“ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี” สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ของใคร?)

“ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี” สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ของใคร?)

‘ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม’ ชี้หากประชาชนในพื้นที่เหมือง ‘มีความเสี่ยง’ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรค แม้สรุปไม่ได้ ก็เพียงพอที่จะเพิ่มมาตรการป้องกันการปนเปื้อน ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ ชี้หากหน่วยงานราชการไม่ฟันธงผลกระทบเหมือง ต้องมีนักวิชาการที่กล้าหาญมายืนยันข้อมูล ‘ธนพล เพ็ญรัตน์’ ยันวิชาการตอบได้ ชู “ป้องกัน ฟื้นฟู และการมีส่วนร่วม” แก้วัฏจักรผลกระทบเหมือง

หลังการบังคับใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา เรื่องยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนแม่บทฉบับแรกมาบังคับใช้ภายใน คืออีกโจทย์หนึ่งที่เราต้องจับตา

วันที่ 13 ก.ย. 2560 ศูนย์ศึกษาสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวงพูดคุยยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 (ฉบับที่ 1) กับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการเสวนา “ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” “Mining, Social Impact and Social Responsibility” ณ ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยวิทยากร

  1. ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  2. ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
  3. ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดำเนินรายการโดย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ไทยพีบีเอส

Mining, Social Impacts and Social Responsibility (Discussion)วันพุธที่ 13 กันยายน 2560ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7

โพสต์โดย Center for Peace and Conflict Studies, Chulalongkorn University เมื่อ วันอังคารที่ 12 กันยายน 2017

00000

“ทำไมหมอไม่ฟันธง ทำไมหมอไม่กล้าบอกว่านี่คือป่วยแล้ว แต่ในมุมมองทางการแพทย์นั้นยังไม่ได้ป่วยแต่มีความเสี่ยง”

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)

ในปี 2545 ได้มีการทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น รวบรวมข้อมูลผลกระทบของเหมือง นอกจากที่ร่อนพิบูลย์ ก็มีกรณีคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีด้วย เนื่องจากมีคำถามมากมายว่าตะกั่วทำร้ายใคร ทำร้ายอย่างไร ในช่วงปี 2541-2543 จากการลงพื้นที่พบว่าเด็กมีตะกั่วในเลือดสูง ส่วนในผู้ใหญ่พบบ้างแต่ยังไม่เท่าเด็ก ซึ่งจากการสังเกตเด็กมีปัญหาทางพัฒนาการ ในกรณีของร่อนพิบูลย์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังนั้นย้อนทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่คลิตี้มีช่วงเวลาที่เราจะทำให้เด็กปลอดภัยได้ หากมีการลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หรือย้ายที่อยู่ สิ่งที่เราจะทำได้คือหันไปลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม นี่เป็นต้นตอของปัญหา แต่ขณะเดียวกันเราต้องมีระบบของเราเอง เพื่อดูความเสี่ยงของประชาชนโดยรอบ ถ้าหากยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยง เราต้องดูแลรักษา อย่างกรณีของร่อนพิบูลย์เราก็ยังคอยดูแลรักษาอยู่

ในเวลาที่ผ่านมาเราพบทุกพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน กระทรวงสาธารณะสุขเข้าไป เราจะมีหลักฐานอยู่ในระดับหนึ่ง กลุ่มที่ 1 เราพบว่ามีผู้ที่เจ็บป่วยแล้วด้วยโรคมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในพื้นที่อื่น ๆ เราจะพบว่าเขามีโลหะหนักอยู่ในร่างกายและมีความเสี่ยงสูง ซึ่งประเด็นนี้คุยกับใครไม่มีใครรู้เรื่องกับเรา เขาบอกว่ามันต้องป่วย แต่ทุกคนก็จะบอกว่าทำไมหมอไม่ฟันธง ทำไมหมอไม่กล้าบอกว่านี่คือป่วยแล้ว แต่ในมุมมองทางการแพทย์นั้นยังไม่ได้ป่วยแต่มีความเสี่ยง

จนในปี 2554 ศาลฎีกามีคำแนะนำเรื่องวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมก็ชัดเจนเลยว่า ถ้าประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อน มีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูง โดยที่ไม่ต้องป่วยก็ถือว่ามีผลกระทบแล้ว นี่เป็นข้อแนะนำที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถไปต่อได้ด้วยคำพูดที่ว่า ‘มันมีความเสี่ยง’ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรค กรณีเดียวกันกับเหมืองทองที่บอกว่ายังสรุปไม่ได้ คำว่าสรุปไม่ได้ ในระดับที่ทำงานอยู่นั่นคือมีความเสี่ยงแล้ว ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะเพิ่มมาตรการในเรื่องของการปนเปื้อน

นอกจากเวทีนี้ที่เราพูดคุยกัน ในวันเดียวกันนี้ (13 ก.ย. 2560) กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำลังทำแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 1 อยู่ จากที่บอกว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. ตอนนี้ขยายให้อีก 1 เดือน โดยมีไทม์ไลน์คร่าว ๆ ดังนี้

  • 12-14 ก.ย. เป็นการทำเนื้อหาใส่ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของแผนแม่บท
  • 18-20 ก.ย. วางแผนว่าจะขับเคลื่อนแผนแม่บทอย่างไร
  • 25 ก.ย. เปิดเวทีรับฟังแผนแม่บทครั้งแรก ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป เวลา 9:00 เป็นต้นไป
  • ภายในเดือน พ.ย. เปิดรับฟังความคิดแบบโฟกัสกรุ๊ปครั้งหนึ่ง และเวทีรับฟังความคิดเห็นในภาพรวมแบบสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง
  • จากนั้นจะเสนอเข้า คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ภายใน 180 วัน
  • เสนอเข้า ครม. ไม่เกินปลายเดือน ธ.ค.

00000

“หน่วยงานราชการไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหมืองมีผลกระทบ ต้องมีนักวิชาการที่กล้าหาญมายืนยันข้อมูล”

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)

การมี พ.ร.บ.แร่ใหม่ ทิศทางอาจจะดีขึ้น อาจเพราะมันยากมากในเวลาที่จำกัด ต้องบอกก่อนว่า คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ (คนร.) ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายก ให้มีคณะทำงานตามคำสั่ง (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา) ตั้งขึ้นมาก็ให้เขียนยุทธศาสตร์แร่ มีกรมทรัพยากรธรณี กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้ร่าง และมีดราฟแรกซึ่งมีระยะเวลาทำน้อยมาก เพราะยุทธศาสตร์แร่ต้องออก พ.ย.ที่จะถึงนี้

ส่วนที่จะต้องทำก่อนยุทธศาสตร์แร่จะออกมาก็คือ คนร.ต้องเปิดเวทีในส่วนการมีส่วนร่วม เริ่มต้นโยนความคิดแต่ละกลุ่มแล้วค่อยร่างไป พร้อมกับการรับฟัง พูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง ๆ ในเชิงนโยบายแล้วเอามายำอีกทีในวงประชุมใหญ่ จากนั้นก็ทำออกมาเป็นประกาศ เปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของ คนร. ซึ่งก็ทำอยู่ในตอนนี้ ก็ยังเสนอไปว่าควรเอาข้อมูลทั้งหมดมาไว้ในเพจเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย

หน้าตาของร่างยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี ของกรมทรัพยากรธรณี กับ กพร. มีเนื้อหาคือ

1.พื้นที่อนุรักษ์ คือต้องมีพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมันก็มีอนุรักษ์อยู่แล้ว เพราะว่าโดย พ.ร.บ.อุทยาน ห้ามทำการใด ๆ ในพื้นที่อยู่แล้ว

2.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 2 ซึ่งคนทำเหมืองไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่ สมมติในกรณีที่เขาเจาะภูเขาทำเหมืองไปแล้วเกือบทั้งลูก แล้วเจอภูเขาชั้นที่เป็นแหล่งต้นน้ำ เขาก็จะทำต่อไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคิดกันอยู่ ต้องประเมินเป็นพื้นที่ ๆ ไป

3.แหล่งน้ำซับซึมที่เป็นแหล่งต้นน้ำ เช่นใน จ.กระบี่ ระเบิดภูเขาแล้วสารเคมีต่าง ๆ ที่เกิดจากการระเบิดไหลลงในน้ำ ทุ่งนาในพิจิตร เพชรบูรณ์ เหมืองแร่เองก็ต้องมีการประเมินว่าคุ้มทุนไหม กับพื้นที่แบบนี้ หรือกรณีโปแตช ใน จ.อุดรธานี เปิดเหมืองนิดเดียว แต่การทำโปแตชต้องเจาะลงไปใต้ดินทั้งอำเภอ เรามีทรัพยากรเป็นแหล่งอำนาจของโลก แต่ถ้ามันใหญ่มากจนมันเปลี่ยนวิถีชีวิต เราจะรอให้ชาวนาในอีสานเลิกทำนาก่อนไหม แล้วค่อยทำอีก 20-30 ปี ก็ต้องมาดูกัน

ต้องเอาข้อมูลมาคุยกัน นักวิชาการเก็บข้อมูลเจออะไรบ้าง เช่น ตอนเหมืองแร่ที่ตาก นักวิชาการฟังธงชัด ผลแคดเมียมสูงมาก เกิดจาการประกอบกิจกรรมเหมือง เหมืองรู้ข้อมูลทำตะแกรงกรอง แคดเมียมก็ลด จบเคลียร์ไป แต่ที่มันไม่จบในบางเคสก็เพราะเหมืองไม่จบ ต้องเอาหน่วยงานอื่น ๆ มายืนยัน เช่น เหมืองทองอัครานักวิชาการของมหิดลลงไปเก็บข้อมูล ผลออกมาไม่พอใจก็จ้างจุฬาฯ มาเก็บข้อมูลอีกรอบ จุฬาฯ ก็ทำข้อมูลออกมาคลุมเครือ เคสก็เลยไม่จบ

คสช. มีคำสั่งให้ปิดเหมืองทอง นี่ก็เกิดข้อพิพากษ์ที่ต้องไปฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ บริษัทเหมือง เขาฟ้องรัฐบาลกลับ

แต่ท่าทีของ คสช.ที่เราพอจะจับทางได้ คือรู้สึกผิดหวัง เพราะหน่วยงานราชการไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหมืองมีผลกระทบ ต้องมีนักวิชาการที่กล้าหาญมายืนยันข้อมูล กรณีเหมืองอัคราถ้าจะปิดจะทำอย่างไร ต้องเจาะน้ำ ตรวจสภาพน้ำมา ทำข้อมูลออกมาจะได้เอามากรุ๊ปข้อมูล เอาข้อมูลมาเขียน 1 2 3 4 ตรง ๆ ตอนนี้ คสช.ก็แย่ เพราะไม่มีหน่วยงานฟันธง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และในเชิงข้อมูลตรงๆ ได้

ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ใช้ข้ออ้างเรื่องอนุญาโตตุลาการก็ทำให้เห็นว่าไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล

00000

“นักวิชาการก็ต้องจบที่หลักการวิชาการ ที่บอกว่าการปนเปื้อนที่คลิตี้ ธรรมชาติบำบัดใช้ไม่ได้ ในรอบ 17 ปี มีการเอาข้อมูลมาดูกัน ประเด็นวิชาการเหล่านี้มันตอบได้ ไม่งั้นหน่วยงานก็จะใช้ข้อมูลที่ไม่แหลมคมมาอ้างได้”

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในอดีต 30 กว่าปีก่อน ตั้งแต่ยุคเหมืองดีบุก คลิตี้ จนถึงแม่ตาว เราเรียนรู้อะไรบ้าง นอกจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การมีแร่ของไทย ทำให้ชุมชนรอบ ๆ ใกล้แหล่งแร่มีงานทำ นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่าง ๆ ตามมาด้วย

  • ประชาชนได้รับผลกระทบเชิงประจักษ์ มีความกังวลจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ เช่น ในกรณีของ แคสเมียม ที่ตาก ตะกั่วจากคลิตี้
  • เห็นท่าทีของชุมชนแสดงความกังวล การต่อต้านเหมืองแร่
  • เกิดการถกเถียง ระหว่างคนที่เห็นด้วยกับการประกอบกิจการเหมือง กับคนต่อต้าน ความขัดแย้งของความคิดเห็นที่แตกต่าง
  • หลาย ๆ รายงานที่มีการตรวจผลกระทบ แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวเกิดจากเหมืองหรือเปล่า ถ้ารู้ก็ต่อเมื่อเราเห็นเป็นบริเวณกว้างแล้ว เช่น แคดเมียมที่ จ.ตาก ในทุ่งนา ตะกั่วที่กระจายทั่วพื้นที่ของเหมืองคลิตี้
  • การขัดแย้งทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำกิจการเหมือง
  • ภาคประชาสังคมฟ้องหน่วยงานรัฐ กรณีคลิตี้ แม่สอด เหมืองทอง/ เหมืองฟ้องชุมชน เหมืองฟ้องหน่วยงานรัฐ เหมืองฟ้องสื่อ/ หน่วยงานรัฐฟ้องเหมือง
  • เห็นการบำบัดฟื้นฟูที่มีงบ ตัวเลขค่อนข้างสูง และไม่มีกองทุนในการจัดการ

ผลกระทบต่าง ๆ ของการทำเหมืองเป็นวัฏจักร ทำให้เราเห็นว่า การต่อสู้ทั้งหมดของการทำเหมือง แท้จริงแล้วไม่มีผู้ชนะ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เป็นโอกาสในวิกฤต

ที่ผ่านมาเคยทำเรื่องการฟื้นฟู เลยนึกว่าน่าจะต้องมีอะไรบ้าง นึกถึง “ป้องกัน ฟื้นฟู และการมีส่วนร่วม” ชูการมีส่วนร่วมโดยการเอา SEA (Strategic Environmental Assessment) ต้องการเป็นพื้นที่การมีเหมืองจริงๆ หรือเปล่า จะพูดคุยอย่างไร

การใช้ Buffer zone อุตสาหกรรมไม่ชนกับสิ่งมีอยู่ในพื้นที่ก่อน ระยะห่างจะอยู่เท่าไหร่ ถ้าเกิดการประกอบกิจการเหมือง เลยลองประเมินจาก ต้นทุนภายนอก การกระจายของประโยชน์อยู่ที่ใครบ้าง ความเสียหายถึงใครบ้าง

ตัวอย่างการวิจัยที่แม่สอด การปนเปื้อนแคดเมียม กรณีของความเสียหายของข้าว 1 ไร่ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง จะต้องใช้จำนวนเงินรักษา 155,000 บาทต่อปี มูลค่าชีวิตจากการเสียชีวิต ค่าความเสียหาย 1,160,000 บาทต่อปี เฉลี่ยค่าเสียหายสุทธิจากการไม่ฟื้นฟูดินและปลูกข้าว รวมมูลค่า 1,315,000 บาทต่อปี เอามาคำนวณราคาความคุ้มค่า คิดต่อว่าจะทำยังไงถึงจะให้ เมื่อมีตัวเลขบอกถึงผลกระทบแล้ว ใครจะรับผิดชอบ

ในพื้นที่ที่จะทำเหมืองเราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร ยกตัวอย่าง สารหนูในพื้นที่ดูความเสี่ยงเป็นสำคัญ ถ้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่ควรมีอุตสาหกรรมเหมือง ควรหลีกเลี่ยง

ส่วนพื้นที่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เหมืองก็ต้องประเมินความเสี่ยง ว่าถ้าประกอบกิจการไปคุ้มค่าแค่ไหน พื้นที่ที่มีสารหนูต่ำ ทำเหมืองได้ แล้วชาวบ้านคิดเห็นอย่างไร มีการมีส่วนร่วม อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ EHIA เป็นที่ยอมรับ ประกันความเสี่ยง เราสามารถคำนวนวงเงินผลกระทบได้ ที่สำคัญคือเมื่อดำเนินการแล้วไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ผู้รับผิดและผู้รับชอบเป็นคนเดียวกัน

เรื่องการฟื้นฟู ตัวยุทธศาสตร์ทำอย่างไรให้การฟื้นฟูในอดีตเป็นยุทธศาสตร์ด้วย ทางออกการเก็บเงินจากเหมืองที่ทำไปแล้วย้อนหลัง ตั้งกองทุนคล้าย ๆ Superfund ของ USA เก็บเงินเพิ่มเติมส่วนแบ่งจากกิจกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในอดีตและที่กำลังจะทำให้อนาคต ถ้าเราทำตรงนี้ได้เหมืองเองก็จะมีความมั่นใจว่า ทำปนเปื่อนได้ก็รับผิดชอบได้

นักวิชาการก็ต้องจบที่หลักการวิชาการ ที่บอกว่าการปนเปื้อนที่คลิตี้ ธรรมชาติบำบัดใช้ไม่ได้ ในรอบ 17 ปี มีการเอาข้อมูลมาดูกัน ประเด็นวิชาการเหล่านี้มันตอบได้ ไม่งั้นหน่วยงานก็จะใช้ข้อมูลที่ไม่แหลมคมมาอ้างได้ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ช่วยรองรับได้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ