‘สื่อพลเมือง’กับการสร้าง’สังคมที่เป็นธรรม’

‘สื่อพลเมือง’กับการสร้าง’สังคมที่เป็นธรรม’

เมื่อพลเมืองลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของตนเอง นำเสนอความจริงอีกชุดหนึ่งทำให้คนเห็นมุมมองที่หลากหลาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

8 พ.ย. 2560 วงเสวนา “พลังของสื่อพลเมืองกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม” ในสัปดาห์ รู้เท่าทันสื่อ “MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล” จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย, Documentary Club และWarehouse 30 ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2560 ที่ warehouse 30 กรุงเทพฯ

โดยวิทยากร
1.ธีรมล บัวงาม : มูลนิธิประชาธรรม
2.ชัชวาล สะบูดิง : กลุ่ม Selatan Nature จ.ปัตตานี
ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ธีรมล บัวงาม : มูลนิธิประชาธรรม

จุดเริ่มต้นของนักข่าวพลเมืองเริ่มจากปัญหาของชาวบ้านที่อยากจะมีพื้นที่สื่อสารเรื่องราวของตัวเอง จึงลุกขึ้นมาทำข่าวเล่าเรื่องราวผลกระทบต่าง ๆ เพราะในยุคก่อนยังไม่มีสื่อออนไลน์ที่กว้างขวาง คนส่วนมากดูทีวี ข่าวที่ออกมาก็จะเป็นข่าวของคนในเมือง แต่เมื่อเป็นปัญหาของเกษตรกร ภาพที่ข่าวนำเสนอคือชาวบ้านปิดถนน รวมตัวเอาลำไยออกมาเทเกลื่อน แต่จริง ๆ แล้วปัญหามันมากกว่านั้น พอไม่มีพื้นที่การสื่อสาร ชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของตัวเอง

สื่อพลเมืองมีความเสี่ยงและยาก นอกจากพลเมืองจะต้องทำข่าวให้มีความน่าสนใจ ให้คนเห็นคุณค่า เกิดมุมมองและมิติใหม่ สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งทางความคิด การยอมรับความหลากหลาย และสร้างชุดข้อมูลอีกชุดหนึ่งเพื่อเสริมให้คนได้รู้แล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วย เมื่อนำเสนอออกไปอาจขัดต่อสิ่งที่รัฐพยายามจะบอก ซึ่งโครงสร้างลักษณะนี้ทำให้ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนท้องถิ่น สื่อพลเมืองที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกคนได้รับผลกระทบหมด

สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่สื่อพลเมืองทำได้ คือการสร้างเครือข่าย และนำเสนอปรากฏการณ์บางอย่างที่ไปสร้างความหมายใหม่ของการอธิบายความเข้าใจอื่น ๆ ที่หายไป ผมคิดว่าตรงนี้คือวิธีการต่อสู้ของสื่อพลเมือง ทำให้ข่าวที่ทำเกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราพยายามจะต่อสู้ไม่ได้ต่อสู้แค่ความไม่เป็นธรรมของรัฐ เราต้องสู้กับความไม่แยแส ไม่ใส่ใจ ของคนในสังคมด้วย ที่เราต้องทำคือเราต้องกัดไม่ปล่อย ต้องมีฐานข้อมูล มีข้อถกเถียงและต้องทำต่อเนื่อง สร้างคนให้เป็นฐานข้อมูลและเครือข่ายกับเรา

แต่ในปัจจุบันเป็นโลกของดิจิทัล ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วกว่าในสมัยก่อน ผมคิดว่าการรับบรู้ข้อมูลข่าวสารก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเด็นหลายๆ อย่าง ไปไม่ถึงไหน ประเทศไทยยังมีคนอีกครึ่งประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ลองจินตนาการดูว่าถ้าคนกลุ่มนี้อีก 50 เปอร์เซ็น เข้ามาช่วยกันสร้างอินเทอร์เน็ตอีกแบบ ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายแน่นอนแต่มันจะเป็นความวุ่นวายที่สร้างสรรค์ จะทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว และผลักดันกันไปข้างหน้าได้

ชัชวาล สะบูดิง : กลุ่ม Selatan Nature จ.ปัตตานี

เราถูกปลูกฝังให้เห็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่โหดร้าย สื่อกระแสหลักนำเสนอภาพความรุนแรงให้คนเห็น มีผลทำให้คนเกิดความระแวง ซึ่งข่าวในสามจังหวัดจากความรู้สึกผมคิดว่าเป็นข่าวด่วนสรุป แล้วไม่มีการติดตามว่าแท้จริงเป็นยังไง คนจะยึดแค่ข่าวแรกที่เขาเห็นเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ติดตามรายละเอียดต่อ

สิ่งที่นักข่าวพลเมืองทำคือพยายามนำเสนอมุมมองที่มันต่างออกไป ทั้งความสวยงาม เสน่ห์ เรื่องดีๆ แหล่งท่องเที่ยว สิ่งที่เป็นรอยยิ้ม การอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม สื่อในยุคก่อนไม่เคยพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่มีการเปิดกว้างและเรียนรู้กันมากขึ้น นักข่าวพลเมืองจึงพยายามเสนอความรู้ ข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในสื่อ ความท้าทายสำหรับผมคือจะทำให้คนเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่หลากหลายจากเรื่องเดิมได้อย่างไร ทำให้คนเกิดความเข้าใจและรู้จักสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น ผมคิดว่าทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด จะอยู่อย่างไรในการแตกต่าง ถ้าเรามองถึงความเป็นมนุษย์จะได้เห็นว่าเขาเห็นความเป็นมนุษย์อย่างไร

ข่าวสารในยุคดิจิทัลมันมีเยอะมาก ทั้งข่าวจริงข่าวลวง จะให้เรารู้ทุกอย่างเลยก็คงยาก จริงๆ ผมว่าทุกคนเป็นพลเมืองได้ ถ้าสื่อนำเสนอข่าวที่เรารู้ว่าไม่ใช่ความจริง ผมคิดว่าเราควรอธิบายหรือเป็นคนเล่าความจริงนั้นก่อน เพราะเรารู้ดีที่สุด ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรา บางทีอาจจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ การเป็นพลเมืองจากสิ่งที่เรามี เป็นจากสิ่งที่เราเป็น คือการเริ่มต้นที่ดีที่สุด

………………………………………….

ดูคลิปเสวนา “พลังของสื่อพลเมืองกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม”

เสวนา "พลังของสื่อพลเมืองกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม"

JAM ชวนดูมาแล้วจ้าาาาา (เวอร์ชั่นดูเต็ม-ฟังชัด แบบไม่กระตุก) เก็บตกจาก [Live] #สด #ชัดแบบFullHD.เสวนา "พลังของสื่อพลเมืองกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" .โดยวิทยากร1.ธีรมล บัวงาม : มูลนิธิสื่อประชาธรรม2.ชัชวาล สะบูดิง : กลุ่ม Selatan Nature จ.ปัตตานีดำเนินการโดย ศโรตม์ คล้ามไพบูลย์.นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) มาแจมไปด้วยกัน#Jamชวนแจม #รู้เท่าทันสื่อ

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2017

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ