ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีเขื่อนปากแบงแล้ว มีลุ้นต่อ! หลังศาลปกครองกลางสั่งไม่รับฟ้อง

ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีเขื่อนปากแบงแล้ว มีลุ้นต่อ! หลังศาลปกครองกลางสั่งไม่รับฟ้อง

คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เผยการยื่นอุทธรณ์ในคดีโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขงได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว

 

12 พ.ย. 2560 นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้รับการแจ้งว่า การยื่นอุทธรณ์ในคดีโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขงได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องและได้มีการยื่นอุทธรณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปจะเป็นการติดตามผลว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่

คดีดังกล่าว มีผู้ฟ้องคดี คือ กลุ่มรักษ์เชียงของนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว รวม 4 ราย และผู้ถูกฟ้องคดี คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

นางสาวเฉลิมศรีกล่าวว่า เหตุผลในการใช้อุทธรณ์ครั้งนี้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพอยู่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงมากที่สุด เนื่องจากอยู่ห่างจากโครงการเพียงประมาณ 97 กิโลเมตร และยังมีจังหวัดที่ติดริมน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวอีก 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่สมบูรณ์ และเป็นสินทรัพย์ธรรมชาติที่มูลค่ามหาศาลต่อประเทศที่ติดลำน้ำโขงทุกประเทศ การมีอยู่ของแม่น้ำโขงก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมาตรฐานการครองชีพของประชาชน หากมีการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงขึ้นบนแม่น้ำโขงย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้รับความเดือดร้อนหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน และไม่ได้สัดส่วน ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ถือได้ว่า ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้ง4ด้วย

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี กล่าวว่า ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย “ข้อตกลงการใช้น้ำแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538” ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขโดยมีหน้าที่ในการที่จะให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐบาลไทยในการที่จะแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรัฐและต่อประชาชนในประเทศไทย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

การดำเนินการจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านครอบคลุม ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำไปประกอบให้ความเห็นคัดค้านและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา อันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นเป็นหน้าที่สำคัญต่อทั้งความมั่นคงของรัฐและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวไทย แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด

อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองที่ส่งผลกระทบหรืออาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นสิทธิของผู้ฟ้องที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล และไม่ใช่อำนาจบริหารหรือกิจการภายในที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

นางสาวเฉลิมศรีกล่าวอีกว่า สำหรับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะอื่นนั้น แม้ว่าการเจรจาตกลงกันจะอยู่ในลักษณะเชิงธุรกิจพาณิชย์ก็ตาม แต่วัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าว เป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อจัดการบริการสาธารณะ และจะต้องมีการดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับกิจการพลังงาน อีกทั้ง การดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจึงถือว่าเป็นสัญญาทางปกครองชนิดหนึ่งที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

“เราเชื่อว่าการอุทธรณ์นี้จะได้รับการพิจารณาในแนวทางเดียวกับคดีเขื่อนไซยะบุรีที่รับฟ้อง เพราะเป็นแนวทางเดียวที่ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนที่รัฐมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและปกป้องคุ้มครองประชาชน” ทนายความกล่าว

อนึ่งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง

ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดินเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู

โรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566

 

หมายเหตุ: มีการแก้ไขพาดหัวเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 เนื่องจากทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ