อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้นโยบายทวงคืนผืนป่าต้องการจำกัดนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ย้ำจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านชาวบ้านยืนยัน ให้ยกเลิกทวงคืนผืนป่า ยุติการบังคับ ข่มขู่ หรือการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของประชาชน
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
23 ก.ค. 2560 นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่พิพาทที่ดินในเขตป่าภาคอีสาน ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) โดยมี ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์สกลนคร และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ในการประชุมตัวแทนองค์กรชาวบ้านผู้เดือดร้อนเสนอให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอคือยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินคดีความ และยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน และให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ที่ดินได้อย่างโดยปกติสุข
ด้านอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายทวงคืนผืนป่าคือจัดการกับนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดบ้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งยังแสดงความกังวลใจและห่วงใยกรณีที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ทั้งย้ำว่าจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมอย่างเร่งด่วนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในภาคอีสาน ร่วมออกแถลงการณ์ให้ ‘ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า’ ทั่วประเทศ เนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล มีความบกพร่องและมีความผิดพลาดในการเลือกปฏิบัติ อาทิ การโค่นตัดยางพารา การดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมทั้งขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่ความเดือดร้อนกับประชาชนจำนวนมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงในการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน
ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้จึงได้มอบหมายให้หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ประสานกับองค์กรชาวบ้านให้เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อรับทราบข้อมูลและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เผยแพร่ข้อมูลสรุปผลการประชุมในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chainarong Sretthachau ดังนี้
สรุปประเด็นการแก้ปัญหา ในการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า โดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค. 2560 ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น)
แนวทางในการดำเนินการฯ
1. การสืบค้น, เก็บข้อมูล, คัดแยก, ติดตาม (โดยคณะทำงานร่วมฯ)
2. ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงร่วมกัน (ร่วมพิจารณาข้อมูล วันที่ 8 ส.ค. 2560)
3. การเชื่อมต่อในระดับนโยบาย และเชื่อมต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน
4. ให้ใช้คำสั่งที่ 66/2557 พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนในทุกกรณี
ประเด็นที่ 1 (กรมอุทยาน)
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น, จ.เลย, ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
ข้อเสนอ
1. ต้องการให้ใช้แผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรแบบเดิม คือโครงการจอมป่าฯ
2. ให้หน่วยงานกันพื้นที่ทำกิน และชุมชนออกจากการที่จะผนวกพื้นที่เพิ่มเติมของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน (นัดหมายคณะกรรมการร่วมฯลงตรวจสอบพื้นที่ วันที่ 5 ส.ค. 2560)
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้
ประเด็นที่ 2 (กรมอุทยานฯ)
อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1 จากการทวงคืนฯ มีการจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2558 (จำนวน 19 คดี)
2. ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลต่อการสู้คดี
3. ชาวบ้านประสบปัญหาการเข้าใช้พื้นที่ทำกินเดิมเพราะถูกทางอุทยานฯปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน
4. อุทยานฯให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่โดยที่ชาวบ้านไม่สมัครใจ
ข้อเสนอ
1. ให้ประสานช่วยเหลือด้านคดีถ้าพิสูจน์ว่าเป็นผู้ยากไร้จริง ตามลำดับความเร่งด่วน
2. ให้ชะลอการดำเนินการปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไปก่อนเพื่อลดผลกระทบ
ประเด็นที่ 3 (กรมอุทยานฯ)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1. การประกาศทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน
ข้อเสนอ
1. ให้ดำเนินการใช้แนวเขตการผ่อนปรนที่ได้รับการตรวจสอบรังวัดแล้วระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ที่ร่วมกับประชาชนตรวจสอบมาเป็นเขตผ่อนปรน ในการแก้ปัญหาการทับซ้อน
ประเด็นที่ 4 (กรมอุทยานฯ)
อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร จ.กาฬสินธุ์ และจ.อุดรธานี
สภาพปัญหา
1. การประกาศเขตอุทยานทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน
2. เมื่อปี 2559 มีการตรวจยึดแปลงยางพารา ของนางจันทาและดำเนินคดีบุตรชาย และตัดฟันแปลงยางพาราจำนวน 18 ไร่
3. มีการตรวจยึดและเตรียมตัดฟันแปลงยางพารา บ้านสมสวัสดิ์ ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี
ข้อเสนอ
1. ให้ดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาความเสียหายจากการตัดฟันยางพาราและการดำเนินคดีแปลงยางพารานางจันทาฯ และบุตรชาย
2. ให้ยึดแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางของคณะทำงานแก้ไขปัญหาเครือข่ายไทบ้าน
ผู้ไร้สิทธิสกลนคร ของ จ.สกลนคร
ประเด็นที่ 5 (กรมป่าไม้)
ป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน ดงกระเฌอ อ.ภูพาน จ.สกลนคร
สภาพปัญหา (บ้านจัดระเบียบ)
1. มีการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี และดำเนินการตัดฟันแปลงยางพารา ของชาวบ้าน
2. มีการปลูกป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน (ไร่มันสำปะหลัง)
3. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข
ข้อเสนอ
1. ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพักโทษผู้ถูกคุมขังในคดี 7 ราย
2. ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือด้านขบวนการยุติธรรมตามข้อเท็จจริงกรณีของนาย สิน เงินภักดี และนางสุรัตน์ ศรีสวัสดิ์
3. ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ได้เสนอผ่าน ทสจ.จังหวัดสกลนคร ถึง กรมป่าไม้
ประเด็นที่ 6 (กรมป่าไม้)
ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน อ.สามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
สภาพปัญหา
1. มีการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2546 และคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้วในปี พ.ศ. 2549 และท้องถิ่นได้เก็บภาษี ภบท. 5 มาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มีการตัดฟันยางพารา 1 ราย และติดป้ายประกาศไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจำนวน 4 ราย
2. ถูกทำลายทรัพย์สินและอาสิน 5 ราย
3. ไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข
ข้อเสนอ
1. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกตัดฟัน
2. ยุติการตัดฟันในแปลงยางพาราของราษฎรทั้ง 4 ราย
3. ให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไป
ประเด็นที่ 7 (กรมป่าไม้)
ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1. มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกิน ตั้งแต่ปี 2528 จำนวน 394 ราย
ข้อเสนอ
1. ให้ช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าและถูกผลักดันให้อพยพจากที่ดินเดิม
2. ให้มีการคัดแยกราษฎรจากจำนวน 394 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเป็นลำดับแรก
ประเด็นที่ 8 (กรมป่าไม้)
ป่าจำแนกตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าเตรียมการฯหมายเลข 10 ตำบล ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1. มีความไม่ชัดเจนในการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน
2. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำกินในที่ดินได้ตามปกติสุข
ข้อเสนอ
1. ให้จำแนกและสอบสวนสิทธิผู้มีคุณสมบัติให้สามารถทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมได้
ประเด็นที่ 9 (กรมป่าไม้)
สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1. โครงการหมู่บ้านรักษ์ป่าประชารักษ์สัตว์ ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎร (36 ราย 850 ไร่)
ข้อเสนอ
1. ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่ 850 ไร่ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือน เม.ย.2560
ประเด็นที่ 10 (อ.อ.ป.)
สวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
สภาพปัญหา
1. มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกินของราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2521
2. ราษฎรที่กลับเข้าไปทำกินในที่ดินทำกินเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2552 ถูกดำเนินคดี (31 ราย)
คดีแพ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ข้อเสนอ
1. ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่เดิม ตามแนวทางคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560
2. ในกรณีผู้ถูกดำเนินคดี ให้ยึดแนวทางตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ที่ระบุว่า
1) จะไม่เร่งรัดบังคับคดี
2) เห็นชอบในการจัดหาที่ทำกิน 1500 ไร่ ให้ราษฎรผู้เดือดร้อน
3) แก้ไขข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์สวนป่าของ ออป. ให้เป็นที่ยอมรับด้วยกัน