ห้องเรียน MIDL กับเยาวชนคนทำสื่อ(ชุมชน)

ห้องเรียน MIDL กับเยาวชนคนทำสื่อ(ชุมชน)

“การสื่อสาร” นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันของบุคคลแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชน ภายใต้บทบาทคน(ลอง)ทำสื่อ ซึ่งปัจจุบันใครก็สามารถสร้างและเข้าถึงการสื่อสารได้ง่ายมากขึ้นผ่านทางโลกออนไลน์ การรู้เท่าทันสื่อจึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ใช้ส่งและผู้รับสารจำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่กันในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่ายและผ่านไปอย่างรวดเร็ว

เครือข่ายอีสานตุ้มโฮม ที่ทำงานการสื่อสารร่วมกับเด็ก เยาวชน และมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรม “เวทีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information Digital Literacy :MIDL) ขับเคลื่อนนิเวศชุมชน”  เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการ MIDL ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ผ่านการทำสื่อชุมชน นานกว่า 9 ปี ร่วมกับคณะทำงานจากสถาบันการศึกษาในภาคอีสาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

MIDL หรือ การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy) ซึ่งสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย) ให้คำนิยามว่า คือ กระบวนการสร้างสรรค์สังคมเพื่อให้พลเมืองประชาชนเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันประชาชนต้องมีความรอบรู้ในการคิด วิเคราะห์สื่ออย่างชาญฉลาด รวมทั้งมีการเสพและผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเครือข่ายดีจังอีสานตุ้มโฮมได้ใช้องค์ความรู้นี้ มาบูรณาการในหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ผศ. ดร. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนมุมมองการถอดบทเรียน การใช้กระบวนการ MIDL เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน พร้อม ๆ กับการขับเคลื่อชุมชน ของคณะทำงานในเครื่อข่ายดีจังอีสานตุ้มโฮมว่า

“MIDL หรือการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิจทัล กับความเป็นพลเมือง ตอนนี้มันก็มีหลายโมเดลเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ แต่ก็ยังมีคนที่กำลังทำงานด้านนี้อยู่น้อย ที่จะเอาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล มาเชื่อมกับมิติความเป็นพลเมือง วันนี้เราจะเห็นว่ามันมีโจทย์หลายชั้นมากที่สังคมไทย สังคมอีสาน กำลังเผชิญอยู่ และนิสิต นักศึกษาเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในพลเมืองของสังคมที่ถูกปลุกพลังพลเมืองขึ้นมาด้วยเครื่องมือ MIDL ให้สามารถมีแว่นตาในการมอง และมีเครื่องมือในการจัดสร้างสื่อ และมีสารที่ดีในการสื่อสารออกไป และยังเห็นพลังตัวเองในการใช้สมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการทำงาน  คือไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่ M-I-D และ  Literacy อย่างเดียวแล้วแต่มองเป็น capacity เป็นสมรรถนะเลย ถ้าบอกว่า Literacy มันติดตัวสามารถหยิบฉวยมาใช้เพื่อตัวเองได้ แต่พอเป็น capacity มันคือการเอามาใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรู้รอบและเหมาะสม”

นอกจากนี้การใช้กระบวนการ MIDL หรือ การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนและพื้นที่ให้กับนิสิต นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ก็เป็นอีกสิ่งที่หลายมหาวิทยาลัยในเครือข่ายดีจังอีสานตุ้มโฮมพยายามทำในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามใช้สื่อสร้างสรรค์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครใช้กิจกรรมอาสาสอน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่ง ผศ. ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวเสริมว่า

“สิ่งที่ทุกท่านกำลังทำ นั่นคือการเชื่อมร้อย Formal Learning การเรียนรู้อย่างทางการ กับ Non Formal Learning การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านกิจกรรมหลักสูตรทั้งหลาย กับเรื่องขอ In Formal Learning การเรียนรู้ในวิถีชีวิตของผู้เรียน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นตลอดเวลาเมื่อเราเปลี่ยนห้องเรียนของเราเป็นชุมชน พาเด็ก ๆ นิสิต นักศึกษาของเราลงไปทำงานกับชุมชน การเรียนรู้ที่อยู่บนฐานของโลกความเป็นจริงอยู่ อยู่บนฐานของชุมชน”

มันจึงกลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และชุมชน ซึ่งที่ทุกท่านทำงานในมิติเรื่อง MIDL ที่บูรณาการกันมาหลายปี ก็ทำในฐานะ learning topics และมุมหนึ่งที่สำคัญมากอาจารย์มองว่าเป็นตัวทักษะที่จำเป็น หรือเป็นสมรรถนะที่สำคัญ ซึ่งมันเป็นลักษณะของสมรรถนะที่ข้ามวิชา ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะในศาสตร์ของนักสื่อสารเท่านั้น อีกด้านหนึ่งที่คิดว่าเป็นหัวใจในการทำงานของทุกมหาวิทยาลัยก็คือ เราไม่ได้หยุดการเรียนรู้ไว้ในแค่ formal learning ในคลาสของเรา ในวิชาของเรา แต่เรามีการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรเยอะมาก ๆ ที่เรียกว่า Extra Curricular ซึ่งอันนี้คือหัวใจของการเรียนรู้จริง ๆ

การสร้าง Community based Learning หรือ การเรียนรู้ฐานชุมชนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ เน้นประสบการณ์ คือลงมือทำจริงซึ่งมีลักษณะงานที่เน้น service-learning หรือ การเรียนรู้ผ่านการบริการสังคม ซึ่งทำให้เกิดการเติบโตไปพร้อมกันระหว่างชุมชนและนิสิต นักศึกษา กระบวนการ MIDL หรือ การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลจึงถือเป็นส่วนสำคัญที่เครือข่ายดีจังอีสานตุ้มโฮมเลือกใช้ เพื่อพัฒนาศักภาพของนิสิต นักศึกษา พร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนชุมชน โดน ผศ. ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล ย้ำถึงการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำผ่านกระบวนการ MIDL ว่า จะเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

“การลงมือทำมันทำให้คนได้เรียนรู้เยอะมาก ในกระบวนการของ MIDL ที่เป็นกระบวนการปฏิบัติการณ์ของสื่อนั้น อันนี้คือเรื่องที่จะต้องชวนให้ขบคิดว่า ระหว่างที่ผู้เรียนของเราเรียนผ่าน ปฏิบัติการเหล่านี้เขาได้มี Meta-learning ขนาดไหน หรือเท่าทันการเรียนรู้ของตัวเองขนาดไหน เห็นหรือเปล่าว่าตัวเองกำลังเรียนรู้ เห็นหรือเปล่าว่าตัวเองกำลังมีจุดแข็งบางอย่างเกิดขึ้น ตัวประเด็น learning to media pixie เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับกระบวนการที่ทุกท่านกำลังจะทำอยู่ และตัวผลสืบเนื่องที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน”

น่าชื่นใจที่การเรียนรู้สื่อชุมชนของคนรุ่นใหม่ กลุ่มเยาวชนอีสานตุ้มโฮม ดูเหมือนจะสร้างความชัดเจนผสมผสานบูรณาการเรียนรู้หลายศาสตร์ หลากแขนงเข้าไปด้วยกัน แต่การเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้นแบบที่หลายคนคุ้นหูว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นั่นทำให้ทุกการเรียนรู้ยังมีความท้าทายที่รออยู่ เพื่อไปสู่เป้าหมายการก้าวเล็ก ๆ ของกลุ่มอาจารย์และคนทำงานในภูธร ดังนี้

  • ความยั่งยืน (Sustainability) ของการเปลี่ยนแปลง
  • ความลุ่มลึก (Enduring) ของความรู้ สมรรถนะ ที่จะติดตัวไปกับผู้เรียน คนทำงาน กลุ่มเป้าหมาย และชุมชน
  • ความครอบคลุม (Coverage) และการขยายพื้นที่/โอกาส (Scaling-up) ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
  • การยึดโยงสัมพันธ์ (Alignment) ของประสบการณ์การเรียนรู้และชุดความรู้การยกระดับเข้าสู่กระแสหลัก (Mainstreaming) ของอุดมศึกษา

ซึ่งเหล่านี้ สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่า ห้องเรียน MIDL กับเยาวชนคนทำสื่อ(ชุมชน) อาจเป็นอีกเครื่องมือที่จะพาเยาวชนในห้องเรียนและมหาวิทยาลัยออกเดินทางเรียนรู้โลกกว้างทั้ง Onlineและ Onsite พร้อมกัน ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของเครื่องมือสื่อสารและข้อมูลที่หลากล้นทุกวินาที

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ