ประมวลทัศนะ ‘รู้เท่าทันสื่อฯ’ อำนาจในมือพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ประมวลทัศนะ ‘รู้เท่าทันสื่อฯ’ อำนาจในมือพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพลเมืองต้องเท่าทันสื่อและใช้สื่อเป็น ทัศนะหลากหลายจากงานสัมมนาการรู้เท่ารู้ทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) เรื่อง MIDL : อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

การเข้าถึงสื่อฯ… เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
การเข้าถึงสื่อฯ… ที่มากพอจากหลายแหล่งที่มาช่วยประกอบการคิด ตัดสินใจ และลงมือกระทำการบางอย่าง
การเข้าถึง เข้าใจ และเท่าทันสื่อฯ… คือทักษะสำคัญของพลเมืองในการปกป้องสิทธิเพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยและสร้างการเปลี่ยนแปลง

00000

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)

ผู้คนยุคปัจจุบัน ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจำนวนมาก ผ่านสื่อดิจิทัลที่มีความรวดเร็วในขณะเดียวกันปัญหาภาพรวมจาก Social media เช่น ในทางที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง ซึ่งผู้ใช้เองอาจจะยังขาดความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ข้อมูล

‘MIDL การรู้เท่าทันสื่อ’ คือ เท่าทันสื่อ Media เท่าทันสารสนเทศ Information เท่าทันดิจิทัล Digital Literacy

เท่าทันสื่อในความหมายของสากลไม่ใช่แค่การคอยติดตาม ถอดรหัส ตรวจสอบ คำว่าสื่อไม่ได้อยู่ในช่องทางแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว นั่นหมายถึงสื่อที่ไร้ขอบเขต

จำเป็นอย่างมากคือ สิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นให้กับคนทุกวัย การสร้างวิจารณญาณในการปกป้องตนเอง และคนรอบตัว จากสื่อที่เป็นภัยไม่พึงประสงค์”

00000

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ปัจจัยที่ทำให้การสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคือเทคโนโลยี หลังจากที่ กสทช. เปิดให้ประมูลคลื่นความถี่ได้ ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว หลายคนมองปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่ดี แต่บางคนก็กังวล เพราะความเปลี่ยนแปลงมีความก่อกวนและผลกระทบอยู่แล้ว

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิตัลจึงควรมีการส่งเสริมการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้พลเมือง ทำให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับตัว

เมื่อโลกมันเปลี่ยนเราต้องปรับตัว แต่คนที่ต้องปรับตัวมากที่สุดก็คือรัฐ เพราะรัฐยังอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมและไม่เปิดกว้าง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย

สังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยได้คือสังคมที่ยอมรับซึ่งกันและกัน คุยกันด้วยเหตุผล เคารพสิทธิของพลเมือง และสามารถทำให้พลเมืองอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพราะฉะนั้นหากรัฐไม่เปลี่ยนวิธีคิดหรือปรับตัวให้เท่าทัน คนที่จะถูกทิ้งก็คือรัฐ แต่ระหว่างนั้นก็จะมีคนที่เจ็บปวดไปด้วยนั่นคือประชาชน”

00000

Pam Steager, Senior Writer and Research Associate Media Education Lab

Pam Steager แลกเปลี่ยนเรื่องการเท่าทันสื่อฯ ซึ่งเป็นบทเรียนจากอเมริกาว่า การค้นคว้าหาความรู้ก็คือการสร้าง ‘ความรู้เท่าทันสื่อ’ เราต้องการให้ทุกคนเป็นผู้บริโภคในเชิงรุกที่ไม่ใช่แค่นั่งรับข้อมูลเฉย ๆ

การที่คนเท่าทันสื่อมาก ก็เป็นผลดีมากในการสร้างสังคมประชาธิปไตย

ข้อมูลต่าง ๆ มีอิทธิพลอย่างมาก ในการเป็นส่วนประกอบของข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ การสื่อสารมวลชน การส่งข่าวสารต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลนั้น พลเมืองจึงจะกลายเป็นบุคคลที่มีทักษะรู้เท่ารู้ทันสื่อได้

นอกจากนั้น Pam Steager ยังกล่าวถึง 5 คำถามหลักเพื่อการเท่าทันสื่อ คือ 1.ความเป็นเจ้าของ-ใครคือผู้สร้างตัวสาร? 2.รูปแบบ-เทคนิคในเชิงสร้างสรรค์ใดที่ถูกนำมาใช้ดึงดูดความสนใจผู้ชม? 3.ผู้รับสาร-บุคคลต่าง ๆ แปลความหมายสารอย่างไร? 4.เนื้อหา-ค่านิยมและมุมมองที่ถูกนำมาใช้คืออะไร? และ 5.เป้าหมาย-สารถูกส่งมาเพื่อเป้าหมายอะไร?

00000

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย

ช่องทางการรับสื่อที่เข้าถึงง่ายในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใหญ่พยายามควบคุมการใช้สื่อของเด็ก แต่คนที่มีปัญหากับการใช้สื่อกลับไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่เองที่ไม่เท่าทันสื่อ

ปัญหาสังคมจำนวนมากสะท้อนความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ที่พลเมืองต้องมองเห็นบทบาทของตนเอง ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง พลเมืองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สื่อในการแสดงการมีตัวตน

การเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 มิติ คือ 1.การเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย 2.การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตย และ 3.การเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย”

00000

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

สื่อและข้อมูล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมาก มีข้อมูลอย่างเดียวไม่พอ ถ้าหากขาดการสื่อสารประชาชนก็จะไม่เห็นตัวประเด็นปัญหา ตัวอย่างในกรณีของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งที่มีข้อมูลวิชาการรอบด้าน แต่การผลัดไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดการสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่

ในทางกลับกัน กรณีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช การจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ เมื่อสื่อทำหน้าที่กระจายข้อมูล คนตีความว่าประเด็นดังกล่าวเกิดการสูญเสียมรดกของชาติ ทั้งที่จริงแล้วคนที่กระทบคือชาวบ้าน การสื่อสารในเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นว่าสื่อและชุดข้อมูล ควรเดินควบคู่กันไป

ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมีอิทธิพล เฟซบุ๊ก ไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสื่อเองโดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลักอีกต่อไป ในการรณรงค์เรื่องพิษของสารเคมี ใช้สื่อนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พลังของการสื่อสารประกอบกับข้อมูลจึงประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ควรคำนึงต่อจากนี้คือการทำอย่างไร ให้การนำเสนอเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด การสื่อสารไม่จำเป็นต้องหวือหวา เพียงให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจต่อสังคม ใช้สื่อสร้างความคิดเชิงระบบ

วิธีแปลงเนื้อหาให้กลายเป็นรูปภาพ เป็นหนึ่งในรูปแบบการนำเสนอข้อมูล ให้เข้าถึงกลุ่มต่างๆ และทำให้ประเด็นนั้นกลายเป็นประเด็นสาธารณะ คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เราต้องสื่อสาร ให้คนข้ามกรอบความคิดของตัวเอง

00000

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ก่อนที่จะเดินประท้วงเรื่องเขื่อนแม่วงก์มีการวางแผน กระจายข้อมูล โดยใช้สื่อหลักในการกระจายข่าว และดึงความสนใจของคน แต่ในช่วงนั้นมีประเด็นทางการเมืองจึงไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นเขื่อนแม่วงก์ สวนกับประเด็นทางการเมืองได้ ทำให้เห็นว่าการเลือกช่วงจังหวะในการสื่อสารสำคัญมาก

จนถึงช่วงการเดินประท้วง ตอนนั้นใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการกระจายข่าว แต่การเดินของศศินนั่นคือ เดินไปด้วยและสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กไปด้วย เดินไม่ให้เสียของ

ตอนเสนอเนื้อหาสาระไม่มีใครสนใจ ต่างกับตอนที่รายงานความเป็นไป ทานกาแฟที่ไหน อากาศร้อนไหม จะมีคนสนใจขึ้นมาทันที ทำให้เห็นว่า การสื่อสารโดยใช้ตัวบุคคลในการขับเคลื่อนสำคัญ

จนถึงทุกวันนี้ ศศินยังคงตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “สื่อใหม่” คืออะไรไม่มีรูปแบบที่ตายตัวในการนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางนี้ แต่สิ่งหนึ่งได้จากการเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาคือ สื่อใหม่ เหล่านี้เป็นเหมือนตัวกลางในการเชื่อมคนที่สนใจเรื่องเดียวกันให้มาอยู่ร่วมกัน ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย

สื่อเป็นความรู้ เนื้อหาสำคัญ เมื่อเรามีสื่อที่อยู่ในมือเรา การบ้านที่ท้าทายต่อไปคือ การคิดรูปแบบที่จะนำเสนอข้อมูลที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ เข้าใจง่าย เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด

00000

รณภูมิ สามัคคีคารมย์ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

สื่อทำหน้าที่ในการเปิดเผยความจริง ทำให้เห็นความหลากหลาย เห็นเรื่องของสิทธิมากขึ้นขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายผ่านตัวปัญหา สำคัญที่สุดคือเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ความท้าทายคือสื่อจะนำเสนอความหลากหลายได้แค่ไหน

สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ยังไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจจึงกลายเป็นรากฐานของอคติ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้เขารู้ก่อน

คนเราเลือกที่จะข้ามเพศ ไม่ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์เลย ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น กรณีของกระเทยกับการเกณฑ์ทหาร เมื่อก่อนกระเทยที่เข้าไปเกณฑ์ทหารจะได้ใบ ส.ด.43 ระบุว่าโรงจิตถาวร เราต่อสู้โดยให้สื่อทำงานขับเคลื่อนประเด็นให้ ผ่านการฟ้องร้อง ผ่านศาลปกครอง ว่าการที่กระทำแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สื่อนำเสนอให้สังคมเข้าใจความหลากหลายทางเพศในมุมมองต่างๆ ที่รอบด้าน กลุ่มความหลากหลายเองก็ยังต้องทำความเข้าใจ เคารพกันเองก่อนในความหลากหลาย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ และให้เกิดความเท่าเทียม”

00000

จารุวรรณ สุพลไร่ ผู้ผลิตสารคดีอิสระรายการสารคดีเดินทาง “แม่โขงโนแมด” ภายใต้โครงการ Mekong Peace Journey มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

การเดินทาง 5 เดือนใน 5 ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นเหมือนปฏิบัติการลบเส้นพรมแดน ไปหาเพื่อนที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้คนเหล่านี้ก็เป็นคนชนบทที่มีความฝันในการเปลี่ยนชุมชน เปลี่ยนประเทศชาติ เปลี่ยนภูมิภาค เป็นสิ่งที่อยากบอกผ่านสารคดี

การเดินทาง ทำให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้เห็นภาพที่สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างความคิดของผู้คน และความเป็นจริง การผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเดียวก็คงไม่พอ สำหรับจารุวรรณการพาตัวเองออกเดินทางทำให้เข้าใจ เข้าถึงความหลากหลายมากขึ้น และทำให้เห็นว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

การเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ความรู้สึกแรกคือเป็นเส้นทางที่น่ากลัว ซึ่งเป็นความกลัวที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะที่นี่คือบ้าน คือประเทศที่เธออาศัยอยู่ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเพราะภาพที่ถูกหล่อหลอมโดยสื่อ แต่ความจริงที่สัมผัสได้คือมิตรภาพ ความอบอุ่นของคนในพื้นที่

00000

แนวคิดและความสำคัญของ “MIDL : อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” โดย เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)

MIDL : อำนาจของพลเมืองดิจิทัลสร้างสังคมประชาธิปไตย วิทยากร : สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

คลิกดูคลิป 1: https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/10159193401670085/

MIDL กับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย วิทยากร : Pam Steager, Senior Writer and Research Associate Media Education Lab

สานเสวนา ไทย – อเมริกา เรื่อง MIDL กับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย วิทยากร 1.Pam Steager, Senior Writer and Research Associate Media Education Lab 2.ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์

คลิกดูคลิป 2: https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/10159193890435085/

MIDL กับอำนาจของพลเมืองเพื่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม วิทยากร 1.วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) 2.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดำเนินรายการโดย อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง

คลิกดูคลิป 3: https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/10159194570085085/

MIDL กับพลังของพลเมืองในสังคมพหุวัฒนธรรม วิทยากร: 1.จารุวรรณ สุพลไร่ ผู้ผลิตสารคดีอิสระรายการสารคดีเดินทาง “แม่โขงโนแมด” ภายใต้โครงการ Mekong Peace Journey มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 2.อ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย อ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คลิกดูคลิป 4: https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/10159194877465085/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ