‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ แอมเนสตี้ฯ ยินดีไทยรองรับผู้ลี้ภัย วอนคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่ม

‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ แอมเนสตี้ฯ ยินดีไทยรองรับผู้ลี้ภัย วอนคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่ม

แอมเนสตี้แถลง “วันผู้ลี้ภัยโลก” ยินดีที่ไทยรองรับผู้ลี้ภัยมานานหลายทศวรรษ ชี้ยังมีการละเมิดสิทธิผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการส่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลตุรกีกลับประเทศเมื่อเดือนก่อน

20 มิ.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเนื่องใน “วันผู้ลี้ภัยโลก” ปี 2560 ยินดีที่ประเทศไทยรองรับและให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่ก็ยังให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามสมควร ยกตัวอย่างเช่น ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาที่ทางการไทยไม่ได้บังคับส่งกลับ แต่ยืนยันให้มีการส่งกลับโดยสมัครใจแทน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัยเมื่อเดือน ก.ย. 2559 และเวทีนานาชาติอีกหลายโอกาส ทางการไทยเน้นย้ำโดยตลอดว่าจะคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย พัฒนาระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย และปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัย (refugees) และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) ที่ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย ทำให้พวกเขาถูกปฏิบัติในฐานะ “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกจับติดคุกอย่างไม่มีกำหนดและบังคับส่งตัวกลับไปยังพื้นที่อันตราย

ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ราว 330 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซึ่งมีสภาพแออัดและเลวร้าย โดยบางคนถูกควบคุมตัวมานานหลายปีแล้ว นอกจากนี้ มีรายงานว่าคนจากชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น ชาวม้งลาว ไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ได้ เป็นเหตุให้พวกเขาไม่มีโอกาสถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเคยละเมิดหลักการไม่ส่งกลับซึ่งเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศ กรณีล่าสุดคือเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ทางการไทยส่งตัวนายเอ็ม ฟูรกาน เซิกเม็น (M. Furkan Sökmen) กลับตุรกีผ่านกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าสหประชาชาติจะเตือนแล้วว่าเขาเสี่ยงจะถูกคุกคามหากถูกส่งตัวกลับไปยังตุรกี กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยคนอื่น ๆ ในประเทศไทยเกิดความหวาดกลัว

แอมเนสตี้จึงเรียกร้องทางการไทยให้รับประกันว่าจะไม่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มีนโยบายและกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะพำนักชั่วคราวในประเทศไทยระหว่างที่รอการพิจารณาส่งตัวไปยังประเทศที่สาม

การให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่มาตั้งแต่ปี 2513 โดยปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาประมาณ 100,000 คน และยังมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอีกราว 8,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง

ผู้ลี้ภัยในไทยมาจากหลายที่ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย ฯลฯ

อินโฟกราฟฟิค 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

แถลงการณ์ฉบับเต็ม (ภาษาไทย)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
20 มิถุนายน 2560

ประเทศไทย: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ขยายความคุ้มครองทางกฎหมายให้กับ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในปี 2560

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกปี 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตระหนักถึงบทบาทของรัฐบาลไทยที่รองรับและช่วยเหลือประชากรผู้ลี้ภัยจำนวนมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยินดีต่อการให้คำมั่นสัญญาของไทยเมื่อไม่นานมานี้ที่จะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะมีพันธกิจเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาไทยล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง โดยบุคคลเหล่านี้ไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย และเสี่ยงที่จะถูกคุมขังโดยพลการและอย่างไม่มีเวลากำหนด และยังเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้นำกรอบการบริหารและกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งมาใช้เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เป็นเวลานานมาแล้วที่ประเทศไทยได้รองรับบุคคลที่หลบหนีจากความรุนแรงและการประหัตประหารกันในประเทศเพื่อนบ้าน และจากประเทศห่างไกลต่าง ๆ นับตั้งแต่พ.ศ. 2513 ไทยได้รองรับผู้ลี้ภัยหลายแสนคนที่หลบหนีจากสงครามในเวียดนาม กัมพูชา และลาว และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยยังรองรับผู้อพยพที่ถูกคุกคามจากความขัดแย้งด้วยอาวุธและการประหัตประหารด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ในเมียนมา ทางการไทยได้มีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อบุคคลที่เดินทางเข้ามาถึงฝั่งไทย ในปัจจุบันมีพลเมืองสัญชาติเมียนมาประมาณ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา นอกจากนั้น ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองอีกประมาณ 8,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ในประเทศ

แม้ไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่เจ้าหน้าที่ของไทยได้ยืนยันอย่างสม่ำเสมอที่จะปฏิบัติตามพันธกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มีรายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางการไทยไม่ได้พยายามบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามค่ายที่พักพิงตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมาแต่อย่างใด และยังได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามพันธกิจที่ให้มีการส่งกลับผู้ลี้ภัยในลักษณะที่เป็นไปโดยสมัครใจและอย่างมีศักดิ์ศรี ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัยในเดือนกันยายน ปี 2559 และในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ ไทยได้เน้นย้ำคำมั่นสัญญาที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย รวมทั้งการพัฒนาระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร และการออกกฎหมายต่อต้านการทรมานเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักการไม่ส่งกลับ (principle of non-refoulement)

แม้จะมีการประกาศพันธกิจเหล่านี้ แต่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยยังไม่ได้รับสถานภาพใด ๆ ตามกฎหมายของไทย และยังคงเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกจับกุม ถูกคุมขัง ถูกบังคับส่งกลับ และถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ของไทย ผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารและผู้ลี้ภัยทุกคนถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอาญาและถูกคุมขังอย่างไม่มีเวลากำหนด ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้ลี้ภัยไม่ควรถูกลงโทษในฐานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัย และบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยไม่ควรถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีเวลากำหนด คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR จำนวน 330 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว โดยบางส่วนถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้ายมาเป็นเวลาหลายปีในสถานที่ซึ่งทราบกันดีว่าแออัดยัดเยียดอย่างมาก นอกจากนั้น ยังมีรายงานระบุว่าบุคคลที่มีสัญชาติและมาจากชาติพันธุ์บางกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มชาวม้งลาวไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ได้ เป็นเหตุให้พวกเขาไม่ได้รับโอกาสที่จะมีสิทธิไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

รัฐบาลไทยยังคงละเมิดพันธกรณีของตนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการไม่ส่งกลับซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ทั้งนี้โดยการบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ไปยังประเทศซึ่งอาจเป็นเหตุให้พวกเขาต้องเผชิญกับการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้าย เมื่อไม่นานมานี้ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทางการไทยได้อำนวยความสะดวกในลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยให้มีการส่งตัวนายเอ็ม ฟูรกาน เซิกเม็น (M. Furkan Sökmen) สัญชาติตุรกี ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับนายเฟตูเลาะห์ เกอเล็น (Fethullah Gülen) ผู้นำศาสนาชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แม้ว่าทางหน่วยงานแห่งสหประชาชาติได้เตือนรัฐบาลไทยแล้วว่า นายฟูรกาน เซิกเม็นอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหากถูกส่งตัวกลับไปตุรกี กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ทำให้เกิดความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยคนอื่น ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามพันธกิจที่ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ โดยให้ประกันว่า นโยบายเกี่ยวกับคนเข้าเมืองจะมุ่งตอบสนองสิทธิของบุคคลซึ่งหลบหนีจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และให้ปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยควรนำกรอบกฎหมายและกรอบการบริหารที่ยอมรับสถานภาพตามกฎหมายของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยมาใช้ และยอมรับสิทธิอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิที่จะสามารถพำนักอาศัยเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยในระหว่างที่รอการพิจารณาคำขอเป็นผู้ลี้ภัย รัฐบาลไทยยังควรประกันว่า จะไม่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัย และการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจะถูกใช้เป็นมาตรการพิเศษเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และให้กระทำได้ในระยะเวลาสั้นที่สุด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกันว่า ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ จะไม่มีการส่งตัวบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศกลับไปยังประเทศที่เชื่อได้อย่างจริงจังว่า พวกเขาอาจถูกทรมาน ถูกประหัตประหาร หรือถูกปฏิบัติอย่างมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การริเริ่มดำเนินการของรัฐบาลไทยในการพัฒนากระบวนการคัดกรองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและบุคคลต่างด้าวอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดีในแง่ดังกล่าว ซึ่งในการพัฒนาขั้นตอนการคัดกรอง ทางการไทยควรยึดถือคำนิยามของ “ผู้ลี้ภัย” ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และประกันว่าจะมีการพิจารณาคำขอลี้ภัยอย่างเป็นธรรมและอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ควรมีการปฏิเสธคำขอสถานะผู้ลี้ภัยของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดด้วยเหตุผลทางการเมือง กลไกคัดกรองที่ไม่สอดคล้องกับหลักการข้างต้นอาจยิ่งทำให้ข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองการลี้ภัยในประเทศไทยรุนแรงขึ้นแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ