เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทยกว่า 1 แสนคน เตือนจับตา ‘มติ ครม.10 ม.ค.’ แก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทยกว่า 1 แสนคน เตือนจับตา ‘มติ ครม.10 ม.ค.’ แก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) จัดเสวนา เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ระบุผู้ลี้ภัยในไทยมีกว่า 120,000 คน จากกว่า 40 ประเทศ ไม่ใช่แค่จากเพื่อนบ้าน ชี้ ต้องจับตาผลมติ ครม.10 ม.ค. 2560 ตั้งกรมดูแลเรื่องผู้ลี้ภัย ย้ำเด็กต่ำกว่า 18 ปี ต้องไม่ถูกจับ กักขัง – ผู้ลี้ภัยควรเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ

22 มิ.ย. 2560 เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ร่วมกับองค์กร Asylum Access Thailand และ Documentary Club Thailand ร่วมกันจัดเสวนา “เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย: สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” และฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “After Spring” ที่บอกเล่าเรื่องราวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในค่าย “ซาทารี”ประเทศจอร์แดน ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลของ องค์กร Asylum Access Thailand ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา กว่า 110,000 คน โดยอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน ไทย-พม่า เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ภายนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกประมาณ 7,400 คน

จำนวนผู้ลี้ภัยได้เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงที่ ณ ปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีผู้อพยพกลุ่มอื่น ๆ ที่หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาการปกป้องคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงยา และผู้อพยพชาวอุยเกอร์

ศิววงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 รวมทั้งประเทศไทยไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ประกอบกับการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็น กรอบการดำเนินการหลักในลักษณะของการปราบปรามมากกว่าการปกป้องคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้บ่อยครั้งจึงเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยถูกจับกุมและถูกกักขังโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา รวมถึงการถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศบ้านเกิด

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ให้ข้อมูลว่า สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2560 มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จำนวนประมาณ 4,100 คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ที่รอผลการพิจารณาจาก UNHCR ประมาณ 3,300 คน ในจำนวนผู้ลี้ภัยนี้มีผู้ถูกกักอย่างไม่มีกำหนด ณ สำนักงานตรวจคนเมืองอยู่ประมาณ 260 คน

นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาในการเข้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงการไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ครบถ้วน จากการไม่มีระบบประกันสุขภาพพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน แม้จะได้รับการบริการที่ดีกว่า แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง

ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็ยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติ แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ( Education For All) เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาของภาครัฐได้ และเนื่องจากผู้ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถขออนุญาตทำงานตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวได้ จึงต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยง และไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ศิววงศ์กล่าวเสริมว่า ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยายังคงลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจุดมุ่งหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการไปต่อยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ผู้ลี้ภัยไร้รัฐ ชาวโรฮิงยาจำนวนมากอาศัยการพึ่งพาจากขบวนการนำพาคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการจับกุมมาได้ จำนวนหนึ่งก็จะถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด หรืออยู่ในสถานะที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะเหยื่อ หรือพยานจากการค้ามนุษย์

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยังได้ยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวผู้อพยพลี้ภัยในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียไม่จับกุมและกักตัวผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหากมีบัตรสถานะการขอลี้ภัยที่ทาง UNHCR ออกให้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีกฎหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนป่วย ไปพักอาศัยชั่วคราวในบ้านพักอาศัยในชุมชนได้ โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าว

ส่วนประเทศแคนาดามีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยมีหน่วยงานอิสระในการออกคำสั่งการกักตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องกัก โดยมีการพิจารณาคำตัดสินการกักตัวเป็นระยะ ๆ ซึ่งช่วยทำให้บุคคลไม่ถูกกักขังโดยไม่จำเป็น และยังมีโครงการนำร่องการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินประกัน ขณะที่ประเทศแซมเบียมีกลไกระดับชาติด้านการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพที่เปราะบาง สุดท้ายฮ่องกงมีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย โดยผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองสามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนดและได้รับการคุ้มครองจากการผลักดันไปสู่อันตราย

การมีนโยบาย กฎหมายในการบริหารจัดการผู้อพยพลี้ภัยนอกเหนือจากการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองจะทำให้ไทยสามารถแยกผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองออกจากกลุ่มผู้ที่แฝงตัวเข้ามา ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงนโยบายที่คลอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดแยก การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การสนับสนุนให้ช่วยเหลือตนเองและการคืนประโยชน์สู่สังคมไทยในระหว่างที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

ด้านอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า กรณีที่ประเทศไทยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ยังมีคำถามว่า จะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่า ก่อนการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในกฎหมายนี้เลย

000

 

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 ม.ค. 2560 เรื่อง กฎหมายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ (ร่าง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. …) มีดีงนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้มีระบบคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) โดยใช้แนวทางในการออกระเบียบ และมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พ.ศ. …. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ รวมทั้งกำหนดให้การออกกฎกระทรวงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ตรวจพิจารณาแล้ว

3. มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับไปพิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้ง “กรมกิจการคนเข้าเมือง” ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยต่อไป

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงแรงงาน อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ

2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และผู้ลี้ภัย เช่น พิจารณากำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พิจารณาคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัยกลุ่มต่าง ๆ ประสานงานและร่วมมือกับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

3. กำหนดให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใน ตช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย

 

000

อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการดำเนินการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัยภาครัฐควรพิจารณา ให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว

กรณีเด็กลี้ภัยอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากทางภาครัฐจะไม่จับกุมแล้ว ควรเพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กเหล่านี้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. รวมถึงการอนุญาตให้ซื้อหลักประกันสุขภาพ และสิทธิการได้เรียนหนังสือ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ควรระบุให้ชัดในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระบุให้ชัดในการดำเนินการคือ กรณีการขอประกันตัว ควรมีหลักเกณฑ์ในการประกันตัวที่ชัดเจน และมีอัตราจำนวนเงินประกันที่ไม่ควรสูงจนเกินไป เพราะปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 50,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก

พร้อมกันนี้ นายอดิศร ยังมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับมาตรการระยะยาว โดย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงถึงประสิทธิภาพ และการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ

รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ได้แก่ คณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการด้านดูแลช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และคณะอนุกรรมการด้านอุทธรณ์การอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ลี้ภัยควรมีต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ