แม่โจ้โพลล์ ชี้ ผลผลิตลำไยที่มากขึ้น“ทำราคาตก” แนะ รัฐฯ “เร่งหาตลาดเพิ่ม”

แม่โจ้โพลล์ ชี้ ผลผลิตลำไยที่มากขึ้น“ทำราคาตก” แนะ รัฐฯ “เร่งหาตลาดเพิ่ม”

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของชาวสวนลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวนทั้งสิ้น  401 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยล41.65 ระบุว่าปีนี้มีผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่กลับทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ รวมถึงขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอให้รัฐเร่งหาตลาดในการระบายสินค้าเพิ่มเติม

ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ ซึ่งในปี 2560 ผลผลิตลำไยได้ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงที่มีปริมาณผลผลิตออกมากที่สุด โดยมาจากพื้นที่ปลูกหลัก คือ เชียงใหม่และลำพูน  ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ในปี 2556 – 2559 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกลำไย ทั้งสด แช่แข็ง และลำไยอบแห้ง มูลค่า 4.9175 ล้านดอลล่าร์ ในปี 2556 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุด ในปี 2559 นี้ มีมูลค่า 442.174 ล้านดอลลาร์ ประเทศส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนามและอินโดเซีย

ราคาปัจจุบัน (วันที่ 13 สิงหาคม 2560) ซึ่งเป็นช่วงกลางที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด พบว่า  ราคาลำไย (ร่วงสำหรับเข้าเตาอบเพื่อผลิตลำไยอบแห้ง) เกรด AA  ราคาเฉลี่ย 13.00 บาท/ กก. เกรด A ราคาเฉลี่ย 6 บาท/กก. และเกรด B ราคาเฉลี่ย 3 บาท/ กก.  ส่วนราคาลำไยช่อคละเกรด 1 และเกรด 2 ราคาเฉลี่ย 20 บาท /กก. ราคาดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญสถานการณ์ราคาลำไยตกต่ำดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านๆมา

อีกปัญหาหนึ่งเกิดในช่วงผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดนี้ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่  เนื่องจากแต่ละสวนมีเกษตรกรที่มีสวนลำไยจำนวนมาก จะต้องใช้แรงงานในการเก็บผลผลิต โดยแต่ละพื้นที่นั้นจะใช้แรงงานเก็บไม่ต่ำกว่า 2-3 วัน  จึงมีเกษตรกรบางรายที่แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยใช้วิธี ใช้แรงงานต่างด้าวในการเก็บผลผลิต หรือ ใช้แรงงานในการเหมาสวนเป็นกิโลกรัม  ซึ่งจากปัญหาทางด้านราคาและแรงงานนี้ แม่โจ้โพลล์ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร  คณะเศรษฐศาสตร์ ได้ สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวน  401 ราย ระหว่างวันที่ 3 – 13 สิงหาคม 2560  เพื่อ 1) สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตลำไย  2) สำรวจความคิดเห็นเกษตรเกี่ยวกับสถานการณ์ลำไยในปัจจุบัน

ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 41.65 มีผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่อง จากมีสภาพอากาศเหมาะสมและมีปริมาณน้ำมากขึ้นและจากราคาลำไยที่สูงจากปีที่ผ่านทำให้เกษตรเอาใจใส่ ดูแลผลผลิตมากขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รองลงมาร้อยละ 29.68 บอกว่าผลิตลดลง เนื่องจาก ดูแล เอาใจใส่น้อย เกิดโรคแมลง ศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตมีน้อย ร้อยละ 17.21 บอกผลผลิตเท่าเดิม และร้อยละ 11.47 บอกไม่มีผลผลิตในปีนี้

จากการสอบถามเกษตรกรเกี่ยวกับการวางแผนการผลิตในปีถัดไปหากประสบปัญหาขาดทุนในปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรร้อยละ 61.10 บอกจะยังผลิตต่อเนื่องในปีการผลิตถัดไป อีกร้อยละ 38.90 บอกจะไม่บำรุงรักษา ปล่อยให้ออกเองตามธรรมชาติ  เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาลำไย พบว่า ด้านผลผลิตราคาตกต่ำ พบว่า ร้อยละ 46.38 บอกควรวางแผนการผลิตให้ลำไยออก เป็นช่วงๆ ต้น-กลาง-ปลาย ฤดู  รองลงมา ร้อยละ 24.94 บอกควรมีการรวมกลุ่มกันขาย ร้อยละ 16.96 ควรหาหาตลาดแหล่งใหม่ๆเพิ่มเติม และ ร้อยละ 11.72 เห็นว่า ควรผลิตลำไยคุณภาพ / นอกฤดู  ด้านการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน พบว่า ร้อยละ 34.43 บอกว่าควรขายเหมาทั้งสวน  รองลงมา ร้อยละ 27.46 ใช้แรงงานในครัวเรือนและเครือญาติ  ร้อยละ 21.31 จ้างแรงงานในต่างพื้นที่และแรงงานต่างด้าว  และร้อยละ 16.79  ใช้วิธีเพิ่มค่าแรงและการจ้างเหมาเก็บเป็นกิโลกรัมภายในสวน

ทั้งนี้จากการสอบถามหากประสบปัญหาราคาลำไยต่อเนื่องเรื่อยๆ ในอนาคต พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 49.38 บอกจะยังคงผลิตต่อเนื่อง รองลงมาร้อยละ 29.93 ยังไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 20.70 จะเลิกผลิตลำไย โดยจะหันไปปลูกพืชอื่นที่ราคาแน่นอนกว่านี้ และจากการสอบถามข้อเสนแนะต่อการผลิตลำไยในปัจจุบันและอนาคตนั้น พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 49.77 บอกว่าควรมีการจัดหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขื้น รองลงมาร้อยละ 32.86 ควรมีการกำหนดราคาขายไม่ให้รับซื้อต่ำจนเกินไป ร้อยละ 9.39 ส่งเสริมการทำลำไยคุณภาพและการแปรรูป และร้อยละ 7.98 ควรส่งเสริม สนับสนุนในการลดต้นทุน

จากผลสำรวจที่ผ่านมาหลายครั้งจะเห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญของการผลิตลำไยเกิดขึ้นอยู่ 2 สาเหตุใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ 1) ปัญหาราคาลำไยตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดมาช้านาน  ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะมีการผลิตลำไยนอกฤดูแล้วบ้างก็ตาม ยังไม่สามารถดึงราคาลำไยในฤดูให้สูงขึ้นได้มากนัก  เนื่องจากราคาขายจะถูกกำหนดโดยพ่อค้าที่มารับซื้อ  เกษตรกร ชาวสวน ไม่มีอำนาจในการต่อรอง และกำหนดราคาขายได้เอง

2) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว  ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยนี้ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะในการปีนต้น  ที่ต้องใช้ความชำนาญและระมัดระวังเป็นอย่างมาก  โดยในแต่ละสวนจะต้องใช้แรงงานดังกล่าว 2- 3 คน ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ถึงแม้เกษตรกร ชาวสวนจะใช้วิธีให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น โดย การจ้างเหมาเก็บในสวน ในราคา กิโลกรัมละ 3- 4 บาทก็ตาม  ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้   ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้ามากำกับดูแลในส่วนของการกำหนดราคาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ชาวสวนลำไย  และกำหนดให้มีการวางแผนการผลิตอย่างไรให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นช่วงๆ ไม่เกิดปัญหาการล้นตลาดเหมือนที่เป็นมา รวมทั้งเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรองราคา ให้ราคาผลผลิตลำไยเกษตรกรสามารถอยู่ได้ อีกทั้งมีการบริหารจัดการแรงงานในฤดู เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ หรือใช้วิธีการทำลำไยทรงพุ่ม ให้ต้นเตี้ย เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต  เพื่อทำให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอยู่ดี กินดี มีสุข ต่อไป

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร  คณะเศรษฐศาสตร์  ม.แม่โจ้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ