บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่ทิศทางรัฐสวัสดิการ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่ทิศทางรัฐสวัสดิการ

นอกเหนือจากการตั้งคำถามถึง ‘การลงทะเบียนคนจน’ ของ ‘คนจบปริญญา’ คำถามที่ว่าคนที่อยู่ในสลัม คนไร้บ้านนอนตามที่สาธารณะนั้นได้สวัสดิการจากรัฐหรือเปล่า และสวัสดิการที่ประชาชนได้รับจะหายไปในอนาคตหรือไม่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หากเราจะก้าวไปสู่ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ทั่วถึง-เท่าเทียม-เป็นธรรม ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ ควรเป็นอย่างไร

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนคนจนเตรียมจะออก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มาจากการหาแนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน ปี 2560 ที่เริ่มจะเห็นความชัดเจนแล้วว่าสำหรับผู้มีสิทธิ์ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนราว 14 ล้านใบ ใช้งบประมาณ 1,581 ล้านบาท จากยอดผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 14.12 ล้านคน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้บัตรนี้ในเดือนตุลาคม 2560

ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้เสนอกระทรวงการคลัง กรณีเงินสวัสดิการที่จะให้ประชาชน หลังจากได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าสวัสดิการต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 2,850 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ค่ารถเมล์ไม่เกิน 600 บาท
  • ค่าโดยสารรถไฟ 1,000 บาท
  • ค่ารถโดยสารบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) 800 บาท
  • ค่าไฟฟ้า 200 บาท
  • ค่าน้ำประปา 150 บาท
  • ค่าสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ 100 บาท
    (ข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/content/1015992 )

เดิมการอุดหนุนค่าโดยสายรถเมล์ และรถไฟนั้นเป็นลักษณะที่ทุกคนได้รับสวัสดิการทั้งหมด แต่มีการจัดรถพิเศษ ขบวนพิเศษ สำหรับการจัดสวัสดิการ และสามารถใช้บริการได้ตลอดไม่จำกัดครั้ง หากแต่เป็นลักษณะใหม่นี้ดูเหมือนเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการจะสามารถถือบัตรแล้วสามารถเอาไปเป็นส่วนลดในทุกการเดินทางที่เป็นของรัฐข้างต้นได้ และ “จำกัดจำนวนในการรับสวัสดิการ” ตามจำนวนเงินที่รัฐอุดหนุนไป

แต่ก่อนที่จะมีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้คนจนได้มีสวัสดิการช่วยเหลือตามข้อมูลข้างต้นทางรัฐบาลเองก็ได้จัดส่งทีมงานลงเช็คข้อมูลข้อเท็จจริงถึงพื้นที่กันเลยทีเดียว ประกอบกับการเช็คข้อมูลด้านการมีทรัพย์สินอย่างละเอียดกว่าคราวแจกเงิน 1,500 บาท และ 3,000 บาท อย่างชัดเจน ซึ่งคราวก่อนนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเช่นครั้งนี้ โดยปัจจุบันผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่เข้าเกณฑ์มีอยู่ราว 2 ล้านคนแล้ว อีกทั้งยังมีข้อสังเกตถึงผู้มาลงทะเบียนมีจำนวนราว 600 คน ที่จบปริญญาเอก และอีกราว 6,000 คน ที่จบปริญญาโทยังเข้าร่วมลงทะเบียนคนจนครั้งนี้ด้วย กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมอย่างกว้างขวาง

ประเด็นนี้ทางผู้เขียนไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกใจแต่อย่างใดที่กลุ่มคนดังกล่าวที่จะมาลงทะเบียนคนจนร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ เพราะการศึกษาไทยไม่ได้การันตีในเรื่องการงาน อาชีพ แต่อย่างใด อย่าลืมว่าเกณฑ์ที่ให้มาลงทะเบียนคนจนมิได้กำหนดในเรื่องวุฒิการศึกษา อีกทั้งทีมที่ลงมาสำรวจข้อมูลข้อเท็จจริงส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งจบปริญญาตรีแต่ยังไม่มีงานทำนั้นเอง

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นขบวนประชาชนที่ต่อสู้ด้านสิทธิที่อยู่อาศัย และสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีสมาชิกเป็นคนจนในเมืองที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือ “สลัม” และกลุ่มคนที่อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ หรือ “คนไร้บ้าน” กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐอันนี้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วกลุ่มคนเหล่านี้กลับแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากบัตรนี้เลย เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐยังไม่เคยลงมาเห็นข้อเท็จจริง

ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนคนจนครั้งนี้? เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนที่ไม่ชัดเจนกับเกณฑ์ที่จะสามารถรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ หลายชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย โดยการระดมเงินกับสมาชิกแล้วฝากเงินในบัญชีชุมชน และกลุ่มคนที่ไปเปิดบัญชีนี่เองกลัวที่จะไปลงทะเบียนคนจน เพราะมีบัญชีเงินฝากเกินแสนบาท

อย่างที่สองเกณฑ์การลงทะเบียนคนจนเน้นดูจากจากทรัพย์สินเป็นหลัก คือบัญชีเงินฝาก หากเกิน 100,000 บาท จะถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ คนสลัมส่วนใหญ่มีการออมเงินตนเองเพื่อเป็นการวางรากฐานสู่อนาคตส่วนใหญ่จะมีเงินฝากกันเกินแสนบาท แต่ก็ไม่ได้เยอะแยะขนาดหลายแสนบาท เพื่อเป็นเงินใช้ยามจำเป็น (ซึ่งหลายครอบครัวจะทำกัน) แต่รายละเอียดหนี้สินที่ให้เปิดเผยในใบลงทะเบียนนั้นไม่ได้นำเอามาคิดในเกณฑ์นี้ด้วย

อีกทั้งรายได้การทำงานในกลางเมืองอาจจะดูตัวเลขการรับเงินนั้นสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดให้ว่ารายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี หรือราว 8,400 บาทต่อเดือน คนที่มีเงินเดือน หรือรายได้ต่อเดือนสูงกว่านั้นถือว่าไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย ข้อเท็จจริงแล้วกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อเดือน 8,500 – 15,000 บาท จะกลายเป็นผู้มีรายได้ปานกลางไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการแห่งรัฐครั้งนี้

หากเป็นกลุ่มคนที่หลับนอนตามที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้านนั้น เริ่มตั้งแต่ที่จะต้องมีการเปิดบัญชีเงินฝากที่ต้องมีเงินขั้นต่ำ 500 บาท (ส่วนนี้ไม่ได้ออกสื่อ แต่ผู้ไปลงทะเบียนจะรู้ทุกคนธนาคารจะให้เปิดบัญชี) หากรู้จักคนไร้บ้านแล้วเงินจำนวนดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนไร้บ้านจะมีเงินติดตัว อีกทั้งการแก้ปัญหาบัตรประชาชนของคนไร้บ้านเองยังไม่สามารถจะจัดการได้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกตัดออกไปเป็นคนรวย (จำเป็น) ไปโดยปริยาย

อีกทั้งหากสมาชิกไปลงแล้วสามารถผ่านเกณฑ์คนจนมาได้นั้น สิทธิประโยชน์ข้างต้นที่ขึ้นไว้ แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากไฟฟ้า-ประปา ของชุมชนนั้นหากยังไม่มีความมั่นคงในที่ดินการใช้ไฟฟ้า-ประปา ส่วนใหญ่จะเป็นการต่อพ่วงมาจากเอกชนข้างเคียงบ้าง ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นที่อ้างอิงการใช้ไฟฟ้า-ประปาได้

กลับมายังประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมีกลุ่มคนที่จบระดับ ปริญญาเอก และ ปริญญาโท มาร่วมลงทะเบียนครั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากเกณฑ์การลงทะเบียนเอื้อต่อกลุ่มคนเหล่านั้นจริงๆ เพราะหากจะดูเกณฑ์กันอีกครั้งคือ

  • เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ในปี 2559
  • ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2559
  • ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ ไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร มีที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

ทั้งนี้รายได้ หมายถึงรายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น ในกรณีประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน และไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่า รายได้ของครัวเรือนเป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวแต่เพียงคนเดียว

หากอ่านดูดีๆ คนที่เพิ่งจบการศึกษายังไม่มีงานทำ ยังต้องขอเงินพ่อแม่ใช้ รวมถึงการเป็นลูกเศรษฐี แต่ไม่มีเงินฝากในบัญชี ล้วนแล้วแต่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ทั้งนั้น ตรงข้ามกลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษาแต่ทำมาหากินได้รายได้มากกว่าที่กล่าวข้างต้นจะกลายเป็นคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสวัสดิการแห่งรัฐนี้ไปทันที นี่คือช่องว่างเกณฑ์การเข้าช่วยเหลือโดยขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ยังไม่นับรวมถึงถ้าหากปีถัดไป หรือระหว่างการตรวจเช็คคุณสมบัติ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งส่วนของกลุ่มคนที่ลงทะเบียน มีฐานะดีขึ้น มีงานทำที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น จะเป็นเช่นไร และกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์กลับมีฐานะจนลง ตกงาน จะยังมีสิทธิ์ที่จะได้สวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ แล้วกระบวนการจะต้องเริ่มใหม่หรือเปล่า แล้วปัญหาข้างต้นจะแก้ไขเช่นไร ยังคงมีคำถามอีกมากที่ประชาชนอยากจะรู้

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เล็งเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการควรจะจัดสรรแบบทั่วถึงเท่าเทียมเป็นพื้นฐานของประชาชนคนไทย และขอปรามแนวความคิดที่จะทำต่อถึงการนำเอาสวัสดิการพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันเอาไปเข้าอยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี หรืออื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะนั้นอาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลทำไมชนชั้นกลางถึงได้มาลงทะเบียนคนจนกันเยอะ อาจจะเป็นเพราะเกรงว่าสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนคนจนเท่านั้น

สังคมจะได้ไม่ตื่นตระหนก หรือแปลกใจกับการมาลงทะเบียนคนจนของผู้จบปริญญาเอก หรือปริญญาโท แต่ควรจะตั้งคำถามถึงว่าคนที่อยู่ในสลัม คนไร้บ้านนอนตามที่สาธารณะ คนเหล่านี้ได้สวัสดิการจากรัฐหรือไม่ รวมถึงสวัสดิการหลักที่ประชาชนได้รับอยู่แล้วจะหายไปในอนาคตหรือไม่?

การช่วยเหลือคนจนโดยนโยบายประชา (นิยม) รัฐเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ต้องไม่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองต่อ เพราะเป็นรากฐานระยะยาว ดังนั้นกรอบการช่วยเหลือโดยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ควรเป็นแนวทางไปสู่รัฐสวัสดิการ

เครือข่ายสลัม 4 ภาคเห็นว่า รัฐสวัสดิการควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทุกชนชั้น !!!

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ