คนรักหลักประกันสุขภาพ หารือ สช. ก่อนร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 21 มิ.ย.นี้ วาง 3 เงื่อนไข ร้องไม่เอากำลังทหารตำรวจคุม-ไม่ปิดห้องคุยรวบรัดประเด็น-ใช้กลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นหาฉันทมติยุติข้อขัดแย้ง ด้าน ‘หมอพลเดช’ เตรียมประมวลผลทำรายงานเสนอคณะกรรมการยกร่างฯ ภายใน 30 มิ.ย.นี้
20 มิ.ย.60 เวลา 11.30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อาคารสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชน โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง, นางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล ได้เข้าพบ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ (สช.) ในฐานะหน่วยงานร่วมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อพูดคุยถึงกระบวนการจัดประชุมปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ที่จะมีขึ้นวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นเวทีครั้งสุดท้าย ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านมติกรรมการยกร่างฯ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวหลังจากการแลกเปลี่ยนความเห็นภายในห้องประชุม ว่า มีความกังวลว่าเวทีพรุ่งนี้ ที่จะมีตัวแทนภาคประชาชน 18 คนเข้าร่วมเวที ภาคประชาชนอยากเห็นกระบวนการพูดคุยให้เวลาแสดงความเห็นที่หลากหลายมากพอที่จะทำให้ข้อสรุปร่วม กันจึงมีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องเป็นเวทีการคุยที่ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามท่ามกลางตำรวจทหาร
2. การคุยกันต้องไม่ใช่การปิดห้องคุยรวบรัดประเด็น ทุกภาคส่วนเห็นร่วมกัน เรื่องที่ต่างกันและเห็นข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพที่เป็นธรรมกันทุกคน สช.ต้องจัดกระบวนการอย่างเป็นธรรมไม่รวบรัด ไม่ตัดประเด็นไม่ปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น
และ 3.กระบวนการต่อจากนี้รัฐบาลต้องไม่เร่งรัดเข้าสู่กรรมการแก้กฎหมาย เพราะถ้ายังมีเรื่องเห็นต่างกันอยู่ เราจะใช้กระบวนการของ สช.ที่เป็นวาระพิเศษหรือประเด็นเฉพาะ มีการตั้งวงศึกษาข้อมูล ตัวแทน
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวต่อว่าทางเครือข่ายฯ ยินดีเข้าร่วมเวที แต่หากพบว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอยู่หน้าห้องประชุมจะไม่เข้าร่วมประชุม
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มแกนนำคนรักหลักประกันสุขภาพพร้อมที่จะเข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นในเวทีปรึกษาสาธารณะ วันที่ 21 มิ.ย.นี้ แต่ขอไม่ให้มีกองกำลังทหารตำรวจเหมือนวันที่มีการรับฟังความเห็นภาคกลางเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองรับที่จะประสานงานให้ เพราะต้องการให้ทุกภาคส่วนมาร่วมถกเถียงหาทางออกที่วินๆ กับทุกคน ทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ที่ได้ศึกษาและเตรียมข้อเสนอมาเป็นอย่างดี กลุ่มผู้ให้บริการคือกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดว่า จะมีตัวแทนทุกภาคส่วนประมาณ 100 คน
ในเวทีครั้งนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 7-10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงาน องค์กรต่างๆ และภาคประชาชน เพื่อปรึกษาหารือกัน โดยไม่เร่งรัดให้ต้องได้ข้อสรุปเพื่อทุกฝ่ายได้ถกแถลงหาทางออกร่วมกันในประเด็นต่างๆ โดย สช. จะสรุปเวทีรับฟังความเห็นทั้งเวที 4 ภูมิภาค ผู้ส่งผ่านออนไลน์ และประมวลผลจากเวทีปรึกษาสาธารณะครั้งนี้ จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่) พ.ศ. … ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ภายใน 30 มิ.ย.นี้
สำหรับประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันและต้องการมีเวทีหารือเพิ่มเติมนั้น สามารถใช้กลไกสมัชชาสุขภาพเพื่อหาฉันทามติ โดยทั้งภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถเสนอเรื่องมาที่ สช. เพื่อขอให้เป็นผู้จัดกระบวนการ นำไปสู่การตั้งประเด็นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมหาทางออกร่วมกัน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาไตร่ตรองปรึกษากัน
นพ.พลเดช กล่าวว่า หลังจากส่งรายงานรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดแล้ว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายฯ ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือจะเดินหน้าขั้นตอนออกกฎหมายคู่ขนานไปก่อน เพราะมีหลายประเด็นที่อาจเห็นตรงกันได้เลย หรือจะรอให้ทุกประเด็นได้ข้อยุติเสียก่อน