คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
อีกไม่กี่วันก็จะถึง ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเอาไว้ว่าวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิทธิที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมวลมนุษยชาติ แต่กลับเกิดการขาดแคลน ไม่มั่นคง แย่งชิงที่ดินที่อยู่อาศัยในทั่วทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกจะตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้จัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นทุกปี โดยการรณรงค์แต่ละครั้งจะมีสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาคเข้าร่วมหลายพันคน เพื่อจะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ลักษณะการรณรงค์จะเป็นการเดินรณรงค์บนท้องถนน แต่เนื่องจากในปีนี้ช่วงเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะมีพระราชพิธีสำคัญ เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงงดการจัดรณรงค์ลักษณะดังกล่าวเพื่อร่วมไว้อาลัยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ 9 เปลี่ยนเป็นการจัดกิจกรรมแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเดือดร้อนในด้านสิทธิที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่ชุมชนแทน ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560
การเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค
แต่กระนั้นสถานกาณ์ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของคนจนยังคงมีมา แต่ตรงข้ามในด้านการช่วยเหลือเยียวยา การแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะยาว รัฐบาลชุดนี้กลับไม่มีทีท่าแข็งขัน จากข้อมูลการสำรวจชุมชนแออัดประเทศไทยมีชุมชนแออัดทั่วประเทศ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องการมหาชน) ในปี พ.ศ. 2556 ชุมชนแออัด มีจำนวน 6,334 ชุมชน ประชากรรวม 1,630,477 ครัวเรือน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยจำนวน 728,639 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 44.69 ของจำนวนทั้งหมด
รัฐบาลได้ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในแต่ละนโยบายหากดูโดยลึกแล้วไม่ใช่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ‘โครงการบ้านเอื้ออาทร’ หรือโครงการที่สร้างที่อยู่อาศัยโดยรัฐ แล้วเปิดให้ประชาชนมาจอง ผ่อนซื้อ ในราคาที่ถูกผ่อนระยะยาว เอาเข้าจริงจำนวนหน่วยที่ขายออกเยอะ ทำเลดี ๆ ส่วนใหญ่แล้วมาจากกลุ่มเก็งกำไรจากอสังหาริมทรัพย์โดยได้ใบจองกับไปหมดแล้วไปปล่อยขาย หรือซื้อไว้เพื่อเปิดเป็นห้องเช่าเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านั้น ส่วนคนจนไม่สามารถจะเข้าถึงได้จริงเพราะติดปัญหาทั้งในด้านรายได้ที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีเครดิตดีพอที่จะผ่านสินเชื่อในการซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการได้
ส่วนโครงการบ้านมั่นคงที่มีลักษณะดำเนินการที่เกือบจะลงตัวในด้านการบริหารจัดการ การเข้าถึงสินเชื่อ เพราะใช้กลุ่มออมทรัพย์ในการสร้างเครดิตให้กับชุมชนเองได้ แต่ปัญหาที่เกิดคือเรื่อง “ที่ดิน” โครงการบ้านมั่นคงสนับสนุนในด้านงบประมาณเป็นหลักแต่ไม่มีที่ดินให้มาด้วย ดังนั้นการหาที่ดินจึงเป็นภาระของชาวบ้านจะต้องไปหาเอง
“หากจะซื้อที่ดินในเมืองราคาก็แสนแพง หากจะขอใช้ที่ดินรัฐก็แสนหวง” การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจึงไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน วนในอ่างไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน
นี่คือตัวอย่างข้างต้นในการคิดนโยบายเพื่อจะแก้ปัญหาแต่ไม่ถูกจุด ส่งผลให้ผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์ไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย หากแต่ปัญหาของคนจนเมืองไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันนั้น รัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายการช่วยเหลือคนจนรากหญ้า มาตรการ “ลงทะเบียนคนจน” อีกหนึ่งนโยบายที่พยายามจะมาแก้ปัญหาปากท้องช่วยเหลือคนจนรากหญ้า แต่กลับกลายเป็นนโยบายที่ดำเนินงานแล้วกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าถึงได้จริง ดังเช่นที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคยกล่าวไว้ใน (คลิกอ่าน: บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ )
สิ่งที่กังวลไว้กลับเป็นจริงขึ้นมาหลังจากที่รัฐบาลให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ลงทะเบียนคนจน จากเกณฑ์คุณสมบัติที่หละหลวมส่งผลให้คนจนหลายส่วนไม่ได้เป็น “คนจน” ตามข้อเท็จจริง
ทีมกองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ตรวจสอบข้อมูลกลุ่มคนที่ไปลงทะเบียนคนจนว่ามีท่านใดบ้างที่ผ่าน ท่านใดบ้างที่ไม่ผ่าน หรือท่านใดบ้างที่ไม่ได้ลงทะเบียน ปรากฏข้อมูลไม่เป็นทางการคือ
ลุงดำ หรือนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน มีอาชีพเก็บของเก่าเป็นวัน ๆ ไป อาศัยอยู่ศูนย์พักคนไร้บ้านชั่วคราวตลิ่งชัน ได้ลงทะเบียนคนจนที่สำนักงานเขตตลิ่งชัน หลังจากได้กำหนดตรวจสอบการลงทะเบียนว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ด้วยสาเหตุมีเงินในบัญชีเกิน 100,000 บาท ซึ่งบัญชีเงินฝากที่มีชื่อลุงดำนั้น เป็นบัญชีส่วนกลางของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นผู้แทน 1 ใน 3 คน ไปเปิดบัญชี ซึ่งกรณีแบบลุงดำ เป็นหนึ่งในหลายคนที่ประสบ เนื่องจากการรวมกลุ่มชุมชนโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการออมทรัพย์กองทุนต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาปากท้อง สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้ต้องมีการเปิดบัญชีชุมชน และต้องมีผู้แทนชุมชน ผู้แทนกลุ่ม ไปเปิดบัญชีชุมชน 3 – 5 คน ต่อบัญชี หากชุมชนไหนมีหลายกองทุน ก็จะต้องเปิดหลายบัญชี คนจนเหล่านี้ที่เสียสละให้ชุมชนกลับได้รับรางวัลจากรัฐบาลด้วยการตัดสิทธิ์ความเป็นคนจนไป
การตรวจสอบสิทธิ์การลงทะเบียนคนจนผ่านเว็บไซต์ของลุงดำ
ถึงแม้จะมีช่องให้ยื่นอุทธรณ์ แต่ก็ไม่ได้บอกกระบวนการการตรวจสอบอุทธรณ์ว่ากระบวนการเป็นเช่นไร หากเป็นกระบวนการกดคอมพิวเตอร์ตามเดิม ข้อมูลของธนาคารก็ยังคงแสดงให้เห็นชัดว่า ลุงดำมีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท จริง และผลต่อมาจะเกิดอะไรขึ้น ??? เพราะเนื่องจากการอุทธรณ์ได้มีคำเตือนแกมขู่เอาไว้ว่า หากให้ข้อมูลเป็นเท็จจะสามารถนำไปดำเนินคดีได้
หากลุงดำอุทธรณ์ว่าเขาไม่มีเงินในบัญชีถึง 100,000 บาท แต่หน่วยงานเช็คทางคอมพิวเตอร์แล้วเกิน 100,000 บาท ลุงดำจะต้องถูกดำเนินคดีหรือไม่ นี่คืออีกหนึ่งอย่างที่ประชาชนกังวลที่จะต้องมาอุทธรณ์ เพราะกระบวนการอุทธรณ์ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นเช่นไร หากเรียกสัมภาษณ์รายคนจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรเพราะจำนวนคนที่ตกหล่นราว 3 ล้านคน มีกรณีเช่นลุงดำจำนวนเท่าไร
ภาพการแสดงทางเว็บไซต์ที่ให้ประชาชนยื่นอุทธรณ์การลงทะเบียนคนจนไม่ผ่านเกณฑ์
สำหรับคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ บางคนที่มีบัตรประชาชนแต่ไม่ได้ลงทะเบียน โดยส่วนใหญ่บอกว่าไม่รู้จะไปอย่างไร บ้างบอกว่ารู้อีกทีก็หมดเขตการลงทะเบียนแล้ว เพราะการประชาสัมพันธ์ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้อย่างทั่วถึง ส่วนคนไร้บ้านที่พักอาศัยตามศูนย์ต่าง ๆ ของเครือข่ายคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะลงทะเบียนกัน แต่หากใครเป็นผู้รับหน้าที่แบบลุงดำก็จะถูกคัดออกเช่นเดียวกัน
แต่ที่น่าเศร้าที่สุด ที่ไม่ได้เขียนไว้ในคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนคือ จะต้องมีเงินเปิดบัญชีธนาคาร (ซึ่งขั้นต่ำที่ธนาคารรับเปิดบัญชีคือ 500 บาท) คนจนที่ไม่มีแม้กระทั่งเงินเปิดบัญชีก็จะถูกคัดออกจากความเป็นคนจนด้วยเช่นกัน
นี่เป็นอีกปรากฎการณ์ในการคิดนโยบาย แต่ไม่คิดให้รอบด้านว่าประเทศไทยนั้นมีคนจนประเภทใดบ้าง และกลุ่มคนเหล่านั้นมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐหรือไม่ อย่างไรบ้าง
ขั้นตอนการอุทธรณ์
หลังจากที่รัฐได้เริ่มแจกบัตรพร้อมทั้งแจกแจงว่าสวัสดิการภายในบัตรจะสามารถช่วยลดค่าครองชีพด้านใดได้บ้าง ก็เกิดคำถามขึ้นมากมายในการใช้บัตร ซึ่งมีความแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างคนจนต่างจังหวัด กับคนจนในกทม.และจังหวัดใกล้เคียง 7 จังหวัด ซึ่งจะได้สิทธิการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต่างกันออกไป คือ ผู้ที่ลงทะเบียนที่ไม่ได้อยู่ใน 7 จังหวัด ดังกล่าวไม่สามารถนำบัตรมาใช้ขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ ขสมก.ได้ เพราะบัตรถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนมีภูมิลำเนาใน 7 จังหวัด
แต่ผู้ที่คิดค้นเกณฑ์การแบ่งแยกไม่แน่ใจว่าเข้าใจถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศไทยในปัจจุบันหรือไม่ ระบบคมนาคมที่ได้รับการพัฒนาที่ทำให้ประชาชนสามารถเคลื่อนย้ายภายในประเทศได้อย่างสะดวก และกลุ่มประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดนั้นก็มีจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ
ถึงแม้รัฐบอกว่าสามารถแจ้งเปลี่ยนที่อยู่อาศัยเพื่อมาขอรับบัตรใหม่ได้ แต่คำถามคือค่าใช้จ่ายที่จะทำบัตรใหม่ภาระตกอยู่ที่ใคร ประชาชนต้องควักจ่ายสดเอง หรือรัฐรับทำให้โดยใช้ภาษีจ้างบริษัททำใหม่ แต่สุดท้ายก็คือเงินประชาชน แล้วระยะเวลาที่กว่าจะได้บัตรใหม่ ช่วงเวลาที่ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิได้เหมือนคน 7 จังหวัด ส่วนนี้จัดการความรับผิดชอบอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจนในการรองรับการแก้ปัญหาดังกล่าว
สิทธิต่อมาคือการลดค่าครองชีพการซื้อของจับจ่ายอุปโภค-บริโภคต่างๆ (ยกเว้น เหล้า บุหรี่) ซึ่งแบ่งให้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี กับกลุ่มที่มีรายได้เกินกว่านั้น จะมีวงเงินต่อเดือน 300 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ หรือ 3,600 บาท และ 2,400 บาท ต่อปี เงินตรงนี้แม้จะไม่มากแต่ก็สามารถแบ่งเบาภาระในครอบครัวได้ระดับหนึ่ง แต่ติดปัญหาอุปสรรคคือร้านค้าที่ประชาชนจะสามารถไปจับจ่ายซื้อของนั้น ต้องเป็นร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งอยู่ที่ไหน? จะรู้ได้อย่างไร? เพียงพอทั่วถึงหรือไม่? ตรงนี้ยังเป็นคำถาม
รายการให้ความช่วยเหลือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
จากที่รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับสมัครร้านค้าปลีกดั้งเดิม (โชห่วย) เพื่อเข้าร่วม ‘โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ’ จำหน่ายสินค้าธงฟ้าให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,506 แห่ง และคาดว่า ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2560 จะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการทั่วถึงตามเป้าหมายครอบคลุมอย่างน้อยตำบลละ 1 ร้านค้า และมีเป้าหมายให้ร้านค้ากระจายทั่วถึงไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นร้านค้า
หากดูปริมาณเทียบกับผู้ที่ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนกว่า 11 ล้านคน จะเพียงพอหรือทั่วถึงหรือไม่ หรือร้านค้าจะกระจุกอยู่เพียงในเมืองของจังหวัด ของตำบลนั้น ๆ หากหมู่บ้านที่ไกลออกไปจะคุ้มค่ากับการลงทุนเดินทางไปหรือไม่ ยกตัวอย่างขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ผ่านเกณฑ์อยู่ราว 400,000 คน ทางรัฐได้เตรียมเครื่องรูดบัตรไว้ 420 เครื่อง ซึ่งประมาณว่าร้านละ 1 เครื่อง ก็คือ 420 ร้านค้า แต่ตอนนี้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 23 เครื่อง หากดูจากสัดส่วนตัวเลขแล้วคำถามที่ตามมาคือคนจนในจังหวัดอุบลราชธานีจะมีร้านค้าทั่วถึงให้ทุกคนสามารถใช้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้หรือไม่
หรือ… นโยบายเหล่านี้ที่ออกมาให้มีกฎเกณฑ์เยอะ ประชาชนใช้ลำบาก และจำกัดกลุ่ม เป็นนโยบายเพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล?
หรือ… นโยบายเหล่านี้ออกมาจากการ ‘คิดเอาเอง’ ของผู้ปกครองที่ไม่เคยสัมผัสกับคนจนที่มีความหลากหลายในประเทศ ทำให้กลุ่มชายขอบต่าง ๆ เข้าไม่ถึงนโยบายการช่วยเหลือจากรัฐ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงจับตามองการดำเนินการต่อของรัฐบาลถึงการแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้กังวลไปถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ ที่มีการแต่งตั้งกันมา โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผู้แทนที่เข้าไปส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเสียส่วนใหญ่ เกรงว่าแม้จะมีข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนอย่างครบถ้วน แต่ไม่มีการออกแบบนโยบายแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนในแต่ละกลุ่ม แล้วจะมีปัญหาดั่งเช่นนโยบายที่ผ่านมาหรือไม่
หรือจะเลือกรับฟังเสียงประชาชนให้มาก เปิดใจรับฟังอย่างไร้อคติ เพื่อมีทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ตรงจุด สอดคล้องกับผู้เดือดร้อนได้อย่างยั่งยืน