เครือข่ายทำงานกับคนไร้บ้าน จัดเวที Homeless ไม่ Hopeless ผลักเป้าหมาย ต้องการสร้างความเข้าใจต่อสังคมให้ตระหนักต่อสถานการณ์คนไร้บ้าน ชี้ ความสัมพันธ์ของภาวะไร้บ้าน เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ทางออกร่วมกันคือ มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มั่นคง
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดผลกระทบทางด้าน เศรษฐกิจและสังคมต่อคนเปราะบางในเขตเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งภาวะตกงาน การขาดความมั่นคงทางรายได้ รายได้ครัวเรือนลดน้อยลง อีกทั้งยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ทำให้คนจนเมืองหรือประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านที่อยู่อาศัย ต้องประสบปัญหาทั้งในเรื่องแผนผังเมืองที่ไม่รองรับ และการขาดแคลนอาหาร การเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ฯลฯ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมาจึงมีการจัดงาน “Homeless Day 2022: คน = คน” ขึ้น ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในเสวนา Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองปัญหาคนไร้บ้าน ระหว่าง 12 เครือข่าย รวมทั้งหมด 13 คน เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคม รวมถึงประเด็นความท้าทายของสถานการณ์คนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นๆ ในไทย เพื่อหารือว่าทางออกคืออะไร มีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือนโยบายมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่คุณหมอขวัญประชาพูดไว้ตรงเลย คือ คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอาจจะเป็นสังคมหรือเมืองที่ทำให้คนไม่น่าอยู่ หรือทำให้เขามีสวัสดิการ หรือสิทธิไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีบ้าน มีตึกร้างมาก แต่ก็ยังมีคนที่ไม่มีบ้าน เราอยู่ในสถานการณ์ที่มี Food waste เต็มเลย แต่บางคนก็ไม่มีอาหารกิน เราไปถามผู้ประกอบการหลาย ๆ คนบอกว่า หาคนทำงานยากมาก ไม่มีคนทำงานเลย แต่บางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้
จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่จะต้องบูรณาการร่วมกับภาคีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ การปลดล็อกกฎหมาย ต้องบูรณาการกับภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ หรือเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดขึ้นได้
ทุกวันนี้เราจะเห็นว่า มันมีเสียงที่พูดถึงคนไร้บ้านมากขึ้น ว่ามีจำนวนเยอะขึ้นไหม หรือมีการจัดการที่ดีเพียงพอไหม ซึ่งโจทย์เราอาจจะต้องทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกัน ทั้งบริหารจัดการและทำให้คนไม่รู้สึกว่า เรื่องคนไร้บ้านคือปัญหา แต่สังคมที่เราอยู่ด้วยกันสร้างปัญหาบางอย่างที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านเกิดขึ้น เราอาจจะต้องช่วยกันมากกว่านี้
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า สสส. ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน ต้องยอมรับว่า ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมามีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 30% หรือ จาก 1,300 กว่าคนเป็น 1,800 กว่าคน และในภาพรวมเป็น 4,000 คน คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมาก
เราทำหน่วยงานเดียวไม่ไหว เพราะยากลำบากมาก เพราะฉะนั้น ภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญมาก ในการเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา หรือมูลนิธิอิสรชน ซึ่ง 3 องค์กรนี้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่มีภาคประชาสังคมเข้ามาหนุนเสริม เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน อาจจะมาไม่ถึงจุดนี้
ช่วงที่ผ่านมา มีโมเดลเรื่องการเข้าถึงที่อยู่อาศัย และเรื่องอาชีพ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” เป็นไฮไลท์สำคัญ ที่ได้รับการยกระดับต่อยอดจากทาง กทม. และ พม. ในการที่จะหนุนเสริมกลุ่มคนไร้บ้าน ให้เขามีที่อยู่อาศัยและได้มีอาชีพ ทั้งนี้ ภาควิชาการก็มีบทบาทสำคัญมาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์สำคัญทางวิชาการที่ สสส. ให้การสนับสนุน และคิดว่าการศึกษาจะสามารถชี้ให้เห็นช่องว่างและโอกาสในการขยับเรื่องนี้
คำว่า ความสุข หรือ สุขภาวะของคนไร้บ้าน เป็นเรื่องยากมากแต่ สสส. ก็ยินดีที่จะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาเสริมหนุนกับเรื่องนี้ สำหรับคนที่ทิ้งแล้วทุกอย่าง ทิ้งชีวิตที่มีความสุข ทิ้งครอบครัวของตัวเองมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ การจะทำให้เขาเข้ามาดูแลสุขภาพ ก็เป็นเรื่องท้าทาย สสส. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คิดว่าต้องทำงานเรื่องนี้กันต่อไป ทาง สสส. ยินดีเป็นหน่วยงานให้เกิดการแลกเปลี่ยน การพัฒนา และยกระดับตุณภาพชีวิตคนไร้บ้านต่อไป
สิทธิพล ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิกระจกเงาทำงานกับคนในพื้นที่สาธารณะโดยเริ่มจาก กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน เพราะเห็นว่ายังไม่มีใครทำงานกับคนกลุ่มนี้ ไม่มีใครมาดูแลว่าจะทำอย่างไรกับพวกเขา เราคิดว่าคนไร้บ้านเองยังสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้เลย เราจึงเห้นเขาในสภาพที่มันเละเทะมาก
ตอนนั้นในฐานะมือใหม่ที่ทำงานกับคนไร้บ้านก็ไปขอความรู้จากมูลนิธิอิสรชน ดูการทำงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่ทำงานมาก่อนหน้า และทดลองทำเอง โดยการทำกิจกรรม FOOD FOR FRIENDS คือ “อาหารเพื่อเพื่อน” ใช้รถหมูแดงเป็นเครื่องมือแรกในการทำความเข้าใจ ทำความรู้จักกับโลกของคนไร้บ้าน พอรู้จักก็จะช่วยแก้ปัญหาของเขา
ตอนเราทำ FOOD FOR FRIENDS สิ่งที่คนไร้บ้านมาสะท้อน มาคุยกับเรามากที่สุด มาถามรองจากข้าวก็คืองาน เราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุดในการทำงานกับคนไร้บ้าน ที่จะทำให้เขาหลุดพ้น เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านมาเป็นคนมีบ้าน จึงเกิดเป็นโครงการจ้างวานข้า
งานมันจะมีความหมายมากที่สุด เพราะงานจะนำไปสู่เรื่องรายได้ รายได้จะนำไปสู่การที่เขาสามารถตัดสินใจ มีกระบวนการในการคิดว่า ฉันจะไปอย่างไรต่อ
“ผมคิดว่ามิติทางเศรษฐกิจ เป็นมิติสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขาวางตัวเองว่าจะอยู่ไร้บ้านต่อไป หรือจะเปลี่ยนไปเป็นคนที่มีที่อยู่อาศัย”
อัจฉรา สรวารี มูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ที่ทำมาตั้งแต่สมัยคุณนที สรวารี คือการลงมาเป็นเพื่อน โดยพยายามคลุกคลีเพื่อจะหาข้อมูลให้ได้จริง ๆ ว่าสิ่งที่คุณต้องการคืออะไร แล้วเกิดเป็นโปรเจกต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบ่งปันอาหาร ถุงปันสุข การพาเขาเข้าสู่สิทธิการรักษา ขับเคลื่อนให้เกิด พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557
และล่าสุดคือการขับเคลื่อนให้เกิดท้องถิ่นดูแลคนไร้ที่พึ่งให้ได้ เพราะพบว่าเมื่อเราส่งเขากลับบ้าน หรือคืนสู่สังคม เขาไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้ และท้องถิ่นไม่สามารถเอางบประมาณลงมาดูแลได้ ทั้งที่เขาน่าจะอยู่ในชุมชนหรือในท้องถิ่นของเขาได้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดระบบในการดูแล นี่คือสิ่งที่อิสรชนพยายามขับเคลื่อน
ไม่ใช่แค่เราทำให้เขาอย่างเดียว แต่อยากให้เขาได้เกิดการพัฒนาตัวเองและช่วยเหลือตัวเองด้วย อย่างบางเคสที่เขาอยากได้สิทธิคนพิการ เราก็สนับสนุนเขา บอกช่องทาง และให้เขาไปทำเอง เราจะเห็นว่าเขาอยากได้จริง ๆ และเขาพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองจริง ๆ มันก็จะเกิดความยังยืนในอนาคต
การขับเคลื่อนต้องให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะภาครัฐหรือภาคเอกชนอย่างเดียวไม่พอ ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมและให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวจริง ๆ เพราะว่าคนทุกคนอาจมีโอกาสเร่ร่อน หรือใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ แม้วันนี้เราอาจยังไม่คิด แต่ในอนาคตมันเกิดขึ้นได้
“ทุกคนมีความเสี่ยง แล้วเราจะมาสร้างระบบ หรือปลายทางในการดูแลร่วมกันได้อย่างไร ก็คือการขับเคลื่อนสวัสดิการในอนาคต”
คุณสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุว่า แนวทางของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยคือเน้นให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยจะมีอยู่ 3-4 เรื่อง ซึ่งเราจะเน้นเรื่องของการตั้งหลักชีวิตก็คือมีที่พัก การมีที่พักมันพูดถึงเรื่องการที่เขาได้หวนกลับมาว่า เขาจะไปต่ออย่างไร ซึ่งเราเริ่มจากการนำ
นอกจากนั้นยังมีการทำงานกับพี่น้องในพื้นที่สาธารณะ โดยพยายามที่จะรวมกลุ่มเขาในพื้นที่สาธารณะ เพื่อที่จะมาพูดถึงปัญหาของเขา ว่าเอาเข้าจริงแล้วปัญหาของเขามีกี่เรื่อง
ในแต่ละสถานการณ์ ไม่ว่าผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือล่าสุดคือโรคระบาดโควิด-19 กลุ่มคนไร้บ้านจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองหลังสุดที่จะเข้าไปดูแล จากการชวนกันลงไปพูดคุย พบว่าพี่น้องคนไร้บ้านเข้าไม่ถึงการป้องกันโควิดจนเป็นที่มา ของการผลักดันให้เกิดจุดประสานงานขึ้นมาบนพื้นที่สาธารณะ โดยทำงานร่วมกับกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต พม. และไม่ได้ทำแค่ในกรุงเทพฯ
จากจุดประสานงาน ทำให้เกิดความคิดว่าศุนย์พักอย่างเดียวไม่พอ เพราะพี่น้องในหลายส่วนเขาคิดเรื่องงาน และงานอย่างเดียวมันตอบโจทย์ไม่พอ มันพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยที่ใกล้แหล่งงาน จึงกลายมาเป็นการพูดคุยและคิดร่วมกันในการทำห้องเช่าราคาถูก เป็นที่มาของโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เริ่มนำร่องที่หัวลำโพง
จากคนกลุ่มเล็ก ๆ 10 กว่าคน จนตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 40 คน ประมาณเกือบ 20 ห้อง คาดว่าถ้าสามารถทำให้พี่น้องออกจากพื้นที่สาธารณะหรือตั้งหลักชัวิตได้ก็จะขยับต่อ เพียงแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือ พม.
สิ่งที่จะทำต่อไป ผมคิดว่านโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยราคาถูกจะเป็นนโยบายที่เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ใช่เฉพาะคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะอย่างเดียว มันพูดถึงพี่น้องกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะอยู่ในชุมชน หรือคนที่เช่าห้องราคาถูกอยู่ตอนนี้แต่ในอนาคตอาจหลุดออกมาก็ได้
“นโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยราคาถูก จะนำมาสู่การแก้ปัญหา ให้พี่น้องไม่หลุดมาเป็นคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้”
ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน หัวลำโพง กล่าวถึงคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังเข้าร่วมโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งกว่า 7 เดือน ว่า ที่เกิดโครงการนี้ เริ่มแรกเลยมีมูลนิธิของคนไร้บ้านเข้าไปตรวจสอบพวกเรา ดูแลพวกเรา ถามสารทุกข์สุขดิบ ทำให้เห็นถึงความต้องการของพี่น้องแต่ละคนว่าอยากมีห้อง อยากมีงาน จึงเกิดโครงการห้องเช่าคนละครึ่งขึ้น
ต่อมา คนไร้บ้าน 10 คนแรก เช่าได้ประมาณ 6 ห้อง เมื่อ 10 คนนี้ได้ทำงาน ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะได้อาบน้ำเหมือนคนปกติ ทำให้มีโครงการห้องเช่าคนละครึ่งเกิดตามมาอีกทีละเฟส ทำให้ปัจุบันนี้มีประมาณ 40 คน 5 เฟส รวมห้องเช่า 20 กว่าห้อง และมีขึ้นอีกในเฟสที่ 6 ในเดือน พฤศจิกายน ระหว่างนี้คนที่เตรียมจะย้ายเขาต้องดูแลตัวเองไปก่อน
ยังมีพี่น้องคนไร้บ้านอีกจำนวนมาก อยู่ในพื้นที่สาธารณะ จากที่อื่นด้วยไม่เฉพาะที่หัวลำโพง เดินเข้ามาถามอยู่เรื่อย ๆ ว่า มีห้องให้อยู่หรือให้เช่าอีกไหม อยากไปทำงานด้วย
“พี่น้องเราตอนนี้จากที่ไม่มีงานทำเลย หรือมีโอกาสทำแค่งานรายวัน ตอนนี้มีประมาณ 8 คน ที่สามารถทำงานเป็นรายเดือนได้ เพราะได้รับการตอบรับดีจากนายจ้าง ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนแปลง”
อดุล ตัวแทนคนไร้บ้านจากโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า ชีวิตเมื่อก่อนเป็นคนเร่ร่อน ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั้น บางทีไม่มีข้าวจะกิน เพราะช่วงโควิดงานหาทำงานยากครับ ไม่มีบ้านเช่า ผมก็ต้องนอนตามสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ นอนไปเรื่อย
บางทีมีคนมาจ้างงานวันสองวัน พอประทังชีวิตได้บ้าง แต่พอมาอยู่กระจกเงา ชีวิตดีขึ้นเยอะเลยครับ ชีวิตจากศูนย์ ตอนนี้จะไปถึงระดับแปดถึงสิบแล้ว เมื่อก่อนไม่มีบ้าน แต่เดี่ยวนี้ผมมีบ้านแล้ว
อดุล เล่าว่าเขาสามารเช่าบ้านได้จากการร่วมโครงการจ้างวานข้า ที่จ้างให้ทำงานต่าง ๆ ทำให้เช่าบ้าน 1,500 บาท มีฝากธนาคารไว้ 1,000 เหลือ 4,000-5,000 เอาไว้กิน เวลาว่างก็หาอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ ตอนนี้ชีวิตสบายขึ้น มีบ้าน มีที่อาบน้ำ เช้ามาตื่นไปทำงาน เย็นก็กลับมานอน
ทั้งนี้ จ้างวานข้า เป็นแพลตฟอร์มเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่โอกาสให้คนไร้บ้านเข้าถึงระบบงานได้ เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อัตราการจ้างงานลดลงหลายเท่าตัว
ด้าน นายแพทย์ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ระบุว่า ต้องยอมรับว่า คนส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่า คนไร้บ้านเป็นตัวปัญหา แต่ถ้าเรามองจริง ๆ คนไร้บ้านไม่ใช่ตัวปัญหา คนไร้บ้านเป็นผลพวงของปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมทุกระบบ แม้กระทั่งคนไร้บ้านที่มีปัญหาทางด้านจิตเวช ที่เราดูแลเขาได้แย่มาก จนปล่อยให้เขาหลุดออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
ดังนั้น เมื่อเขาเป็นผลพวงของปัญหา สิ่งหนึ่งที่สังคมควรจะยุติธรรมก็คือ หยิบยื่นโอกาสให้คนไร้บ้านได้กลับมาหยัดยืนอีกครั้งในสังคมไทย เพราะเรากระทำกับเขามามาก สังคมต้องให้โอกาสเขา
โอกาสที่พูดถึง ถ้าฟังจากทุกท่านในวงเสวนาจะรู้ว่าไม่มากเลย แค่โครงการห้องเช่าคนละครึ่ง มีห้องเช่าราคาถูกให้เขาได้หลับนอน ก็อัพเลเวลจากการเป็นคนไร้บ้านขึ้นมามีงานทำ สามารถหางานช่วยเหลือกันเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ไม่มากนักที่เราจะหยิบยื่นให้เขา แต่มันสามารถช่วยให้คนไร้บ้านที่เป็นผลพวงของปัญหากลับมายืนขึ้นได้อีกครั้ง
ตรงนี้เองเป็นบทเรียนที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ ว่าจริง ๆ การช่วยเหลือคนไร้บ้านที่ถือว่าเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่อาจจะอยู่ล่างที่สุดแล้ว สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราใส่เข้าไป มันให้โอกาสเขา มันทำให้เขากลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง
“สวัสดิการเหล่านี้จะไม่ได้ช่วยแค่คนไร้บ้าน แต่สามารถช่วยเหลือคนจนอื่น ๆ กลุ่มคนเปราะบางอื่น ๆ ในอนาคตได้อีก ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมต้องหันมาสนใจปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน ทำไมสังคมต้องยื่นมือเข้ามา เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพราะนั่นเท่ากับช่วยเหลือสังคมของเราให้กลับเข้าสู่สวัสดิการสังคมที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
ด้าน นายแพทย์อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า คนไข้ที่เจอส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าว คนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน หรือคนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ มักจะเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาเรื่องสุขภาพ ซึ่งความจริงแล้ว อยากให้เข้าใจว่า ไม่มีใครไร้สิทธิเรื่องปัญหาสุขภาพ รัฐไทยดูแลแทบทุกคน อย่างน้อยเรื่องสิทธิสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึง เป็นตายร้ายดี คุณเชื้อชาติอะไรไปถึงโรงพยาบาลเขาต้องดูแลคุณ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดูแลคนไทย อย่างน้อยคนไทยทุกคนมีสิทธิแน่นอน ส่วนคนที่ไร้สถานะและสิทธิ อย่างน้อยเขาก็มีสิทธิอีกกองทุนหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่ หรือคนต่างด้าว เจอสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ็บป่วย ตายก็เข้าถึงสิทธิได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ตระหนักไว้เลย เรื่องสิทธิสุขภาพนี่ง่ายมาก แค่ไปค้นอีกนิดนึง คุณสามารถคืนสิทธิให้เขาได้ สุขภาพที่ดีจะนำไปสู่ร่างกายที่แข็งแรง การทำงานที่ดี ผมคิดว่า สิทธิสุขภาพเปิดทางไปในหลาย ๆ ประเด็น
อยากให้คนที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้าน หรือว่าคนที่ไร้สถานะทุกอย่างตระหนักไว้ สิทธิมีทุกคน แต่เราต้องค้นหาให้เจอ แต่ทีนี่พอไปค้นจริง ๆ พอไปเปิดระเบียนดูกฎกติกา สช.วางไว้ดีมาก มีแนวทางปฏิบัติให้ไว้ชัดเจน ส่วนใหญ่คนไร้บ้านก็มีอยู่ไม่กี่ประเภท เป็นคนไทย มีบัตร อยู่กรุงเทพไม่มีปัญหา อยู่ต่างจังหวัดจะเริ่มมีปัญหา แล้วถ้าเป็นคนไทยอยู่ทะเบียนบ้านกลางก็ยากขึ้น และยากขึ้นไปอีกหน่อย คือคนที่ไร้สถานะทางทะเบียน
แต่ก็มีแนวปฏิบัติชัดเจนว่า คนที่อยู่ทะเบียนบ้านกลางจะไปใช้สิทธิประโยชน์อย่างไร เขาจะเขียนไว้ชัด และก็คนที่บ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ตัวตนอยู่ตามท้องถนน อยากจะย้ายสิทธิสามารถย้ายได้ ซึ่งนโยบายส่วนบนมีให้แล้ว แต่การนำไปสู่ผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดต่าง ๆ การนำนโยบายไปปฏิบัติยังเห็นน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ปฏิบัติงานไม่ค่อยเข้าใจ ดังนั้นการเอานโยบายเอาไปปฏิบัติจริงอาจจะต้องปรับแก้
“เรามักจะบอกว่าคนไร้บ้านเขาไม่สนใจเรื่องสุขภาพ แต่ความจริงคือ วันที่เขาเดินเข้าไป แสดงว่าเขามีความกังวลบางอย่าง เราในฐานะผู้ให้บริการต้องตื่นเต้นที่วันนี้เขาเดินเข้ามาหาเรา เราต้องพยายามทำเต็มที่ให้เขาเข้าถึงสิทธิบริการ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ข้อมูลว่า การดูแลคนไร้พึ่งเมื่อก่อน คือ หน่วยงานกรมประชาสงเคราะห์ ไอเดียตอนนั้นคือ การสงเคราะห์ที่ ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิ์ ส่วนท้องถิ่นสามารถทำเรื่องสงเคราะห์ให้แก่คนไร้ที่พึ่งได้ แต่ในปี 2557 มีการออก พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2557 เป็นฉบับที่เขียนว่าหน้าที่ดูแลคนไร้ที่พึ่ง เป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หากตีความกฎหมายด้วยเจตนาดี คือ อยากให้มีหน่วยงานดูแลให้ชัดเจน แต่อีกมุมการออกกฎหมายเช่นนี้ทำให้ท้องถิ่นที่มีหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ได้ไม่เต็มที่
“คณะกรรมการกระจายอำนาจ ต้องปลดล็อกตรงนี้ ตอนนี้ทางคณะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ 2542 เพื่อเพิ่มภารกิจ บทบาท ให้กับ กทม. และท้องถิ่นทุกแห่งของประเทศ ซึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็มีกลไกพื้นฐานที่จะใช้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิอยู่แล้ว เราเพียงเข้าไปปลดล็อกเรื่องบทบาท”
นายแพทย์จักกาย เกษมนานา กลุ่มหมอกระเป๋า กล่าวว่า ในฐานะหมอที่อยากเข้าใจปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่สาธารณะว่า เราเป็นหมอที่ลงมาทำงานกับคนเครือข่ายอาสาหลายภาค กับมูลนิธิอิสรชน พอลงมาแล้วก็ได้เห็นว่ามันเละ เราเห็นคนไร้บ้านไส้ทะลัก นอนจมกองขี้กองเยี่ยว ในฐานะหมอ เราทำใจไม่ได้ มันสะทือนใจมากที่เห็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่ในสภาพแบบนี้
พอเห็นแบบนี้ ก็เลยคิดว่า งั้นรักษากันตรงนี้ละกัน โดยขนยาใส่กระเป๋าแล้วลงเดิน ตอนแรกไปกับแฟนสองคน ตอนหลังเราเร่ิมชวนเพื่อน ๆ จนกลายเป็นทีม และยังมีอาจารย์หลาย ๆ ท่านลงมาด้วย
เมื่อมารักษา เริ่มเห็นคนไร้บ้านเข้ามาต่อแถวมากขึ้น ก็เลยตั้งสเตชั่นตรวจทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน บริเวณตรอกสาเก และอีกเคสที่จะทำต่อจากนี้คือ เคสผู้ป่วยจิตเวช อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะเคสจิตเวชที่มีอาการน้อยและปานกลาง ไม่มีใครรู้ว่าเขาป่วย แล้วเขาไม่ได้รับการรักษาด้วย
ส่วน อุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กล่าวว่า จริง ๆ แล้วในส่วนของ พม.เอง โควิดเป็นตัวช่วยให้เราได้ทำงานใกล้ชิดกันกับภาคประชาสังคมมากขึ้น ส่วนข้าราชการ ทำให้เรามีการพูดคุยร่วมกันเยอะขึ้น เมื่อคุยกับคนไร้บ้าน เราได้สอบถามถึงความต้องการ เวลาเราไปในพื้นที่ เรารู้สึกว่าพี่น้องไร้บ้านกลัวที่จะให้ข้อมูลกับเรา แต่เวลาเราไปกับมูลนิธิต่าง ๆ กลับได้ความร่วมมืออย่างดีในการจะพูดคุยด้วย เห็นได้ชัดทั้งตอนที่ไปกับมูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มองว่าจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก
ต่อมา ในระยะหลังทาง พม. เองพยายามที่จะปรับบทบาท ให้สอดคล้องกับความต้องการ คุณหมอบางคนมีการหิ้วกระเป๋าเข้าไปรักษา พม.ก็ปรับบทบาทและวิธีการไปทำงานกับคนไร้บ้าน เช่น เราเข้าไปคุยกับคนไร้บ้านหลังเคอร์ฟิล เป็นส่วนหนึ่งที่ ทำให้เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด วันนี้พูดคุยกับรองผู้ว่าศานนท์ ในเรื่องที่จะยกระดับจุดประสานงานคนไร้บ้าน ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันเป็นจุดประสานงานที่มีรูปแบบเป็นมิตรกับพี่น้องคนไร้บ้านอย่างแท้จริง แล้วเราพยายามที่จะให้เกิดจุดต้นแบบขึ้นด้วย นี่เป็นทิศทางการทำงานร่วมกับ กทม.ในอนาคต
ธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า บทบาทปัจจุบันของ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ภายใต้การดูแลของรองศานนท์ มีนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่ชัดเจน 3-4 ข้อ ภาพรวมนโยบาย คือ คนไร้บ้านต้องไม่ไร้สิทธิ์ ตอนนี้วางแนวทางการดำเนินงานขั้นพื้นฐานมาพอสมควรแล้ว และกำลังจะขยับทำต่อในเรื่องการจ้างงานและที่อยู่อาศัย โดยมีต้นแบบที่ทำประสบความสำเร็จอยู่แล้วจากเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ กทม.สามารถต่อยอดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโครงการจ้างวานข้า หรือโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายดูแลคนไร้บ้าน โดยพยายามช่วยเหลือเยียวยาด้วยการตั้งจุดบริการไว้ 4 จุด หรือที่เรียกว่า “จุด Drop In” เพื่อแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน
“ปัจจุบันมีข้อบัญญัติเงินอุดหนุนให้กับภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยกทม. เครือข่ายสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ กทม. เพื่อขับเคลื่อนงานกับเครือข่ายคนไร้บ้านได้ ซึ่งตอนนี้ตั้งคณะกรรมการเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว และเริ่มประชุมครั้งแรก 19 ตุลาคมนี้” ธนิต กล่าว
000