วงแชร์: ออกแบบอนาคต… สังคมสูงวัยไปด้วยกัน

วงแชร์: ออกแบบอนาคต… สังคมสูงวัยไปด้วยกัน

‘วรเวศม์’ ชี้ 3 เงื่อนไขการออกแบบสังคมสูงวัย ระบบรองรับความหลากหลาย-คนที่เกี่ยวข้อง-การจ้างงาน ‘พระครูสุจิณกัลยาณธรรม’ เผยถ้าจะรอให้รัฐออกแบบให้ ไม่ทัน ชุมชนต้องมาดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพ เรียนรู้ว่าต้องอยู่กับโลกความเป็นจริงไม่ใช่โลกเสมือนจริง

24 ก.ค. 2560 เวลา 14.00 น. สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนา “วงแชร์: ออกแบบอนาคต…สังคมสูงวัยไปด้วยกัน” เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมทั้งสังคม ในการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของการเป็นสังคมสูงวัย พร้อมด้วยการสร้างทัศนคติใหม่ต่อผู้สูงอายุและคนทุกวัยให้อยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่อย่างมีคุณภาพและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ลานไม้ด้าน อาคาร A ชั้น 1 ไทยพีบีเอส

วิทยากรที่มาร่วมในเวทีแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย

1.ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.พระอาจารย์สุจินต์ กัลยาณธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุหัวง้ม จ.เชียงราย
3.ทราย เจริญปุระ นักแสดง-พิธีกร
4.ธูปทอง เลี่ยมสุวรรณ ผู้ผลิตสารคดี Gen O (LD) -สูงวัยไปด้วยกัน

ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์/ ผู้ดำเนินรายการข่าววันใหม่ ไทยพีบีเอส

00000

“ถ้ารัฐบาลไม่สร้างบ้านพักคนชรา เราก็ต้องช่วยตัวเอง แล้วเราจะต้องแบกเอง แล้วในสังคมไทยของเราจะมีคนมีความสามารถมาแบกแบบนี้ได้แค่ไหน”

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สังคมสูงวัยมีส่วนทั้งออกแบบได้และออกแบบไม่ได้ แต่มันจำเป็นต้องออกแบบ จำเป็นต้องกำหนดทิศทางไว้ระดับหนึ่ง เราจะเดินไปอย่างไร เราจะออกแบบอะไร ทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น รายได้ในวัยชราภาพ ให้ทำไปเรื่อย ๆ หรือจะบอกให้ออมเงิน หรือรัฐบาลจะจัดระบบบำนาญ บำเหน็จ มันต้องการการออกแบบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย

ตัวอย่าง การดูแลผู้สูงอายุ วัยตอนกลางกับวัยปลาย 70 ปีขึ้นไป มีสุขภาพไม่ดี ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัจจุบันรัฐบาลไทยบอกจุดยืนของประเทศ คือประเทศจะไม่สร้างบ้านพักคนชรา ในทุกจังหวัดและไม่พาผู้สูงอายุไปที่นั่น รัฐบาลมีความคิดทีว่าผู้สูงวัยควรอยู่บ้าน เป็นความรู้สึกที่ดีของผู้สูงอายุ แต่ถ้าเกิดมีบ้านหลังหนึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น เรามีแม่ที่อยู่ที่บ้านติดเตียง และเราเองก็ต้องทำงาน ไม่มีบ้านพักคนชรา เราก็ต้องหาใครมาช่วย เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายช่วยเหลือส่งคนมาดูแล เราต้องรับภาระส่วนตรงนี้ จ้างคนมาดูแล คำนวณเล่นๆ ค่าใช้จ่ายในการจ้างคน 15,000 อย่างน้อย แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาจ้าง

ถ้ารัฐบาลไม่สร้างบ้านพักคนชรา เราก็ต้องช่วยตัวเอง แล้วเราจะต้องแบกเอง แล้วในสังคมไทยของเราจะมีคนมีความสามารถมาแบกแบบนี้ได้แค่ไหน ตามศักยภาพ พูดในกรณีของเงิน ไม่พูดถึงปัจจัยอื่น ๆ เราก็ต้องมาออกแบบตรงกลางที่มันพอ มันจะมาได้อย่างไร

มีความเคลื่อนไหว เช่น มีชาวบ้าน มีอบต. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในพื้นที่มีความร่วมมือกัน เช่น อบต.มีงบประมาณ โรงพยาบาลมีบุคลากร ชาวบ้านมีจิตอาสา ร่วมมือกันลงพื้นที่ไปดูบ้านไหนมีผู้สูงอายุ รวมตัวกัน จัดบริการดูแลผู้สูงอายุลงไปในพื้นที่ ไปเยี่ยม ไปตรวจสุขภาพร่างกาย รูปแบบแบบนี้ต้องการการออกแบบแล้วปัญหาก็คือ ในเมืองล่ะ เราไม่รู้จะทำอย่างไร

การออกแบบสังคมสูงวัยมี 3 เงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1.ผู้สูงอายุในเมือง จากกรณีที่พระอาจารย์เล่าและส่วนตัวได้ลงไปดูหลายพื้นที่ ในพื้นที่ที่ร่วมมือกันได้เป็นเพราะความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่การเตรียมความพร้อมของประเทศเรามีความหลากหลายมากกว่า บนความหลากหลายเราจะสร้างระบบการดูแลอย่างที่ชนบททำได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรกับพื้นที่แบบนี้ คิดนวัตกรรมใดขึ้นมาในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่แบบนี้ นั่นคือเรื่องท้าทายของสังคมไทย

2. ตัวละครที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะความหลากหลายต้องเพิ่มขึ้น คงไม่ใช่การจ้างคนจากศูนย์ผู้สูงอายุมาดูแล เพราะความหลากหลายเพิ่มขึ้น ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลผู้สูงอายุในเคสต่าง ๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องของเทคนิค เราต้องการคนเข้ามาแก้ปัญหาสังคมซึ่งอาจจะไม่ใช่รัฐแต่เป็นกึ่งรัฐ

3. สุดท้าย คือ การดูแลเรื่องผู้สูงอายุสำคัญ บางคนมีเจ้านายอีกหน่อยต้องมาดูแลผู้สูงอายุ ต้องดูแลภายใต้บริษัท แต่ดีที่ไทยยังมี 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่การทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ และการดูแลลูกจะสามารถทำร่วมกันได้

ผู้หญิงต้องเลือก โดยเฉพาะผู้หญิงในเมืองที่ต้องรับภาระหลายด้าน ตรงนี้ต้องการพลัง เช่น เป็นไปได้ไหมในการที่นายจ้างให้ลาไปดูแลพ่อแม่ ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ในการดูแลพ่อแม่

การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ภายใต้ระบบการจ้างงานมันจะไปด้วยกันได้อย่างไร ตรงนี้เป็นหัวใจในการออกแบบของสังคมไทย ในสังคมสูงวัย

00000

“ถ้าจะรอให้รัฐออกแบบให้ ไม่ทัน ชุมชนต้องมาดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพ เรียนรู้ว่าต้องอยู่กับโลกความเป็นจริงไม่ใช่โลกเสมือนจริง”

พระครูสุจิณกัลยาณธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุหัวง้ม จ.เชียงราย

ตอนนี้คำถามที่บอกว่าออกแบบได้ไหม สถานการณ์มันบังคับแล้วว่าต้องออกแบบให้ได้ แต่ใครเป็นคนออกแบบ รัฐบาล? ท้องถิ่น? เครียดขนาดไหนเราก็ต้องแก่อยู่ดี หลักศาสนาพูดแบบนี้

ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุแก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ แก่อย่างสง่า คือ มองมุมไหนก็แก่อย่างสง่า หาความแก่ไม่เจอ แก่อย่างไม่แก่ ชราอย่างมีคุณภาพ คือ 1. อยู่ในสังคม 2.มีกายที่มีคุณภาพ 3.มีใจที่มีคุณภาพ 4.สติปัญญายังมีคุณภาพอยู่ ทั้งหมดนี้ฝากรัฐบาลไม่ได้ ฝากหน่วยงานไหนไม่ได้ ผู้สูงอายุต้องดูแลตัวเอง เหล่านี้ต้องทำได้เอง

การออกแบบนี้ไทยสามารถออกแบบได้เทียบเท่าต่างประเทศ สามารถทำได้จริง เราจะทำอย่างไรกับสังคมสูงวัยที่มีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าจะรอให้รัฐออกแบบให้ ไม่ทัน ชุมชนต้องมาดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพ เรียนรู้ว่าต้องอยู่กับโลกความเป็นจริงไม่ใช่โลกเสมือนจริง

ทุกคนตายเหมือนกันหมดแต่ต้องเข้าใจโลกความเป็นจริง เตรียมตัวที่จะต้องเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า

ยิ่งกลัวมากยิ่งแก่เร็ว ยิ่งกลัวมากยิ่งเจ็บเยอะ เราต้องยอมรับว่าหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เข้าสู่สังคมปัญญาภิวัฒน์เต็มรูปแบบ

ที่ญี่ปุ่นไม่ได้เรียนรู้เรื่องหลักศาสนาแต่เขาสอนให้คนอยู่กับความเป็นจริง

ที่หัวง้มมีประชากรผู้สูงอายุ 1,400 คน แต่เราได้งบประมาณในการดูแล 40,000 บาท งบประมาณต่อจำนวนผู้สูงอายุไม่เพียงพอ แต่เราหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง วัด ท้องถิ่น ทุกคนต้องเข้มแข็ง ต้องมานั่งคุยกันว่าปัญหาฃนี้เป็นปัญหาของทุกคน จะออกแบบให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้อย่างไร ทำอย่าไรให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงกลายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้ชายกลายเป็นช้างเท้าหลัง ไม่ร่วมทำกิจกรรมด้วย การที่เราจะเรียนรู้ออกแบบ เราต้องไปอยู่กับเขา อยู่กับเขา ต้องไปนำสิ่งเหล่านั้นมาร่วมออกแบบ โดยเริ่มจากชุมชน

ตอนนี้เราหนีไม่พ้นโลกเสมือนจริง ความจริงปัจจุบันเราอยู่โลกเสมือนจริงมากกว่าความเป็นจริง เราคิดว่าเราจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย แล้วเราจะนำโลกเสมือนจริงไปสู่โลกของความเป็นจริงได้อย่างไร

ตามคำสอนของพุทธศาสนาไตรลักษณ์ เราต้อง แก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่เรากำลังถูกโลกเสมือนจริงทำให้รู้สึกว่า ทำอย่างไรให้สวยตลอดกาล ทำอย่างไรให้ขับรถได้ตลอดกาล อายุ 60-70 ก็ยังจะทำได้อยู่ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยน เมื่อถึงเวลามันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของมัน

แต่เราจะทำอย่างไรให้โลกเสมือนจริงเป็นสะพานออกแบบให้คนไปสู่โลกความเป็นจริง ยิ่งไปดู ไปพูด ไปเห็น ยิ่งเข้าใจชีวิต บางคนมีเงิน เงินซื้อความสุขไม่ได้ ความสุขที่แท้จริงคืออยู่กับความจริงให้ได้

ก่อนอื่นเราต้องรู้สาเหตุของการแก่ว่าเกิดจากอะไรบ้าง เริ่มจำอะไรไม่ได้เมื่อไหร่ เริ่มเลอะเลือน อันนี้บอกว่าเริ่มแก่แล้ว ความแก่เริ่มมาเยือนแล้ว ให้คิดเลยว่าจะแก่อย่างไรตั้งแต่วันนี้ ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ

ปัญหาของผู้สูงอายุไม่ใช่การมาถามว่าจะออกแบบหรือไม่ออกแบบ แต่เราถูกบังคับว่าต้องออกแบบ

00000

“เราควรจะออกแบบตัวระบบอย่างไรโดยไม่มีความดราม่า”

ทราย เจริญปุระ นักแสดง-พิธีกร

ออกแบบสังคมสูงวัยเราควรจะออกแบบตัวระบบอย่างไร? คิดว่าระบบมันควรจะได้รับการออกแบบใหม่ โดยไม่มีความดราม่า เรื่องของเด็ก ผู้สูงอายุ เมื่อถ้ามองแบบปัจเจก ในสังคมไทยจะมีความดรามาติกเข้าไปจับ มีความกตัญญูเข้ามาเกี่ยวข้อง

ลูกหลานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แล้วปริญญาตรีทำงานเริ่มต้นเงินเดือน 15,000 แล้วต้องทำกี่วัน? กี่เดือน? ยังไม่ได้บวกค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ หากเราต้องดูทั้งพ่อ แม่ และอยู่ในครอบครัวที่มีลูกคนเดียว มันจึงทำให้คิดว่าถ้าถึงวันนั้นเราจะเป็นอย่างไร

หากจะให้เริ่มออมเงินเพื่อพ่อแม่ตั้งแต่วันนี้ เราทำได้ แต่พอเมื่อพ่อแม่แก่ตัวลง ทุกๆ อย่างในบ้านเริ่มเปลี่ยน ตัวเองเคยอยากจะออกแบบบ้านให้เก๋ๆ ชิคๆ แต่ความจริงอาจทำแบบนั้นไม่ได้ ในบ้านต้องมีพื้นที่กว้าง ต้องมีทางลาด ไฟต้องสว่าง ทุกอย่างต้องใช้เงิน แล้วยิ่งถ้าสมมติว่าปลายทางไม่มีโครงการตรงกลาง แล้วจะเป็นอย่างไร ผู้สูงอายุทุกคนก็ต้องมาอยู่บ้านตัวเอง และไม่ใช่คนแก่ทุกคนจะมีอาชีพ

ตัวอย่างแม่ของทราย เป็นแม่บ้านมาทั้งชีวิต เลี้ยงลูกอย่างเดียว วันหนึ่งสามีตาย ลูกก็โต จะทำอะไรต่อ หากให้ไปหาอะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วจะให้ทำอะไรเพราะทั้งชีวิตไม่เคยทำอะไรเลย

เราจ้างพยาบาลมาดูแล แต่สุดท้ายก็กลับถูกมองว่าไม่กตัญญู ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยตัวเอง เราไม่ได้โกรธพ่อแม่ที่เขาเจ็บป่วยนะ งานเราก็ต้องทำ หาเงินเพื่อครอบครัว แต่ยังโดนตราหน้าว่าอกตัญญู มันไม่ควรมีใครต้องมารู้สึกลำบากใจกับอะไรแบบนี้

อัตราความซึมเศร้าของผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุสูงมาก โดนตราหน้าเป็นลูกอกตัญญูเจ็บปวดนะ

พอมันไม่มีระบบตรงกลาง ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีคนดูแล แปลว่าบ้านใครบ้านมัน หลายคนก็หลายนิสัย มีเป็นล้านแบบ แน่นอนว่าลูกรู้นิสัยพ่อแม่ที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่าจะดูแลได้ดีทุกอย่าง

ดังนั้นหากมีเรื่องอารมณ์ดราม่าเข้ามาจับ มันจึงส่งผลกับสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่ทำในสังคมมากๆ

แม่ทรายไม่มีสังคม ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อน อยู่กับลูกมาทั้งชีวิต เขาไม่คิดว่าจะแก่ เขาไม่ยอมรับตัวเองว่าทำอะไรได้ไม่เหมือนเดิมแล้ว เขายึดกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เราจึงไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร อันนี้ก็คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญเพราะเขายึดติดว่าอยากจะทำอะไรให้ได้เหมือนเดิม เหมือนอยู่ในโลกเสมือนจริง

ดังนั้นคนแก่ที่รักตัวเองเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่า ซึ่งมันสอนกันยากมาก การที่คุณขับรถไม่ได้เหมือนตอนสาวๆ ไม่ได้แปลว่าคุณหมดคุณค่า มันหดหู่เกินไป

ส่วนการจะออกแบบสังคมให้เป็นรูปธรรม อายุทรายอยู่ในช่วงวัยกลางคนแล้ว ดังนั้นต้องถามตัวเองแล้วว่าวันนี้เราเหลืออะไรบ้าง สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือร่างกาย

จากประสบการณ์การดูแลคนแก่ 2 คน พบว่าความเจ็บปวดจากภายในสำคัญมาก ถ้าเชื่อว่าเราเดินได้เราก็จะเดินได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อมันจะต่างกันมาก เราจึงอยากเป็นคนแก่แบบแรก ค่อย ๆ ปรับตัวไปตามสภาพร่างกาย หากวันนี้สายตาเราดี เราจะพยายามอ่านหนังสือตุน จะไม่ประหยัดกับเรื่องสุภาพอีกแล้ว แต่ก่อนปล่อยนอนให้หายไปเอง แต่จะคิดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว

ทรายเคยไปนั่งเฉยๆ อยู่กับแม่ ผ่านไป 15 นาทีเหมือน 1 ชั่วโมง ระยะเวลามันหลายเป็นเรื่องประหลาดมาก แล้วคนที่เขานั่งอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ทุกวัน รอคอยแต่คนเขามาหา ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าเวลาของเขา มันไม่เหมือนเรา ตอนนี้จึงขอตุนเวลาไว้

ยังไงเราก็หนีไม่พ้นความแก่ พอถึงเวลานั้นควรจะยินดีไปกับมัน โอบกอดมันไว้ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าถึงเวลาที่เราแก่จริง ๆ จะยินดีกับมันได้ไหม แต่อย่างน้อยเราก็เตรียมพร้อมรับมือกับมันไว้แล้ว ทรายอยากเป็นคนแก่ที่น่ารัก เป็นเน็ตไอดอลในวัยชรา

00000

“หากเราไม่ตระหนักถึงภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้น ภาระจะไปตกกับคนรุ่นหลัง”

ธูปทอง เลี่ยมสุวรรณ ผู้ผลิตสารคดี Gen O (LD) –สูงวัยไปด้วยกัน 

การออกแบบใช้คำว่าอนาคตไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ก็เป็นสังคมสูงวัยอยู่แล้ว โจทย์ของรายการ Gen O นอกจากผู้สูงวัยแล้ว คือการจะทำยังไงให้คนวัยทำงานเตรียมตัวรับมือกับสภาวะสูงวัยที่จะมาถึง พอมาทำรายการก็รู้เลย เงินสำคัญ วันหนึ่งพอทำงานไม่ได้จะทำอย่างไร

เรื่องการออมสำคัญ มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเมืองไทยได้เบี้ยผู้สูงอายุน้อยจังเลย นั่นคือการได้มาฟรีๆ แต่ในต่างประเทศมีการบังคับออม ตั้งแต่อายุเท่านั้นเท่านี้ ในต่างประเทศไม่มีเงินที่ได้เปล่า

สำหรับการออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุสำคัญ เพราะมันส่งผลต่อคนรุ่นหลังตอนหนึ่งในสารคดีไปดูโมเดลการออกแบบเมืองของต่างประเทศ ก่อนหน้านั้นมีการหาข้อมูล เช่น สิงคโปร์เจอสภาวะผู้สูงอายุ แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจอาจจะแตกต่างกันหน่อย ไต้หวันเจอสภาวะสังคมสูงวัย คนแก่ออกมาทำงาน

ที่แน่ ๆ เราคิดถึงญี่ปุ่น มีบทสัมภาษณ์หนึ่งพูดถึงเมืองโทยามะ พูดถึงยุคที่ประชากรลดลง กลับกันผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หากเราไม่ตระหนักถึงภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้น ภาระจะไปตกกับคนรุ่นหลัง

เพราะญี่ปุ่น มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ญี่ปุ่นเลยรื้อระบบเมือง เพื่อเอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ให้ผู้สูงวัยออกมาข้างนอก แล้วใช้บริการต่างๆ กระตุ้นระบบเศรษฐกิจด้วย เช่น ระหว่างทางญี่ปุ่นจะออกแบบระบบขนส่งให้เชื่อมกันและสถานที่สำคัญต่างๆ ก็จะอยู่ใกล้กับระบบขนส่ง ระหว่างการเดินทางก็มีการค้าขายดอกไม้ระหว่างทางต่างๆ เป็นนโยบายที่ญี่ปุ่นจัดการกับการเปลี่ยนแปลงเมืองเข้าสู่สังคมสูงวัย

การจะออกแบบสังคมให้เป็นรูปธรรม ความจริงจะไปโยนภาระให้รัฐ หรือให้ชุมชนทั้งหมดไม่ได้ ต้องย้อนมาดูที่ตัวเอง ถ้าอยากรู้ว่า เราอยากตายแบบไหน เราต้องใช้ชีวิตให้เป็นแบบนั้น และก่อนตายมันต้องแก่ก่อน

เราเคยไปเวิร์คช็อปพยาบาล พบว่าหมอจะไม่ปล่อยให้ตายง่าย ๆ ชีวิตมันไม่ตายง่าย ๆ เราต้องรู้สิทธิรักษาพยาบาลของเรา คือเราไม่เคยคิดเลยว่า เราจะใช้หลักประกัน เราไม่สามารถไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลเอกชนตลอดไป สุดท้ายก็ต้องกลับไปใช้สิทธิ 30 บาท

หากจะมีการสร้างห้างเพิ่มก็อยากให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์กับพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวด้วย จะได้เป็นคอมมูนิตี้ ให้ไปพบปะ ได้เจอผู้คน จะได้ไม่เหงา เพราะถ้าเหงามันจะทำให้ชีวิตมันดาวน์ ดิ่ง เหงา

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่รูปธรรม ตอนไปญี่ปุ่น เราก็เริ่มตั้งต้นตั้งแต่ลากกระเป๋าจากหมอชิตไปสนามบินเป็นโจทย์เพื่อเปรียบเทียบบ้านเรากับเขา ดีหน่อยที่คนบ้านเรามีน้ำใจช่วยยกกระเป๋า แต่อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าทุกคนเป็นผู้สูงวัย เราจะลุกให้ใครนั่ง

พอคนเราทำอะไรเองไม่ได้ มันจะรู้สึกแย่ จากตัวอย่างหนึ่งของนักจิตวิทยา ชาวสวีเดน ชีวิตสามารถเลือกได้ รวยมาก แต่อยากอยู่ประเทศไทยไปจนตาย ตอนแรกเราหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมอยากมาตายที่นี่ เพราะคนหนุ่มสาวที่บ้านเขาไม่ได้มองเขาในฐานะผู้สูงอายุ สุดท้ายทุกคนก็ต้องการความเคารพนับถือ ดังนั้น เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดการเคารพและนับถือตัวเอง

00000

Q : รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะสูงวัยอย่างไร ?

ทราย เจริญปุระ : คนที่ใช้ชีวิตทุกวันไม่รู้เลยว่าเราจะแก่ แม่ไม่รู้ว่าตอนแก่แล้วมันไม่เหมือนเดิม แม่จะหงุดหงิด จะโกรธ พยายามคุยกับแม่ว่า แม่ต่อรองกับตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายมันไม่เหมือนแต่ก่อน ต้องทำความเข้าใจกับแม่

การขับรถของแม่ ที่แต่ก่อนแม่ขับรถเอง แต่พอแก่ มันไม่สามารถขับรถเหมือนเดิมได้ แต่แม่เอาแต่คิดว่าแม่ต้องทำได้ แก่แล้วเฟี้ยว ทั้งๆ ที่มันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าทำไม่ได้แม่จะเศร้า งอแง
ถ้าเขาเป็นลูกเราสั่งง่ายมาก แต่เป็นแม่ สุดท้ายเราก็ต้องยอม เพราะจริงๆ แล้วคนที่แก่ที่จะสามารถดูแลตัวได้ ความมีศักดิ์ศรีของความแก่ ของความเป็นมนุษย์

ความยากของเราคือ ไม่รู้จะทำให้แม่รู้สึกชอบตัวเองตอนนี้ขึ้นมายังไง เพราะเหมือนมันขว้าง มันหงุดหงิดมันไม่ได้ดั่งใจไปหมดในความรู้สึกแม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับเรา

ธูปทอง เลี่ยมสุวรรณ : ถามว่ามีเงินเพียงพอไหมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง มันแน่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า ‘เหงา’ เยอะมาก ทั้งชาวต่างชาติที่ตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตบั่นปลายอยู่ไทย แล้วก็คนสูงอายุทั่วไป บ้านจะใหญ่แค่ไหน จะลูกหลานมากแค่ไหน มันเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีทั้งทางกาย และจิตใจข้างใน

คนที่ยอมรับได้ ก็จะชิว กับคนที่ยอมรับไม่ได้ มันจะหน่วงมาก เช่นตอนไปถ่ายทำสารคดีได้เจอคุณตา มีเงินเดือนละ 1,800 บาท โดย 1,000 บาท เป็นเงินผู้พิการ ส่วน 800 บาท เป็นเงินผู้สูงอายุ ทั้งชีวิตมีแค่นี้เงิน แต่ดูมีความสุขเพราะเขาก็ยอมรับ มีการบริหารจัดการเงิน ไม่รู้สึกโกรธ ไม่เกรียวกราด ไม่มีมวลอากาศมีความตึงเครียด

ทัศนคติสำคัญมาก เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจเรามากหน่อยจะยาก มันหาตรงกลางของเราทุกคน มันเป็นทั้งหมด

ทราย เจริญปุระ : บ่อยครั้งที่แม่พูดว่า ดีนะที่ยังมีหลาน แล้วเราล่ะ หลานอายุแค่ 2 ปี กว่าหลานจะโตเอาจริง ๆ พูดตรง ๆ วันหนึ่งแม่ก็ต้องตาย บางครั้งคำพูดแบบนี้มันเป็นความทุกข์ของคนที่ต้องฝากอะไรไว้กับใคร ของคนที่อยู่ใกล้ นอกจากนั่นเราอยู่ใกล้เขา ดูแล

สิ่งที่ยากกว่านั่นคือ เราไม่รู้จะเข้าไปถึงตัวเขาจริงๆ ยังไง และมันทำให้เรารู้ว่าถ้าวันหนึ่งเราแก่ เราก็ต้องแก่ อย่างน้อยก็รักตัวเองให้ได้ เราก็ต้องยอมรับไปด้วย

ธูปทอง เลี่ยมสุวรรณ : ตอนทำสารคดี มันดีตรงที่จะทำให้เรารู้ว่าพอเราแก่จะไม่เป็นแบบนี้ ถ้าเราแก่ เราก็ต้องเลือกที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายเรามีสิทธิเลือก เลือกที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ การหาข้อมูลสำคัญ เช่น รู้เกี่ยวกับร่างกายเรา เตรียมรับมือกับสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ โทรมลง ทำอะไรไม่ได้มากขึ้น การทำความเข้าใจกับจิตใจของตัวเอง ที่จะต้องยอมรับความเปลี่ยนไปของอะไรหลายๆ อย่างด้วย

00000

ทั้งนี้ ติดตามสารคดี Gen O (LD) สูงวัยไปด้วยกัน ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ทุกวันพุธ เวลา 20.20 -21.10 น. ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม – 23 สิงหาคม 2560 จำนวน 5 ตอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ