Behind Chiangkhong: เชียงของ ของใคร?

Behind Chiangkhong: เชียงของ ของใคร?

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงของ

“เชียงราย” เป็นจังหวัดทางตอนเหนือสุดของประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือ พม่า และลาว และยังอยู่ใกล้กับเมืองสิบสองปันนาของประเทศจีนแบบใกล้แค่เอื้อม การเดินทางก็ทำได้สะดวกเพราะมีแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันในหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว/ไทย-พม่า ทำให้เชียงรายจึงเป็นดังเมืองการค้าเชื่อมโยงชายแดนที่มีความสำคัญยิ่ง และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนถึง 3 เขตอำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ

โดย “อำเภอเชียงของ” เป็นที่ตั้งของ “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4” (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อระหว่าง บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อปี 2556 เป็นการเชื่อมต่อกับเส้นทาง R3A ที่เชื่อมต่อระหว่างจีน ลาว และไทย เพื่อให้การคมนาคมระหว่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วย

ป่าบุญเรือง

ป่าชุมชนบุญเรือง ตั้งอยู่ที่ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ โดยตำบลบุญเรืองประกอบด้วยหมู่บ้านจำนวน 12 หมู่บ้าน โดยตำบลบุญเรืองมีพื้นที่ประมาณ 11.04 ตร.กม. หรือ 6,900 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ติดกับภูเขาน้อยใหญ่ และป่าไม้เป็นเขตป่าถาวร ตามแนวถนนด้านทิศตะวันออก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 ฟุต

ทั้งนี้ ป่าชุมชนบุญเรือง เป็นป่าที่มีระบบนิเวศย่อยที่หลากหลาย สามารถแบ่งสังคมพืชได้ 3 ประเภท โครงสร้างป่ามีความสมบูรณ์ มีต้นไม้กระจายครบทุกชั้นความโต มีความหนาแน่นเฉลี่ย 122 ต้นต่อไร่ มากกว่าเกณฑ์ภายใต้นิยามป่าเสื่อมโทรมถึง 8 เท่า อีกทั้งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญถึง 17,247 ตันเหนือดิน มีอัตราการทดแทนลูกไม้และไม้หนุ่มที่สูงในอัตรา 2,204 และ 835 ต้นต่อไร่ ตามลำดับ

นอกจากนี้ พื้นที่ป่าบุญเรืองยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเชื่อมต่อกับลำน้ำอิง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จึงพบระบบนิเวศย่อยอีก 8 ประเภท ได้แก่ ฮ่อง ห้วย ดอน วัง ญ่าน หาดทราย หนอง และบวก ที่ทำให้พบความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ทั้งพืช สัตว์ป่า และปลา รวมอย่างน้อย 271 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ “เสือปลา” ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ยังไม่นับรวมถึงพรรณพืชอีกอย่างน้อย 102 ชนิด ที่ชุมชนได้อาศัยพึ่งพิงเก็บหา

ป่าชุมชนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีนี้ยังเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” โดยสภาพ อีกทั้งเป็นป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดใน “ลุ่มน้ำอิง” ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะใช้ประโยชน์เรื่องการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่าได้ตลอดทั้งปีแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังเป็น “พื้นที่รับน้ำ” หรือแก้มลิงตามธรรมชาติในช่วงหน้าน้ำ ที่มีการคำนวณว่าหากน้ำเข้าท่วมเต็มพื้นที่ป่าบุญเรืองในระดับสูง 1 เมตร ป่าชุมชนจะช่วยรับน้ำถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายหมู่บ้านจึงร่วมกันดูแลมาหลายชั่วคน (ผลการศึกษาของกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำอิงและภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC))

หากแต่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ กำลังถูกรุกคืบด้วยนโยบายพัฒนา เมื่อรัฐบาลได้มีแผนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 ที่ จ.เชียงราย ภายในปี 2559 ครอบคลุมทุกตารางนิ้วใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ โดยเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ชักชวนสื่อมวลชน 15 สำนัก ลงพื้นที่ “ป่าชุมชนบุญเรือง” ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งถูกเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) พิจารณาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ตามหนังสือราชการที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกให้ตั้งแต่ปี 2510 ระบุไว้ว่า ป่าบุญเรือง เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่ 3,021 ไร่ แต่ข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายทางอากาศปี 2558 พบว่าผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 3,700 ไร่ ขณะที่ตัวแทนจังหวัดต้องการขอใช้พื้นที่จำนวน 1,757 ไร่ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ถูกจังหวัดเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ซึ่งหากคณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพิกถอนสถานะที่ดินให้กลายเป็น “ที่ราชพัสดุ” ก่อนจะให้ กรมธนารักษ์ เข้ามาบริหารจัดการ เช่นเดียวกับที่ดำเนินการไปแล้วใน อ.แม่สอด จ.ตาก

โดยในมุมมองของภาครัฐแล้ว พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ ไม่ได้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้เป็นป่าไม้ถาวร ข้อมูลที่ระบุไว้เป็นเพียงที่ดินสาธารณประโยชน์เลี้ยงสัตว์ มากไปกว่านั้นรัฐยังได้รับข้อมูลว่าผืนป่าผืนนี้เป็น “ป่าเสื่อมโทรม” เหมาะที่จะนำมาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ บ้านศรีดอนชัย

ตำบลศรีดอนชัย เป็นตำบลที่แยกมาจากตำบลสถาน มีจำนวนหมู่บ้าน 17 หมู่บ้าน โดยมีชนเผ่าดั้งเดิมไทลื้อ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 7,12,14,15,17 นอกนั้นเป็นหมู่บ้านคนพื้นเมือง 12 หมู่บ้าน โดยตำบลศรีดอนชัยมีพื้นที่ทั้งหมด 94 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่าง ๆ

ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นๆทางภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูงมีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เรือนที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อผสมล้านนายังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น ชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ (วิกีพีเดีย )

“บ้านศรีดอนชัย” เดิมนั้น ตั้งอยู่ที่เมืองอูเหนือ แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีนตอนใต้ ต่อมาการทำมาหากินขัดสนและถูกจีนรุกราน ในปี พ.ศ. 2428 ชาวไทลื้อที่นั่นจำนวน 994 คน โดยการนำของพญาแก้ว จึงได้อพยพมาที่ดอยหลักคำ เขตแดนจีน ติดต่อกับประเทศลาว และต่อมาในปี พ.ศ. 2429 ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ริมแม่น้ำโขงระหว่างน้ำคุก (ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ) และได้ย้ายมาอยู่ที่ ต.สถาน ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นชาวไทลื้อได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกตั้งบ้านเรือนที่ บ้านห้วยเม็ง ตำบลเวียง อ.เชียงของ กลุ่มที่สองย้ายไปลาว ส่วนกลุ่มที่สามย้ายไปอยู่ที่ อ.เวียงแก่น จนกระทั่งปี 2496 ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ตำบลศรีดอนชัย ในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ คือ พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะรักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ของชาวไทลื้อ ความเป็นมาของชาวไทลื้อแต่โบราณสืบจนไทลื้อในปัจจุบันที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือของไทย รวมถึงในตำบลศรีดอนชัยด้วย

โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ ประวัติผ้าทอ และวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวไทลื้อ และมีเรือนรับรองที่จัดจำหน่ายผ้าทอไทลื้อ รวมทั้งโฮมสเตย์ สำหรับผู้สนใจพักเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

สุดเขตสยาม บ้านห้วยเม็ง

ลื้อ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ บ้านห้วยเม็ง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายนั้น เดิมอยู่แขวงเมืองอูเขตสิบสองพันนา ( ยูนนาน ) เหตุที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นเพราะไม่อาจทนการรุกรานของฮ่อ ฮ่อบางพวกได้กดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรม เมื่อทนการรบกวนและการปกครองอย่างป่าเถื่อนไม่ไหว ก็จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นเดิมเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทย

ลื้อพวกนี้ขณะอยู่เมืองอูนั้นแยกกันอยู่ 3 หมู่บ้าน คือพวกหนี่งอยู่บ้านบ่อ พวกหนึ่งอยู่บ้านคุ้ม พวกหนึ่งอยู่บ้านเมืองงาย ทั้งสามหมู่บ้านนี้เป็นชนเผ่าเดียวกันมีการทำมาหากินขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการนับถือศาสนาอย่างเดียว เมื่อประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.นามสกุล ปี พ.ศ.2456 ลื้อบ้านบ่อซึ่งมาตั้งอยู่บ้านห้วยเม็ง อำเภอเชียงของทั้งหมู่บ้าน ได้จดทะเบียนนามสกุลเป็น 2 สกุล คือ สกุลหงษ์ดำ กับสกุลจันทะคาต บ้านท่าข้ามใต้ ตำบลม่วงยาย ทั้งหมู่บ้านมี 1 สกุล คือ สกุลวงศ์ไชย แต่พวกบ้านคุ้มซึ่งตั้งอยู่บ้านพร้าวกุดและท่าข้ามเหนือนั้นมีหลายสกุลต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ ทำเลและการตั้งหมู่บ้าน ของลื้อห้วยเม็ง ตั้งอยู่ในที่ราบซึ่งมีที่พอจะทำเป็นเรือสวนไร่นาได้ หมู่บ้านหนึ่งๆ ตั้งแต่ 50 หลังคาเรือนขึ้นไปมีผู้ใหญ่บ้านปกครอง (http://www.openbase.in.th/node/6463)

ลื้อบ้านห้วยเม็ง มีการอยู่รวมกันเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่ม ประกอบกิจกรรมในหมู่ญาติมิตรและเพื่อนบ้านในลักษณะกลุ่มท้องถิ่นหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน กล่าวคือ มีกลุ่มบ้านเดิม ที่มาจากกลุ่มเครือญาติ, กลุ่มเสี่ยว ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเพื่อน วัยเดียวกัน, กลุ่มส้ม เป็นกลุ่มอาชีพที่คอยแก้ไขปัญหาการจัดการสวนส้ม, กลุ่มผู้อาวุโส ได้แก่ ผู้รู้ที่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านทั่วไป และกลุ่มการเมือง ได้แก่ กลุ่มสมัครพรรคพวก ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน กลุ่มท้องถิ่นเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา (ชุลีพร วิมุกตานนท์ . (2532). กลุ่มท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชนบท : กรณีศึกษาบ้านห้วยเม็ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงใหม่.กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.)

เกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้าน บ้านหาดบ้าย

บ้านหาดบ้าย เป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นมาอันยาวนาน โดยบรรพบุรุษของผู้คนที่นี่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจาก แคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน และอพยพย้ายถิ่นตามริมฝั่งน้ำโขงหลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงสงครามอินโดจีน จนในที่สุดได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านหาดบ้ายในปัจจุบัน ชาวไทยลื้อที่บ้านหาดบ้ายนี้มีวัฒนธรรมที่งดงามและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมกับเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามา สัมผัสวิถีที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ผ่านผ้าทอสีธรรมชาติที่เต็มไปด้วยลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน โดยเฉพาะผ้าทอลายน้ำไหลนั้นได้รับความนิยมมากที่สุด อีกทั้งบ้านหาดบ้ายแห่งนี้ ยังคงมีศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ โดยเฉพาะเรื่องของการทอผ้าไทลื้อ ที่นี่นับว่ามีชื่อเสียงมีผ้าทอไทลื้อเป็นสินค้าประจำตำบลมายาวนาน หรือจะเดินเที่ยวชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน

บ้านหาดบ้าย มีประชากรราว 300 กว่าครัวเรือน ที่ตำบลริมโขง เป็นหมู่บ้านสุดท้าย ที่อยู่ใกลที่สุดของอำเภอเชียงของ แต่ยังคงแฝงไปด้วยกลิ่นไอของความเป็นชนบท ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนที่นี่มีอัธยาศัยไมตรี ยิ้มแย้มต้อนรับเป็นอย่างดี มีสายน้ำโขงที่ไหลมาจากอำเภอเชียงแสน ช่วยหล่อเลี้ยงหลากหลายชีวิตตามลำน้ำ

ทั้งนี้ บ้านหาดบ้าย ถือเป็นบ้านชายแดนระหว่างอำเภอเชียงของ-เชียงแสน รวมทั้งชายแดนของประเทศไทยและลาวอันมีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดน โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 บ้านหาดบ้ายถูกแยกออกเป็นสองหมู่บ้านคือบ้านหาดบ้ายหมู่ 1 และบ้านหาดทรายทองหมู่ 8 ในเขตตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองอำเภอเชียงของประมาณ 36 กิโลเมตร โดยมีถนนหมายเลข 1129 เป็นเส้นทางสายหลักตัดเลียบแม่น้ำโขงผ่านอำเภอเชียงของและเชียงแสน

ชาวบ้านบ้านหาดบ้าย หาดทรายทอง ดำเนินวิถีชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติบนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขงมาตั้งแต่บรรพกาลมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวิถีแห่งการทำการเกษตร หรือเรียกกันว่า “เกษตรริมโขง” หากวิถีชีวิตดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อโครงการพัฒนาต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง จากการพัฒนาเพื่อทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นสายน้ำทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลให้เกษตรริมโขงที่ชาวบ้านหายบ้ายและหาดทรายทองค่อยๆ เลือนหายไปกับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น

00000

 

จาก “BEHIND 4 ภาค” มาถึง “BEHIND กลางแปลง”

BEHIND กลางแปลง คือ พื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ใน “BEHIND 4 ภาค” จาก Behind Bangkok สู่ Behind Chiangkhong สู่ Behind Pakbara มาจนถึง Behind Amnatcharoen ที่ได้มารวมตัวกันขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำเสนอเสียงสะท้อนและมุมมองความคิดในฐานะพลเมืองที่มีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และการสื่อสารมุมมองความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมต่อจิ๊กซอร์สถานการณ์เรื่องราวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยความร่วมมือของ โครงการหนุนเสริมพลังเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคสังคม (สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ 4 ภาค (กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มพลเรียน กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ สถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา) สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประชาคมบางลำพู และพิพิธบางลำพู

จนมาสู่การจัดกิจกรรม “Behind กลางแปลง” ขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Behind Old Town หลังม่านย่านเมืองเก่า” ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธ.ค. 2560 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ พิพิธบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ติดป้อมพระสุเมธ)

ทั้งนี้ “BEHIND กลางแปลง” ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2560 จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.30 – 21.00 น. ไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

  • (Share) Behind My Home: Behind Thailand Mapping นิทรรศการแสดงแผนที่ของประเทศไทย ที่ชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในสังคมและชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงดงามหรือความท้าทายของการพัฒนาที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ
  • (Talk to change) Behind Talk: Behind to Beyond พลังของคนตัวเล็ก การบอกเล่าเรื่องราวพลังของการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวแทนพื้นที่รูปธรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ละภาค
  • (Play) Behind Board Game พลังพลเมือง โดยกลุ่มพลเรียน
  • (See) Behind By พลเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และปิดท้ายด้วย Behind กลางแปลง รับลมยามค่ำคืน ชมหนังสารคดีกะเทาะตีแผ่การศึกษา บนดาดฟ้าพิพิธบางลำพู พร้อมแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดร่วมกัน

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในห้องเรียน เราเชื่อว่าการได้เดินออกมาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ คิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบนั่นคือการเรียนรู้ที่ทุกคนทำได้ตลอดชีวิต และมันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อเราได้ออกมาเจอคนที่มีความคิด ความหวัง และหัวใจคล้าย ๆ กัน

มาร่วมกันส่งเสียงเพื่อแสดงความเป็นพลเมือง … เพราะพลังการมีส่วนร่วมอยู่ในมือเรา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ