‘เกรดอะไร!? แล้วไงต่อ’ สนทนาว่าด้วยการศึกษาไทย-ฝรั่งเศส

‘เกรดอะไร!? แล้วไงต่อ’ สนทนาว่าด้วยการศึกษาไทย-ฝรั่งเศส

สังคมไทยให้คุณค่าของตัวเลข ‘เกรด’จึงกลายเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตเด็ก และกำลังเป็นปัญหา การสร้างกระบวนการเรียนรู้ Active learning เชื่อมโยงความรู้จากข้างนอกสู่ห้องเรียนจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กรู้จักตัวเองได้มากขึ้น

9 พ.ย. 2560 วงเสวนา “เกรดเปลี่ยนชีวิต” ในสัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ “MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล” จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย, Documentary Club และWarehouse 30 ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2560 ที่ warehouse 30 กรุงเทพฯ

โดยวิทยากร

1.ทัศนวรรณ บรรจง : มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES)
2.ปราศรัย เจตสันติ์ : รร.บางปะกอกวิทยาคม
ดำเนินรายการโดย โสภิดา วิรกุลเทวัญ ,ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ทัศนวรรณ บรรจง : มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES)

การศึกษาที่ฝรั่งเศส มีสองช่วงใหญ่ๆ คือช่วง ป.1- ม.3 จะมีช่วงที่เด็กฝรั่งเศสทั้งประเทศต้องสอบพื้นฐาน เช่นคณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน ประวัติศาสตร์ ภาษา เพราะต้องเรียนอีกภาษาที่ไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส และช่วง ม.ปลาย ก็จะมีการสอบที่ใหญ่มาก และอีกครั้งคือการสอบเข้าโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเฉพาะ ในฝรั่งเศสหลังจากจบ ม.3 เด็กสามารถเลือกโรงเรียนที่เป็นแบบการอาชีพได้  หลังจากจบ ม.6 แล้วจะไปเรียนมหาวิทยาลัยธรรมดาทั่วไป ไม่จำเป็นต้องสอบเข้า เพราะมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับเรา เป็นสิทธิ์ของเราที่จะเข้าถึงการศึกษา ยกเว้นโรงเรียนเฉพาะด้าน ที่ต้องให้คำชำนาญเฉพาะ เช่นหมอหรืออาชีพทางการแพทย์อื่นๆ

ในการเรียนการสอนของฝรั่งเศสไม่มีการติว หลังจากเลิกเรียนคือเลิกเรียนเลย มีพักร้อนก็คือพักร้อน ไม่มีใครไปติวและไม่มีอุตสาหกรรมในการสอนเด็กติว ถ้าโรงเรียนครูมีคุณภาพก็ไม่ควรมีการติวเลย

การสร้างระบบเกรดขึ้นอยู่กับปรัชญาการศึกษาด้วย เราอยากให้เด็กเรียนไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างในฝรั่งเศสต้องอยู่บนพื้นฐานของความคิดความเชื่อเรื่องสาธารณะ เคารพซึ่งกันและกัน มีการแชร์ภาษา ถ้าเรื่องศาสนาก็สอนในเชิงของประวัติศาสตร์ เพราะต้องการให้เด็กเห็นและเคารพความหลากหลายความเท่าเทียม ถ้าเรามีแนวคิดเรื่องนี้ก็ต้องออกแบบระบบให้เด็กสามารถโตมาเป็นพลเมืองในสังคมแบบนี้ได้

ฝรั่งเศสก็มีเกรด แต่เกรดไม่ได้ตัดสินทั้งหมด เราจะมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกรด นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้วยังมีการดูว่าคุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนแค่ไหนด้วย เรื่องของการประเมินที่ฝรั่งเศสคือการตั้งคำถามแล้วให้เด็กทำพรีเซนเตชั่นมาอธิบายความคิดของตัวเองตั้งแต่เด็ก สอนให้เรียนรู้ ให้เด็กตอบคำถามแบบมีเหตุผล อันนี้คือวิธีการวัดประเมิน ซึ่งตอนที่ประเมิน ม.6 เหมือน O-Net ของที่ไทย ก็ประเมินแบบนี้ทุกวิชา ซึ่งทำให้ครูมีวิธีการสอนอีกแบบหนึ่งในห้องเรียน  ส่วนมากจะสอนให้เด็กถกเถียงและสร้างเหตุผลของตัวเอง และรับฟังคนอื่นด้วย การที่ให้เกรดแบบนี้ ก็ส่งผลกับวิชาที่เรียนจึงต้องสอนให้นักเรียนมีทักษะในการตอบคำถามพวกนี้ให้ได้

ฝรั่งเศสใช้ Active learner ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเด็กถามว่าทำไมฉันต้องมาโรงเรียน ถ้าเราเป็นคนที่ต้องตอบ เราอาจจะถามกลับไปว่า แล้วทำไมเธอถึงคิดว่าต้องมาโรงเรียน แทนที่จะตอบไปว่าได้เพื่อนดีๆ ได้เรียนดีๆ อาจไม่จำเป็นต้องตอบแบบนี้ หลังจากนั้นจะมีถาม-ตอบเกิดขึ้นเป็นกระบวนการของ Active learner ทักษะของการรู้เท่าทันสื่อก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการ Active learner ต้องเริ่มต้นตั้งคำถามจากสิ่งเหล่านั้น

ถ้าครูจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องรวมตัวกัน คือครูสองสามคนที่คิดแบบนี้ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้ อย่างที่ฝรั่งเศสมีสหภาพแรงงานของครูเรียกร้องสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เรียกร้องคุณภาพการศึกษาให้มีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นกระทรวงศึกษาส่งโยบานยใหม่ๆ ให้ ครูไม่เห็นด้วย เราต้องรวมต้องรวมตัวกันหรือแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ได้

การศึกษาเป็นจุดที่เราจะสร้างพลเมืองได้ เราช่วยคนคนหนึ่งให้เติบโตมาก็ต้องตั้งคำถามว่าเพื่ออะไร เรื่องการสร้างพลเมืองก็เป็นภารกิจของการศึกษา ควรจะแทรกแนวความคิดไว้ในทุกวิชา สุดท้ายสังคมไทยมีจุดเป้าหมายอยากเห็นอะไร แล้วการศึกษาช่วยให้เราไปถึงจุดไหน ตรงไหน ซึ่งเราต้องร่วมกันสร้าง

ปราศรัย เจตสันติ์ : รร.บางปะกอกวิทยาคม

ระบบการศึกษาเปลี่ยนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันระบบการเข้ามหาวิทยาลัยเรียกว่า TCAS (Thai University Center Admission System) ซึ่งระบบนี้จะจำแนกวิธีเข้ามหาวิทยาลัยหลักๆเป็น 3 วิธี คือ 1.การใช้โควต้า ซึ่งแต่ก่อนก็เคยมีอยู่แล้ว ปัจจุบันก็จะขยายเพิ่มมากขึ้น 2.คือการสอบปกติ สอบเข้าด้วยข้อสอบวัดส่วนกลาง ที่เราเคยได้ยิน O-NETหรือ 9 วิชาสามัญ 3.คือการสอบเข้าโดยรับตรง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อสอบของตัวเอง แตกต่างกัน แต่ก่อนระบบค่อนข้างจำกัดมาก แต่ปัจจุบันหลังจากเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าการศึกษาของไทยมีการปรับตัว พยายามจะเปิดรับไอเดียจากต่างประเทศมากขึ้น

แม้ปัจจุบันจะมีการขยายโควต้ามากขึ้น แต่เกรดก็ยังสำคัญอยู่ เด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังเข้าระบบที่เป็นการสอบ และคะแนนส่วนใหญ่ที่ใช้ส่วนหนึ่งก็ยังมาจากเกรด ในระบบการศึกษา เด็กไม่ใช่แค่ต้องทำเกรดในโรงเรียนได้ดี แต่ต้องทำข้อสอบให้ได้ด้วย เรื่องการศึกษาไม่ว่าเราจะปฏิรูปอะไรมากมาย พอถึงคอขวดก็จะกลับเข้าสู่ระบบเดิม ซึ่งการติวข้อสอบคือทางออกที่จะทำให้เด็กผ่านคอขวดนั้นไปได้ จะทำอย่างไรให้เด็กสามารถชนะเกมนี้ นอกจากเด็กจะต้องทำข้อสอบ มีเกรดเป็นตัววัดผลของเด็ก เกรดยังส่งผลต่อคุณครู และสถานศึกษาด้วย

เราใช้คำว่า“เกรด”มาทำให้เราไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริงของมัน เกรดเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล จุดประสงค์มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการติดตามพัฒนาการเรียนรู้ อีกส่วนคือการตัดสินแบบ total ว่าผ่านไม่ผ่าน ปัจจุบันเราลดคุณค่าในส่วนแรกลงไปมาก จนสุดท้ายเราให้คุณค่ากับการตัดสินเด็กว่าอยู่ขั้นไหน ทั้งที่ความจริงหัวใจของเกรดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้เด็กรู้ตัวเองถนัดแบบไหน

ปัจจุบันศูนย์กลางความรู้แตกต่างจากเมื่อก่อน โครงสร้างสังคมที่ถูกออกแบบให้ห้องเรียนคือศูนย์กลางความรู้ ครูคือดวงอาทิตย์ เด็กต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์ ครูสอนอะไรก็ต้องจด แต่สมัยนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะเด็กเขารู้เรื่องราวไวและหลายมุมมอง เชื่อมโยงความรู้จากข้างนอกสู่ห้องเรียน มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง แต่ปัจจุบันความรู้กระจายสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น แม้ในโลกดิจิทัลจะมีการแสดงความเห็นกัน แต่ขาดการเผชิญหน้า ซึ่งต่างกับในห้องเรียนที่เราเผชิญหน้ากันได้ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ครูน่าจะเปลี่ยนพื้นที่การเรียนเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันได้ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนแบบ Active learning ดึงข่าวสารมาให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม ถกเถียงกัน จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเคารพ รับฟังผู้อื่น และคิดอย่างมีเหตุมีผล

สิ่งหนึ่งที่ครูทำได้คือเราต้องทำให้ห้องเรียนของเราเป็นการเรียนการสอนโดยไม่จำเป็นต้องไปคำนึงปลายทาง เพราะถ้าหากกระบวนการเรียนการสอนของเราถูกต้อง สุดท้ายปลายทางจะไปถึงเอง สิ่งสำคัญในการศึกษาไม่ใช่เกรดที่สำคัญที่สุด แต่คือกระบวนการเรียนรู้หรือเส้นทางที่เด็กกับครูได้เรียนรู้ร่วมกันตลอดเส้นทาง มันมีคุณค่าและมีความหมายกับเด็กๆและคุณครูมากกว่า

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล : ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education)

ในมุมมองการศึกษาของฝรั่งเศสก็เป็นบริบทหนึ่งแต่ก็เป็นกระจกสะท้อนหาพวกเราด้วย ถ้าเราออกแบบการศึกษา เราออกแบบบนฐานคิดอะไร การจัดการศึกษาเป้าหมายและที่มาของเป้าหมายควรมาจากอะไร มีงานวิจัยหลายชิ้นคุยเรื่องการศึกษาเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ 3 เรื่อง 1.ความคาดหวังจากสังคม 2.วัฒนธรรมของประเทศนั้น และ3.ความรู้เชิงวิชาการ ตอนนี้เราพูดเรื่องการศึกษา แต่ไม่ค่อยพูดเรื่องเป้าหมาย และก็มักจะติดภาพห้องเรียนที่เห็นเกรดเป็นปลายทาง

ถ้าให้การศึกษาทั้งระบบเปลี่ยนก็ต้องคิดภาพใหญ่ขึ้น ต้องมีเครือข่ายคุณครู ยกตัวอย่างในญี่ปุ่น ครูเป็นราชการเหมือนเรา จะขัดนโยบายรัฐก็ไม่ค่อยได้ แต่เขาสามารถทำเครือข่ายของครูในโรงเรียน เป็นการปฏิวัติเงียบทางการศึกษาของครูที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันในโรงเรียน เพื่อให้ห้องเรียนมีคุณภาพแล้วส่งเสียงย้อนกลับไปหาคนในกระทรวง ซึ่งเป็นที่ของ PLC  (Professional Learning Community) การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่ไทยนำมาทำอยู่

การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) จะช่วยเพิ่มหน้าต่างของโอกาสเยอะมากในการให้ครูได้แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่าครูให้ประเด็นสำคัญหลายเรื่องเช่นเรื่องเกรด คืออย่ามองว่าเกรดเป็นตัวร้าย แต่การให้คุณค่ากับเกรดต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะเราเชื่อเรื่องการประเมินผล ซึ่งบางครั้งการประเมินผลก็ไม่สามารถสรุปรวมว่าคนๆหนึ่งเป็นอย่างไร ต้องดูพัฒนาการเขามากกว่า

แต่สังคมไทยของเราให้คุณค่าของตัวเลขมาก ให้ตัวเลขเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตเด็ก เช่นพอเรียนได้คะแนนดีหน่อยก็จะถูกดันให้ไปเรียนสายวิทย์กัน เพราะจะทำให้มีทางเลือกมากกว่า ทำให้เด็กหลงทางเยอะมาก ตอนนี้กลายเป็นเด็กที่ผ่าเหล่าการศึกษา ที่ตะแกรงร่อนมาแล้วก็หลงทาง เด็กที่ถูกร่อนหล่นไปก็หลงทาง เกรดกำลังเป็นปัญหาที่ปลายทาง คำถามใหญ่คือเราจัดกาศึกษาเพื่ออะไร ที่มาของเป้าหมายการศึกษามันถูกกำหนดโดยใคร

ตอนนี้กระบวนการประเมินผลเน้นในเรื่องประเมินเพื่อการเรียนรู้มากกว่าประเมินผลของการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าการประเมินเพื่อการเรียนรู้แบบที่ครูเดินไปกับเด็กพร้อมๆกัน สามารถเป็นกระจกสะท้อนกระบวนการได้มากกว่า ครูสังเกตเห็นอะไรบ้างจากการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะได้เห็นตัวเองและเห็นความชัดเจนของตัวเองมากขึ้น

………………………………………………………………………………………

ดูคลิปเสวนา “เกรดเปลี่ยนชีวิต” ย้อนหลังได้ที่

เสวนา "เกรดเปลี่ยนชีวิต"

[Live] สด เสวนา "เกรดเปลี่ยนชีวิต".สัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล.โดยวิทยากร1.ทัศนวรรณ บรรจง : มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES)2.ปราศรัย เจตสันติ์ : รร.บางปะกอกวิทยาคมดำเนินรายการโดย โสภิดา วิรกุลเทวัญ.นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) มาแจมไปด้วยกัน#Jamชวนแจม #รู้เท่าทันสื่อ

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2017

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ