แม่โจ้โพลล์ ชี้ เกษตรกร ‘ยังขาดความเข้าใจ’ เกี่ยวกับเกษตรแปลงใหญ่

แม่โจ้โพลล์ ชี้ เกษตรกร ‘ยังขาดความเข้าใจ’ เกี่ยวกับเกษตรแปลงใหญ่

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 549 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบว่า สิ่งที่เป็นปัญาหาสำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ส่วนใหญ่ คือ ความรู้ความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการ และข้อมูลที่ได้รับรู้ส่วนใหญ่มาจากภาครัฐเป็นหลัก

ขอบคุณภาพจาก ทีมองศาเหนือ (โพควา)

แนวทางการพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Road map) ในปีพ.ศ.2558 เน้นการให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต โดยการรวมแปลงการผลิตของเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ มีเป้าหมายในการดำเนินงานทั้งสิ้น จำนวน 268 แปลง ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2560

ถึงแม้โครงการดังกล่าวจะดูเหมือนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกร และเป็นที่พอใจอย่างมากของผู้บริหารกระทรวงต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามจากลักษณะของโครงการดังกล่าวที่มีเงื่อนไขค่อนข้างมาก ทั้งการที่ต้องเป็นการรวมกลุ่มในการผลิตทางการเกษตรเฉพาะอย่าง มีลักษณะของพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมทั้งทำเลที่ตั้ง สภาพทางกายภาพ เช่น ดิน น้ำ และภูมิอากาศ และต้องอยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุน หรือต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค ประกอบกับการที่โครงการดังกล่าวมีลักษณะเป็น Top-Down Approach ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงโอกาสในการเข้าถึง การเข้าใจ และการเข้าร่วมโครงการของเกษตรกร

แม่โจ้โพลล์ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 549 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ   ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม  – 5 กันยายน 2560 ในหัวข้อ “เกษตรแปลงใหญ่ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ การรับรู้ต่อโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของเกษตรกร การเข้าร่วมและความสนใจในการเข้าร่วมโครงการของเกษตรกร รวมถึง ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของเกษตรกร

ขอบคุณภาพจาก ทีมองศาเหนือ (โพควา)

ผลการสำรวจ พบว่า เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่การจัดทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.34 เคยได้ยินเกี่ยวกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ได้ยินโครงการจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ (ร้อยละ 72.86) ได้ยินโครงการจากสื่อสารมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี (ร้อยละ 42.62) และเคยได้ยินโครงการจากเพื่อนเกษตรกร (ร้อยละ 24.23) โดยมีเพียงร้อยละ 13.66 เท่านั้นที่ไม่เคยได้ยินโครงการดังกล่าว

เมื่อสอบถามถึงการเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่การจัดทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.54 ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งส่วนมาก (ร้อยละ 72.08) เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ให้เหตุผลในการเข้าร่วมโครงการว่า เป็นเพราะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ เช่น การลดต้นทุนการผลิต (ร้อยละ 70.47) และเพราะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ (ร้อยละ 29.53) โดยมีเกษตรกรอีกร้อยละ 25.46 ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการว่า เพราะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจ (ร้อยละ 35.34) เพราะพื้นที่ทางการเกษตรไม่อยู่ในพื้นที่ให้การสนับสนุน (ร้อยละ 26.72) เพราะไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ (ร้อยละ 16.38) เพราะไม่มีกลุ่มที่จะสามารถเข้าร่วมได้ (ร้อยละ 12.07) และเพราะพื้นที่ทางการเกษตรของตนไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ (ร้อยละ 9.48) และเมื่อสอบถามผู้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการถึงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 53.78 ยังไม่แน่ใจหรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่  ในขณะที่ร้อยละ 24.37 ไม่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยมีเพียงร้อยละ 21.85 เท่านั้นที่สนเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่

เมื่อสอบถามเกษตรกรทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมการทำเกษตรแปลงใหญ่ พบว่า อันดับที่ 1 (ร้อยละ 51.18) เกษตรกรประสบปัญหาความรู้ความเข้าใจในการเข้าร่วม อันดับที่ 2 (ร้อยละ 41.35) เกษตรกรประสบปัญหา ความเหมาะสมของพื้นที่ พืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยง อันดับที่ 3 (ร้อยละ  32.24) เกษตรกรประสบปัญหา เงื่อนไข ขั้นตอนในการเข้าร่วม อันดับที่ 4 (ร้อยละ 31.33) เกษตรกรประสบปัญหาผลประโยชน์ที่จะได้รับ อันดับที่ 5 (ร้อยละ  27.32) เกษตรกรประสบปัญหาการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และ อันดับที่ 6 เกษตรกรประสบปัญหาการสนับสนุนจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ (ร้อยละ  17.85) เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอแนะต่อการสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการหันมาเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรให้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ ภาครัฐควรปรับราคาผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการให้มีราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ควรมีตลาดรับซื้อผลผลิตรองรับที่แน่นอน ควรมีการสนับสนุนความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนปัจจัยการผลิต

จากผลการสำรวจพบว่า ถึงแม้โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการที่ดี และก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเป็นอย่างมากในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต แต่ก็ยังพบว่าปัญหาสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการคือความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรที่มีต่อโครงการ ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายในระดับกระทรวง จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในท้องถิ่นที่จะต้องชี้แจงและทำความเข้าใจต่อเกษตรกร ถึงหลักการ และประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ รวมถึงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนในการดำเนินการและวิธีการในการเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน และอาจหาแนวทาง จัดการกับปัญหาอุปสรรคเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ของเกษตรกรในบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ให้มีความยืดหยุ่น ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรที่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็จะเป็น การขยายโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป

แม่โจ้โพลล์ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ