เปิดโมเดลการศึกษาอเมริกา ‘การรู้เท่าทันสื่อฯ’ เด็ก+สังคม

เปิดโมเดลการศึกษาอเมริกา ‘การรู้เท่าทันสื่อฯ’ เด็ก+สังคม

‘Pam Steager’ เผยประสบการณ์เรื่อง ‘การเท่าทันสื่อฯ’ ในโรงเรียนของอเมริกา ปลูกฝังให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกันตั้งแต่ยังเด็ก ด้าน ‘อรรถพล อนันตวรสกุล’ มองสังคมไทย เรื่องเท่าทันสื่อไม่ใช่แค่วิชาในห้องเรียน แต่เป็นทักษะความรู้ที่ต้องติดตั้งให้ทุกคน

‘การเท่าทันสื่อ’ เป็นโจทย์ซับซ้อนในการอธิบายนิยามความหมาย รวมไปถึงความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย สังคม ในการใช้สื่ออย่างไรให้เกิดความเสมอภาค และจะทำอย่างไรที่จะเสริมสร้างทักษะให้พลเมืองนั้นรู้เท่าทันสื่อ

“ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยคืออะไร ยังคงเป็นโจทย์หนึ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจ”

การนำเรื่อง MIDL รู้เท่าทันสื่อ เชื่อมโยงกับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย จะทำอย่างไรให้เห็นผล ซึ่งเป็นโจทย์หนึ่งในการร่วมแลกเปลี่ยนจากงานสัมมนา การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) เรื่อง MIDL : อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 20 ก.ค. 2560 โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

ถ้ามองการศึกษาไทย โรงเรียน กระทรวงให้ความสำคัญมากในเรื่องเทคโนโลยี (ไทยแลนด์ 4.0) แต่ยังไม่ได้พูดถึงการเท่าทันสื่อในพื้นที่เหล่านั้น ประสบการณ์ในอเมริกาเอา MIDL เชื่อมโยงกับพลเมืองประชาธิปไตยอย่างไร ?

Pam Steager , นักวิจัยและนักเขียนอาวุโสของ Media Education Lab ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องบทเรียนจากอเมริกา
“ฉันคิดว่า สิ่งที่เราทำคือพยายามให้เกิดพื้นที่แห่งความเสมอภาค การนำ MIDL เข้าไปในโรงเรียน เพื่อปลูกฝังทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ในอเมริกาภาษีเรื่องการศึกษาจะถูกส่งต่อไปยังชุมชน ที่มีความหลากหลายวัฒนธรรม เราเลยต้องปลูกฝังให้เกิดพื้นที่ความเคารพซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เด็ก

โดยพยายามจะศึกษาและทำความเข้าใจถึงความหลากหลาย และหาวิธีลดความเหลื่อมล้ำ การลงไปยังโรงเรียน ซึ่งเป็นเหมือนตัวกลางในการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ และใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน เพราะเด็กอยู่กับสื่อตลอดเวลา

ตัวอย่าง หลังเลิกเรียน ฉันเห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งเดินออกจากประตูรั้ว บอกลาและเดินแยกกับเพื่อน หลังจากนั้นเขาก็หยิบ ไอพอตขึ้นมาฟังเพลง และเดินกลับบ้าน แสดงว่าตลอดระหว่างทางกลับบ้านเขามีเพื่อนเป็นไอพอต นั่นคือสื่อที่อยู่กับเขาแล้ว หลังจากนี้เราก็ต้องมาคิดว่า ในเมื่อสื่ออยู่ใกล้ตัวของเด็ก จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กเท่าทัน ใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ”

ในสังคมไทย การรู้เท่าทันสื่อ กับการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยต้องเดินทางอย่างไร ?

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย มองว่า จริง ๆ แล้วในสังคมไทย ผู้ใหญ่เอง ก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ ครูทุกคนก็เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เรื่องเท่าทันสื่อไม่ใช่หน้าที่ของวิชาใดวิชาหนึ่ง แต่เป็นทักษะความรู้ ที่จะต้องติดตั้งให้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะเด็ก ให้รู้จักการรับมือ เกี่ยวกับสารสนเทศ จะดีมากถ้าเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็ก ให้เด็กเข้าใจ และรู้เท่าทันสื่อ

MIDL เป็นส่วนในการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันตัวเองก่อน รู้ว่าตัวเองกำลังมองสื่ออย่างไร
การอยู่ร่วมกัน และจะจัดการกับข้อมูลที่ได้รับมาจากสื่ออย่างไร

เด็กเรียนรู้ทุกอย่างได้ไวมาก ผู้ใหญ่ก็ต้องชวนตั้งคำถาม รับฟัง แลกเปลี่ยน ผู้ใหญ่และเด็กต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะเราไม่สามารถควบคุมเด็กได้ตลอดเวลา นอกเวลาที่อยู่กับผู้ใหญ่คือชีวิตเด็กจริง ๆการออกแบบห้องเรียนแบบใหม่ ที่ให้เด็กอยู่กับสื่อที่เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น การอัดเสียงกลับไปฟังแล้วถกเถียงในห้อง การพาเด็กไปรู้จักสังคมโดยใช้สื่อเป็นตัวกลางในการเสริมความคิด ใช้เหตุผล มาพูดคุยบางครั้งเด็กอาจจะเข้าใจกระบวนการเรียนรู้อย่างนั้นมากกว่า

Pam Steager กล่าวว่า สำหรับครู ดิฉันรู้สึกว่าครูต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงมาก ครูรู้ว่าบางครั้งเด็กรู้มากกว่าครูอีก เพราะเด็กเกิดขึ้นในยุคดิจิตอล ขณะเดียวกัน ครูก็ต้องมีการตั้งคำถามในเชิงลึกมากขึ้น ครูต้องมีส่วนร่วมกับเด็ก ทั้งครูทั้งพ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยี เพราะเด็กกดปุ่มได้ก่อนที่จะเดินได้ด้วยซ้ำไป

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุยกับเด็กตั้งแต่อายุน้อย ๆ และทำความเข้าใจเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน
กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ต้องใส่เข้าไปให้เร็วที่สุด จะทำให้การรู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็ก ถ้าปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อให้เด็ก โดยเกิดการมีส่วนร่วม พ่อ แม่ ครู สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน เคารพซึ่งกันและกัน ก็จะสามารถนำไปสู่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตยได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ