ภาคประชาสังคมกังวลกระบวนการรับฟังความคิดเห็น-วิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย ไม่สอดคล้อง ม.77 ของ รธน. 2560 แนะระยะสั้นให้ชะลอร่างกฎหมายนำมารับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านก่อน ส่วนร่างกฎหมายใหม่ในทุกลำดับชั้นต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง-สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ในระยะยาวให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการยกร่าง
30 มิ.ย. 2560 เครือข่ายองค์ภาคประชาสังคม ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แถลงการณ์ฉบับนี้รวบรวมและสรุปความคิดเห็นจากนักวิชาการ และภาคประชาชน ในงานเสวนา “การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย กับ กรณีการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบของกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นไว้แค่ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ อย่างน้อย 15 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับฟังประชาชนที่ต่ำมาก ทำให้การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นแค่เพียงพิธีกรรม
“ที่ผ่านมาการเร่งดำเนินการร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็ว การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการทำตามแบบฟอร์มตามมติคณะรับมนตรีและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” สุรชัย กล่าว
สุรชัย ยกตัวอย่างว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ พบตัวอย่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามมติคณะรัฐมนตรีในประเด็นที่กระทบต่อประชาชน เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า รัฐไม่สนใจการรับฟังความเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย การเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์จะเริ่มต้นเมื่อรัฐร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อย นอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สะดวก ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียง 15 วัน ทำให้เสียงของพวกเขาต้องตกหล่นไป
หรือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. ที่จะส่งผลผูกพันกับอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไปอีก 20 ปี ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ 8 คน เท่านั้น
แถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาชนต่อ มติคณะรัฐมนตรี มีข้อเรียกร้องต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 แนวทาง โดยในระยะสั้น ให้ชะลอร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และนำมารับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน ส่วนร่างกฎหมายใหม่ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หากไม่เช่นนั้น ภาคประชาชนอาจจะหาช่องใช้สิทธิทางศาลคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น
ในระยะยาว ขอให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการยกร่างกันอยู่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหา และเปิดพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างและแสดงความคิดเห็น
สำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อาทิ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม