ยุทธศาสตร์ขยายอายุการจ้างงาน เตรียมรับ ‘สังคมสูงวัย’

ยุทธศาสตร์ขยายอายุการจ้างงาน เตรียมรับ ‘สังคมสูงวัย’

เมื่ออัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุไทย พุ่งพรวดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด และอีก 4 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2574 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หรือมีผู้สูงวัยสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและกำลังแรงงาน

การที่กำลังแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาวลดน้อยลง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ชะลอตัวลงอย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี นั่นหมายความว่า ในอนาคตไทยต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายพานการผลิตในเศรษฐกิจภาคต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “การขยายอายุการจ้างงาน” จึงเป็นแนวทางในการรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยนี้ได้

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานเวทีขับเคลื่อนนโยบาย “ขยายอายุการจ้างงาน : คุณค่าต่อสังคมไทย” ขึ้น เพื่อนำเสนอต้นแบบและแนวทางในการขยายอายุการจ้างงานแรงงานสูงวัย  และขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายการขยายอายุการจ้างงานแรงงานสูงวัยสู่สถานประกอบการ


ที่ผ่านมา การจ้างงานในภาคเอกชนของไทย ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุเกษียณที่เป็นทางการเอาไว้ เช่นเดียวกับการเกษียณอายุในภาคราชการที่กำหนดไว้ 60 ปี ผู้ประกอบการจึงมักอ้างอิงอายุเกษียณตามเกณฑ์สิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ทั้งที่แนวโน้มสุขภาพ และอายุของประชากรที่ยืนยาวมากขึ้น

ความกังวลของสถานการณ์สังคมสูงวัยในประเทศไทย

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 10 และอัตราความเร็วของการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบร้อยละ 20 ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปและอเมริกาใช้เวลาเข้าสู่สังคมสูงวัย จนถึงสังคมสูงวัยสมบูรณ์ ใช้เวลา 80-100 ปี สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยมีเวลาเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยน้อยมาก

พญ.ลัดดา กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบทำให้กำลังแรงงานของเราถดถอยลง ของไทยเรามีการกำหนดอายุการทำงานอยู่แค่ 55 ปี และในภาคราชการที่กำหนดไว้ 60 ปี ซึ่งในอดีตอาจจะเหมาะสมเพราะอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 กว่าปี

“แต่ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 74 ปี เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าถ้าเรากำหนดอายุการทำงานอยู่ที่ 60 ปี มีเวลาที่จะมีชีวิตอยู่เหลืออีกเยอะมาก ประมาณ 10 กว่าปี แล้วเวลาที่เหลือเป็นเวลาที่ไม่ได้สร้างรายได้ เพราะถูกกำหนดตำแหน่งไว้อยู่ที่คนที่หยุดทำงาน เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กำลังแรงงานของประชากรไทยหายไป แล้วอัตราทดแทนของคนที่อายุน้อยน้อยมาก คนไทยมีอัตราการเกิดอยู่แค่ร้อยละ 1.6 ส่งสัญญาณว่าต่อไปเราจะมีเด็กน้อยลง”

การมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องส่งเสริมเรื่องการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ แม้จะไม่ได้มีผลที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อย่างน้อยก็ช่วยชะลอกำลังแรงงานที่ถดถอย และที่สำคัญช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับตัวประชากรสูงวัยในอนาคต

มโนชญ์ แสงแก้ว ผู้อำนวยการกองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เล่าถึงยุทธศาสตร์การรับมือสังคมสูงวัยว่า เรื่องการขยายอายุการจ้างงานก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญ ในการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบแรงงาน สามารถที่จะประกอบอาชีพและดูแลตนเองได้ และเป็นส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีการดำเนินการไปแล้วทั้งในเรื่องของข้อกฎหมาย

การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องการขยายอายุการจ้างงานนั้น ผ่านสภานิติบัญญัติเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งการกระจายงาน การฝึกทักษะให้ผู้สูงอายุ มีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีผลสัมฤทธิ์ในการที่จะสร้างงาน สร้างโอกาสให้กับผู้สูงอายุ

จากการศึกษาของ มส.ผส. ได้เสนอรูปแบบการขยายการจ้างแรงงานสูงอายุ 3 รูปแบบ

1.ขยายอายุการเกษียณ จากเดิม 55 ปีบริบูรณ์ เป็นการต่อสัญญาทำงานแบบปีต่อปี ที่ลูกจ้างยังอยู่ในระบบประกันสังคม

2.การจ้างงานเข้ามาใหม่หลังอายุเกษียณ ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ หรือเงินชดเชยต่างๆ จากการลาออกทั้งหมด เช่น ค่าชดเชยการเลิกจ้าง เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิชราภาพจากประกันสังคมแบบบำเหน็จ/บำนาญ แต่เมื่อกลับเข้ามาทำงานในระบบใหม่ ลูกจ้างจะต้องสมัครเข้าระบบประกันสังคมอีกครั้ง โดยเริ่มนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมใหม่

และ 3.การขยายอายุเกษียณเป็นการทั่วไปของบริษัทที่อายุมากกว่า 55 ปี เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการทำงานใหม่ โดยให้การเกษียณมากกว่าอายุ 55 ปี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขยับอายุการเกษียณสำหรับแรงงานใหม่ อาจจะกำหนดอายุการเกษียณที่ 60 ปีไว้ในเงื่อนไขการจ้างงานตั้งแต่ต้น ในขณะที่แรงงานเก่าให้เป็นไปตามความสมัครใจของแรงงาน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติสถานประกอบการแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป สถานประกอบการมีตัวเลือกในการนำแนวทางทั้ง 3 รูปแบบ ไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์กรของตน เพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุในอนาคต

สถานประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย

ปราณี เต็มสังข์ บริษัทฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด (ตัวแทนสถานประกอบการ) เล่าถึงการเตรียมความพร้อมว่า ทางบริษัทมีการเตรียมการไปแล้วในระดับหนึ่ง อย่างในสมัยก่อนทางบริษัทเกษียณอายุอยู่ที่ 55 ปี แต่ปัจจุบันเรามีการขยายอายุงานเพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าคนสมัยนี้ยังแข็งแรงและก็มีสุขภาพที่ดี ทางบริษัทจึงมีการขยายอายุงานจาก 55 ปีเป็น 58 ปี มีการดำเนินการมาแล้ว 6 ปี เพราะส่วนหนึ่งลูกจ้างเองก็พร้อมที่จะทำงานได้ และนายจ้างก็ยังคงมีงานให้ลูกจ้างทำอยู่

หลังจากดำเนินการไป ผลตอบรับดีเลยค่ะ ในแง่ที่ว่า เราก็ได้มีแรงงานในแง่ของการทำงานอย่างต่อเนื่อง ลูกจ้างเองก็ยังมีรายได้ต่อไปอีกใน 3 ปีที่เราขยายไป ยังคงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ต่อไป แต่คงเพิ่มเติมในส่วนของการที่ต้องประเมินสภาพร่างกายของลูกจ้างเอง ว่ายังสามารถทำงานต่อไปได้ไหม หรือมีงานตำแหน่งใดที่เหมาะสมกับลูกจ้าง

นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะ เพราะว่าถ้าจะขยายต่อไปก็คงดูเรื่องสุขภาพ เพราะถ้าพนักงานสามารถทำงานได้ บริษัทเองก็ต้องดูแลกัน และมีสวัสดิการที่ดูแลพนักงานในเรื่องหลังเกษียณพร้อมอยู่แล้วด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ