คนเหนือล่างหวัง SDGs นำการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลัง

คนเหนือล่างหวัง SDGs นำการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลัง

องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง กังวลการนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาปี 2030 โดยสมัครใจของประเทศไทยต่อเวทีโลก เผยตลอด 2 ปีแรกของการเริ่มต้น SDGs ของภาครัฐ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนทั้งประเทศไทย

รายงานโดย: ตาล วรรณกูล

18 ก.ค. 2560 หลังจากเวทีการประชุมการเมืองระดับสูงของสหประชาชาติเพื่อติดตามและทบทวนแผนงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพของรัฐสมาชิกของสหประชาชาติและรัฐบาลของประเทศสมาชิก ระหว่างวันที่ 10-20 ก.ค. 2560 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันนี้ (18 ก.ค. 2560) เวลา 12.00 น.-14.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น ตัวแทนรัฐบาลไทยจะนำเสนอการรายงานทบทวนผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 โดยสมัครใจ หรือ Voluntary National Review: VNR โดยในปีนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่จะนำเสนอรายงานดังกล่าว

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นผู้ติดตามผลกระทบต่อแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ประกอบด้วย

  • สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน จังหวัดสุโขทัย
  • สมัชชาประชาชนสุโขทัย
  • สหพันธ์รักษ์เมืองตาก
  • โครงการปฏิรูปเกษตรกรรมและพัฒนาชนบท จังหวัดพิจิตร
  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภาคเหนือตอนล่าง
  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง
  • มูลนิธิคนเพียงไพร
  • ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก
  • Climate Watch Thailand
  • CAN THAILAND
  • ชมรมพิทักษ์ธรรมชาติ (คนกับป่า) จังหวัดพิษณุโลก
  • เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก
  • เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง
  • เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จังหวัดกำแพงเพชร
  • สถาบันรักษ์ถิ่นกำแพงเพชร

ร่วมกันแถลงการณ์ ข้อกังวล คำถามและข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมภาคเหนือตอนล่าง ต่อแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดำเนินการมาตลอด 2 ปีแรกของการเริ่มต้นว่า การดำเนินงาน SDGs ของภาครัฐที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนทั้งประเทศไทย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือกลุ่มคนยากจนที่อยู่ในชุมชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งระดับพื้นที่และเครือข่ายในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความห่วงใยและข้อกังวลต่อการนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนา ค.ศ.2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของประเทศไทย ปี 2560 ไม่อยากให้เป็นเพียงการสร้างภาพของประเทศไทยต่อสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับจากเวทีโลกเท่านั้น แต่อยากให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนำสู่การปฏิบัติที่ตอบสนองต่อคนทั้งประเทศ เพื่อเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

โดยกลุ่มองค์กรดังกล่าวได้ให้รายละเอียดของข้อกังวล คำถาม และข้อเสนอ ไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

  • การดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถูกผูกขาดการดำเนินงานจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ในการจัดทำเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีส่วนร่วม ไม่ครอบคลุมภาคส่วนอื่น และไม่มีการตัดสินใจร่วมกันของทุกกลุ่มทุกระดับ
  • การกำหนดเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีการประสานระหว่างหน่วยงานที่เป็นเอกภาพ ที่สำคัญไม่สามารถแปลงส่วนการปฏิบัติที่จะให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงเป้าประสงค์ ตัวชี้วัดของกระทรวง กรม ของหน่วยงานรัฐ มิใช่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป็นเพียงเป้าประสงค์ของหน่วยงานรัฐ
  • แผนและนโยบายที่รองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงกรอบและนโยบายของแต่ละกระทรวง มิได้ตอบปัญหาระดับพื้นที่ “มติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 25ตุลาคม 2559 ให้ทุกกระทรวงนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เป็นการสวนทางกับมติคณะรัฐมนตรี กรณีเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการทวงคืนผืนป่า การขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นปัญหาที่ท้าทายของคนทั่วโลก 6 เป้าประสงค์ 7 ตัวชี้วัดไม่สามารถที่จะนำสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่และนโยบายของรัฐ ยังเป็นการทำลายศักยภาพการปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่สร้างพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่าย มองเห็นว่า “SDGs เป็นวาระเริ่มใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเสนอให้รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนใช้จังหวะและโอกาสการดำเนินการสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อเป็นทางรอดของประเทศไทยและเป็นความยั่งยืนของสังคมโลกที่จะไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่อยู่ข้างหลัง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ