เยาวชนลุกขึ้นมาทำสื่อเพื่อสื่อสารกับสังคม “หนัง” และ “สารคดี” สามารถเป็นสื่อที่เปลี่ยนแปลงตนและคน ให้มีพลังลุกขึ้นมาทำสิ่งที่สร้างสรรค์ได้
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 วงเสวนา “เด็ก…หาเรื่อง” ในงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล ที่จัดขึ้นโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย, Documentary Club และWarehouse 30 ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2560 warehouse 30 กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา
วิทยากรในวันนี้คือ สถาพร วงศ์สุ นักศึกษาคณะสารสนเทศและการสื่อสาร ม.แม่โจ้ (โครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสือสารสังคม สสย.) และจิราพร แซ่ลี้ ผู้กำกับหนัง “ตลาดน้อยสตอรี่” ได้พูดคุยถึงการทำหนังและสารคดี เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จะตอบคำถามความเป็นตัวเอง อีกทั้งเพื่อเล่าเรื่องราวของคนอื่นเพื่อให้คนในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีเนตรดาว หยั่งยุบล เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณสถาพร วงศ์สุ ผกก.สารคดีเรื่องซีโร่ทูฮิโร่
แรงบันดาลใจที่ทำให้ลุกขึ้นมาทำสื่อเกิดจาก?
เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโปรเจคจบ เลยคิดว่าเราจะทำสื่ออะไรดีที่อยากให้มันมีประโยชน์ ไม่ใช่แค่ว่าทำแล้ว เป็นแค่ตัวจบของเรา แต่อยากให้มันสามารถสร้างสรรค์ต่อหรือว่า สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ พอดีมีอาจารย์แนะนำว่า มีโครงการของ สสย. ที่เขากำลังจัดทำเกี่ยวกับเรื่องของวิทยากรคนหนึ่งที่เคยเป็นเด็กแก๊งมาก่อนแล้วปัจจุบัน เขากลับกลายมาเป็นทูตความดีของประเทศไทย เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า พี่เขามีมุมมองอย่างไรกับชีวิต จากที่อยู่ในจุดต่ำสุดจนมาอยู่ในจุดที่ดีสุด จนปัจจุบันกลับกลายมาเป็นแก่นนำของเยาวชนได้ เลยไปตามติดชีวิตเขาเวลามีงานสัมมนาต่างๆ จึงเข้าไปเปิดใจคุยกับพี่เขา ขอเอาเรื่องราวชีวิตของเขามาทำสารคดีสั้นเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน
ทำไมถึงเลือกทำประเด็นนี้ขึ้นมาสื่อสาร?
อย่างที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน เวลาออกข่าวอะไรมาสักอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวทางด้านลบมากกว่า จะเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเยาวชน ตี ปล้น เสพยาเสพติด พอเห็นตรงนี้จึงหันกลับมาดูคนใกล้ตัว ก็เห็นว่ามันมีนะที่เป็นแบบนี้ เพื่อนเราที่เคยเรียนด้วยกันมา สุดท้ายต้องยุติการศึกษา แต่ต้องไปอยู่ในคุกแทน เนื่องจากว่าเขาเลือกทางเดินชีวิตที่ผิดหรือว่าภาวะสังคมรอบข้างของเขาบีบคั้นให้เขาเป็นคนแบบนั้น เลยอยากทำสื่อชิ้นนี้ขึ้นมา จากเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งที่อยู่ในจุดที่ตกต่ำเหมือนกัน อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คืออย่างน้อยอยากให้เยาวชนที่ได้ดู ให้เขาเกิดความคิดในหัวขึ้นมาว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้มันถูกหรือเปล่า อย่างน้อยก็อาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้เขาได้หยุดคิดบ้าง
ได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการผลิตสื่อเรื่องนี้บ้าง?
การทำงานร่วมกัน สำคัญสุดคือการทำงานกันเป็นทีม ถ้าเกิดว่าคน ๆ หนึ่งมีปัญหากัน ข้างในเกิดการขัดแย้ง หรือความคิดไม่ตรงกัน งานที่เราทำขึ้นมาจะไม่สมบูรณ์ อีกทั้งการทำงานไม่ได้ใช้แค่แรงกายมันใช้สมอง และใช้ใจด้วย จุดประสงค์หลักจริง ๆ ของสื่อที่พอจะเข้าใจ สื่ออะไรก็ตามที่เราผลิตขึ้นมา มันต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นด้านใดด้านหนึ่งในสังคม
ทำไมไม่ทำสื่อเพื่อทำสื่อ ทำสื่อก็จบ ทำไมต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง?
“การเปลี่ยนแปลงเป็นผลที่ตามมาจากากรเสพสื่อของคน” ผมคิดว่าไม่มีใครที่ดูสื่อชิ้นนี้แล้วอยู่นิ่ง ๆ แล้วปล่อยผ่านไป เพราะขนาดเราดูหนัง ยังมีบาง Shot ที่เราอิน บางคนน้ำตาคลอ บางคนหัวเราะ บางคนอาจจะเอามุขในหนังไปเล่นต่อ นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น แต่ที่เราทำคือต้องการให้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทำต่อไปในระยะยาวต่อสังคม”
คุณจิราพร แซ่ลี้ ผกก. หนังเรื่อง “ตลาดน้อยสตอรี่”
แรงบันดาลใจที่ทำให้ลุกขึ้นมาทำสื่อ?
หนังที่ทำเป็นตัวจบ เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่เล่าถึงครอบครัวตนเองมาเรื่อยๆ จนมาเป็นหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้จำกัดว่าจะทำเป็นสารคดีหรือทำหนัง จุดมุ่งหมายจริงๆแค่อยากเล่าเรื่องนี้ มีคนมาถามบ่อยมาก ซึ่งตอนทำ ต้องถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมถึงทำเรื่องนี้ ซึ่งการทำเรื่องนี้มันคือการตอบคำถามว่าทำไมถึงทำเรื่องนี้ เหมือนเราทำโดยที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงทำเรื่องนี้ เรื่องนี้มันได้อะไร พอทำไปแล้วจึงรู้ว่าเราได้อะไรจากการทำหนังเรื่องนี้
สิ่งที่คิดว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสาร อยากให้คนส่วนใหญ่เห็นเรื่องราวของเรายังไง?
ถามว่าหัวใจสำคัญของหนังค่อนข้างยากมากที่จะอธิบาย อย่างที่บอก การทำหนังเรื่องนี้มันคือการค้นหาคำตอบว่าหัวใจสำคัญของหนังคืออะไร เลยไม่ได้คิดถึงคนดู มันเหมือนกับเราอยากจะเล่าเรื่องให้คนฟังแต่ถามว่าอีกใจหนึ่งมันเหมือนกับการทำหนังเพื่อการค้นหาตัวเอง มันก็เลยอยู่กึ่งกลาง ถามว่าคนดูได้อะไร เราไม่ได้คิด เพราะว่าพื้นฐานของการทำหนังแบบที่ทำอยู่ ค่อนข้างเอาตัวเองเป็นหลักมาก ๆ เหมือนกับการเข้าไปในตัวเอง ใช้ความอยากทำทั้งหมด แต่ว่าตอนทำมีคิด เหมือนกันว่า จริง ๆ แล้วเราก็อยากจะสื่อสารอยากจะเล่าให้คนรู้เรื่องและอยากจะทำหนังเพื่อตัวเอง
ได้เรียนรู้อะไรจากการทำหนังสั้นเรื่องนี้?
ได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น เราได้รู้การทำหนัง การสื่อสารอะไรสักอย่างมันเป็นเรื่องยาก จึงทำให้อยากทำมันให้ได้ เช่น ในเรื่องที่เราจะพูดด้วยกันมันยังยากเลย แต่ทำหนังเหมือนทำหนังให้คนดูกัน อย่างน้อย คนดูรู้เรื่องว่าเราพูดเรื่องอะไร มันคือการพยายามเต็มที่มากๆ สิ่งที่อยากทำต่อไป คืออยากทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารอยู่ เพราะมันยากกับการที่เราทำหนังให้คนรู้เรื่องและเข้าใจ
ทำไมถึงเลือกเรื่องครอบครัวตัวเองมาทำหนังเพื่อการสื่อสาร?
“การเรียนของเราไม่มีใครมาบังคับครูค่อนข้างให้อิสระ เราเลยได้ทำหนังตามที่เราชอบและมีความสุขกับมัน เลยอยากจะเชียร์ให้เด็ก ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบมาก ๆ อย่างน้อยมันทำให้งานที่เราทำมีคุณค่ากับเรามากขึ้น ทำให้เรามีเสรีภาพในการสื่อสาร พอเราจบมาเราต้องมาคิดในเรื่องการเลี้ยงชีพ เลยเป็นอุปสรรคเหมือนกัน ที่จะทำให้เราทำในสิ่งที่ชอบ”
รับชมวงเสวนา “เด็ก…หาเรื่อง” ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/jam.genjam/videos/902616743228976/
.