินพื้นที่ขนาดราว 4,000 ไร่ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 นั้น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือกรมเจ้าท่า ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

พื้นที่เรียนรู้

1.อนาคต อ่าวปากบารา กับโครงการท่าเรือน้ำลึก: บ้านปากบารา และ ท่าเรือปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล บ้านปากบาราเดิมชื่อว่า “กัวลาบารา” มีความหมายว่า เป็นปากน้ำเมืองถ่านที่มาจากปากคลองในอดีตเป็นท่าเรือที่สาคัญ มีเรือต่างประเทศเข้าบรรทุกสินค้าประเภทจาพวกไม้ สาหรับไปทาฟืน ถ่านไม้ นำไปเผาถ่านที่เกาะหมาก หรือเกาะปีนัง (Pulau Penang or Penang Island) ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าขาออก ประเภท ปลาเค็ม หอยแห้ง เป็ด ไก่ มะพร้าวแห้ง และยางพารา สินค้าขาเข้า ประเภทบุหรี่ น้ำมันก๊าซ น้ำตาล ผ้า ผ้าปาแต๊ะ เชือก น้าอัดลม ตะปู ฯลฯ บ้านกัวลาบารา เป็นท่าเรือที่สาคัญ เรือสินค้าที่มาจากเกาะปีนังแวะรับสินค้าจะต่อไปยังท่าข้ามและท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2472 กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จมาบ้านกัวลาบารา และได้มีดำริให้เปลี่ยนชื่อบ้านกัวลาบาราเป็น “บ้านปากบารา” และตำบลปากบารา จากนั้นในปี 2489 ปลัดอำเภอประจำตำบลได้เสนอให้รวมตำบลปากบารากับตำบลปากละงู เป็นตำบลเดียวกันให้ชื่อว่า “ตำบลปากน้ำ” จนกระทั่งปัจจุบัน

อ่าวปากบารา ตั้งอยู่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นแค่ที่ตั้งท่าเรือที่เป็นประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะเภตรา ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ และเกาะบูโหลน เท่านั้น

ทั้งที่จริงในทางนิเวศวิทยาอ่าวปากบาราเปรียบเหมือนห้องเครื่องชั้นในของท้องทะเลสตูล ที่มีองค์ประกอบทางธรรมชาติครบครัน เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในขณะที่หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง – ราวี เกาะหลีเป๊ะ ฯลฯ รวมถึงร่องน้ำลึกต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เปรียบเหมือนห้องเครื่องมรดกทรัพยากรทางทะเลชั้นนอก ที่สำคัญทางนิเวศวิทยาของ “อันดามันใต้”

แหล่งธรรมชาติทางทะเลอันมหัศจรรย์ทั้งสองเปรียบเสมือนคู่แฝดกัน แข่งขันกัน พึ่งพากัน อ่อนโอนผ่อนตามกัน สร้างสรรค์ปะการังแข็งและปะการังอ่อนเจ็ดสีทั้งบริเวณน้ำตื้นและน้ำลึก มีกระแสน้ำสร้างหาดหินงาม หาดทรายขาว เกาะหินซ้อน และสร้างโลกใต้ทะเลให้เป็นสวรรค์ที่นักท่องทะเลใฝ่ฝันถึง อีกทั้งยังมีแนวแหล่งฟอสซิลที่ทอดยาวจากบนฝั่งไปถึงเกาะตะรุเตาทำให้หน่วยงานทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ด้วยการพิจารณาผลักดันให้อุทยานแห่งชาติฝั่งอันดามันเป็นมรดกโลก และผลักดันให้พื้นที่แหล่งฟอสซิลเป็นอุทยานธรณีวิทยามรดกของจังหวัดสตูล ของชาติ และของโลกด้วย

อุทยานแห่งชาติทางทะเล อาณาจักรแห่งท้องทะเลทั้งสอง “ตั้งแต่ชายฝั่งจรดก้นสมุทร” ที่แวดล่้อมด้วยป่าชายเลน หาดทราย สันดอน และเกาะแก่งต่าง ๆ คือ พื้นที่ให้กำเนิดสัตว์น้ำที่จะเติบโตขึ้นเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของมนุษย์ เป็นแรงดึงดูดผู้คนกลุ่มต่าง ๆ มาตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย จนสร้างอารยธรรมทางสังคมที่แตกต่างหลากหลายมาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งชุมชนที่อยู่เฉพาะกับทะเล และชุมชนกึ่งเมืองในปัจจุบัน ดังนั้นการดำรงอยู่ของอ่าวปากบาราจึงเปี่ยมด้วยความหมายและความสำคัญอันยิ่งยวด

กระนั้นก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการท่องเที่ยวทะเลสตูล มนต์ความงามของโลกใต้ทะเล ทำให้เรามักหลงลืมที่จะกล่าวถึง “อ่าวปากบารา” ทั้งที่การมีอยู่ของอ่าวปากบาราคือการดำรงอยู่ของโลกทะเล ในฐานะเป็นสายธารร่วมกำเนิดมรดกในระบบนิเวศทางทะเลเดียวกัน เชื่อมั่นว่าหากคนทั่วไปได้สัมผัส รับรู้ อย่างที่คนในท้องถิ่นรับรู้ จะตระหนักได้ว่า “อ่าวปากบารา;เป็นสวรรค์ที่ไม่ควรหลงลืม” (ข้อมูลจาก FB Pakbara Paradiso ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้)

2.การพัฒนาเมืองกับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชน: บ้านท่ามาลัย และ บ้านตะโละใส ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล “บ้านท่ามาลัย” มาจากชื่อของต้น “เตยบาหลัย” มีดอกสีขาวส่งกลิ่นหอมในตอนเช้าขึ้นอยู่จำนวนมาก สมัยก่อนชาวบ้านนำมาใช้สานเสื่อ สานจงไว้ใส่ของ และสานเฌอเป็นภาชนะไว้ใส่ข้าวหลังเก็บเกี่ยว ที่นี่จึงได้ชื่อว่า “บ้านท่าบาหลัย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านใช้ “ท่าบาหลัย” นี้เป็นที่ว่าความเป็นศาลฟ้องร้องความยุติธรรม แล้วเพี้ยนกลายเป็น “บ้านท่ามาลัย” จนปัจจุบัน

บ้านตะโละใส มีหลักฐานเชื่อได้ว่าก่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปี ที่ผ่านมาเดิมเรียกว่าบ้าน “ โคกรัก ” เล่ากันว่าบรรพบุรุษคนแรกที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.ใดไม่แน่ชัด เป็นชาวอินโดนีเซียชื่อ โต๊ะโบ๊ะ โต๊ะสี และเนื่องจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานมีลักษณะเป็นอ่าวและมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านถือว่าเป็นต้นตะเคียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เงาของต้นตะเคียนนี้จะทอดยาวไปถึงเมือง อาเจะ ในอินโดนีเซียเรียกว่า ตะโละจาหงัย ซึ่งเป็นภาษามาลายูแปลว่า“อ่าวตะเคียน” ชุมชนใหญ่เมื่อในอดีตเป็นเนินสูงด้านทิศตะวันออกมีต้นรักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นชาวบ้านที่ผ่านไปมามักเรียกกันว่า โคกรักจนติดปากและมีท่าเรือที่สำคัญที่มีเวิ้งอ่าวที่นักเดินเรือที่ไปค้าขายขนส่งสินค้าไปต่างประเทศมักมาหลบลมฝนในหน้าฤดูมรสุมซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวและมีตะไคร้ขึ้นเป็นจำนวนมากต่อมาขุนบาราบุรีรักษ์ได้รวมสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเดียวกันว่า บ้านตะโละสาไหร มาจากภาษามาลายู “ตะโละ” แปลว่า “อ่าว” และคำว่า “สาไหร” แปลว่า “ตะไค้ร” “บ้านตะโละสาไหร” เพราะคนทั่วไปรู้จักและเรียกกันจนชินหูเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วแต่ในปัจจุบันบ้านตะโละสาไหรมาเป็นบ้านตะโละใสจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ บริเวณบ้านท่ามาลัย และบ้านตะโละใส คือ บริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ขณะที่ชุมชนได้มีการเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ธนาคารปูม้า ร้านค้าคนจับปลา รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

3.วิถีประมงพื้นบ้าน และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน อ่าวปากบารา: บ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูลบ้านบ่อเจ็ดลูก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นแหล่งท่องเที่ยวรองจากเกาะต่างๆที่มีอยู่ในจังหวัดสตูล เนื่องจากทัศนียภาพของพื้นที่บ่อเจ็ดลูกล้อมรอบไปด้วยน้ำทะเลสีเขียว มีชายหาด ถ้ำต่างๆ หน้าผา แหล่งปะการัง แหล่งหอยตะเภาซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อ โบราณสถานบ่อ 7 ลูก ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถือเป็นต้นกำเนิดของชุมชนแห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกทั้งทางเรือ ทางรถ ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว เดือนพฤศจิกายน – เมษายน

บ้านบ่อเจ็ดลูก ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราราว 7 กม. บนเกาะมีชายหาดขาวสลับกับโขดหินรูปร่างแปลกตา บรรยากาศเงียบสงบ อีกทั้งเกาะยังมีชุมชนชาวเกาะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวประมง

บ้านบ่อเจ็ดลูก เดิมเรียกว่า ลางาตูโยะ เดิมราษฎรเข้าไปอาศัยบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์ เพื่อเลี้ยงวัวควาย หลังจากนั้นมีชาวเลจากเกาะบุโหลนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ปัญหาไม่มีน้ำจืดใช้จึงช่วยกันขุดบ่อหาแหล่งน้ำจืดมาใช้จึงเป็นเรื่องประหลาดเมื่อพบว่า บ่อที่มีน้ำจืดสนิทที่สุด เป็นบ่อที่อยู่ใกล้ทะเลมากที่สุด ส่วนอีกหกบ่ออยู่ห่างออกไปกลับเป็นน้ำกร่อยและมีน้ำน้อยที่สุด จึงมีการสันนิษฐานว่าผู้ขุดบ่อน้ำไว้จนบัดนี้อายุของบ่อไม่น้อยกว่า 80-90 ปี ทุกวันนี้ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกได้บูรณะบ่อทั้งเจ็ดโดยการขุดบ่อ ใส่ท่อซีเมนต์กลมโดยใช้อิฐดินเผาตกแต่งบริเวณขอบบ่อให้สวยงาม

พื้นที่ของบ้านบ่อเจ็ดลูก มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีภูเขาอยู่ด้านในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ริมชายหาด ดินที่ราบเชิงเขามีคลองที่สำคัญ คือ คลองบ้านบ่อเจ็ดลูกทางทิศตะวันตกจะมีเขาใหญ่ ซึ่งเป็นเขาที่สวยงามมากตั้งอยู่บนเกาะบริเวณ ปากน้ำ บ้านปากบารา ซึ่งเป็นสถานที่ในเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลปากน้ำด้วย

ทั้งนี้ ในอนาคต หากแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้เกิดขึ้น บริเวณชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จะกลายเป็นแหล่งดูดทรายขนาดใหญ่ รองรับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนว่า นี่คือโจทย์อันท้าทายชีวิตคนบ้านบ่อเจ็ดลูกอย่างยิ่ง

0000

จาก “BEHIND 4 ภาค” มาถึง “BEHIND กลางแปลง”

BEHIND กลางแปลง คือ พื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ใน “BEHIND 4 ภาค” จาก Behind Bangkok สู่ Behind Chiangkhong สู่ Behind Pakbara มาจนถึง Behind Amnatcharoen ที่ได้มารวมตัวกันขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำเสนอเสียงสะท้อนและมุมมองความคิดในฐานะพลเมืองที่มีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และการสื่อสารมุมมองความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมต่อจิ๊กซอร์สถานการณ์เรื่องราวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยความร่วมมือของ โครงการหนุนเสริมพลังเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคสังคม (สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ 4 ภาค (กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มพลเรียน กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ สถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา) สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประชาคมบางลำพู และพิพิธบางลำพู

จนมาสู่การจัดกิจกรรม “Behind กลางแปลง” ขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Behind Old Town หลังม่านย่านเมืองเก่า” ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธ.ค. 2560 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ติดป้อมพระสุเมธ)

ทั้งนี้ “BEHIND กลางแปลง” ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2560 จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.30 – 21.00 น. ไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

  • (Share) Behind My Home: Behind Thailand Mapping นิทรรศการแสดงแผนที่ของประเทศไทย ที่ชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในสังคมและชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงดงามหรือความท้าทายของการพัฒนาที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ
  • (Talk to change) Behind Talk: Behind to Beyond พลังของคนตัวเล็ก การบอกเล่าเรื่องราวพลังของการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวแทนพื้นที่รูปธรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละภาค
  • (Play) Behind Board Game พลังพลเมือง โดยกลุ่มพลเรียน
  • (See) Behind By พลเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และปิดท้ายด้วย Behind กลางแปลง รับลมยามค่ำคืน ชมหนังสารคดีกะเทาะตีแผ่การศึกษา บนดาดฟ้าพิพิธบางลำพู พร้อมแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดร่วมกัน

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในห้องเรียน เราเชื่อว่าการได้เดินออกมาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ คิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบนั่นคือการเรียนรู้ที่ทุกคนทำได้ตลอดชีวิต และมันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อเราได้ออกมาเจอคนที่มีความคิด ความหวัง และหัวใจคล้าย ๆ กัน

มาร่วมกันส่งเสียงเพื่อแสดงความเป็นพลเมือง … เพราะพลังการมีส่วนร่วมอยู่ในมือเรา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ