เวทีรับฟังความคิดเห็นแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งที่ 3 เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือหวังมีองค์กรอิสระมาดูแล ย้ำการจัดเวทีรับฟังความเห็นในอย่าเป็นเพียงพิธีกรรม
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระอำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคและการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ครั้งที่ 1 จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 2 จ.สงขลา และครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ) โดยมีพลเอกสุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการเปิดเวทีเพื่อนำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไปปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ภาคเหนือ กล่าวว่า ประเด็น “การจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการดูแลผู้บริโภค” เป็นเรื่องที่เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศขับเคลื่อนมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ในมาตราที่ 57 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างอิสระไม่ถูกบังคับจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง
มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตราที่ 61 ที่ระบุให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ในการทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ
ที่ผ่านมาภาคประชาชนจึงใช้ประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนดมาจัดทำเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ พ.ศ. … ภาคประชาชน ขึ้นมา โดยมีประชาชนร่วมกันลงรายชื่อกว่าหมื่นรายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐสภา แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่งกลับส่งผลกระทบให้ร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนช่วยกันเสนอขึ้นมานั้นถูกตีตกไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 46 แม้เนื้อหาสาระว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจะไม่เข้มข้นเท่ากับรัฐธรรมนูญในปี 2540 และปี 2550 แต่ได้พูดถึงการสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ และ สคบ. มีการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระ อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคและการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีหลักการที่ไม่ต่างจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่ทำมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้บริโภคจะได้ใช้ช่องทางจากการจัดเวทีในครั้งนี้เสนอความเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อสะท้อนความต้องการและสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็นจากการมีองค์กรผู้บริโภค
“ขอย้ำว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนี้อย่าเป็นเพียงพิธีกรรม หรือให้ภาคประชาชนเป็นตรายาง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการรับฟังการแก้ไขกฎหมายเหมือนฉบับอื่น ๆ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างและแก้ไขกฎหมายต้องมีความจริงใจในการนำความเห็นไปปรับแก้ เพื่อให้กฎหมายเป็นประโยชน์ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ์ให้กับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง” สุภาพร กล่าว
ด้านสมศักดิ์ ชมพูบุตร ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.ลำปาง กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือมีความเห็นเพิ่มเติมต่อการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การผู้บริโภคใน 5 ประเด็นสำคัญคือ
ประเด็นที่ 1 สนับสนุนให้ใช้ชื่อ “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” เพื่อสะท้อนถึงสถานะองค์กรที่เป็นพื้นที่ในการรวมตัวและแสดงพลังของผู้บริโภคในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของตนเอง
ประเด็นที่ 2 การสนับสนุนงบประมาณที่รัฐต้องอุดหนุน “แบบรายหัวประชากร” เพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำว่าองค์กรจะมีงบเพียงพอต่อการดำเนินการที่เป็นอิสระ และยั่งยืนเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
ประเด็นที่ 3 คณะกรรมการองค์กรทั้ง 19 คน ควรมีสัดส่วนมาจากผู้เชี่ยวชาญ 9 ด้าน ส่วนอีก 10 คนให้เป็นกรรมการเขตพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั้งประเทศ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง
ประเด็นที่ 4 คณะกรรมการองค์กรต้องมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง “สภาผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัด” เพื่อเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือกับผู้บริโภค เช่น การเผยแพร่ข้อมูล การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภค การเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง รู้จักปกป้องและคุ้มครองสิทธิ์ของตนได้
และประเด็นที่ 5 ควรแก้ไขตำแหน่งจาก “ผู้อำนวยการองค์กร” ให้เป็นตำแหน่ง “เลขาธิการองค์กร” เพื่อให้มีฐานะและบทบาทเหมือนกับเลขาธิการสำนักงาน สคบ. และเลขาธิการสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นต้น
“ต่อจากนี้เครือข่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือจะยังคงติดตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายอย่างใกล้ชิด และหวังอยากเห็นตัวกฎหมายเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้กฎหมายเป็นพลังหนุนเสริมการทำงานและพิทักษ์ของผู้บริโภคได้จริงๆ” นายสมศักดิ์กล่าวย้ำ
หลังจากนั้น สุภาพรและสมศักดิ์เป็นตัวแทนเครือข่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือ 17 จังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ประกอบไปด้วยเครือข่ายคนพิการ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบการ ยื่นจดหมายแสดงความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายให้กับพลเอกสุชาติอย่างเป็นทางการ